บุตร 3 หรือ ลูก 3 ประเภท ความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางการเลี้ยงดูบุตร

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

บุตร หรือ ลูก ทั้งชาย และหญิง ในปุตตสูตร (คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา) พระพุทธองค์ทรงจำแนกบุตรไว้ 3 ประเภท คือ
1. อติชาตบุตร คือ บุตรที่มีคุณสมบัติสูงกว่ามารดาบิดา
2. อนุชาตบุตร คือ บุตรที่มีคุณสมบัติเสมอมารดาบิดา
3. อวชาตบุตร คือ บุตรที่มีคุณสมบัติต่ำกว่าบิดามารดา

บุตร หรือ ลูก ความหมายในทางศาสนา คือ ผู้อันพ่อแม่จะพึงเลี้ยง ตั้งแต่ยังอ่อนจนถึงสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ และเมื่อมีวัยวุฒิ และคุณวุฒิ จึงทำหน้าที่เลี้ยงดูแล และชักนำบิดามารดา ให้เป็นผู้พรั่งพร้อมในศีล สมาธิ และปัญญา

บุตร 3 หรือ ลูก 3 ประเภท
1. อภิชาตบุตร หมายถึง บุตรที่มีคุณสมบัติสูงกว่าบิดามารดา
บุตรที่มีคุณสมบัติสูงกว่าบิดามารดา คือ คือ บุตรที่มีสติปัญญา มีคุณธรรม และมีความประพฤติดีที่มากกว่าหรือสูงกว่าบิดามารดา แบ่งได้ 2 กรณี คือ
• เมื่อบิดามารดา เป็นผู้มีปัญญาน้อย เป็นผู้ไม่เข้าถึงซึ่งศีล สมาธิ และภาวนา มีความประพฤติชั่ว ไม่มีคุณธรรม แต่บุตรนั้นเมื่อเทียบกับบิดามารดาแล้ว กลับเป็นบุตรที่เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้เข้าถึงซึ่งศีล สมาธิ และภาวนา เป็นผู้มีคุณธรรม คุณสมบัติเหล่านี้ เป็นคุณสมบัติของบุตรที่สูงกว่าบิดามารดา อย่างนี้ก็เรียกว่า อภิชาตบุตร
• เมื่อบิดามารดา เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้เข้าถึงซึ่งศีล สมาธิ และภาวนา เป็นผู้มีคุณธรรม และละเว้นจากการประพฤติชั่ว แต่บุตรนั้นเมื่อเทียบกับบิดามารดาแล้ว กลับเป็นบุตรผู้ที่เข้าถึงซึ่งศีล สมาธิ และภาวนามากกว่า เป็นผู้มีคุณธรรมมากกว่า และละเว้นจากการประพฤติชั่วมากกว่า คุณสมบัติเหล่านี้ เป็นคุณสมบัติของบุตรที่สูงกว่าบิดามารดา อย่างนี้ก็เรียกว่า อภิชาตบุตร

นอกจากนี้ บุตรประเภทนี้ยังมีคุณสมบัติอื่นที่พอเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ บุตรที่มีอาชีพที่สูงกว่า มีทรัพย์สินที่มากกว่า มีกิริยามารยาทที่งดงามกว่า ตลอดถึงความคิดจิตใจที่งดงามกว่าบิดามารดา ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “ลูกเทวดามาอาศัยท้องเกิด”

2. อนุชาตบุตร หมายถึง บุตรที่มีคุณสมบัติเสมอบิดามารดา
บุตรที่มีคุณสมบัติเสมอบิดามารดา คือ บุตรที่มีสติปัญญา มีคุณธรรม และมีความประพฤติที่เสมอเหมือนบิดามารดา แบ่งได้ 2 กรณี คือ
• เมื่อบิดามารดา เป็นผู้มีปัญญาน้อย เป็นผู้ไม่เข้าถึงซึ่งศีล สมาธิ และภาวนา มีความประพฤติชั่ว ไม่มีคุณธรรม และบุตรนั้นเมื่อเทียบกับบิดามารดาก็เป็นบุตรที่เป็นผู้มีปัญญาน้อยเช่นกัน ไม่เข้าถึงซึ่งศีล สมาธิ และภาวนาเช่นกัน มีความประพฤติชั่วเช่นกัน คุณสมบัติเหล่านี้ เทียบเสมอเหมือนกับบิดามารดา ก็เรียกว่า อนุชาตบุตร
• เมื่อบิดามารดา เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้เข้าถึงซึ่งศีล สมาธิ และภาวนา เป็นผู้มีคุณธรรม และละเว้นจากการประพฤติชั่ว และบุตรนั้นเมื่อเทียบกับบิดามารดาก็เป็นบุตรที่เป็นผู้มีปัญญาเช่นกัน เข้าถึงซึ่งศีล สมาธิ และภาวนาเช่นกัน เป็นผู้มีคุณธรรมเช่นกัน และละเว้นจากการประพฤติชั่วเช่นกัน คุณสมบัติเหล่านี้ เทียบเสมอเหมือนเดียวกันกับบิดามารดา ก็เรียกว่า อนุชาตบุตร

นอกจากนี้ บุตรประเภทนี้ยังมีคุณสมบัติอื่นที่พอเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ บุตรที่มีอาชีพเทียบเท่า มีทรัพย์สินเทียบเท่า มีกิริยามารยาทเทียบเหมือน ตลอดถึงความคิดจิตใจที่เทียบเหมือนบิดามารดา ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น”

3. อวชาตบุตร หมายถึง บุตรที่มีคุณสมบัติต่ำกว่าบิดามารดา
บุตรที่มีคุณสมบัติต่ำกว่าบิดามารดา คือ บุตรที่มีสติปัญญา มีคุณธรรม และมีความประพฤติที่ด้อยกว่าบิดามารดา แบ่งได้ 2 กรณี คือ
• เมื่อบิดามารดา เป็นผู้มีปัญญาน้อย เป็นผู้ไม่ดำรงในศีล สมาธิ และภาวนา ประพฤติชั่ว ไม่มีคุณธรรม และบุตรนั้นเมื่อเทียบกับบิดามารดายังเป็นผู้มีปัญญาน้อยกว่า เป็นผู้ไม่ดำรงในศีล สมาธิ และภาวนามากกว่า ประพฤติชั่วมากกว่า อย่างนี้ก็เรียกว่า อวชาตบุตร
• เมื่อบิดามารดา เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ดำรงในศีล สมาธิ และภาวนา เป็นผู้มีคุณธรรม และละเว้นจากการประพฤติชั่ว และบุตรนั้นเมื่อเทียบกับบิดามารดาจะเป็นผู้มีปัญญาน้อย เป็นผู้ไม่ดำรงในศีล สมาธิ และภาวนา เป็นผู้ไม่มีคุณธรรม และประพฤติชั่วเป็นนิจ อย่างนี้ก็เรียกว่า อวชาตบุตร

นอกจากนี้ บุตรประเภทนี้ยังมีคุณสมบัติอื่นที่พอเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ บุตรที่มีอาชีพที่ต่ำกว่า มีทรัพย์สินที่น้อยกว่า มีกิริยามารยาทที่ต่ำกว่า ตลอดถึงความคิดจิตใจด้อยกว่าบิดามารดา ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “ผ่าเหล่าผ่าก่อ”

แนวทางการเลี้ยงบุตรให้มีคุณสมบัติเสมอหรือสูงกว่าบิดามารดา
1. บิดามารดาพึงเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ดำรงในศีล สมาธิ และภาวนา พร้อมปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างแก่บุตร
2. บิดามารดาพึงขยันหมั่นเพียร แสวงหาทรัพย์ให้เพียงพอแก่การเลี้ยงดูบุตรด้วยความสุจริต
3. บิดามารดาพึงให้ความรัก ความอบอุ่น และเป็นที่พึ่งของบุตรได้
4. บิดามารดาพึงให้ความรู้ ให้คุณธรรม ด้วยการอบรมสั่งสอน รวมถึงสนับสนุนบุตรด้วยการส่งศึกษาเล่าเรียนในระดับสูงสุดตามที่บุตรถนัดหรือชื่นชอบ รวมถึงฝึกฝนบุตรให้เรียนรู้ในหน้าที่การงานของครอบครัว อันจะเป็นมรดกสืบทอดแก่บุตร
5. บิดามารดาพึงให้คำปรึกษา ชี้แนะแก่บุตรที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทั้งในด้านหน้าที่การงาน อาชีพ และครอบครัว
6. บิดามารดาพึงให้มรดกหรือทรัพย์สินอย่างเท่าเทียมกัน และพอสมควรแก่การเลี้ยงชีพ