สุขของคฤหัสถ์ 4 อย่าง ความหมาย และองค์ประกอบ

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

สุขของคฤหัสถ์ หมายถึง ความสุขของฆราวาส หรือ ผู้ครองเรือน

ความสุขของฆราวาส หรือ ผู้ครองเรือน เป็นความสุขในทางโลกที่ผู้ครองเรือนโดยทั่วไปจะพึงมี และรักษาความสุขเหล่านี้ให้คงอยู่อย่างสม่ำเสมอ

สุขของคฤหัสถ์ มีความหมายมาจากภาษาบาลี 2 คำ คือ คิหิสุข หรือ กามโภคีสุข
คิหิสุข มาจากคำว่า คิหิ (คหะ) + สุขะ
กามโภคีสุข มาจากคำว่า กามะ + โภคะ + สุขะ

สุขของคฤหัสถ์ 4 อย่าง
1. อัตถิสุข
อัตถิสุข หมายถึง สุขเกิดจากความมีทรัพย์ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1.1 สุขอันเกิดจากความมีทรัพย์ที่บริโภคไม่ได้ เช่น ทรัพย์ที่เป็นแก้วแหวน เงินทอง เรือน ที่ดิน หรือ บริวาร เป็นต้น ลักษณะความสุขที่เกิดขึ้นจะเป็นความสุขทางใจ อันได้แก่ ความภูมิใจ หรือ ความอิ่มเอมใจ ว่าตนมีทรัพย์สินมาก มีความมั่งคั่ง หรือ มีบริวารให้รับใช้
1.2 สุขอันเกิดจากความมีทรัพย์ที่อุปโภค-บริโภคได้ ได้ เช่น ข้าวปลาอาหาร และน้ำท่า เป็นต้น โดยลักษณะความสุขทางใจที่เกิดขึ้นเหมือนกับข้อแรกที่กล่าวมา แต่ต่างที่เป็นทรัพย์ที่สามารถอุปโภค-บริโภคได้

ทั้งนี้ สุขเกิดจากความมีทรัพย์ที่กล่าวมาข้างต้น อาจได้มาด้วยความสุจริต โดยความชอบธรรม หรือได้มาด้วยความทุจริต ความคดโกง

2. โภคสุข
โภคสุข หมายถึง สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ ทั้งที่เป็นทรัพย์ที่ไม่สามารถบริโภคได้ และที่บริโภคได้ อันเป็นความสุขทางใจ และทางกาย อันได้แก่
2.1 สุขอันเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ที่บริโภคไม่ได้ สุขชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการใช้จ่ายทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ การขาย การมอบให้ การให้ทาน หรือการสั่งการต่อบริวาร จัดเป็นสุขทางใจที่ทำให้เกิดความภูมิใจ หรือ เอิบอิ่มใจ ว่าตนมั่งมีเพียบพร้อมในทรัพย์เหล่านี้
2.2 สุขอันเกิดจากจากการใช้จ่ายทรัพย์ที่อุปโภค-บริโภคได้ แบ่งได้เป็นสุขทางกาย ได้แก่ ความอิ่มหนำสำราญต่อการอุปโภค และบริโภคทรัพย์ เช่น การรับประทานข้าวปลาอาหาร และสุขทางใจ เช่น การบริจาคข้าวปลาอาหาร การถวายข้าวปลาอาหารแก่สงฆ์ เป็นต้น

3. อนณสุข
อนณสุข หมายถึง สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ เป็นความสุขทางใจเช่นกัน โดยเกิดขึ้นในลักษณะความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ หรือ ความสบายใจว่าตนไม่มีหนี้สินติดค้างใคร ไม่ต้องกังวลใจให้ครุ่นคิดต่อภาระหนี้จนเกิดความทุกข์ใจ

* ความสุขทั้ง 3 ลักษณะที่กล่าวมา ทั้งอัตถิสุข โภคสุข และอนณสุข ถือเป็นความสุขทางโลกของผู้ครองเรือน โดยจัดเป็นความสุขที่ไม่เที่ยงแท้ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับหายไปได้เช่นกัน*

4. อนวัชชสุข
อนวัชชสุข หมายถึง สุขอันเกิดจากการไม่ประพฤติผิดหรือไม่ประพฤติให้เกิดโทษ ทั้งทางกาย วาจา และใจ อันเป็นความสุขทางธรรมอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นทางใจ อันได้แก่ ความภูมิใจ ความอิ่มเอมใจ และความสบายใจ เป็นต้น โดยการไม่ประพฤติผิดนั้น ตามหลักพุทธศาสนาได้สรุปย่อๆให้เข้าใจง่ายที่เรียกว่า หัวใจพระพุทธศาสนา คือ การทำความดี การละเว้นความชั่ว และการทำจิตให้บริสุทธิ์ นั่นเอง

*บรรดาสุข 4 อย่างของผู้ครองเรือนนั้น อนวัชชสุข หรือ สุขอันเกิดจากการไม่ประพฤติผิด ถือเป็นความสุขที่มีค่า และยั่งยืนที่สุด ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงยกย่อง และให้ความสำคัญยิ่งต่อการเป็นผู้ครองเรือน*