Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate
กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควาย (Dung beetle) จัดเป็นแมลงเศรษฐกิจ และอาหารท้องถิ่นที่สำคัญชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะคนในภาคอีสานที่นิยมนำกุดจี่ชนิดนี้มาประกอบอาหาร อาทิ แกงเลียงกุดจี่ใส่ผักหวาน กุดจี่คั่วเกลือ และป่นกุดจี่ เป็นต้น
กุดจี่หมุ่น เป็นคำเรียกในภาคอีสาน โดยคำว่าหมุ่น หมายถึง การขุดซอนไซ ตามลักษณะการชอบอาศัยตามมูลสัตว์ด้วยการขุดซอนไซทั่วกองมูลสัตว์
ส่วนคำว่า กุดจี่ขี้ควาย มักนิยมเรียกทั่วไป ตามลักษณะการชอบอาศัยหรือพบอาศัยได้ตามกองมูลของขี้วัวขี้ควาย แต่สามารถพบได้ตามกองมูลสัตว์อื่นด้วยเช่นกัน ซึ่งมักเป็นกองมูลสัตว์ที่มีลักษณะเหลว ไม่จับตัวเป็นก้อนแข็ง เช่น มูลช้าง เป็นต้น ทั้งนี้ อาจพบกุดจี่ชนิดอื่นด้วยในกองมูลโคด้วยเช่นกัน อาทิ กุดจี่แดง กุดจี่หวาย และกุดจี่เขา ซึ่งเรียก รวมกันว่ากุดจี่ขี้ควายเช่นกัน
กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควาย จะเป็นกุดจี่คนละชนิดกับกุดจี่เบ้าหรือกุดจี่มูลช้าง เพราะกุดจี่เบ้าจะมีขนาดใหญ่กว่ามาก และอาศัยภายในกองมูลสัตว์ แต่จะใช้มูลสัตว์ อาทิ มูลโคกระบือ เพื่อกลิ้งเป็นก้อนสำหรับวางไข่ด้านใน

อนุกรมวิธาน [1]
• อันดับ (order) : Coleoptera
• วงศ์ (family): Scaarabaeidia
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Paragymnopleurus aethiops Sharp.
• ชื่อสามัญ : Dung beetle
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– กุดจี่
– กุดจี่ขี้ควาย
– ด้วงขี้ควาย
ภาคอีสาน
– กุดจี่หมุ่น
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควาย เป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเขตอบอุ่น ในเอเชียพบได้ในประเทศอินเดีย และแถบประเทศตะวันออกเฉียงใต้ โดยในประเทศไทยพบได้มากในภาคกลาง อีสาน และเหนือ
ลักษณะกุดจี่หมุ่น/กุดจี่ขี้ควาย
กุดจี่ จัดเป็นแมลงชนิดหนึ่ง แต่ทั่วไปนิยมเรียกสั้นๆว่า แมง ซึ่งลักษณะของแมลงจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนหัว อก และท้อง
เช่นเดียวกัน แมลงกุดจี่หมุ่น หรือ แมลงกุดจี่ขี้ควาย โดยลำตัวทั้งหมดมีลักษณะเป็นรูปไข่ ประกอบด้วยส่วนหัว อก และท้อง มีลักษณะเป็นเปลือกหุ้มแข็ง และมีสีดำ

ส่วนหัวมีขนาดเล็กที่สุด มีลักษณะครึ่งวงกลม และค่อนข้างแบน มีปากเป็นแบบปากกัด มีหนวดรูปใบไม้ 2 อัน โดยส่วนปลายของปล้องหนวดจะแผ่แบนออกคล้ายรูปใบไม้ ส่วนอกมีขนาดใหญ่กว่าส่วนหัว แต่เล็กกว่าส่วนท้อง ส่วนท้องมีขนาดใหญ่ที่สุด ด้านบนปกคลุมด้วยแผ่นปีก
ส่วนขามีทั้งหมด 6 ขา ประกอบด้วยขาคู่หน้าขนาดเล็กที่สุดจะอยู่บริเวณด้านบนของส่วนอก ส่วนขาคู่ที่ 2 จะอยู่บริเวณด้านบนของส่วนท้อง และขาคู่สุดท้ายมีขนาดใหญ่ที่สุดจะอยู่บริเวณด้านล่างของส่วนท้อง
แหล่งอาศัย และการกินอาหาร
กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควาย ชอบอาศัยในกองมูลสัตว์ โดยเฉพาะกองมูลสัตว์ที่มีลักษณะเหลว ไม่เป็นก้อนแข็ง อาทิ กองมูลโค กระบือ และช้าง เป็นต้น ไม่ชอบกองมูลสัตว์บางชนิดที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง อาทิ มูลแพะ แกะ ม้า เป็นต้น
การที่กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควายชอบอาศัยบนกองมูลโคหรือกองขี้ควาย เนื่องจาก มูลสัตว์ชนิดนี้ประกอบด้วยเศษหญ้าหรือเศษพืชที่ผ่านการย่อย และหมักแล้ว สามารถใช้เป็นแหล่งอาหารได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเหมาะสำหรับเป็นแหล่งวางไข่ และใช้เป็นแหล่งอาหารของตัวอ่อนได้ทันที โดยกุดจี่ตัวเต็มวัยจะทำการซอนไซเพื่อกินมูลขี้ควายจนทั่วกอง จากนั้น ทำการการวางไข่ทั้งในกองมูล และพื้นดินที่อยู่ด้านล่างของมูล
ประโยชน์กุดจี่หมุ่น/กุดจี่ขี้ควาย
1. กุดจี่ถูกใช้ประโยชน์อย่างมากสำหรับการประกอบอาหาร โดยเป็นวัตถุดิบทำอาหารที่นิยมของคนอีสาน โดยใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ กุดจี่ชุบแป้งทอด กุดจี่คั่วเกลือ ป่นกุดจี่ แกงเลียงกุดจี่ (แกงใส่ผักนานาชนิด) เป็นต้น
2. บทบาทในระบบนิเวศ กุดจี่จะทำหน้าที่ช่วยกำจัดของเสียจำพวกมูลสัตว์
คุณค่าทางโภชนาการกุดจี่ (กุดจี่สด 100 กรัม) [2] อ้างถึงในพงศ์ธร และประภาศรี, 1983
Proximates | ||
น้ำ | กรัม | 68.4 |
พลังงาน | กิโลแคลอรี่ | 108.3 |
โปรตีน | กรัม | 17.2 |
ไขมัน | กรัม | 4.3 |
แป้งและน้ำตาล | กรัม | 0.2 |
ใยอาหาร | กรัม | 7.0 |
เถ้า | กรัม | 2.9 |
Minerals | ||
แคลเซียม | มิลลิกรัม | 30.9 |
เหล็ก | มิลลิกรัม | 7.7 |
ฟอสฟอรัส | มิลลิกรัม | 157.9 |
โพแทสเซียม | มิลลิกรัม | 287.6 |
โซเดียม | มิลลิกรัม | 292.6 |
Vitamins | ||
ไทอะมีน (B1) | มิลลิกรัม | 0.19 |
ไรโบฟลาวิน (B2) | มิลลิกรัม | 1.09 |
ไนอะซีน (B3) | มิลลิกรัม | 3.44 |
วิธีหากุดจี่หมุ่น/กุดจี่ขี้ควาย
กุดจี่หมุ่น/กุดจี่ขี้ควาย สามารถหาได้ในทุกฤดู แต่ฤดูที่นิยมนำมารับประทานจะเป็นช่วงฤดูแล้งในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เนื่องจาก เป็นช่วงที่อาหารขาดแคลน
กุดจี่หมุ่น/กุดจี่ขี้ควายสามารถหาได้ง่ายตามกองมูลสัตว์ โดยเฉพาะมูลโค และกระบือ โดยบริเวณใดที่พบมูลโคกระบือก็จะพบกุดจี่ชนิดนี้ได้ง่าย แต่อาจพบได้เพียงบางกอง โดยสังเกตได้จากกองมูลใดที่มีกุดจี่ กองมูลนั้น จะมีรูพรุนที่เป็นการเจาะของกุดจี่
วิธีจับกุดจี่นิยมใช้เสียมค่อยๆถากกองมูลสัตว์ออก ซึ่งจะพบกุดจี่อยู่ด้านใน และให้ถากลงเรื่อยๆจนถึงหน้าดินลึกด้านล่างกองกุดจี่ ซึ่งดินด้านล่างนี้จะเป็นจุดที่พบกุดจี่มากที่สุด ทั้งนี้ เมื่อถากพบแล้วให้รีบจับใส่ถัง และก่อนใช้ประกอบอาหารควรขังทิ้งไว้ประมาณ 1 วัน ก่อน เพื่อให้กุดจี่ถ่ายมูลออกก่อน
สถานะการตลาด
กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควาย พบจำหน่ายในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นิยมรับประทานกัน โดยอาจพบจำหน่ายตามตลาดนัดบ้าง โดยเฉพาะตลาดนัดขนาดเล็กของชุมชน แต่ส่วนมากตามชนบทมักหารับประทานกันได้เองหรือหาซื้อขายกันตามหมู่บ้านในชนบทในลักษณะที่ว่าเมื่อหามาได้ก็จะเดินขายตามบ้านหลังโน้นหลังนี้ หรือ ขายให้กับคนที่รู้จักมักคุ้น ส่วนราคาจำหน่ายมักจำหน่ายเป็นถุง ถุงละประมาณ 20-30 บาท โดยถุงหนึ่งจะมีกุดจี่ประมาณ 1-3 ขีด
เอกสารอ้างอิง
[1] น้องนุช สารภี. 2545. การสำรวจแมลงที่ดินได้ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์.
[2] รุจิเรข ชนาวิรัตน์. 2559. ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดจากแมลงทอด-
ที่รับประทานได้บางชนิด หลังทำปฏิกิริยากับ-
ไนไตรท โดยใช้การทดสอบเอมส์
ขอบคุณภาพจาก
– sentangsedtee.com/
– gramho.com/
– ยูทูป ช่อง
tomcat tony เข้าถึงได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=fkPYntWU458