Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate
ปลาม้าลาย (Zebra danio) จัดเป็นปลาสวยงามต่างประเทศที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมเลี้ยงอย่างมากในตู้ปลา ทั้งเลี้ยงแบบเดี่ยว และเลี้ยงคู่กับปลากินพืชที่มีขนาดใหญ่กว่า เนื่องจาก เป็นปลาขนาดเล็ก ลำตัวมีลวดลายสวยงามคล้ายกับม้าลาย
อนุกรมวิธาน [1] อ้างถึงใน Nelson, 1994
• อาณาจักร (kingdom): Animalia
• ไฟลัม (phylum): Chordata
• ไฟลัมย่อย (Subphylum): Vertebrata
• ชั้น (class): Teleostomi
• อันดับ (order): Cypriniformes
• อันดับย่อย (Suborder): Cyprinoidei
• วงศ์ (family): Cyprinidae
• สกุล (genus): Brachydanio
• ชนิด (species): Brachydanio rerio
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brachydanio rerio Hamiton-Buchanan
• ชื่อสามัญ :
– Zebra danio
– Danio Larvae
– Zebra fish
• ชื่อท้องถิ่น : ปลาม้าลาย
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ปลาม้าลายมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มีการนำเข้าและเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
ลักษณะปลาม้าลาย [1] อ้างถึงใน เอกสารหลายฉบับ
ปลาม้าลาย เป็นปลาขนาดเล็ก มีลำตัวค่อนข้างกลม ขนาดลำตัวยาวประมาณ 5-6.25 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผิวลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็ก ด้านข้างลำตัวจะมีลายพาดตามความยาวของลำตัว จำนวนประมาณ 7–8 เส้น ลายพาดดังกล่าวพาดจากใต้เหงือกไปจรดปลายหาง โดยในปลาม้าลายเพศผู้นั้นจะมีสีพื้นของลายพาดเป็นแถบสีนํ้าเงินสลับกับสีทอง ส่วนเพศเมียมีจะมีสีพื้นลายพาดเป็นแถบนํ้าเงินสลับกับสีเงิน
ปลาม้าลายตัวผู้
ปลาม้าลายตัวเมีย
ลำตัวส่วนบนบริเวณบนสันหลังตลอดแนวจะมีแถบสีเขียวเริ่มตั้งแต่ปลายจมูกจนถึงโคนครีบหาง ส่วนครีบหลังจะมีสีเขียวแถบดำ ขอบสีเหลืองทอง ส่วนตาจะมีลักษณะกลมโปน อยู่เยื้องจากสันจมูกมาเล็กน้อย และบริเวณใต้ปากจะมีหนวดอยู่ 2 เส้น ทั้งนี้ ปลาม้าลายเพศผู้จะมีลำตัวเรียวยาวกว่าเพศเมีย แต่จะมีขนาดลำตัวเล็กกว่าเพศเมีย โดยลำตัวเพศเมียจะมีลักษณะอ้วนป้อมกว่า โดยเฉพาะเพศเมียที่ถึงวัยเจริญพันธุ์ และเข้าสู่ระยะวางไข่จะสามารถสังเกตเห็นท้องอูมได้อย่างชัดเจน
ลักษณะอุปนิสัย และการกินอาหาร
ปลาม้าลาย เป็นปลาที่มีอุปนิสัยรักสงบ และชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มฝูง ชอบนํ้าที่เป็นด่างอ่อนๆถึงปานกลาง เป็นปลาที่สามารถว่ายนํ้าได้อย่างรวดเร็ว เป็นปลาที่ชอบแสงสว่างตลอด ชอบออกหากินในระดับกลางนํ้าหรือผิวนํ้า กินอาหารง่าย มักกินทั้งพืช และสัตว์เป็นอาหาร แต่โดยทั่วไปจะชอบกินสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร เช่น ไรแดง โรติเฟอร์ หนอนแดง และตัวอ่อนของแมลง ส่วนพืชที่ชอบกิน ได้แก่ สาหร่าย และพืชนํ้าเล็กๆ
การเพาะพันธุ์ปลาม้าลาย
การเพาะพันธุ์ปลาม้าลาย เริ่มจากการเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุในช่วง 1 ปี ให้เลือกใช้เพศผู้ 1 ตัว ต่อเพศเมีย 1 ตัว หรือใช้ตัวผู้ประมาณ 15 ตัว ตัวเมีย 15 ตัว ต่อตู้กระจกใช้เลี้ยงขนาดบรรจุ 10 ลิตร โดยตัวเมีย 1 ตัว จะวางไข่เฉลี่ยที่ประมาณ 100 ฟองต่อครั้ง โดยการวางไข่จะวางไข่แบบกระจัดกระจาย วางไข่ได้ทุกๆ 2-3 วัน โดยไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 24–36 ชั่วโมง
หลังจากแม่ปลาวางไข่แล้วจะทำการคัดแยกไข่ปลาออกมาเพาะฟักในภาชนะต่างหาก เช่น ภาชนะขนาดใหญ่หรือบิกเกอร์ เป็นต้น โดยบีกเกอร์ที่ใช้ในการอนุบาลต้องมีความเหมาะสมกับขนาดของปลาที่เพิ่มขึ้น และต้องมีการทำความสะอาดตะกอนจากตัวอ่อนของปลาม้าลายก่อนจะมีการเคลื่อนย้ายไปทำการอนุบาล ต้องมีการแยกตัวอ่อน (embryo) ที่มีความสมบูรณ์ออกจากตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งการเตรียมไม่ดีจะทำให้ไข่เกิดการติดเชื้อ หากไข่สกปรก ควรล้างด้วยนํ้า หากไข่มีการติดเชื้อให้ทำการฟอกขาวในกรณีที่จำเป็นจริงๆ โดยเตรียมสารละลาย 0.1 มิลลิลิตรของ 5.25 เปอร์เซ็นต์ โซเดี่ยมไฮโปรครอไรท์ (sodium hypochlorite) ใส่ในบีกเกอร์ที่มีนํ้า 250 มิลลิลิตร เมื่อจะทำการฟอกขาวนำสารละลายที่เตรียมไว้ใส่ในบีกเกอร์ที่มีไข่ปลาม้าลายอยู่ โดยใช้สารละลายเพียง 25–30 มิลลิลิตร จะทำให้ไข่ตกตะกอน หลังจากนั้น 1-2 นาที ทำการเคลื่อนย้ายไข่นำไปไว้ในภาชนะที่มีนํ้าสะอาด 250 มิลลิลิตร
การอนุบาลลูกปลาม้าลาย [1] อ้างถึงใน เอกสารหลายฉบับ
การอนุบาลลูกปลาม้าลายเริ่มอนุบาลหลังจากการปฏิสนธิจนกระทั่งมีขนาดใหญ่พอที่จะดำรงชีวิตเป็นปกติอยู่ในบ่อ โดยจะอนุบาลในบีกเกอร์หรือภาชนะขนาดใหญ่ โดยลูกปลาม้าลายที่นำมาอนุบาลจะเริ่มกินอาหารหลังจาก 4 วันแรก จึงต้องมีการทำความสะอาดตะกอน และเศษอาหารที่เหลือทุกวัน
อาหารสำหรับอนุบาลปลาม้าลายวัยอ่อน
ลูกปลาวัยอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่ในระยะแรก พบว่า มีถุงไข่แดงติดมาด้วย โดยที่ลูกปลาจะใช้ถุงไข่แดงนี้เป็นแหล่งของพลังงานในช่วงระยะแรกได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น และเมื่อถุงไข่แดงยุบจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอาหารให้ลูกปลาสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ถ้าอาหารที่ให้ลูกปลากินแล้วลูกปลาไม่สามารถยอมรับได้ ลูกปลานั้นก็จะตาย ระยะเปลี่ยนแปลงอาหารนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงชีวิตของการเจริญเติบโตของลูกปลา
อาหารที่ให้แก่ลูกปลานั้น สำหรับลูกปลาที่มีขนาดเล็ก เช่น ลูกปลาม้าลาย ลูกปลากัด ฯลฯ ซึ่งมีขนาดปากโดยประมาณ 0.1-0.2 มิลลิเมตร ดังนั้น อาหารที่ให้จำเป็นต้องคัดเลือกให้อาหารมีขนาดใกล้เคียงกับปากของลูกปลาเพื่อที่ลูกปลาจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ อาหารที่นำมาใช้นี้ประกอบด้วยอาหาร 2 ประเภท คือ อาหารมีชีวิต และอาหารสำเร็จรูปประเภทไมโครเอ็นแค็ปซูเล็ต ซึ่งก็มีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันไป ส่วนด้านการยอมรับลูกปลามีการยอมรับอาหารธรรมชาติได้ดีกว่าอาหารสำเร็จรูป
อาหารสำหรับอนุบาลสัตว์นํ้าวัยอ่อนนิยมใช้อาหารมีชีวิตเพราะในอาหารที่มีชีวิตมีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยเป็นองค์ประกอบซึ่งสัตว์นํ้าสามารถนำไปใช้ช่วยย่อยได้โดยเฉพาะลูกปลาที่การพัฒนาของนํ้าย่อยยังไม่สมบูรณ์นอกจากนั้น ยังพบว่าอาหารมีชีวิตมีองค์ประกอบของกรดอะมิโนอิสระ ซึ่งลูกปลาสามารถนำไปใช้ได้ทันที และมีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น ตัวอ่อนของอาร์ทีเมียมีคุณค่าทางอาหารสูงมากจึงเหมาะสมที่จะนำไปเลี้ยงลูกปลาวัยอ่อน โดยเฉพาะปลาที่มีราคาแพง เพราะจะคุ้มค่ากว่า นอกจากนี้ อาหารมีชีวิตยังมีสารสี (pigment) สารซึ่งช่วยป้องกันโรค (prophylatics) และสารซึ่งสามารถช่วยในการสร้างภูมิต้านทานโรค (therapeutics) ซึ่งปลาไม่สามารถสังเคราะห์ได้เองตามธรรมชาติ
สารธรรมชาติเหล่านี้เมื่อลูกปลาได้รับจะเปรียบเสมือนเป็นตัวที่จะเสริมให้ปลาแข็งแรงเพิ่มขึ้นแต่ในระยะแรกของการให้อาหารเลี้ยงปลานี้ ต้องคำนึงถึงขนาดของลูกปลาด้วย โดยอาหารที่ให้ต้องมีขนาดเล็กมาก ตัวอย่างเช่น ลูกปลาหางนกยูงสามารถที่จะรับอาหารได้ขนาดใหญ่กว่าลูกปลากัดถ้าจะให้ไรแดงเป็นอาหารก็สมควรที่จะต้องกรองไรแดงก่อน ไม่เช่นนั้นอาหารที่เหลือเมื่อปลาไม่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ก็ตาย และทำให้นํ้าเน่าเสียได้เป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นในระบบการจัดการทั่วๆไป
เมื่ออนุบาลได้ 20-30 วัน ก็สามารถจับจำหน่ายได้
การเลี้ยงปลาม้าลาย
ปลาม้าลาย เป็นปลาที่มีอายุสั้น ประมาณ 3-4 เดือน เติบโต และชอบอาศัยในน้ำสะอาด ที่มีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 6.5-7.2 และอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมในช่วง 17.7–25.5 องศาเซลเซียส
การเลี้ยงปลาม้าลายนั้น นิยมเลี้ยงในตู้กระจกเป็นหลัก เพราะจะสามารถมองชมลายสวยงามบนตัวปลาได้ง่าย โดยสามารถเลี้ยงในตู้ปลาได้ทุกขนาด ทั้งเลี้ยงแบบปลาม้าลายชนิดเดียว หรือ เลี้ยงคู่กับปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า และไม่ใช่ปลากินเนื้อ
อาหาร และการกินอาหาร
โรติเฟอร์ หนอนจิ๋ว และไรแดง สามารถใช้เลี้ยงได้ทั้งปลาม้าลายวัยอ่อน และตัวเต็มวัย นอกจากนั้น ยังใช้อาหารปลาสำเร็จรูปสำหรับปลาม้าลายตัวเต็มวัยได้ด้วย ส่วนความถี่การให้อาหารนั้น ควรให้วันละ 1-2 ครั้ง ในช่วงเช้า-เย็น
การจำหน่าย และสถานะการตลาด
ปลาม้าลายพบจำหน่ายทั่วไปในร้านค้าปลาสวยงามในหลายจังหวัด มีแหล่งจำหน่ายหลักที่กรุงเทพฯ เช่น สวนจตุจักร ราคาจำหน่ายอยู่ประมาณตัวละ 5-20 บาท
เอกสารอ้างอิง
[1] พรพรรณ พุ่มพวง. 2547. การใช้หนอนจิ๋วทดแทนโรติเฟอร์และ-
ไรแดงในการอนุบาลลูกปลาม้าลายวัยอ่อน.