ผ้าบังสุกุล ความหมาย และชนิดผ้าบังสุกุล

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ผ้าบังสุกุล หมายถึง ผ้าที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีเจ้าของในสถานที่ต่างๆ โดยเหตุเพราะเป็นผ้าปนเปื้อน ผ้าห่อศพ ผ้าที่ถูกใช้ในพิธีกรรม ผ้ามีรอยไหม้ ผ้ามีรอยกัดของสัตว์ ผ้ามีรอยขาด เป็นต้น

ผ้าบังสุกุล แบ่งออกเป็น 2 คำ คือ ผ้า + บังสุกุล

ผ้า หมายถึง สิ่งทอถักสำหรับการนุ่งห่มหรือสำหรับใช้สอย
บังสุกุล มาจากภาษาบาลี คำว่า บัง-สุ-กุ-ละ หมายถึง คลุกหรือปนเปื้อนฝุ่น โดยอธิบายความหมายของศัพท์ให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ สิ่งที่ถูกวางทิ้งไว้ให้ปนเปื้อนดินหรือฝุ่นนั่นเอง

ผ้าบังสุกุล ในอีกความหมายที่มักเข้าใจกัน คือ ผ้าที่ถูกใช้สำหรับให้ภิกษุชักสวดหน้าศพ โดยความเข้าใจนี้เป็นเหตุมาจากความหมายของคำว่า ผ้าบังสุกุล นั่นเอง เพราะในบัญญัติผ้าบังสุกุล 23 ชนิด ที่พุทธองค์อนุญาตให้ภิกษุสามารถนำผ้าเหล่านั้นมาใช้สำหรับตัดเย็บเป็นผ้าจีวรได้ คือ ผ้าคตปัจจาคตะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ ซึ่งถูกใช้ห่มศพ) อ่านเพิ่มเติม ผ้าจีวร หมายถึง…

ภิกษุในสมัยพุทธกาล เมื่อต้องการนำผ้าที่ถูกทิ้งไว้ด้วยการห่อปิดศพมาใช้ทำจีวรก็ต้องท่องบทสวดบังสุกุลตายให้แก่ศพก่อน ซึ่งต่อๆมา พิธีกรรมแบบนี้จึงถูกนำมาใช้ในงานศพก่อนทำการเผาหรือฝังศพเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

การชักบังสุกุลในงานศพก่อนทำพิธีฝังหรือเผา มีจุดประสงค์ 3 อย่าง คือ
1. จุดประสงค์ตามหลักการในครั้งสมัยพุทธกาล คือ เพื่อให้ภิกษุสามารถนำผ้าห่อศพมาใช้ทำจีวรได้อย่างถูกต้อง เพราะเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ
2. จุดประสงค์ในทางภาวนาธรรม ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในสมัยพุทธกาล และปัจจุบัน นั่นคือ ภิกษุ และญาติผู้วายชนพึงพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขารเพื่อให้เกิดปัญญา และเข้าใจในความเป็นธรรมชาติ
3. จุดประสงค์การถวายผ้าบังสุกุล เนื่องจาก งานศพในปัจจุบันจะมีญาติผู้วายชนทำหน้าที่ทำพิธีกรรม ซึ่งแสดงถึงความเป็นเจ้าของผ้าบังสุกุลที่ใช้ประกอบพิธีศพทั้งหมด และหากต้องการถวายผ้าต่างๆเหล่านั้น ก็ต้องถวายให้ผ่านการชักผ้าบังสุกุลก่อนทุกครั้ง เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ผู้เป็นเจ้าของผ้า มิใช่เจ้าของแล้ว เพราะได้ถวายให้แก่ภิกษุผู้ชักผ้าบังสุกุลแล้วนั่นเอง

ผ้าบังสุกุลมี 23 ชนิด
1. ผ้าโสสานิกะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า)
2. ผ้าปาปณิกะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้บริเวณทางเข้าตลาด)
3. ผ้ารถิกะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ตามตรอกซอย)
4. ผ้าสังการโจฬกะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ตามกองขยะ)
5. ผ้าโสตถิยะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้หลังถูกใช้เช็ดครรภ์)
6. ผ้าสินานะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ หลังถูกใช้อาบน้ำมนต์)
7. ผ้าติตถะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ตามท่าน้ำ)
8. ผ้าคตปัจจาคตะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ ซึ่งถูกใช้ห่มศพ)
9. ผ้าอัคคิทัฑฒะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ เพราะมีรอยไฟไหม้)
10. ผ้าโคขายิตะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ เพราะมีรอยโคหรือกระบือเคี้ยว)
11. ผ้าอุปจิกขายิตะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ เพราะมีรอยปลวกกัด)
12. ผ้าอุนธูรขายิตะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ เพราะมีรอยหนูกัด)
13. ผ้าอันตัจฉินนะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ โดยมีรอยขาดบริเวณริมผ้า)
14. ผ้าทสัจฉินนะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ โดยมีรอยขาดบริเวณชายผ้า)
15. ผ้าธชาหฏะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ ด้วยการชักขึ้นเป็นธง)
16. ผ้าถูปะ (ผ้าที่ห่อมัดบูชาจอมปลวกไว้)
17. ผ้าสมณจีวร (ผ้าของภิกษุอื่นที่มีเจ้าของ)
18. ผ้าสามุททิยะ (ผ้าที่ถูกซัดมาบนฝั่งด้วยคลื่นทะเล)
19. ผ้าอภิเสกิกะ (ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ในสถานที่พิธีราชาภิเษก)
20. ผ้าปันถิกะ (ผ้าที่ตกหล่นตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่มีเจ้าของ)
21. ผ้าวาตาหฏะ (ผ้าที่ถูกลมพัดปลิวไป โดยไม่มีเจ้าของ)
22. ผ้าอิทธิมยะ (ผ้าที่เอหิภิกษุใช้)
23. ผ้าเทวทัตติยะ (ผ้าที่เทวดาได้ถวาย)

ขอบคุณภาพจาก
– Youtube ช่อง Kritsada Channel