เร่วหอม เครื่องเทศก๋วยเตี๋ยวเมืองจัน สรรพคุณ ช่องทางตลาด และแหล่งซื้อขาย

เร่วหอม เป็นพืชที่นิยมนำเหง้ามาเป็นเครื่องเทศ คล้ายกับข่า ขิง เพราะมีกลิ่นหอมละมุน ไม่หอมฉุน ช่วยเพิ่มรสชาติอาหาร และดับกลิ่นคาว ใช้สำหรับใส่ในอาหารหลายเมนู อาทิ ก๋วยเตี๋ยว แกงป่า ต้มยำ พะโล้ และผัดเผ็ด เป็นต้น

อนุกรมวิธาน
Family (วงศ์) : Zingiberaceae
Genus (สกุล) : Etlingera
Species (ชนิด) : Etlingera pavieana

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Etlingera pavieana (Pierre ex Gagnep.) R.M.Sm.
ชื่อสามัญ :
– Amomumutriculosum
– Amomumsp.
ชื่อท้องถิ่น :
เหนือ
– หมากอี้
– มะอี้
กลาง
– หมากน่ง (สระบุรี)
อีสาน
– หมากเน็ง

ที่มา : [2]

การแพร่กระจาย
พบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1870 ที่ประเทศกัมพูชา โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Pierre J.B.L. เร่วหอมเป็นไม้ล้มลุก เป็นพืชในสกุลเดียวกับขิง ข่า กระวาน ดาหลา และปุด ชอบขึ้นตามป่าเขาบริเวณที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะตามลำห้วย ลำธาร พบแพร่กระจายในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ส่วนในประเทศไทยพบแพร่กระจายมากในภาคตะวันออกจังหวัดจันทบุรีบริเวณเขาสอยดาว จังหวัดระยองบริเวณเขาชะเมา และตราดบริเวณเกาะช้าง โดยชาวบ้านนิยมนำต้นจากป่ามาปลูกตามสวนหลังบ้าน ตามหัวไร่ปลายนาเพื่อใช้ประกอบอาหาร

ที่มา : [1], [3]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เหง้า และลำต้น
ลำต้นเร่วหอมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ลำต้นแท้ที่เป็นหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน และลำต้นเทียมที่เป็นส่วนเหนือดิน มีลักษณะกลม สีเขียว ที่ประกอบด้วยกาบใบเรียงซ้อนกัน สูงประมาณ 50-150 เซนติเมตร

ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเยื้องสลับใบกัน ใบเป็นรูปหอก เรียวยาว กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 30-50 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น 1-1.5 เซนติเมตร

ดอก
ดอกออกเป็นช่อ แทงออกบริเวณเหง้า ก้านช่อดอกสั้น ช่อดอกกลม ดอกย่อยมีกลีบดอกสีแดงสดใส

ผล
ผลเป็นรูปขอบขนาน มี 3 สัน ผลแห้งมีสีน้ำตาล เมื่อแห้งจัดจะปริแตก

สารสำคัญที่พบ
– 4-methoxycinnamyl 4-coumarate
– p-anisic acid
– p-hydroxy benzaldehyde
– 4-methoxycinnamyl alcohol
– p-coumaric acid
– trans-4-methoxycinnamaldehyde
– (E)-methyl isoeugenol
– trans-anethole
– p-anisaldehyde

ที่มา : [2]

สรรพคุณเร่วหอม
เหง้า
เหง้านำมาต้มน้ำดื่มหรือใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร มีสรรพคุณ อาทิ
– ช่วยลดไข้
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– แก้ลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
– ต้านการอักเสบ
– ต้านอนุมูลอิสระ
– ต้านโรคเบาหวาน

ดอก
– ช่วยลดไข้
– ใช้ทาลดอาการผื่นคัน

เหง้า
– ช่วยแก้ไข้
– รักษาอาการริดสีดวงทวาร
– แก้ไอ ขับเสมหะ
– แก้หอบหืด
– ใช้เป็นยาขับลม
– แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

ที่มา : [2], [3]

ประโยชน์เร่วหอม
เหง้า
– เหง้ามีกลิ่นหอมละมุน ไม่หอมฉุนเหมือนเครื่องเทศชนิดอื่น ใช้สำหรับประกอบอาหารหลากหลายเมนู ช่วยเพิ่มรสชาติอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาว อาทิ ก๋วยเตี๋ยว แกงป่า ต้มยำ พะโล้ และผัดเผ็ด เป็นต้น โดยเฉพาะชาวจันทบุรีที่นิยมนำหัวเร่วหอมมาสับเป็นชิ้นๆ ต้มใส่น้ำก๋วยเตี๋ยว ทำให้น้ำก๋วยเตี๋ยวมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างจากที่อื่น
– เหง้าแก่ ตำบดให้ละเอียด ใช้เป็นส่วนผสมของพริกแกง
– เหง้าอ่อนหรือหน่ออ่อนนำมาลวกจิ้มน้ำพริก
– สร้างรายได้ โดยเฉพาะชาวจังหวัดจันทบุรี และใกล้เคียงได้แปรรูปหัวเร่วหอมที่นำมาตากแห้ง และบดเป็นผง ก่อนจะผสมกับเครื่องเทศอื่น หรือ แบบไม่ผสม บรรจุถุงออกจำหน่ายในพื้นที่ และต่างจังหวัดสำหรับใช้ทำเครื่องแกง พริกแกง ใส่ในก๋วยเตี๋ยว หรือ ใช้ประกอบอาหารอื่นๆ

ลำต้น
– แก่นลำต้น นิ่มกรอบ มีกลิ่นหอม ใช้ลวกกินกับน้ำพริก ใช้ประกอบอาหาร อาทิ ผัดเผ็ด แกงป่า แกงเลียง เป็นต้น
– ลำต้นใช้เป็นเชือกรัดของ นำมาต้มหรือแช่น้ำใช้ทอเป็นเส้นใย

ที่มา : [3]

วิธีปลูกเร่วหอม
การปลูกเร่วหอมจะคล้ายกับการปลูกข่า ปลูกขิงทั่วไป คือ ให้ขุดเหง้าพร้อมลำต้น ก่อนตัดลำต้นให้เหลือประมาณหนึ่งศอก แล้วขุดหลุมปลูก ฝังเหง้าลงหลุม กลบเหง้าให้ทั่วก็เป็นอันแล้วเสร็จ โดยหลังปลูกให้รดน้ำ1-2 วัน / ครั้ง จนปลูกติดประมาณ 1-2 อาทิตย์ หลังจากนั้น เหง้าเร่วหอมก็จะแทงราก แทงใบ และแตกเหง้าใหม่เพิ่ม

ช่องทางการตลาด และแหล่งซื้อขาย
สำหรับการแปรรูปเร่วหอมเพื่อจำหน่าย ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจขนาดเล็กหลายแห่ง ทั้งจำหน่ายแบบสด และแบบแห้ง ที่สับเป็นชิ้นๆขนาดเล็ก หรือ บดเป็นผง แล้วบรรจุซองส่งจำหน่าย

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์
– ยี่ห้อบ้านเร่วหอม สถานที่ผลิต ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โทร. 089-9349344 หาซื้อได้ที่ lazada และ shopee

เอกสารอ้างอิง
[1] พงศักดิ์ พลเสนา. 2550. เร่วหอมพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของไทย
และรายงานการพบ “ผลเร่วหอม” ครั้งแรก.
[2] เอกรัฐ ศรีสุข และ กล่าวขวัญ ศรีสุข. (2555). การศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจาก
ต้นเร่วหอมและว่านสาวหลง.
[3] ศศิวิมล ดีกัลลา. 2556. ศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์การต้าน
จุลชีพของน้ำมันหอมระเหยจากเร่วหอม.