กระดาษธูปฤาษี ประโยชน์ และวิธีทำกระดาษธูปฤาษี

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

กระดาษธูปฤาษี หมายถึง กระดาษชนิดหนึ่งที่ผลิตได้จากต้นธูปฤาษี มีลักษณะคล้ายกับกระดาษสาทั่วไป แผ่นกระดาษมีลักษณะบางหรืออาจทำหนาตามความต้องการ มองเห็นเส้นใยแทรกทั่วแผ่น แผ่นกระดาษมีความโปร่งแสง และสามารถย้อมสีให้มีสีสันตามต้องการได้

ต้นธูปฤาษี
ธูปฤาษี (Cattail) เป็นพืชล้มลุกอายุประมาณ 2 ปี ที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง สามารถพบได้ในทุกภาค ซึ่งจัดเป็นวัชพืชต่างถิ่นรุกรานชนิดหนึ่ง

ลำต้นธูปฤาษีมีลักษณะเป็นเหง้ากลมเหนือดินหรืออยู่ใต้ดิน ซึ่งมักมองไม่เห็นเพราะเติบโตในแหล่งน้ำขัง ลำต้นสามารถแตกหน่อใหม่ได้เรื่อยๆ (หน่อใช้ทำอาหารได้) ทำให้แพร่กระจายคลุมพื้นที่ได้เร็ว ส่วนใบธูปฤาษีจะมีลักษณะแบน และเรียวยาว แผ่นใบมีสีเขียวสด แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ส่วนดอกจะแทงออกกลางลำต้น มีก้านช่อดอกยาว 1.5-2.5 เมตร ช่อดอกมีลักษณะกลม ปลาช่อดอกมีดอกขนาดเล็กเป็นกระจุกคล้ายกับธูปบูชาพระ

ปริมาณธูปฤาษีที่พบแพร่กระจายในประเทศไทยถือว่ามีปริมาณมาก ซึ่งพบได้ในทุกจังหวัด โดยเฉพาะในแหล่งพื้นที่รกร้างที่มีน้ำขังหรือชื้นแฉะตลอดเวลา ทำให้พืชชนิดนี้ เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง จนเป็นภาระ และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการกำจัด ดังนั้น การนำธูปฤาษีมาใช้ประโยชน์ย่อมที่จะช่วยลดการแพร่กระจาย และช่วยกำจัดธูปฤาษีได้อีกทาง อาทิ การนำแปรรูปเป็นกระดาษก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยลดผลกระทบจากธูปฤาษีได้ อีกทั้ง ยังเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับการสร้างรายได้เช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อศึกษาปริมาณ cellulose ของธูปฤาษี และเปรียบเทียบกับผักตบชวา พบว่า ต้นธูปฤาษีมีปริมาณ cellulose ที่สูงมาก และมีปริมาณมากกว่าผักตลบชวา ซึ่งเหมาะสำหรับมาใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษได้

องค์ประกอบธูปฤาษีเปรียบเทียบกับผักตบชวา [1]

องค์ประกอบ

ธูปฤาษี (%)

ผักตบชวา (%)

Ash

Pentosan

Lignin

holo-cellulose

alpha-cellulose

beta-cellulose

gamma-cellulose

9.1

22.9

17.0

70.5

46.9

7.9

15.7

17.9

19.2

24.1

52.9

41.7

12.7

18.5

การใช้ประโยชน์กระดาษธูปฤาษี
กระดาษจากต้นธูปฤาษีสามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนกับกระดาษสาชนิดอื่นๆ ได้แก่ ใช้ทำดอกไม้ประดิษฐ์ โคมไฟ บรรจุภัณฑ์สำหรับห่ออาหารหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ใช้ทำกระดาษห่อของขวัญ ใช้ทำกระดาษตัดเป็นรูปตกแต่ง ใช้ทำปกรายงานการ์ด บัตรเชิญ และนามบัตร เป็นต้น

วิธี และขั้นตอนการทำกระดาษธูปฤาษี
1. การเตรียมวัตถุดิบ
– ทำการคัดเลือก และตัดเก็บต้นธูปฤาษี โดยเลือกตัดได้ทั้งใบ และก้านดอกที่ออกดอกแล้ว
– จากนั้น นำต้นมาตัดส่วนดอกออก แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาด
– ทำการตัดต้นธูปฤาษีเป็นท่อนๆ แต่ละท่อนยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร
– นำต้นธูปฤาษีที่ตัดเป็นท่อนแล้วไปตากแดดให้แห้ง

2. การต้มเยื่อ
– นำชิ้นต้นธูปฤาษีที่แห้งแล้วจำนวน 4 กิโลกรัม มาต้มกับสารละลายกรดเกลือ (โซเดียมไฮดรอกไซด์) 56 กรัม โซเดียมซัลไฟด์ 222 กรัม โดยใช้เวลาต้มประมาณ 2-3 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากทำจำนวนน้อย ให้ใช้ปี๊ปต้มก็ได้
– รินน้ำต้มทิ้ง และกรองให้เหลือเฉพาะเยื่อ จากนั้น นำเยื่อต้มไปล้างน้ำ และกรองให้สะอาด
– ในขั้นตอนการล้างน้ำ ให้จับสัมผัสเยื่อต้มว่ามีความลื่นหลงเหลือหรือไม่ หากเยื่อไม่มีเมือกหรือไม่มีความลื่น แสดงว่าเยื่อต้มมีความสะอาดเพียงพอ และสามารถนำไปเข้าขั้นตอนการทำเยื่อได้

3. การทำเยื่อ
การทำเยื่อ เป็นขั้นตอนการทำให้เยื่อต้มมีความละเอียดมากขึ้น ด้วยการนำเยื่อต้มมาบดด้วยมือ หรือ บดด้วยเครื่อง โดยการบดด้วยมือนั้น ทำได้ด้วยการตำบดในครก หรือ ใช้ไม้ทุบ ส่วนการใช้เครื่องนั้น นิยมใช้เครื่องตีบดเยื่อกระดาษโดยเฉพาะ

4. การฟอกเยื่อ
การฟอกเยื่อ เป็นขั้นตอนฟอกล้างสารที่เป็นรงค์วัตถุในเยื่อออกให้หมด เช่น ลิกนิน ซึ่งเยื่อที่ฟอกจะมีลักษณะสีขาว ไม่มีสีอื่นปน หรือ อาจพบสีอื่นบ้างเพียงเล็กน้อย

การฟอกเยื่อจะทำการฟอกด้วยการนำเยื่อมาตีฟอกกับสารเคมี ซึ่งมีสารเคมีหลายชนิดที่ใช้ฟอกสีได้ เช่นแคลเซียมไฮเปอร์คลอไรด์ (NaOCl) และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) ทำได้ 2 วิธี ดังนี้
4.1 การฟอกสีโดยใช้แคลเซียมไฮเปอร์คลอไรด์ (NaOCl) ในเครื่องตีเยื่อ โดยใช้แคลเซียมไฮเปอร์คลอไรด์ 1 ส่วน ต่อน้ำหนักเยื่อ 10 ส่วน โดยนำเยื่อลงในเครื่องตีเยื่อก่อน จากนั้น เทน้ำลงผสมจนท่วม ก่อนนำแคลเซียมไฮเปอร์คลอไรด์ลงผสม แล้วทำการตีเยื่อเพื่อฟอกสีนาน 35 นาที
4.2 การฟอกสีด้วยการแช่สารละลายแคลเซียมไฮเปอร์คลอไรด์ (NaOCl) ซึ่งวิธีนี้ไม่ได้ใช้เครื่องตีเยื่อ แต่จะทำการฟอกด้วยการแช่เยื่อในสารฟอก โดยใช้แคลเซียมไฮเปอร์คลอไรด์ จำนวน 15 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร จากนั้น แช่เยื่อทิ้งไว้นาน 12 ชั่วโมง

หลังการฟอกเยื่อด้วยสารเคมีแล้ว ให้นำเยื่อขึ้นมาล้างทำความสะอาด จนไม่มีกลิ่นของสารเคมี ซึ่งอาจทำการฟอก 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความขาวของเยื่อที่ต้องการ

5. การฟอกสี
การฟอกสี เป็นขั้นตอนเฉพาะที่ใช้ในกรณีที่ต้องการกระดาษธูปฤาษีให้มีสีสันเท่านั้น หากไม่ต้องการให้มีสีก็จะเข้าขั้นตอนนี้ เข้าสู่ขั้นตอนการทำแผ่นกระดาษต่อไป

การย้อมสีนั้น หากต้องการความเข้ม และความสดใสของสีจะนิยมใช้สีย้อมเคมี ซึ่งสามารถปรับความเข้มจางของสีได้จากปริมาณหรือความเข้มข้นของสีที่ใช้ แต่หากต้องการความเข้ม และความสดใสของสีน้อยกว่าสีจากสารเคมีสามารถที่จะใช้สีจากธรรมชาติได้

การย้อมสีนั้น ทำได้ทั้งการใช้เครื่องตีเยื่อช่วยย้อมหรือใช้วิธีการย้อมด้วยมือ ซึ่งจะต้องให้ความร้อนร่วมด้วยในทั้ง 2 วิธี เช่น การย้อมด้วยมือจะใช้การย้อมในปี๊ปที่ตั้งบนกองไฟ ให้ย้อมในสภาพน้ำร้อนที่ไม่ถึงขั้นน้ำเดือด ย้อมนาน 30-60 นาที ก่อนตักเยื่อนำเข้าสู่ขั้นตอนการทำแผ่นกระดาษต่อไป

6. การทำแผ่นกระดาษ
การทำแผ่นกระดาษ หากทำในปริมาณมากจะนำเยื่อกระดาษทั้งหมดเทรวมกันในถังใหญ่ แต่หากทำในปริมาณน้อยจะใช้การตักจากถังต้มใส่ตะแกรงได้เลยหรือเทใส่ถังหรือภาชนะที่สามารถวางตะแกรงลงตักได้

การทำแผ่นกระดาษ ทำได้ 2 วิธี คือ
6.1 การใช้ตะแกรงช้อนตัก
วิธีนี้ จะนำเยื่อที่เตรียมได้มาเทรวมกันในถัง และเติมน้ำให้ท่วมเยื่อ จากนั้น ใช้ไม้กวนเยื่อให้เข้ากัน ก่อนนำตะแกรงลงช้อนเยื่อในถัง จากนั้น ยกให้ให้สะเด็ดน้ำ ก่อนที่จะนำแผ่นตะแกรงไปตากแดดให้แห้ง
6.2 การเกลี่ยเยื่อบนตะแกรง
วิธีนี้ จะทำในถังน้ำ และใช้เยื่อที่ตักขึ้นมาทำเป็นก้อน โดยไม่ใช้การช้อนตักเยื่อด้วยตะแกรง ซึ่งทำได้โดยนำตะแกรงวางจุ่มในถังน้ำจนน้ำเข้าท่วมตะแกรง ก่อนนำก้อนเยื่อที่มีน้ำหนักประมาณ 200-300 กรัม วางลงบนตะแกรง จากนั้น ใช้ไม้แผ่นหรือมือเกลี่ยเยื่อให้ทั่วตะแกรง ก่อนยกตะแกรงขึ้นให้สะเด็ดน้ำ จากนั้น นำตะแกรงไปตากแดดให้แห้ง

ทั้งนี้ ในขั้นตอนการทำแผ่นกระดาษสามารถที่จะตกแต่งแผ่นกระดาษด้วยวัสดุอื่นได้เช่นกัน อาทิ การใส่ใบไม้ เป็นต้น

7. การลอกกระดาษ
เมื่อตากแดดจนเยื่อแห้งกลายเป็นแผ่นกระดาษแล้ว ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน ขึ้นอยู่กับแสงแดด ให้ทำการลอกแผ่นกระดาษออก โดยเริ่มลอกจากมุมใดมุมหนึ่งในด้านที่ไกลจากลำตัวเข้ามาหาใกล้ลำตัว โดยตะแกรง 1 แผ่น จะได้กระดาษธูปฤาษี 1 แผ่น

เมื่อลอกแผ่นกระดาษแล้ว ให้นำตะแกรงไปล้างทำความสะอาด ก่อนตากแดดให้แห้ง ค่อยนำไปใช้ต่ออีกครั้ง

เอกสารอ้างอิง
[1] ธนธร ทองสัมฤทธิ์ และสุชปา เนตรประดิษฐ์. 2550. การผลิตเยื่อและกระดาษจากใบธูปฤาษี-
เพื่อนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์.

ขอบคุณภาพจาก
– kansasnativeplants.com/
– tonycarlone.com/