กระติบข้าว/ก่องข้าว ชนิด ส่วนประกอบ และวิธีทำกระติบข้าว

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

กระติบข้าว หรือ ก่องข้าว หมายถึง ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรสานที่ทำจากไม้ไผ่หรือวัสดุอื่น ที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกกลมหรือรูปทรงอื่นๆ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์เพื่อบรรจุข้าวเหนียวนึ่งสุกเป็นหลัก แต่พบกระติบข้าวอย่างอื่นที่ผลิตเพื่อจุดประสงค์อื่นเช่นกัน เช่น ใช้เป็นของที่ระลึก ใช้ใส่เครื่องประดับหรือ แก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นต้น

คำว่า กระติบข้าว และ ก่องข้าว มีความหมายเหมือนกัน แต่เป็นชื่อเรียกที่ใช้แตกต่างกันในบริบทของชุมชน กล่าวคือ กระติบข้าว มักเป็นคำที่ใช้เรียกของคนในชุมชนเมือง ที่ส่อความหมายมาจากคำว่า ก่องข้าวของคนในชนบทอีสาน ส่วนก่องข้าว มักเป็นคำใช้เรียกของคนตามหมู่บ้านในชนบท ซึ่งเป็นคำเรียกดั้งเดิมของชาวอีสาน

ขั้นตอนการสานตัวก่องข้าว และกระติบข้าว จะนิยมสานซ้อนกันสองชั้น ชั้นในจะสานด้วยลายคุปลายสองหรือลายอื่นที่สานได้สะดวกและสามารถสร้างรูปทรงได้ตามต้องการ ต่างกับชั้นนอกที่สานหุ้มชั้นใน จะต้องใช้ลวดลายที่สวยงาม เช่น ลายข้างกระแตแบบดั้งเดิม ลายสองยืน ลายสองเวียน ลายข้างกระแตแบบดั้งเดิมสองชั้น และลายชนิดอื่น ๆ ที่ช่างสามารถสานได้ และมีความสวยงาม

ส่วนการสานฝากระติบข้าวจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่าตัวกระติบข้าวเล็กน้อย ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร หรือสามารถสวมปิดตัวกระติบข้าวได้ง่าย โดยไม่หลวมหรือคับจนเกินไป ทั้งนี้ อาจสานเพียงชั้นเดียวหรือสองชั้นก็ได้ แต่ทั่วไปเพื่อความประณีตของงาน ความสวย ความทนทาน อายุการใช้งาน จึงนิยมสานสองชั้นเช่นเดียวกับตัวกระติบข้าว ส่วนฐานรองกระติบข้าวอาจทำจากก้านตาล หรือ ไม้ไผ่ก็ได้ ซึ่งจะม้วนขดเป็นวงกลมให้รองรับ และพอเหมาะกับขอบกระติบข้าว แล้วเย็บยึดด้วยหวายหรือเชือกไนล่อนเพื่อให้ติดแน่นกับตัวกระติบข้าว

การสานซ้อนกันสองชั้นจะช่วยให้ก่องข้าวและกระติบข้าว มีความหนาคงรูปร่างอยู่ได้นาน และการสานซ้อนกันสองชั้นจะช่วยลดช่องว่างหรือรูเล็ก ๆระหว่างลายของเส้นตอกให้น้อยลง ทำให้ไอร้อนจากข้าวเหนียวนึ่งละเหยออกได้อย่างช้า ๆ ทำให้อุณหภูมิความร้อนภายในกระติบข้าวอยู่ได้นาน ทำให้ข้าวเหนียวนึ่งนิ่มนาน ไม่แข็งกระด้าง และไม่แฉะ ไม่บูดได้ง่าย เนื่องจาก การสานซ้อนกันสองชั้น ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างชั้นนอกและชั้นใน ไอร้อนจะระเหยออกได้อย่างช้า ๆ จึงไม่กลายเป็นหยดน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ข้าวเหนียว แฉะ บูด และเน่าได้ง่าย ต่างจากการใช้กระติกน้ำร้อนบรรจุข้าวเหนียว ถึงแม้จะมีการใช้ผ้าขาวรองหรือหุ้มข้าวเหนียวก่อนก็ตาม แต่เนื่องจาก ไอน้ำในเนื้อข้าวไม่มีการระบายออกสู่ภายนอก ทำให้เนื้อข้าวเหนียวแฉะหรือเปื่อยยุ่ย เวลาปั้นรับประทานจะปั้นเป็นก้อนยาก และรับประทานไม่อร่อย เหตุนี้เนื่องจาก

ทั้งนี้ การผลิตกระติบข้าวในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ ลวดลาย และรูปทรง เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น อาทิ การทำกระติบข้าวรูปทรงหัวใจ การทำกระติบข้าวแบบมีสี และลวดลาย ซึ่งนิยมนำมาใช้เป็นของที่ระลึก ของสะสมหรือของประดับ รวมถึงใช้สำหรับใส่สิ่งของ พวกของมีค่าหรือเครื่องสำอาง เป็นต้น

ส่วนประกอบของกระติบข้าว/ก่องข้าว
1. ตัวกระติบข้าว
ตัวกระติบข้าว ถูกสานด้วยไม้ไผ่ลายขัด ลายสอง หรือลายอื่น แต่ทั่วไปจะเป็นลายขัดหรือลายสอง เช่น ลายขัด โดยจะใช้วิธียกเส้นข่มเส้นระหว่างเส้นยืนกับเส้นนอน ซึ่งจะสานขึ้นรูปเป็นรูปวงกลมก่อน แล้วทำการสานขึ้นโครงจนได้ทรงกระบอกตามความสูงที่ต้องการ โดยขอบด้านบนพับหรือม้วนกลับ และเย็บติด ส่วนขอบด้านล่างถักเย็บรวมเข้ากับฐานก่องข้าว

ตัวกระติบข้าว

2. ฝากระติบข้าว
ฝากระติบข้าว ถูกสานด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะเป็นวงกลมทรงกระบอกเช่นเดียวกับตัวกระติบข้าว แต่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย และมีความสูงน้อยกว่าเล็กน้อย เพื่อให้สามารถครอบปิดตัวกล่องข้าวได้ รวมถึงขอบด้านบนของฝาจะถูกปิดด้วยแผ่นจักรตอก ซึ่งจะสานให้เป็นแผ่นก่อน จากนั้น ค่อยนำมาเย็บปิดที่ด้านใดด้านหนึ่งของฝา แต่ขอบด้านล่างพับหรือม้วนกลับ และเย็บติดกับแผ่นชั้นแรก โดยขอบด้านนี้เปือยโล่ง ซึ่งใช้สำหรับครอบปิดตัวกระติบข้าว และเพิ่มหูที่ขอบกระติบข้าวทั้ง 2 ด้าน สำหรับคล้องเชือกเพื่อใช้ในการถือหิ้ว

3. ฐานกระติบข้าว
ฐานกระติบข้าว เป็นส่วนที่ยึดติดกับขอบตัวกระติบข้าวด้านล่าง ทำหน้าที่วางบนพื้นเป็นฐานรองรับน้ำหนักของตัวกระติบข้าว ทำด้วยไม้เนื้อแข็งที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถม้วนงอให้เป็นวงกลมได้ ซึ่งนิยมนำไม้หลายชนิดมาทำเป็นฐานกระติบข้าว ได้แก่ ก้านตาลโตนด ค่อย และไม้ไผ่ เป็นต้น

ฐานกระติบข้าวอาจประกอบด้วยส่วนใดส่วนหนึ่งหรือสองส่วน ได้แก่
– ฐานวงกลมที่ถูกเย็บยึดติดกับขอบตัวกระติบข้าว ทำหน้าที่วางบนพื้นรองรับน้ำหนัก และทำให้มีสมดุลในการตั้งวางกระติบข้าว
– ฐานรูปกากบาท มีลักษณะเป็นไม้แผ่น 2 อัน กระกบกันเป็นรูปกากบาทตรงกลางของแผ่นไม้ ถูกเย็บยึดกับตัวกระติบข้าวด้านล่าง และฐานวงกลม ซึ่งทำหน้าที่เสริมความแข็งแรงให้ฐานวงกลม ป้องกันฐานวงกลมบิดเบี้ยว หรือหักได้ง่าย อีกทั้ง ช่วยรองรับน้ำหนักของตัวกระติบข้าว

ประเภทกระติบข้าว/ก่องข้าว
1. แบ่งตามรูปทรง
1.1 กระติบข้าวสำหรับพิธีกรรมความเชื่อ
กระติบข้าวประเภทนี้ เป็นกระติบข้าวขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ นิยมใช้ในด้านพิธีกรรมตามความเชื่อต่างๆ อาทิ การทำบุญบ้านเรือน และการทำบุญรวมที่วัดในวันสำคัญทางประเพณี เป็นต้น ซึ่งจะใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ทั้ง การใส่ข้าวเหนียวนึ่ง และการใส่เครื่องสักการะบูชา อาทิ ดอกไม้ ธุป เทียน

ลักษณะกระติบข้าวที่ใช้ในงานพิธีกรรมความเชื่อจะมีรูปลักษณะที่แตกต่างจากกระติบข้าวที่ใช้ในครัวเรือน อาทิ
– มีขนาดใหญ่กว่ามาก
– อาจมีการย้อมสีเส้นตอกก่อนจักรสานหรือไม่ย้อมสีก็ได้
– มีรูปทรงกรวย ทั้งฐานกระติบข้าว ตัวกระติบข้าว และฝาปิดกระติบข้าว

1.2 กระติบข้าวสำหรับใช้ในครัวเรือน
กระติบข้าวประเภทนี้ มักมีขนาดเล็กกะทัดรัด สามารถพกพาได้สะดวก ไม่มีการย้อมสีเส้นตอก มีวัตถุประสงค์ทำขึ้นเพื่อบรรจุข้าวเหนียวนึ่งเพื่อใช้รับประทานในครัวเรือนเป็นหลัก

ลักษณะกระติบข้าวจะมีรูปทรงกระบอกกลม มักพับขอบเย็บติดกับแผ่นตอกชั้นแรกเพื่อลบคมตอก ไม่มีการย้อมสี ฐานกระติบข้าวมีขนาดเล็ก อาจใส่แผ่นยึดฐานหรือไม่ใส่ก็ได้เช่นกัน

2. แบ่งตามวิธีการทำ
2.1 กระติบข้าวพับขอบ
กระติบข้าวพับขอบ หมายถึง ตัวกระติบข้าวที่สานเป็นแผ่น และโค้งเย็บติดเป็นรูปทรงกระบอก แล้วพับหรือม้วนกลับขอบเป็นสองชั้นเพื่อทำให้ขอบมีความเรียบ และสวยงาม ช่วยป้องกันอันตรายจากความคมของปลายตอก แล้วจึงเย็บตามรอยพับเข้ากับแผ่นตอกชั้นแรก โดยมักผลิตเป็นกระติบข้าวขนาดเล็ก หรือปานกลางเพื่อใช้ใส่ข้าวเหนียวรับประทานในครัวเรือน

2.2 กระติบข้าวไม่พับขอบ
กระติบข้าวไม่พับขอบ หมายถึง กระติบข้าวที่สานเป็นแผ่น และโค้งเย็บติดเป็นรูปทรงกระบอกแล้ว ซึ่งไม่มีการพับปลายขอบลงมาเย็บติดกับแผ่นตอกชั้นแรก แต่เป็นเพียงการตัดแต่งของให้เสมอกันเท่านั้น ซึ่งขอบกระติบจะยังมีความคมของปลายตอกเหลืออยู่

กระติบข้าวประเภทนี้ อาจไม่พับขอบทั้งตัวกระติบข้าว และตัวฝาปิด หรือ อาจพับขอบของส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยนิยมทำขึ้นเป็นกระติบข้าวขนาดใหญ่สำหรับใส่ข้าวเหนียวจำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร งานบุญงานบวชที่แขกเรื่อจำนวนมาก งานบุญงานวัดที่ญาติโยมจำนวนมาก เป็นต้น เพราะเป็นกระติบข้าวที่ใช้งานไม่บ่อย และใช้งานของสาธารณะจึงมักไม่ผลิตด้วยความประณีตนัก

3. แบ่งตามลักษณะของสี และการใช้งาน
3.1 กระติบข้าวขาว หรือ กระติบข้าวไม่ย้อมสี
กระติบข้าวไม่ย้อมสี หมายถึง กระติบข้าวดั้งเดิมที่ถูกสานด้วยตอกที่ไม่มีการย้อมสี โดยตอกที่ทำการจักแล้วจะขีดผิวตอกให้เรียบ ทำให้สีผิวของตอกมีสีขาวหรือสีขาวอมเหลืองตามสีของไม้ไผ่ดั้งเดิม ซึ่งนิยมใช้ประโยชน์เพื่อการบรรจุข้าวเหนียวหรือบรรจุข้าวปลาอาหารเป็นหลัก

3.2 กระติบข้าวสี
กระติบข้าวสี หมายถึง กระติบข้าวที่มีลวดลาย และสีสัน ด้วยการย้อมสีของเส้นตอกแล้วนำมาจักรสานสลับกับเส้นตอกที่ไม่ย้อมสีทำให้เกิดลวดลายต่าง ๆ กระติบข้าวประเภทนี้ นิยมทำขึ้นเพื่อความสวยงามเป็นหลัก โดยเน้นการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นที่ไม่ใช่การนำไปใส่ข้าวเหนียว ได้แก่
– ผลิตเพื่อจำหน่าย ซึ่งแล้วแต่ผู้ซื้อจะนำไปใช้ประโยชน์
– ใช้สำหรับเป็นของฝาก ของที่ระลึก
– ใช้เป็นภาชนะเก็บสิ่งของ อาทิ สร้อย แหวน เงิน ทอง เครื่องประดับ และเครื่องสำอางต่างๆ

กระติบข้าวชนิดนี้ นอกจากจะมีลวดลายสวยงามแล้ว การผลิตยังออกแบบรูปทรงให้แตกต่างไปจากระติบข้าวที่ใส่ข้าวเหนียวทั่วไป อาทิ รูปทรงหัวใจ รูปทรงรี นอกจากนั้น ยังพบการปักตัวอักษรลงบนกระติบข้าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ กระติบข้าวชนิดนี้ ไม่นิยมนำมาใส่ข้าวเหนียวหรือใส่กับข้าวหรืออาหาร เนื่องจาก ผู้ใช้เกรงว่าจะได้รับอันตรายจากสีย้อมที่ใช้

4. แบ่งตามวัสดุที่ใช้เย็บ
4.1 กระติบข้าวเย็บหวาย
กระติบเย็บหวาย หมายถึง กระติบที่มีการใช้แผ่นหวายทำเป็นฐานรองกระติบข้าว หรือ มีการใช้เส้นหวายเย็บบริเวณริมขอบที่พับแทนการใช้เชือกไนล่อน โดยกระติบข้าวชนิดนี้ นิยมทำกันมากในเขตอีสานตอนบน ถือว่าเป็นกระติบข้าวที่มีความปลอดภัยทางสารเคมีมากที่สุด เนื่องจากใช้เส้นหวายเย็บแทนเชือกไนล่อนนอกจากนั้น ยังเป็นกระติบข้าวที่คงทน และมีอายุการใช้งานมากกว่าแบบอื่นๆ แต่ในปัจจุบันไม่พบการผลิตมากนัก เนื่องจาก หวายหายกขึ้น ขั้นตอน และวิธีทำยุ่งยากทำให้ช่างฝีมือหวายน้อยลง อีกทั้ง ทำให้ราคาแพงกว่ากระติบข้าวทั่วไปมาก

4.2 กระติบข้าวเย็บด้วยเชือก เอ็น หรือ เชือกรัดสิ่งของ
กระติบเย็บด้วยเชือก เป็นกระติบข้าวทั่วไปที่ผลิตออกมามากที่สุด ด้วยการใช้เชือก หรือ เอ็น หรือเชือกสังเคราะห์อื่นๆเย็บรัดริมขอบที่พับเข้ากับส่วนอื่น เพราะเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ใช้งานง่าย มีความคงทนสูงและราคาถูก ทำให้กระติบข้าวชนิดนี้มีราคาถูกกว่ากระติบข้าวที่ใช้หวายเย็บ

ประโยชน์กระติบข้าว/ก่องข้าว
1. เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลัก ไม่ว่าจะเป็นผลิตขึ้นเองหรือหาซื้อมา ได้แก่
– ใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียว ช่วยทำให้ข้าวเหนียวยังอุ่น ป้องกันข้าวเหนียวแห้งแข็งทั้งจากลม และแสงแดดทำให้ข้าวเหนียวสามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน อีกทั้ง ง่ายต่อการพกพา เพราะมีขนาดกะทัดรัด และมีน้ำหนักเบา
2. ใช้เป็นสิ่งของแลกเปลี่ยนกับสิ่งของของคนอื่น เช่น กระติบข้าวเปลี่ยนกับข้าวสาร กระติบข้าวเปลี่ยนกับอาหาร เป็นต้น
3. ใช้เป็นสินค้าสร้างรายได้ ทั้งอาจเป็นรายได้หลักหรือรายได้เสริม

ขั้นตอน และวิธีทำกระติบข้าว/ก่องข้าว
1. การเตรียมวัสดุ และอุปกรณ์


2. ขั้นตอนการจักสาน


3. ขั้นตอนการเย็บ และขึ้นรูปกระติบข้าว

4. ขั้นตอนการรมควันกระติบข้าว
การรมควันกระติบข้าวถูกใช้สำหรับกระติบข้าวทุกชนิด ทั้งชนิดดั้งเดิมที่ไม่มีการย้อมสี และชนิดที่มีการย้อมสี ประโยชน์ในด้านต่าง ได้แก่
– สำหรับกระติบข้าวดั้งเดิมที่มีมีการย้อมสี การรมควันจะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของแมลงจำพวกมอม รวมถึงช่วยให้เส้นตอกมีความแข็ง ทนทาน มีอายุการใช้งานนานขขึ้น
– สำหรับกระติบข้าวย้อมสี การรมควันจะเกิดประโยชน์ในลักษณะเดียวกันกับชนิดแรก แต่เพิ่มประโยชน์เข้ามาอีกด้าน คือ ช่วยทำให้สีย้อมติดแน่นกับเส้นตอก สีมีความคงทนต่อแสงแดด และน้ำ อีกทั้ง ช่วยให้สีมีความสดใสมากขึ้น

1. สร้างแผงวางกระติบข้าว สูงประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 1.5-2 เมตร ประกอบด้วยเสาไม้ 4 ต้น ด้านบนปูด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นท่อนๆหรือไม้ไผ่
2. ก่อกองไฟด้านล่างด้วยฟาง ระวังไม่ให้ไฟลุกสูงจนสัมผัสกับไม้ด้านบน จากนั้น ฟางเปียกหรือใบไม้สดทับฟางที่ไหม้จนเกิดควัน
3. นำกระติบข้าวทั้งส่วนฐานรอง ตัวกระติบข้าว และฝากระติบข้าววางบนตะแกรง แล้วรมควันนาน 20-30 นาที โดยระหว่างรมควันให้กลับพลิกทุกส่วนไปมาเพื่อให้มั่นใจว่าทุกส่วนถูกรมควันทั้งหมด

ขอบคุณภาพจาก
– huenkaewmaithai.com
– http://na-oor.lnwshop.com/