การตีลูกโด่งหลังหรือการโยนลูกโด่งหลัง แบดมินตัน

Last Updated on 25 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

การตีลูกโด่งหลัง หรือ การโยนลูกโด่งหลัง คือ ลูกที่พุ่งขึ้นไปในอากาศ และตกลงมาในมุม 90 องศา ในสนามฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นลูกที่ตีได้ทั้งด้านหน้ามือ และด้านหลังมือ โดยจะตีเหนือศีรษะ มีลักษณะการเคลื่อนที่ไปในแนววิถีโค้งไปยังแดนหลังของสนามบริเวณเส้นเขตหลัง

ลูกโยนโด่ง เป็นลูกที่ใช้ป้องกันมากกว่าที่จะโจมตี เป้าหมายของการตีลูกโยนโด่ง คือ มุมคอร์ดด้านหลังของคู่แข่งขัน ซึ่งเป็นการดึงให้คู่แข่งขันผละจากจุดศูนย์กลาง และหากคู่แข่งขันตีโต้มาไม่ดี ก็จะเปิดโอกาสให้กลับมาเป็นฝ่ายรุกได้ทันที การตีลูกโยนโด่งสามารถตีได้ทั้งหน้ามือ และหลังมือและใช้ในเกมประเภทเดี่ยว และประเภทคู่

ความสำคัญการตีลูกโด่งหลัง
ลูกโด่งหลัง เป็นลูกพื้นฐานหลักที่ควรเริ่มฝึกก่อนการฝึกตีลูกอื่นๆทั้งหมด เพราะเป็นลูกที่ตีง่ายที่สุด เนื่องจาก เป็นลูกที่ลอยโด่งไปมาในอากาศ และมีวิถีการวิ่งของลูกค่อนข้างช้า ผู้เล่นมีเวลาลำดับขั้นตอนในการตีได้ตามหลักการ นับตั้งแต่การจับไม้แร็กเกตให้ถูกต้อง การตั้งท่าตีลูกการปรับหน้าไม้เพื่อให้การตีสัมผัสลูกไปในทิศทางที่ถูกต้อง การใช้แรงเหวี่ยงของแขน แรงตวัดของข้อมือ การถ่ายน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า และการก้าวเท้าเคลื่อนที่อย่างถูกต้องจะช่วยให้ผู้เล่นสามารถตีลูกได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ลูกโด่งหลังสามารถเล่นได้ทั้งด้านหน้ามือ และด้านหลังมือ และใช้ได้ในเกมทั้งประเภทเดี่ยว และประเภทคู่

รูปแบบการตีลูกโด่งหลัง
1. ลูกโด่งป้องกัน (The Defensive Clear)
ลูกโด่งป้องกัน เป็นลูกที่ต้องตีให้สูง และลึกมาก มีเป้าหมายห่างจากเส้นหลังเข้ามาประมาณ 1 ฟุต โดยความสูงของลูกเป็นเรื่องสำคัญประการแรก ยิ่งตีได้สูงก็ยิ่งมีเวลากลับเข้าที่ได้มาก และประการสองคู่ต่อสู้ต้องออกแรงมาก และตีได้ยากมากขึ้น เนื่องจากการตกของลูกเป็นมุม 90 องศา

2. ลูกโด่งโจมตี (The Attacking Clear)
ลูกโด่งโจมตีมีวิธีเล่นเหมือนกับการตีลูกโด่งป้องกัน แต่มีความสูงน้อยกว่า และตีให้เร็วกว่าลูกโด่งป้องกัน ลูกโด่งโจมตีสามารถใช้ได้เป็นบางครั้งในการเล่นประเภทเดี่ยว และประเภทคู่ โอกาสที่จะใช้ก็ต่อเมื่อฝ่ายตรงข้ามเสียการทรงตัว

ลูกโด่ง หลังนับว่าเป็นทักษะพื้นฐานทักษะแรกของการฝึกแบดมินตันที่ผู้ฝึกสอนควรนำมาฝึกนักกีฬา เพราะลูกโด่งหลังเป็นลูกที่จะพัฒนาสู่ทักษะการตีลูกแบบต่างๆ ในลำดับต่อไป อีกทั้งลูกโด่งหลังยังเป็นได้ทั้งการตีเพื่อให้คู่ต่อสู้เสียจังหวะ และยังเป็นการช่วยแก้ไขสถานการณ์ในขณะที่กำลังจะเสียเปรียบคู่ต่อสู้ให้มีเวลาในการตั้งตัวเพื่อการเล่นต่อไปได้เป็นอย่างดี เนื่องจากลูกโด่งหลังเป็นลูกที่มีเวลาในการลอยตัวอยู่กลางอากาศได้นานกว่าลูกแบบอื่นๆ พอที่ผู้เล่นจะคิด และตั้งหลักในการเล่นต่อไปได้ ซึ่งถ้าผู้เล่นฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ และนำมาใช้ในโอกาสที่เหมาะสมจะทำให้ผู้เล่นสามารถได้รับประโยชน์จากการใช้ลูกโด่งหลังได้เป็นอย่างดี

การลูกโยนลูกหรือตีลูกโด่งหลัง เป็นลูกพื้นฐานหลักที่ควรเริ่มฝึกก่อนการตีลูกอื่นๆ เพราะเป็นลูกที่ตีง่ายที่สุด และมีวิถีการวิ่งของลูกค่อนข้างช้า ผู้เล่นมีเวลาลำดับขั้นตอนในการตี และลูกโด่งหลังไม่ใช่แค่ลูกที่ใช้ในการป้องกันเท่านั้นแต่เป็นลูกที่สามารถโจมตีได้ ซึ่งสามารถใช้ได้ในประเภททั้งเดี่ยว และคู่

หลักการตีลูกโด่งหลัง (หน้ามือ)
1. ยืนหันข้างให้ลูกอยู่ในทิศด้านข้างกับข้างที่ตนเองถนัด
2. บิดข้อมือ และลำตัวไปด้านซ้าย พร้อมกับถอยหลังด้วยเท้าซ้าย 1 ก้าว
3. เหวี่ยงไม้ไปด้านหลัง ให้มุมข้อศอกชี้ไปยังจุดที่จะตีลูก
4. เหวี่ยงไม้แร็กเกตกลับ โดยต้องให้ไม้สูงสุดขณะตีลูก
5. เอียงไหล่ขวา และโน้มตัวเข้าหาตาข่ายขณะตี

วิธีการตีลูกโด่งหลัง
เมื่อลูกขนไก่เคลื่อนที่มาในระดับเหนือศรีษะ ทั้งที่อยู่ทางด้านขวา และทางด้านซ้ายมือ ผู้เล่นจะตีส่งลูกกลับคืนเพื่อให้เป็นลูกโด่งได้ 2 แบบ คือ
1. การตีแบบหน้ามือเหนือศีรษะ (Overhead Forehand Clear)
การตีลักษณะนี้ ผู้เล่นจะหันหน้าเข้าหน้าตาข่าย และลูกจะเคลื่อนที่อยู่ในระดับเหนือศรีษะทางด้านหน้า ทั้งอยู่ในระยะที่สามารถตีส่งลูกได้โดยไม่ต้องเคลื่อนตัวเข้าหาลูก หรือ ลูกอยู่ห่างจากผู้เล่น ซึ่งต้องเคลื่อนที่เข้าหาลูกเพื่อให้ได้ระยะการตีลูกที่เหมาะสม

ท่าเตรียมของผู้ตีส่งลูก จะต้องยืนถือหัวไม้แร็กเกตตั้งให้พร้อม พร้อมก้าวเท้าซ้ายออกมาด้านหน้า และบิดลำตัวมาทางขวา ซึ่งด้านข้างลำตัวด้านซ้ายจะหันเข้าไปหน้าตาข่าย พร้อมกับถ่ายน้ำหนักลงบนเท้าด้านขวา

การตีลูก เริ่มตั้งแต่ขณะที่บิดลำตัวที่ให้ยกไม้แร็กเกตขึ้นผ่านศรีษะโน้มไปทางด้านหลังในระดับประมาณไหล่ขวา พร้อมกับการงอข้อศอก พร้อมกันนี้ ให้ยกแขนซ้ายขึ้นเพื่อช่วยในการทรงตัว

ขณะที่ลูกขนไก่ลอยตกลงมาในตำแหน่งที่ต้องการตีส่งลูก ให้เหวี่ยงไม้แร็กเกตเข้าหาลูกขนไก่อย่างรวดเร็ว โดยให้ตำแหน่งกลางหน้าไม้แร็กเกตกระทบกับลูกขนไก่ พร้อมเหวี่ยงไม้แร็กเกตลงด้านล่าง และถ่ายน้ำหนักตัวไปข้างหน้า พร้อมกับบิดลำตัวกลับให้หันหน้าเข้าหาหน้าตาข่าย

2. การตีแบบหลังมือด้านหน้าใต้ศรีษะ (Downhead Backhand Clear)
การตีลักษณะนี้ จะเป็นลูกที่ตีส่งจากฝ่ายตรงข้ามในลักษณะลูกหยอด ซึ่งลูกจะตกใกล้กับตาข่ายหรือห่างจากตาข่าย แต่ผู้เล่นยังอยู่ใกล้กับเส้นขอบสนาม ซึ่งจะต้องเคลื่อนตัวมาหาลูก เพื่อที่จะตีส่งลูกซึ่งลอยตกลงต่ำกว่าศรีษะกลับไปยังฝ่ายตรงข้ามให้เป็นลูกโด่งด้านหลังบริเวณเส้นขอบสนาม

เมื่อลูกลอยตกลงต่ำ ผู้เล่นต้องเคลื่อนตัวเข้าหาลูก หรือ อาจอยู่ใกล้กับตำแหน่งลูกตกโดยไม่ต้องเคลื่อนตัว หลังจากนั้น ก้าวเท้าขวามาด้านหน้าให้อยู่ในระยะที่แขน และไม้แร็กเกตเอื้อมถึง พร้อมเหวี่ยงไม้แร็กเกตด้วยแขนที่เหยียดตรงอย่างรวดเร็ว เพื่อส่งลูกให้โด่ง และให้ตกไกลถึงขอบเส้นสนามด้านหลัง

3. การตีแบบหลังมือเหนือศีรษะ (Overhead Backhand Clear)
การตีลูกในลักษณะนี้ จะเป็นลูกที่ลอยโด่งเหนือศรีษะ และลอยไกลออกเลยจากตัวผู้เล่นไปแล้ว ดังนั้น ผู้เล่น จึงต้องหมุนลำตัว เพื่อหันหน้าไปยังทิศทางของลูกที่ลอยอยู่ด้านหลัง และหันหลังให้กับตาข่าย

ขณะที่ลูกลอยโด่งเหนือศรีษะเลยลำตัว ผู้เล่นต้องหมุนลำตัว โดยใช้เท่าว้ายเป็นจุดหมุน หากลูกลอยทางด้านด้านซ้าย และใช้เท้าขวาเป็นจุดหมุน หากลูกลอยในทางด้านขวา พร้อมกับก้าวเท้าอีกข้างไปข้างหน้า เพื่อให้แขน และไม้แร็กเกตเอื้อมถึงลูก

เมื่อลูกลอยตกถึงตำแหน่งที่ต้องการตีส่งลูก ให้โน้มตัวไปข้างหน้า พร้อมถ่ายน้ำหนักลงเท้าข้างที่ก้าวไปข้างหน้า หลังจากนั้น ยื่นแขนให้เหยียดตรงจนไม้แร็กเกตถึงตำแหน่งตีส่งลูก พร้อมเหวี่ยงไม้แร็กเกตขึ้นไปกระทบกับลูกอย่างรวดเร็ว เพื่อส่งลูกให้ลอยโด่งตกไปยังฝ่ายตรงข้ามบริเวณเส้นด้านหลัง

ประโยชน์การตีลูกโด่งหลัง
1. ใช้ตีลูกเพื่อเป็นการป้องกันการรุกของฝ่ายตรงข้าม
2. เพื่อดึงฝ่ายตรงข้ามออกให้ห่างจากตรงกลางสนาม
3. เพื่อทำให้คู่แข่งขันเสียจังหวะ และบั่นทอนกำลังไม่ให้เปิดเกมรุกได้สะดวก
4. ใช้ตีลูกเพื่อสร้างโอกาสในการเปิดเกมรุก
5. เพื่อทำคะแนน