การปักชำ วิธีง่ายๆในการขยายพันธุ์พืช ประเภท และวิธีการปักชำ

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

การปักชำ (cutting) หมายถึง การนำส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นพืช ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ราก กิ่ง ใบ และหัว ที่ได้จากต้นแม่หรือต้นเดิมมาปักลงดิน วัสดุปลูกหรือน้ำที่มีแร่ธาตุหรือสารอาหารสำหรับการแตกราก และแตกยอดเพื่อเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ ซึ่งจะได้ลักษณะต่างๆเหมือนกับต้นเดิมหรือต้นแม่นั่นเอง

การปักชำส่วนใดๆของพืชนั้น เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชเพื่อให้ได้ต้นพืชใหม่ที่รวดเร็วกว่าการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด อีกทั้ง สามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว และสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น แบ่งประเภทการปักชำออกเป็น 5 ประเภท คือ
1. การปักชำกิ่ง
2. การปักชำลำต้น
3. การปักชำยอด
4. การปักชำใบ
5. การปักชำราก

การปักชำกิ่ง
1. การเตรียมวัสดุปักชำกิ่ง
วัสดุเพาะชำที่ใช้ในการปักชำกิ่งอย่างง่าย คือ ดินร่วน ซึ่งหาได้ง่าย จำนวนมาก โดยเฉพาะในแถบชนบท แต่การปักชำกิ่งจำนวนมากหรือทำเพื่อการค้ามักใช้วัสดุเพาะชำที่ประกอบด้วย ดินร่วน แกลบดำ ขุ๋ยมะพร้าว และปุ๋ยคอก อัตราส่วนที่ใช้ 1:3:1:2 หากหาได้ไม่ครบให้ใช้อย่างน้อยเป็นปุ๋ยคอกหรือแกลบดำผสมกับดินร่วน

เมื่อทุกส่วนพร้อมให้ทำการคลุกผสมให้เข้ากัน ก่อนบรรจุใส่ถุงเพาะชำหรือกระถางเพาะชำ โดยกดให้แน่นหรือกระแทกให้แน่นพอประมาณ

2. การเลือก และตัดกิ่งปักชำ
การเลือกกิ่งปักชำเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง หากเลือกกิ่งที่อ่อนหรือมีอายุน้อยเกินไปกิ่งจะปักจะเกิดเชื้อราจนเน่าไม่แตกราก ดังนั้น จะต้องเลือกกิ่งที่มีอายุพอเหมาะ โดยทั่วไปกิ่งพืชแต่ละชนิดจะเหมาะนำมาปักชำในอายุที่แตกต่างกัน แต่โดยเบื้องต้นให้เลือกกิ่งที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไป หรือหากนับอายุไม่ได้ก็ให้เลือกโดยวิธีสังเกตที่เปลือกกิ่งจะต้องมีสีน้ำตาลอมเขียวจนถึงสีน้ำตาลล้วน ไม่ควรใช้กิ่งสีเขียวอ่อนมาปักชำ เพราะส่วนมากจะเป็นกิ่งที่มีอายุน้อย

กิ่งพันธุ์สำหรับการปักชำแต่ละชนิดมีความต้องการความยาวที่แตกต่างกันสำหรับการปักชำติด ทั้งนี้ ให้ยึดความยาวกิ่งในการปักชำกิ่งที่อย่างน้อย 10 เซนติเมตร เป็นหลัก โดยให้ปักลึกลงดินอย่างน้อย 5 เซนติเมตร
ในส่วนใบที่ติดมากับกิ่งเพาะชำให้ตัดทิ้งเหลือเพียง 2-3 ใบ เท่านั้น และให้ตัดส่วนกลางใบทิ้งเหลือใบไว้เพียงครึ่งใบเท่านั้น เพื่อลดการคายน้ำ ป้องกันไม่ให้เยื่อกิ่งให้เร็ว

3. ความเอียง และความลึกขณะปักชำกิ่ง
เมื่อเตรียมวัสดุปลูกบรรจุใส่กระถางหรือถุงเพาะชำแล้ว ให้นำกิ่งปักชำปักลึกลงดินอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ซึ่งเมื่อรดน้ำเรื่อยจะทำให้หน้าดินตื้นขึ้น ซึ่งอาจเหลือที่ 5 เซนติเมตร หรือ น้อยกว่า ส่วนแนวลาดเอียงจะต้องให้ลาดเอียงประมาณ 40-60 องศา กับผิวดินหรือวัสดุเพาะชำ

4. การดูแลรักษา
การปักชำอาจทำในโรงเรือนหรือสถานที่กลางแจ้ง แต่โดยหลักการที่ถูกวิธีจะทำการปักชำ และดูแลภายในโรงเรือนที่มีการปิดบังให้แสงแดดส่องรำไร ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้แสงแดดจ้าส่องถึง ป้องกันการระเหยของน้ำในดินหรือวัสดุปลูกทำให้ความชื้นเพียงพอ เหมาะแก่การแตกรากใหม่ อีกทั้ง ยังช่วยบังลม บังฝนไม่ให้กระทบหรือสร้างความเสียหายให้แก่การปักชำ

ส่วนการรดน้ำให้รดน้ำทันทีหลังปักชำเสร็จ และรดน้ำเป็นประจำอย่างน้อย 2 วันxครั้ง หรือดูแลการรดน้ำให้ดินหรือวัสดุเพาะพอชุ่ม ไม่ควรรดจนเปียกแฉะอยู่ตลอดเวลา เพราะจะทำให้กิ่งปักชำเกิดเชื้อราได้

ปัจจัยที่มีผลต่อการปักชำกิ่ง
1. จำนวนตายอดในการปักชำกิ่ง โดยตายอดของบนกิ่งปักชำในส่วนที่โผล่พื้นดินจะต้องให้มีอย่างน้อย 1-2 ตายอด
2. ความยาวของกิ่งปักชำ โดยพิจารณาที่จำนวนตายอดที่ต้องให้โผล่พ้นดินเป็นหลัก เพราะในพืชบางชนิดจะมีตายอดถี่ ดังนั้น จึงสามารถตัดสั้นได้ เช่น มันสำปะหลังหากตัดที่ความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ก็จะได้ตายอดสำหรับโผล่พ้นดินได้มากกว่า 1 ตายอด โดยต้องให้มีส่วนปักลงดินอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ซึ่งความยาวรวมอาจเป็น 8 หรือ 10 หรือ 12 เซนติเมตร ก็เป็นไปได้เช่นกัน
3. การใช้สารเร่งหรือกระตุ้นการแตกรากจะช่วยให้การแตกรากของกิ่งปักชำได้เร็วขึ้น และมีจำนวนรากมากขึ้น สารที่จัดเป็นฮอร์โมน ได้แก่ acetic acid, indolebutyric acid และ indoleacetic acid เป็นต้น นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ฮอร์โมนเร่งรากที่ผลิตได้เองตามธรรมชาติ เช่น น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งจะประกอบด้วยกรดอินทรีย์หลายชนิดที่มีคุณสมบัติช่วยเร่งการแตกราก และเพื่อจำนวนรากได้
4. องศาการปักชำกิ่ง โดยกรมป่าไม้แนะนำให้ปักชำกิ่งเอียงเป็นมุม 45-60 องศา กับพื้นดินหรือวัสดุปักชำ


5. การไว้ใบบนกิ่งปักชำ โดยมีการศึกษาการปักชำกิ่งไม้ดอกกว่า 10 ชนิด ได้แก่ กุหลาบแดง พุทธ ชบาแดง เฟื่องฟ้าแสด แก้ว เข็มขาว ราตรี มะลิ บานเช้า และลั่นทมขาว เพื่อเปรียบเทียบกันระหว่างการตัดใบทิ้งทั้งหมด การตัดครึ่งใบเพื่อเหลือบางส่วนไว้ และการไม่ตัดใบทิ้งเลย พบว่า กิ่งปักชำที่ตัดทิ้งใบไว้ครึ่งหนึ่ง และเหลือทิ้งใบไว้ทั้งหมดให้ผลการแตกราก และการปักชำกิ่งใกล้เคียงกัน โดย กิ่งปักชำที่ตัดใบทั้งหมดให้ค่าการปักชิ่งปลูกติดน้อยที่สุด [1]

การปักชิ่งแต่ละชนิด ด้วยการไว้ใบหรือไม่ไว้ใบจะมีผลแตกต่างกันตามชนิดพืชที่ปลูก อย่างเช่น การปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งใช้วิธีปักชำเช่นกันจะได้ผลดีทั้งที่ไม่มีใบติด และที่มีใบติด

การปักชำลำต้น
1. การเตรียมวัสดุปักชำกิ่งใช้ขั้นตอนเหมือนการปักชำกิ่ง

2. การเลือก และตัดลำต้นปักชำ
การปักชำลำต้นจะใช้ได้กับพืชบางชนิดที่มีขนาดไม่ใหญ่ โดยมักใช้กับพืชจำพวกไม้ดอกไม้ประดับ และพืชผักเป็นหลัก ได้แก่ โกศล วาสนา หม่อน สระแหน่ ผักแพว และชะพลู เป็นต้น

ส่วนการตัดลำต้นนั้น ให้ตัดยาวตั้งแต่ 10 เซนติเมตร ขึ้นไป จนถึง 50 เซนติเมตร ซึ่งแล้วแต่ข้อจำจัดของความยาวลำต้น และชนิดพืชที่ใช้ โดยด้านโคนให้ตัดหรือเลื่อยเป็นแนวเฉียงสำหรับปักทิ่มลงถุงเพาะชำ

3. ความเอียง ความลึกขณะปักชำลำต้น และการดูแลรักษาใช้วิธีเหมือนกับการปักชำกิ่ง

การปักชำยอด
1. การเตรียมวัสดุปักชำยอดใช้ขั้นตอนเหมือนการปักชำกิ่ง
2. การเลือก และตัดกิ่งปักชำ
การปักชำยอดมักทำคู่กับการปักชำลำต้นหรือกิ่ง เพราะจะมีส่วนยอดทั้งที่เป็นยอดกิ่ง และยอดลำต้นส่วนปลายที่เหลือจากการตัด นอกจากนั้น ในพืชบางชนิดยังพบยอดขนาดสั้นหรือยอดกิ่งที่เพิ่งแตกออกจากลำต้น ซึ่งส่วนนี้ ถือว่าเป็นส่วนยอดเช่นกัน เพราะมีขนาดสั้น

พืชที่มักใช้การปักชำยอด ได้แก่ วาสนา โกศล เล็บครุฑ เป็นต้น ซึ่งพบได้ทั้งยอดลำต้น และยอดกิ่ง โดยความยาวในการตัดยอดจะใช้ความยาวอย่างน้อยประมาณ 5 เซนติเมตร เช่นยอดกิ่งที่เพิ่มแทงออกจากลำต้นมักพบขนาดสั้น ซึ่งต้องตัดให้ชิดโคนยอดมากที่สุด ส่วนยอดลำต้นสามารถที่จะไว้ยาวมากกว่า คือ ยอดลำต้นควรตัดให้ยาวมากกว่า 10 เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย

3. ความเอียง ความลึกขณะปักชำยอด และการดูแลรักษาใช้วิธีเหมือนกับการปักชำกิ่ง

การปักชำใบ
1. การเตรียมวัสดุปักชำใบใช้ขั้นตอนเหมือนการปักชำกิ่ง
2. การเลือก และตัดใบปักชำ
การปักชำใบมักได้ผลดีกับพืชที่มีใบอวบน้ำ และแห้งช้า โดยเฉพาะไม้ดอกไม้ประดับเป็นหลัก ได้แก่ โกศล แขยง กวักมรกต ว่านลิ้นมังกร ว่านงาช้าง ว่านรวยไม่เลิก และยางอินเดียเป็นต้น

การตัดใบนั้นจะมีความแตกต่างกันของแต่ละพืช เช่น โกศล และแขยงจะใช้การตัดบริเวณโคนก้านใบ

3. ความเอียง ความลึกขณะปักชำใบ และการดูแลรักษา
การปักชำใบจะใช้ส่วนที่แตกต่างกันของแต่ละพืชปักชำลงดิน ซึ่งมักปักชำลงไม่ลึก คือ ประมาณ 3-5 เซนติเมตร เช่น โกศล และแขยงจะใช้เฉพาะส่วนก้านใบปักชำให้มิดลงดิน สำหรับใบพืชที่ไม่มีก้านใบ เช่น ว่านรวยไม่เลิก ว่านลิ้นมังกร เป็นต้น จะใช้ส่วนใบปักชำลึกลงดิน 3-5 เซนติเมตร เช่นกัน ส่วนแผ่นใบให้โผล่เหนือดิน ส่วนความเอียงให้เอียง 45-60 องศากับผิวดิน ส่วนการดูแลรักษาให้ใช้วิธีเดียวกันกับการปักชำกิ่ง

ปักชำใบยางอินเดีย

การปักชำราก

เอกสารอ้างอิง
[1] นพ วรรณราชู. 2550. การปักชำกิ่งไม้ดอกเปรียบเทียบกันระหว่างการตัดใบ-
ตัดครึ่งใบและไม้ตัดใบเลย.

ขอบคุณภาพจาก
– komchadluek.net/
– thairath.co.th/