การเสิร์ฟวอลเลย์บอล และการกระโดดเสิร์ฟวอลเลย์บอล

Last Updated on 25 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

การเสิร์ฟวอลเลย์บอล หมายถึง การเสิร์ฟเป็นการนำลูกเข้าสู่การเล่นโดยผู้เล่นตำแหน่งหลังขวา ด้วยการตีลูกบอลด้วยมือข้างใดข้างหนึ่งหลังจากผู้เสิร์ฟได้โยนหรือปล่อยลูกแล้ว การเสิร์ฟโดยทั่วๆ ไปไม่ว่าจะเป็นการยืนเสิร์ฟหรือการกระโดดเสิร์ฟ ผู้เสิร์ฟจะต้องเสิร์ฟลูกให้แม่นยำ และรุนแรง ทั้งนี้เพราะการเสิร์ฟจะสามารถทำคะแนนให้กับทีมได้อีกวิธีหนึ่ง

การปฏิบัติในการเสิร์ฟวอลเลย์บอล
1. ผู้เล่นต้องเสิร์ฟลูกบอลตามลำดับที่ส่งในใบส่งตำแหน่งระหว่างทำการแข่งขันโดยหมุนตามเข็มนาฬิกา
2. เมื่อชุดที่เสิร์ฟได้คะแนน ให้ผู้เสิร์ฟคนเดิมเป็นผู้เสิร์ฟต่อ
3. เมื่อชุดที่เสิร์ฟทำเสีย ให้ฝ่ายตรงข้ามได้เสิร์ฟ
4. ผู้เสิร์ฟต้องอยู่ในพื้นที่ของเขตเสิร์ฟ
5. ผู้เสิร์ฟต้องทำการเสิร์ฟภายในเวลา 8 วินาที
6. การเสิร์ฟถือว่าสมบูรณ์เมื่อผู้เสิร์ฟเสิร์ฟด้วยมือข้างเดียว หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของแขนหลังจากโยนหรือปล่อยลูกบอลก่อนลูกบอลจะถูกพื้น
7. ในขณะที่ฝ่ายตนเองกำลังทำการเสิร์ฟ ห้ามผู้เล่นทำการกำบังฝ่ายตรงข้าม

หลักการเสิร์ฟวอลเลย์บอล
1. ตำแหน่งการยืน
ก่อนที่จะเริ่มเสิร์ฟทุกครั้ง ผู้เล่นต้องยืนตามจุดหรือตำแหน่งที่เคยฝึกซ้อมมา มีผู้เล่นจำนวนมากที่ขาดความสังเกตในเรื่องนี้ พอจับลูกบอลเข้ามายืนในเขตเสิร์ฟก็เสิร์ฟลูกไปตามใจตนเอง การยืนห่างจากเส้นหลังใกล้หรือไกลเพียงใด ยืนห่างจากมุมสนามมากน้อยเพียงใด ก็ต้องยืนที่จุดนั้น
ตลอดทุกครั้งที่ทำการเสิร์ฟ เพราะจะทำให้ความแรง ความเร็ว และทิศทางของลูกบอลเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการและทำให้การเสิร์ฟมีผลเสียน้อยด้วย

2. การโยนลูกบอล
ความสูงขณะโยนลูกบอลขึ้นต้องสม่ำเสมอ เช่น ความสูงจากมือที่โยนประมาณ 3-4 ช่วงของลูกบอล ก็จะต้องโยนลูกบอลให้มีความสูงเช่นนี้ตลอดไป เพราะการโยนลูกสูงบ้างต่ำบ้างทำให้แรงที่ใช้ตีและทิศทางของลูกขาดความแม่นยำ นอกจากนี้การโยนลูกใกล้ตัวบ้างหรือห่างตัวบ้างเอียงไปซ้ายบ้าง ขวาบ้างก็ย่อมมีผลต่อการตีลูกบอลด้วย

3. การเหวี่ยงแขน
การเสิร์ฟให้ลูกบอลพุ่งไปตามทิศทางและมีความแรงตามที่ต้องการ ขึ้นอยู่กับการเหวี่ยงแขนด้วยผู้เสิร์ฟเคยเหวี่ยงแขนในลักษณะใด มือห่างจากลูกบอลเท่าไร จะต้องทำอย่างนั้นทุกครั้งที่เสิร์ฟจึงต้องฝึกฝนการเหวี่ยงแขนให้คล้ายกับเครื่องจักรที่มีจังหวะการทำงานอย่างสม่ำเสมอ

4. จุดที่มือกระทบลูกบอล
ลักษณะของมือและจุดที่มือกระทบลูกบอลต้องเหมือนกันทุกครั้งที่ตีลูกบอลในท่านั้นๆด้วย เช่น การแบมือตีด้านหลังตรงส่วนกึ่งกลางของลูกบอล ก็ต้องทำในลักษณะเช่นนี้ตลอดทุกลูกเสิร์ฟเพราะการออกแรงและจุดที่ตีลูกบอลแตกต่างกันก็ย่อมทำให้ทิศทางของลูกบอลที่พุ่งออกไปแตกต่างกันด้วย

ลักษณะของมือที่ใช้สัมผัสลูกบอล
1. ลักษณะกำมือ หงายฝ่ามือหรือตั้งขึ้น
2. แบบมือด้านข้าง
3. แบบฝ่ามือนับหัวแม่มืออยู่กลางฝ่ามือ หงายฝ่ามือหรือตั้งขึ้น
4. นิ้วมือเรียงชิดกันหรือกางนิ้วมือออก หงายฝ่ามือหรือตั้งขึ้น

รูปแบบการเสิร์ฟวอลเลย์บอล
1. การเสิร์ฟลูกด้วยมือล่าง (Under Hand Service)
– การเสิร์ฟลูกด้วยมือล่างด้านหน้า
– การเสิร์ฟลูกด้วยมือล่างด้านข้าง
2. การเสิร์ฟลูกมือบน (Overhand Service)
– การเสิร์ฟลูกด้วยมือบนด้านหน้า
– การเสิร์ฟลูกด้วยมือบนด้านข้าง
– การกระโดดเสิร์ฟ

การเสิร์ฟด้วยมือล่าง
1. ผู้เสิร์ฟยืนในเขตเสิร์ฟ หันหน้าเข้าหาตาข่าย แยกเท้าห่างกันประมาณ 1 ช่วงไหล่เท้าซ้ายอยู่หน้า (ถ้าเสิร์ฟด้วยมือขวา)
2. ถือลูกบอลด้วยมือซ้าย ยกลูกบอลไว้ระดับหน้าท้อง งอข้อศอกและโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย เหวี่ยงแขนขวามาข้างหลังจนสุด พร้อมกับโยนลูกบอลขึ้นตรงๆ ไม่ควรโยนลูกสูงกว่าระดับไหล่
3. จังหวะที่ลูกบอลเริ่มตกให้เหวี่ยงแขนขวากลับมาข้างหน้า ตีลูกบอลบริเวณส่วนหลังด้านล่างของลูกบอล ขณะที่แขนขวาเหวี่ยงจากข้างหลังมาข้างหน้า ควรย่อเข่าเพื่อช่วยแรงส่งด้วย
4. ลักษณะของมือที่ตีลูกบอลอาจใช้การแบมือ กำหมัด สันมือ ตีลูกบอลก็ได้ แต่แขนที่เหวี่ยงไปตีลูกบอลต้องเหยียดตึง เมื่อตีลูกบอลไปแล้วให้เหวี่ยงแขนตามลูกบอล เพื่อช่วยบังคับลูกให้ไปในทิศทางที่ต้องการ

สำหรับการเสิร์ฟลูกมือล่างอาจจะหันด้านข้างเข้าหาตาข่ายก็ได้ มีหลักการเสิร์ฟเช่นเดียวกับการเสิร์ฟลูกมือล่างหันหน้าเข้าหาตาข่าย แต่การยืนของผู้เสิร์ฟจะหันไหล่ซ้ายเข้าหาตาข่าย

ตำแหน่งที่ตีลูกบอลในการเสิร์ฟลูกมือล่างมีส่วนที่จะทำให้ลูกบอลตกใกล้หรือไกลได้เหมือนกัน
– ถ้าหากตีตรงกึ่งกลางให้ลูกบอล ลูกบอลแทบจะไม่หมุน ขณะเคลื่อนที่ไปกลางอากาศก่อนลูกจะตก ลูกบอลอาจส่ายได้
– ถ้าเสิร์ฟใต้ลูกค่อนมาทางข้างหลัง และดึงมือขึ้น ลูกจะหมุนไปข้างหน้า
– ถ้าเสิร์ฟใต้ลูกค่อนมาทางข้างหลัง คล้ายเสยมือขึ้น ลูกบอลจะหมุนกลับหลัง
– ถ้าออกแรงเสิร์ฟเท่ากันแต่ตำแหน่งที่ตีลูกบอลต่างกัน ทำให้ระยะทางและทิศทางการตกของลูกแตกต่างกันได้

วิธีเสิร์ฟลูกด้วยมือล่างด้านหน้า
1. ในกรณีที่ผู้เล่นถนัดขวา ให้ก้าวเท้าซ้ายอยู่หน้าเท้าขวาเล็กน้อย ถือลูกบอลไว้ด้วยมือซ้าย และยืนไปทางข้างหน้าด้านขวาของร่างกาย เพื่อให้ลูกบอลอยู่ในแนวเดียวกันกับมือข้างขวาที่จะเหวี่ยงตีลูกบอล
2. โยนลูกบอลขึ้นด้วยมือซ้ายเบาๆ ไม่สูงมากนัก (เพราะกติกาไม่อนุญาตให้ผู้เสิร์ฟตีลูกบอลที่อยู่ในมือ) กำมือขวาหลวมๆ หรือจะแบมือก็ได้ และใช้สันมือตีลูกบอลเป็นจุดสัมผัสลูกบอลโดยการเหวี่ยงมือจากข้างหลัง
3. การเสิร์ฟลักษณะนี้จะยืนหันหน้าเข้าหาตาข่ายหรือหันข้างเข้าหาตาข่ายก็ได้
4. การส่งแรง (Follow Thorough) ผู้เสิร์ฟต้องก้าวเท้าถ่ายน้ำหนักตัวไปที่เท้าหน้า และการเหวี่ยงแขนไปตามแรงส่งไปข้างหน้า

วิธีเสิร์ฟลูกด้วยมือล่างด้านข้าง
1. ยืนเตรียมพร้อม โดยหันด้านข้างเข้าสนามหรือหันด้านซ้ายเข้าหาตาข่าย ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าขนานกับเส้นหลัง เท้าขวาอยู่ด้านหลัง
2. มือซ้ายชูลูกบอลเหยียดตรงไปข้างหน้า แขนขวาเหยียดตรงอยู่ข้างหลังระดับต่ำกว่าไหล่เล็กน้อย
3. การส่งลูกบอลให้ย่อตัวโยนบอลขึ้น เหวี่ยงแขนขวามาตีลูกบอลโดยบิดตัวทางซ้ายมือหรือทิศทางที่จะส่งลูกไป
4. การตีบอลให้ใช้สันมือหลังหัวแม่มือตีปะทะบอลไป

การเสิร์ฟลูกด้วยมือบนด้านหน้า
1. ยืนด้วยเท้าทั้งสอง หันหน้าไปทางทิศทางเป้าหมายถือลูกบอลไว้ในฝ่ามือที่ไม่ใช่ตีลูกบอล
2. ขณะที่โยนลูกขึ้น ให้เหยียดตัวขึ้นให้ดูเหมือนว่าเป็นการยกลูกบอล
3. ดึงแขนและศอกที่ใช้ตีลูกบอลไปข้างหลังลูกบอลจะต้องโยนขึ้นไปข้างหลังเล็กน้อยและอยู่ด้านหน้าของผู้เสิร์ฟ
4. ดึงศอกให้ไปอยู่ด้านหลังหู ตามองที่ลูกบอล
5. เหวี่ยงแขนที่ตีลูกบอลไปข้างหน้าให้เร็วๆ ถ่ายน้ำหนักไปที่เท้าหน้า ตีลูกบอลด้วยการเกร็งฝ่ามือ
6. หลังจากตีลูกไปแล้ว ปล่อยให้แขนเหวี่ยงไปข้างหน้าโดยไม่ต้องออกแรงหยุดปล่อยแขนที่ไม่ได้ตีลูกบอลลงข้างตัว

การเสิร์ฟลูกด้วยมือบนด้านข้าง
1. ลักษณะการยืนเหมือนกับการเสิร์ฟลูกมือบนด้านหน้า แต่หันไหล่ซ้ายเข้าหาตาข่าย ทำมุมกับตาข่ายประมาณ 45 องศา
2. โยนลูกบอลด้วยมือซ้ายให้ลูกไปทางไหล่ซ้ายเล็กน้อย ความสูงจากมือที่โยนประมาณ 3-4 ช่วงของลูกบอล พร้อมกับเหยียดแขนขวาไปข้างหลัง เงยหน้ามองลูกบอล
3. จังหวะที่ตีลูกบอลให้เหวี่ยงแขนขวาขึ้นมา พร้อมกับบิดลำตัวมาทางซ้าย เท้าขวายันพื้นหมุนตัวอย่างเร็วเข้าหาสนาม ถ่ายน้ำหนักตัวเข้าสู่เท้าซ้าย เหยียดแขนขวาตรงและต้องเหวี่ยงโค้งขึ้นไปข้างหน้า

ลักษณะของมือขณะเสิร์ฟลูกมือบนด้านข้าง ซึ่งจุดที่สัมผัสลูกจะอยู่ตรงด้านหลังของลูกค่อนข้างมาข้างล่างเล็กน้อย ถ้าจุดที่ตีลูกบอลเลยกึ่งกลางของลูกขึ้นมาข้างบน จะทำให้เสิร์ฟลูกไม่ข้ามตาข่ายแต่ถ้าตีด้านล่างของลูกจะทำให้ลูกพุ่งขึ้นสูง อาจจะออกนอกสนาม

การกระโดดเสิร์ฟ (Jumping Service)
การกระโดดเสิร์ฟ เป็นเทคนิคการเล่นที่นำมาใช้กันมากในปัจจุบัน การเสิร์ฟถือว่าเป็นการรุกครั้งแรกของทีม ผู้เล่นที่สามารถกระโดดเสิร์ฟได้ดีมีประสิทธิภาพ รุนแรงและแม่นยำย่อมได้เปรียบคู่ต่อสู้ในเกมการแข่งขัน มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1. การยืนเตรียมพร้อมภายในเขตเสิร์ฟ 9 เมตร
2. โยนลูกบอลขึ้นข้างหน้า การโยนต้องโยนให้สูงเพื่อมีจังหวะในการกระโดดเสิร์ฟได้รุนแรง
3. การกระโดดและลอยตัว ลักษณะการกระโดดและลอยตัวปะทะเช่นเดียวกับการกระโดดตบลูกบอลหน้าตาข่าย
4. การปะทะหรือสัมผัสลูกบอล ส่วนใหญ่ผู้เสิร์ฟมักปะทะหรือสัมผัสลูกบอลด้านบนของลูก เนื่องจากผู้กระโดดเสิร์ฟจะกระโดดได้สูง แต่ไม่สามารถบังคับลูกบอลได้เหมือนการตบลูกหน้าตาข่าย