การแทงหยวก คุณค่า ประโยชน์ และวิธีการแทงหยวก

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

การแทงหยวก หมายถึง การแทงฉลุหยวกให้เกิดลวดลายต่างๆ สำหรับนำไปใช้ประดับตกแต่งในงานพิธีกรรมหรือกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นงานมงคล และอัปมงคล ด้วยการนำกาบกล้วยมาแกะสลักให้เกิดเป็นลวดลายที่มีความสวยงาม และสื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ ก่อนนำไปตกแต่งในงานพิธีต่างๆ

การแทงหยวกเป็นหัตถกรรมที่มีในหลายจังหวัด และในในสังคมไทยมีการใช้คำ และให้นิยามแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น การแทงหยวก งานแทงหยวก การฉลุสลักหยวก การฉลุหยวก การสลักหยวก และการทำเครื่องสด เป็นต้น

ทั้งนี้ มีคำนิยมความหมายของการแทงหยวกไว้ในเอกสารหลายฉบับ ได้แก่
ราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามความหมายการแทงหยวกว่า “สลักกาบกล้วยให้เป็นลวดลาย-
ประดับเชิงตะกอนในการเผาศพ”

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ให้คำนิยามความหมายการแทงหยวกว่า “การใช้กาบกล้วยสลักให้เป็นลวดลาย ประดับเบญจาสำหรับใช้ในพิธีรดน้ำขึ้นเบญจา หรือ ใช้ประดับโลงศพ ประดับเชิงตะกอนในการเผาศพ ลักษณะการแทงหยวกเป็นปติมากรรมเครื่องตกแต่งชั่วคราวเพื่อประโยชน์ใช้สอย สร้างขึ้นเพื่อใช้-
ในงานพิธีกรรมหรือกิจกรรมบางอย่าง ใช้ระยะเวลาอันสั้น”

สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ ให้คำนิยามความหมายการแทงหยวกว่า “การแทงหยวกเป็นประติมากรรมเครื่องตกแต่งชั่วคราว สร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีกรรมหรือกิจกรรมที่ใช้ระยะเวลาอันสั้น โดยนำหยวกกล้วยมาแทงเป็นลวดลายใช้ประดับตกแต่งเบญจา เชิงตะกอนในพิธีเผาศพ การตกแต่งบายศรีในพิธีบวชนาคและพิธีโกนจุก”

มโน พิสุทธิรัตนานนท์ ให้คำนิยามความหมายการแทงหยวกว่า “เป็นงานแกะสลักอีกชนิดหนึ่งที่จัดเป็นงานศิลปะพื้นบ้านที่ใช้เป็นงานประดับตกแต่งชั่วคราวโดยการนำเอากาบกล้วย (หยวกสดๆ) มาแกะฉลุเป็นลวดลายตกแต่งสถาปัตยกรรมบางประเภท เช่น เบญจา เรือพระ ซุ้มประตู เป็นต้น”

สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ให้คำนิยามความหมายการแทงหยวกว่า “การใช้กาบกล้วยสลักให้เป็นลวดลายประดับเบญจาสำหรับใช้ในพิธีรดน้ำขึ้นเบญจาหรือใช้ประดับโลงศพ ประดับเชิงตะกอนเผาศพ เป็นต้น”

การแทงหยวก แต่เดิมจะใช้แรงงานคนจากการร่วมมือกันในชุมชน แต่ปัจจุบัน ไม่พบการแทงหยวกในลักษณะนี้แล้ว คงเหลือเฉพาะการแทงหยวกด้วยช่างฝีมือในลักษณะการจ้างเหมางาน ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมอย่างหนึ่ง แต่งานในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน เป็นงานประเภทครั้งคราวเท่านั้น จึงมักขาดช่างฝีมือน้อยลงทุกวัน เพราะหันมาทำอาชีพอย่างอื่นที่มั่นคงกว่า จนขาดการถ่ายทอด และสืบสานไปสู่คนรุ่นหลัง

คุณค่า และการใช้ประโยชน์การแทงหยวก [2]
การแทงหยวก มีคุณค่าทางด้านประเพณีวัฒนธรรมเดิมของสังคมไทย ซึ่งแต่เดิมการแทงหยวกในแต่ละท้องที่จะใช้แรงงานคนจากการร่วมมือกันในชุมชน ทำให้เกิดความร่วมมือ และทำงานเป็นทีมของคนหมู่มาก ซึ่งแสดงออกถึงความมีนำจิตน้ำใจ และความสามัคคีของคนในชุมชน นอกจากนั้น ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
1. หยวกกล้วยที่แกะสลักจะถูกใช้ตกแต่งในงานพิธีต่างๆ ทั้งงานที่เป็นมงคล และอัปมงคล ได้แก่
– งานมงคล อาทิ พิธีเบญจาทรงน้ำพระพุทธรูป ทรงน้ำพระสงฆ์ อาบน้ำผู้สูงอายุในชุมชน งานบุญบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ตาย ใช้ตกแต่งประดับเรือแห่ รถแห่ ทั้งบนบก และบนน้ำ ใช้ตกแต่งทำกระทง และใช้ตกแต่งซุ้มงาน เป็นต้น
– งานอัปมงคล อาทิ ใช้ตกแต่งเมรุงานศพ ใช้ตกแต่งโลงศพ ใช้ตกแต่งงานพิธีเรียกขวัญ งานพิธีขับไล่สิ่งอัปมงคล เป็นต้น
2. เกิดการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน โดยเกิดขึ้นในลักษณะการจ้างเหมาแทงหยวกหรือแกะสลักหยวกเพื่อใช้ประดับตกแต่งในพิธีต่างๆ
3. บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่คนต่างถิ่น และชาวต่างชาติ
4. ทำให้เกิดการสืบสาน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ และคนรุ่นหลังต่อไป

ขั้นตอนการแทงหยวก
ขั้นตอนการแทงหยวกประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก คือ การไหว้ครู และการลงมือปฏิบัติแทงหยวก ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

1. พิธีไหว้ครูก่อนการแทงหยวก
โดยทั่วไป คนโบราณเชื่อว่า หากมีพิธีกรรมใดๆที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และศาสนา จะต้องมีการไหว้ครูเพื่อแสดงออกถึงการแจ้งบอกกล่าว การอุทิศส่วนบุญต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่อเหล่าดวงวิญญาณผู้มีกรุณาต่อพิธีกรรมที่จะเกิดขึ้น นอกจากนั้น ยังเพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลไม่ให้ย้อนกลับมายังผู้นำปฏิบัติหรือผู้ร่วมปฏิบัติในพิธีกรรมนั้น

เครื่องไหว้ครู
1. หัวหมู 1 หัว
2. ขนมต้มแดงต้มขาว
3. เหล้าขาว 1ขวด
4. ดอกไม้ 1 คู่ ธูป 3 ดอก เทียน 1 คู่
5. อุปกรณ์ หรือ มีดแทงหยวกที่ใช้

หลังจากทำพิธีไหว้ครูแล้ว ผู้แทงหยวกก็สามารถเริ่มทำการแทงหยวกตามขั้นตอน รูปแบบ และลวดลายพื้นฐานหรือลวดลายประยุกต์ตามความรู้ที่มี

คำกล่าวไหว้ครูก่อนแทงหยวก
ผู้แทงหยวก กราบ 3 ครั้ง แล้วตั้งนะโม 3 จบ จากนั้น กล่าวคำไหว้ครูตามช่วงเว้นประโยค ดังนี้
*ลูกขอไหว้พระอินทร์ พระพรหม พระยม*
*พระกาฬ พระจตุโลกบาลทั้ง 4*
*พระภูมิเจ้าที่ พระธรณี พระแม่คงคา*
*แม่พระพาย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกนี้*
*พระวิษณุกรรม ท้าวเวสสุวรรณ*
*ครูพักลักจำ ครูแนะครูนำ*
*ครูสั่ง ครูสอน*
*ที่ได้ประสาทพรให้แก่ลูกมา*
*พุทธังประสิทธิเม*
*ธรรมมังประสิทธิเม*
*สังฆังประสิทธิเม*

จากนั้น กราบ 3 ครั้ง ก็ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี และแสดงถึงผู้แทงหยวกได้น้อมเคารพให้ถูกต้องตามขบธรรมเนียมประเพณีแล้ว ถือได้ว่า ผู้นั้น เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะทำการแทงหยวกสำหรับใช้ในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ต่อไป

คำกล่าวลาเครื่องไหว้
สำหรับเครื่องไหว้ครู โดยประเพณีโบราณ หากต้องการนำมารับประทานหรือใช้ประโยชน์ ผู้ที่ต้องการเครื่องไหว้ครูจะต้องกล่าวคำลาเครื่องไหว้เสียก่อน เพื่อเป็นการแจ้งหรือขอนำเครื่องไหว้เหล่านั้นไปรับประทานหรือใช้ประโยชน์ต่อ โดยมีคำกล่าวลาเครื่องไหว้ตามการเว้นประโยค ดังนี้

กราบ 3 ครั้ง พร้อมตั้งนโม 3 จบ
*พุทธะเสสัง ธรรมะเสสัง*
*สังฆะเสสัง มังคะเสสังยาจามิ*
กราบ 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้นการลาเครื่องไหว้

ทั้งนี้ การกล่าวคำลาเครื่องไหว้อาจเป็นผู้แทงหยวกหรือมิใช่ผู้แทงหยวกก็ได้ โดยการกล่าวคำลาเครื่องไหว้จะไม่ทำหลังเสร็จสิ้นกระบวนการไหว้ครูทันที แต่จะพักไหว้สักระยะก่อน อาทิ 1 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง หรือ ครึ่งวัน เป็นต้น ซึ่งขณะนั้น ผู้แทงหยวกจะเริ่มการแทงหยวกแล้ว

2. วิธีการแทงหยวก (แกะสลักหยวก)

รอเพิ่มเติมข้อมูล

เอกสารอ้างอิง
[1] กรมศิลปากร. 2543. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์-
เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดระยอง. : 171 – 173.
[2] ดำรงค์ ชีวะสาโร. 2554. ศึกษาการแทงหยวกของช่างพื้นบ้านในจังหวัดสงขลา.

ขอบคุณภาพจาก
– http://arit.pbru.ac.th/l