กุดจี่เบ้า กุดจี่หายาก ประโยชน์ และวิธีหากุดจี่เบ้า

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

กุดจี่เบ้า หรือ ขี้เบ้า เป็นชนิดกุดจี่ที่ค่อนข้างหายาก ไม่นิยมรับประทานกุดจี่ตัวเต็มวัย แต่นิยมรับประทานตัวอ่อนหรือดักแด้ของกุดจี่เบ้าเป็นหลัก ซึ่งให้รสชาติที่มีรสมัน อร่อยมากกว่ากุดจี่ทุกชนิด โดยใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ ดักแด้กุดจี่เบ้าคั่วเกลือ แกงคั่วดักแด้กุดจี่เบ้า แกงเลียงดักแด้กุดจี่เบ้า แกงหน่อไม้ใส่ดักแด้กุดจี่เบ้า เป็นต้น

กุดจี่เบ้า หรือ ขี้เบ้า เป็นชนิดกุดจี่ที่ค่อนข้างหายากในปัจจุบัน และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ การใช้สารเคมี ปริมาณโคกระบือที่ลดลง รูปแบบการเลี้ยงโคกระบือในคอกโดยไม่ค่อยปล่อยเลี้ยงตามทุ่ง เป็นต้น

กุดจี่เบ้า แยกเป็นคำว่า กุดจี่ และเบ้า โดยคำว่า เบ้า มาจากลักษณะการวางไข่ของแม่กุดจี่ที่แปลก และมีความเป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ แม่กุดจี่จะหล่อมูลโคกระบือให้เป็นก้อนกลม โดยวางไข่ไว้ภายในก้อนที่หล่อไว้

อนุกรมวิธาน [1]
• อันดับ (order) : Coleoptera
• วงศ์ (family): Scaarabaeidia

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Heliocopris dominus Bates
• ชื่อท้องถิ่น :
– ด้วงมูลสัตว์
– กุดจี่
– กุดจี่เบ้า
– ขี้เบ้า
– กุดจี่ขี้ช้าง

แหล่งที่พบ และการแพร่กระจาย
กุดจี่เบ้า หรือ ขี้เบ้า เป็นชนิดกุดจี่ที่พบได้มากในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งพม่า ลาว มาเลียเซีย อินโดนีเซีย และไทย โดยในประเทศไทยพบกุดจี่เบ้าได้ในทุกภาค แต่พบได้มากในแถบภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กุดจี่เบ้า แตกต่างจากกุดจี่ชนิดอื่น ทั้งเป็นชนิดที่หายาก เป็นชนิดกุดจี่ที่ชอบอาศัย และขยายพันธุ์ในพื้นที่ค่อนข้างแห้ง ไม่ชอบอาศัยในพื้นที่ชื้นแฉะหรือมีสภาพฝนตกชุก

ลักษณะกุดจี่เบ้า หรือ ขี้เบ้า
กุดจี่เบ้า จัดเป็นแมลงชนิดหนึ่ง แต่มักเรียกว่า แมงกุดจี่ ลำตัวกุดจี่เบ้ามีลักษณะเป็นรูปไข่ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง ที่ทุกส่วนมีลักษณะเป็นเปลือกแข็งสีดำหุ้มทั้งหมด

กุดจี่เบ้า เป็นกุดจี่ที่มีขนาดลำตัวใหญ่ที่สุดในบรรดาชนิดกุดจี่ ขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ทั่วทั้งลำตัวปกคลุมด้วยเปลือกแข็งสีดำหรือสีดำอมน้ำตาล

ลำตัวประกอบด้วยส่วนหัวที่มีขนาดเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ส่วนหัวมีลักษณะครึ่งวงกลม และแบน ประกอบด้วยปากแบบกัด และหนวด 2 คู่ ถัดมาเป็นส่วนอกมีขนาดใหญ่กว่าหัว เป็นส่วนที่อยู่ตรงกลางเชื่อมระหว่างส่วนท้อง และส่วนหัว ถัดมาเป็นส่วนท้องมีขนาดใหญ่ที่สุด ด้านบนเป็นเปลือกหุ้มแข็งสำหรับปกคลุมปีกที่แยกออกเป็น 2 ส่วน ถัดจากเปลือกหุ้มจะเป็นแผ่นปีก 2 คู่ ที่มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ ทำหน้าที่สำหรับบิน

ส่วนขามีทั้งหมด 6 ขา ประกอบด้วยขาคู่แรกที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาขาทั้งหมด ซึ่งอยู่บริเวณอกส่วนบน ส่วนขาคู่ที่ 2 จะอยู่บริเวณท้องส่วนบน และขาคู่สุดท้าย คู่ที่ 3 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดจะอยู่บริเวณท้องส่วนกลาง

การสืบพันธุ์ และวางไข่
กุดจี่เบ้ามีระยะสืบพันธุ์ในช่วงหน้าแล้ง โดยเมื่อผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะหาแหล่งวางไข่ใต้ดินใกล้กับแหล่งทำรังหรือวัสดุหุ้มไข่ นั่นก็คือ กองมูลโคกระบือหรือกองมูลช้าง เมื่อหาแหล่งวัสดุวางไข่ได้แล้วจะมีการผสมพันธุ์ระหว่างตัวผู้ และตัวเมีย ซึ่งอาจเกิดขึ้นนอกกองมูลสัตว์หรือบริเวณกองมูลสัตว์ และเมื่อผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะเริ่มนำกองมูลสัตว์มากลิ้งละน้อยกองวางไข่ไว้ด้านใน แล้วนำมูลสัตว์มากลิ้งหุ้มผสมกับดินเป็นก้อนวงกลมใหญ่ จากนั้น จะนำก้อนมูลสัตว์ที่ได้นำไข่สู่รังฟักไข่ โดยการกลิ้งด้วยเท้าคู่หลัง

ขนาดก้อนรังไข่แต่ละก้อนจะมีขนาดประมาณ 3-5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ อาทิ พื้นที่ขาดกองมูลสัตว์จะพบว่า ก้อนรังไข่จะมีขนาดใหญ่ เพราะประกอบด้วยด้วยดิน และเศษหญ้า ส่วนพื้นที่ที่มีกองมูลสัตว์จะพบเป็นก้อนที่ทำจากมูลสัตว์ ทำให้ก้อนรังไข่มีขนาดเล็ก

เมื่อหล่อ และกลิ้งก้อนมูลสัตว์ลงใส่หลุมจนครบหมดแล้ว ตัวแม่กุดจี่จะเกลี่ยดินกลบรู และฝังตัวเองไว้ในรังด้วย ซึ่งไม่กี่วันแม่กุดจี่จะตายภายในรังนั้น

แหล่งอาศัย และการกินอาหาร
กุดจี่เบ้า เป็นกุดจี่ที่ชอบหลบอาศัยตามแหล่งอาหารต่างๆ ทั้ง กองเศษพืช และกองมูลสัตว์ อาหารของกุดจี่เบ้าจะเป็นเศษพืชที่มีการเน่าเปื่อย ซึ่งอาจเป็นกองเศษพืชหรือเศษพืชที่เน่าเปื่อยในดิน ซึ่งกุดจี่ชนิดนี้จะขุดซอนลงดินเพื่อหลบอาศัย และกินเศษพืชในดินเหล่านั้น แต่ส่วนมากจะชอบหลบอาศัย และกินอาหารตามกองมูลสัตว์ต่างๆที่ถูกขับถ่ายเป็นกองบนพื้นดิน แต่หากพื้นที่ใดไม่มีมูลสัตว์ก็จะดำรงชีวิตตามวิธีแรกที่กล่าวมา

ประโยชน์กุดจี่เบ้า หรือ ขี้เบ้า
กุดจี่เบ้าตัวเต็มวัย เป็นกุดจี่ที่หายาก ทำให้หาได้ยากที่จะนำมาประกอบอาหารเหมือนกุดจี่ชนิดอื่นๆ แต่ก็สามารถนำมารับประทานหรือประกอบอาหารได้เหมือนกุดจี่ชนิดอื่นได้เช่นกัน แต่ที่สำคัญชาวบ้านมักนิยมนำลูกอ่อนของกุดจี่หรือที่เรียกดักแด้กุดจี่เบ้ามารับประทานมากกว่า แต่ก็หาได้ยากเช่นกัน แต่ดักแด้กุดจี่เบ้าหากหาได้จะเป็นที่นิยมรับประทานอย่างมาก เนื่องจาก หายาก และมีรสอร่อยยิ่งนัก

ลูกอ่อนกุดจี่เบ้า หมายถึง กุดจี่เบ้าที่อยู่ในระยะตัวอ่อน ทั้งในระยะตัวหนอน และระยะดักแด้ ซึ่งนิยมนำมาประกอบอาหารเฉพาะในระยะดักแด้ ส่วนระยะหนอนจะไม่นิยม เนื่องจาก มีลักษณะลำตัวเป็นหนอนจึงเกิดความรังเกียจเป็นหลัก แต่สามารถใช้ประกอบอาหารได้เช่นกัน

ดักแด้กุดจี่เบ้า มีลักษณะคล้ายกับตัวกุดจี่ในระยะตัวเต็มวัย แต่ลำตัวจะมีลักษณะนิ่มทั้งตัว ไม่มีเปลือกแข็งหุ้ม ตัวดักแด้มีสีเหลือง อุดมด้วยโปรตีน และสารอาหารหลายชนิด จึงนิยมรับประทานในรูปแบบเดี่ยวหรือประกอบอาหาร อาทิ การคั่วเกลือ ป่นดักแด้กุดจี่ และใส่ในอาหารเมนูอื่น อาทิ แกงเลียง หรือ แกงหน่อไม้ เป็นต้น

วิธีหาดักแด้กุดจี่เบ้า
การหาตัวอ่อนหรือดักแด้กุดจี่เบ้าจะหาจากรังฟักไข่ที่กุดจี่เบ้านำก้อนมูลโคหรือกระบือมาพักเก็บไว้ ซึ่งบริเวณที่เป็นรังวางไข่มักไม่ห่างจากกองมูลโคกระบือมากนัก

บริเวณจุดฟักไข่ของกุดจี่เบ้าจะสังเกตได้ยาก หากไม่ชำนาญ โดยแหล่งวางไข่ของกุดจี่เบ้าจะสังเกตได้จากกองดินที่มีลักษณะเป็นขุ๋ยกองเป็นกองขนาดเล็ก คล้ายกับกองดินของหนูนา

เมื่อพบกองดินของกุดจี่แล้วจะทำการขุดถากกองดินออกก่อน และพยายามมองหาบั้งหรือเบ้าของกุดจี่เบ้า ซึ่งมีลักษณะเป็นขุ๋ยดินหลวมๆที่ได้จากการเกลี่ยดินถมรูของกุดจี่เบ้า โดยบั้งหรือเบ้านี้จะสังเกตได้จากลักษณะดินที่มีลักษณะเป็นวงกลมของขุ๋ยหลวมๆ และดินรอบของจะแน่นและมีสีดินที่แตกต่างจากบั้งของกุดจี่เบ้า

เมื่อพบบั้งหรือเบ้าของกุดจี่แล้วจะทำการขุดถากเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อขุดจนถึงรังก็จะพบรูขนาดเล็กก่อน จากนั้น ก็จะพบโพรงหรือรังเก็บตัวอ่อนของกุดจี่เบ้า ซึ่งจะเป็นโพรงขนาดใหญ่ที่จะมีก้อนฟักมูลไข่ไว้รวมกัน ความลึกของโพรงจะประมาณ 30-40 เซนติเมตร โดยแต่ละโพรงจะพบก้อนมูลสัตว์ประมาณ 4-6 ก้อน และพบแม่กุดจี่ที่อาจยังมีชีวิตหรือตายแล้วร่วมอยู่ด้วย

ก้อนมูลสัตว์ที่วางไข่ไว้ด้านในจะประกอบด้วยระยะของลูกกุดจี่เบ้าใน 3 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวหนอน ระยะดักแด้ และระยะตัวเต็มวัย

ระยะลูกกุดจี่เบ้าที่นิยมนำมารับประทานจะเป็นระยะดักแด้ ซึ่งใช้เวลาหลังวางไข่นานเป็นเดือน โดยสังเกตจากสภาพกองดินด้านนอก หากเป็นกองดินใหม่จะไม่นิยมขุด เพราะจะได้ในระยะไข่หรือระยะตัวหนอน หากกองดินเก่า กองดินมีการพังทลาย ไม่เป็นขุ๋ยก็มักจะขุดได้ในระยะดักแด้

สถานะการตลาด
กุดจี่เบ้า หรือ กุดจี่ขี้ช้าง ในตัวเต็มวัยเป็นที่หายาก จึงไม่พบการนำมาประกอบอาหาร แต่จะนิยมหาตัวอ่อนหรือดักแด้กุดจี่เบ้ามารับประทานหรือประกอบอาหารเป็นส่วนใหญ่

ราคาดักแด้กุดจี่เบ้าจะมีราคาแพงมาก บางพื้นที่ขายในลักษณะของเบ้ารังไข่ เช่น เบ้าละ 20 บาท หรือ จะได้ดักแด้ 1 ตัว ในราคา 20 นั่นเอง หรือบางพื้นที่ขายในลักษณะตัวดักแด้ ทั้งเป็นตัว ตัวละ 10-20 บาท หรือ เป็นขีด ขีดละ 50-100 บาท

เอกสารอ้างอิง
[1] น้องนุช สารภี. 2545. การสำรวจแมลงที่ดินได้ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์.

ขอบคุณภาพจาก
– www.gotoknow.org/
– ข่าวสด เข้าถึงได้ที่ https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_766708
– Youtube ช่อง ชีวิต คนบ้านนอก เข้าถึงได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=voXiQ6Pp3q8
– Youtube ช่อง ชีวิต คนบ้านนอก เข้าถึงได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=rVUrqvFRj38