กุลจิรัฏฐธรรม 4 ประการ ความหมาย และแนวทางปฏิบัติ

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

กุลจิรัฏฐธรรม คือ ธรรมสำหรับความยั่งยืน หรือ ความมั่นคงในความมั่งคั่งของตระกูล หรือ เรียกอย่างหนึ่งว่า “กุลธรรม” หมายถึง ธรรมอันช่วยส่งเสริมให้ครอบครัวมีความยั่งยืนอยู่ได้นาน

กุลจิรัฏฐธรรม 4 ประการ
1. นัฏฐคเวสนา คือ รู้จักแสวงหาสิ่งที่หายไป หรือ สิ่งที่กำลังหมดมาไว้
2. ชิณณปฏิสังขรณา คือ ซ่อมแซมสิ่งของ หรือ ทรัพย์สินที่เก่าคร่ำคร่า
3. ปารมิตปานโภชนา คือ รู้จักประมาณในการบริโภค
4. อธิปัจจสีลวันตสถาปนา คือ ยกบุรุษ หรือ สตรี ที่เป็นผู้มีศีลให้เป็นใหญ่ในเรือน

อรรถาธิบายกุลจิรัฏฐธรรม 4 ประการ
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ตระกูลใดตระกูลหนึ่งที่พรั่งพร้อมด้วยโภคทรัพย์แล้ว ตระกูลนั้นย่อมดำรงอยู่ในโภคทรัพย์นั้นได้นานด้วยอรรถาธิบายกุลจิรัฏฐธรรม 4 ประการ คือ
1. นัฏฐคเวสนา คือ รู้จักแสวงหาสิ่งที่หายไป หรือ สิ่งที่กำลังหมดมาไว้
รู้จักแสวงหาสิ่งที่หายไป หรือ สิ่งที่กำลังหมดมาไว้ หมายถึง ตระกูลที่พรั่งพร้อมด้วยโภคทรัพย์ ย่อมที่จะมีการใช้จ่ายทรัพย์ ทรัพย์เหล่านั้น ย่อมทยอยหายหรือลดน้อยลงไป หากมีเพียงใช้จ่ายทรัพย์อย่างเดียว ทรัพย์ก็ย่อมหมดไป

การหายของทรัพย์อีกประการ คือ การหายเพราะตนหลงลืม การหายเพราะถูกลักขโมย และการหายเพราะผู้อื่นหยิบจับไป (มิใช่ถูกขโมย)

ทำมาหากิน สร้างรายได้

ตระกูลใดที่รู้จักแสวงหาทรัพย์มาเพิ่ม ทั้งหาให้เพิ่มมากขึ้น หรือ หาเพื่อชดเชยทรัพย์ที่ใช้จ่ายไป ตระกูลนั้น ย่อมดำรงด้วยโภคทรัพย์ที่ยืนยาว และมั่นคง อาทิ มีทุนทรัพย์ 1 ล้าน นำทุนทรัพย์นั้นมาลงทุนเปิดกิจการค้าขายจนมีกำไร และทุนทรัพย์เพิ่มมากกว่า 1 ล้าน เป็นต้น

2. ชิณณปฏิสังขรณา คือ ซ่อมแซมสิ่งของ หรือ ทรัพย์สินที่เก่าคร่ำคร่า
ซ่อมแซมสิ่งของ หรือ ทรัพย์สินที่เก่าคร่ำคร่า หมายถึง ตระกูลใดที่ทรัพย์สินชำรุด ตระกูลนั้น พึงรู้จักซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ทั้งการชำรุดบางส่วน แต่ยังใช้งานได้ และการชำรุดทุกส่วนจนใช้งานไม่ได้ เมื่อรู้จักบูรณะ ซ่อมแซมแล้ว ทรัพย์นั้น จึงถือเป็นทรัพย์ที่มีค่า ทรัพย์ที่ก่อประโยชน์แก่ตระกูลต่อไป อาทิ การซ่อมท่อน้ำรั่ว การซ่อมเก้าอี้หัก การซ่อมขาเตียงที่หัก การซ่อมบ้านบางส่วนที่ชำรุด เป็นต้น

สร้างบ้าน ซ่อมแซมบ้าน

3. ปารมิตปานโภชนา คือ รู้จักประมาณในการบริโภค
รู้จักประมาณในการบริโภค หมายถึง ตระกูลใดที่รู้จักความพอเพียงหรือพอประมาณในการอุปโภค-บริโภค ด้วยการพอประมาณในใช้จ่ายทรัพย์สิน เงินทอง ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟ้อ ใช้จ่ายเฉพาะในสิ่งที่จำเป็น ตระกูลนั้น ย่อมที่จะรักษาทรัพย์ให้คงอยู่ได้ยาวนานขึ้น อาทิ การจับจ่ายซื้ออาหารการกิน พึงจับจ่ายตามสมควรเพียงเพื่อรับประทานให้อิ่ม มิใช้ซื้อทุกอย่างเพราะรู้สึกอยากกิน แต่เมื่อกินแล้วกลับทำให้อิ่ม และอาหารเหล่านั้นก็ยังเหลือมากมาย อย่างนี้ คือการฟุ่มเฟ้อ สิ้นเปลืองทรัพย์โดยใช่เหตุ

กินอยู่อย่างพอประมาณ

4. อธิปัจจสีลวันตสถาปนา คือ ยกบุรุษ หรือ สตรี ที่เป็นผู้มีศีลให้เป็นใหญ่ในเรือน
ยกบุรุษ หรือ สตรี ที่เป็นผู้มีศีลให้เป็นใหญ่ในเรือน หมายถึง ตระกูลใดที่ได้ยกผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นสตรีหรือบุรุษที่เป็นผู้มีศีล อันได้แก่ ศีลทั้ง 5 ให้ขึ้นเป็นผู้นำครอบครัว หรือ เป็นผู้กำหนด วางแผนการใช้จ่ายทรัพย์แล้ว ย่อมจะทำให้ทรัพย์ของตระกูลนั้นคงอยู่ยาวนาน

แต่หากตระกูลใดยกผู้ใดที่ไม่มีศีลเป็นผู้นำครอบครัว ตระกูลนั้น ย่อไม่มีความมั่นคงในทรัพย์ อาทิ สามีผู้นำครอบครัวผู้ติดเหล้า ติดการพนัน ย่อมพลาญทรัพย์หมดไปเพราะการซื้อเหล้า และเล่นการพนัน

ยกผู้มีศีลเป็นผู้นำครอบครัว

โดยสรุป ตระกูลใดที่รู้จักนำหลักกุลจิรัฏฐธรรม 4 ประการ ไปใช้ ทั้งในส่วนการแสวงหาทรัพย์ให้เพิ่มพูนมากขึ้นหรือชดเชยทรัพย์ที่ใช้ไปเป็นนิจ การซ่อมแซมทรัพย์ที่ชำรุดให้กลับมาสภาพคงเดิม การรู้จักพอประมาณกับการใช้จ่ายทรัพย์ และรู้จักยกผู้มีศีลทั้ง 5 เป็นผู้นำครอบครัวในการบริหารจัดการทรัพย์ ตระกูลนั้น ย่อมมีทรัพย์ใช้จ่ายอย่างยั่งยืนมั่นคง