จิโป่ม/จิ้งโกร่ง แหล่งอาศัย ประโยชน์ และวิธีหาจิโป่ม

Last Updated on 17 พฤษภาคม 2020 by siamroommate

จิโป่ม หรือ จิ้งโกร่ง (Short tailed cricket) เป็นจิ้งหรีดชนิดหนึ่งที่มีขนาดลำตัวใหญ่ที่สุด นิยมใช้ประกอบอาหารหลายเมนู อาทิ จิโป่มคั่วเกลือ ป่นจิโป่ม แกงหน่อไม้ใส่จิโป่ม จิโป่มชุบแป้งทอด เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนิยมใช้เป็นเหยื่อจับปลาหรือเหยื่อปักเบ็ดได้เช่นกัน

อนุกรมวิธาน [1]
• อันดับ (order): Orthoptera
• วงศ์ (family): Gyllidae
• สกุล (genus): Brachytrupes
• ชนิด (species): Brachytrupes portentosus

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brachytrupes portentosus Lichtenstein
• ชื่อสามัญ : Short tailed cricket, Cricket
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– จิ้งโกร่ง
– จิ้งหรีดหัวโต
– จิ้งหรีดหางสั้น
อีสาน
– จิโป่ม
– จิดโป่ม
– จิ๊หล่อ
เหนือ
– จิ้งกุ่ง

แหล่งที่พบ และการแพร่กระจาย [3]
จิโป่ม เป็นจิ้งหรีดชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วโลก สำหรับชนิดที่พบในประเทศไทยจะเป็นสกุล Brachytrupes ซึ่งมีเพียงชนิดเดียว คือ Brachytrupes portentosus หรือที่เรียก จิโป่ม หรือ จิ้งหรีดหางสั้น แต่จิ้งหรีดในสกุลนี้บนโลกมีรายงานพบได้กว่า 15 ชนิด และมีรายงานพบกว่า 3 ชนิด ในแถบอินโด-มาเลเซีย ที่รวมถึงประเทศไทยด้วย ประกอบด้วย B. portentosus, B. orientalis และ B. terrificus

ลักษณะจิโป่ม [3], [4]
จิโป่ม มีลักษณะลำตัวทรงกระบอก และอวบอ้วน ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม ลำตัวประกอบด้วยส่วนหัว อก และท้อง ตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ทั้งนี้ ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้

ส่วนหัว เป็นส่วนที่มีขนาดเล็ก มีลักษณะค่อนข้างกลม มีปากด้านล่าง เป็นแบบปากกัด มีกรามขนาดใหญ่ ตาเป็นแบบตารวมอยู่ด้านบนปาก มี 2 คู่ ส่วนหนวดอยู่ด้านข้างมุมปาก มี 2 คู่ หนวดมีลักษณะเป็นเส้นสีน้ำตาลหรือดำขนาดเล็กคล้ายกับเส้นผม ยาวมากกว่าความยาวของลำตัว

ส่วนอกเป็นส่วนตรงกลางเชื่อมระหว่างส่วนหัวกับส่วนท้อง โดยมีอกปล้องแรกขนาดใหญ่ และมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ ถัดมาเป็นส่วนท้อง โดยด้านบนส่วนท้องจะปกคลุมด้วยปีก ซึ่งจะพบปีกได้ในระยะตัวเต็มวัย ประกอบด้วยปีก 2 คู่ แบ่งเป็นปีกคู่หน้าเป็นแบบ tegmina ปีกคู่หลังเป็นแบบ membrane โดยที่บริเวณโคนปีกจะมีอวัยวะในการรับฟังเสียง ซึ่งมีทั้งเพศผู้ และเพศเมีย ส่วนจิโป่มเพศผู้จะมีอวัยวะพิเศษในการทำให้เกิดเสียงบนแผ่นปีกประกอบด้วย 3 ส่วน คือ แผ่นทำเสียงอยู่บริเวณกึ่งกลางของปีก เรียกว่า ไฟล (file) และอีกส่วนอยู่บริเวณมุมปีกด้านท้าย เรียกว่า สะแครบเปอร์ (scrapers) และอีกส่วนเป็นตุ่มทำเสียง (pegs) อยู่ขอบแผ่นปีก

ส่วนขาจิโป่มมีทั้งหมด 6 ขา หรือ 3 คู่ เป็นขาประเภทขากระโดด ปลายขามีเล็บ 2 อัน แบ่งเป็นขาคู่แรกอยู่บริเวณด้านบนของส่วนอก ส่วนคู่ที่ 2 และ3 อยู่บริเวณส่วนท้องบริเวณด้านบน และตรงกลางของส่วนท้องตามลำดับ โดยขาคู่ที่ 3 หรือ เรียกว่า ขาคู่หลังจะมีขนาดใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะบริเวณส่วน femur หรือบริเวณต้นขาที่มีขนาดใหญ่ ทำหน้าที่สำหรับการกระโดดได้ดี

วงจรชีวิต [3]
จิโป่มมีอายุโดยเฉลี่ยในช่วง 333.30±20.06 วัน หรือในช่วง 313-354 วัน โดยตัวเมียขนาดลำตัวใหญ่กว่าตัวผู้ และอายุยืนกว่า ประกอบด้วยระยะการเติบโตต่างๆ ดังนี้

ไข่ (egg)
ไข่จิโป่มมีลักษณะทรงกระบอกขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนมีรูปร่างคล้ายกับเมล็ดข้าวสาร ผิวเปลือกไข่มีลักษณะมันวาว มีอายุการฟักเป็นตัวประมาณ 56.10±15.03 วัน หรือในช่วง 41-71 วัน

ตัวอ่อน (mymph)
ตัวอ่อน เป็นระยะหลังฟักออกจากไข่ แบ่งเป็น 7 ระยะ มีอายุในระยะประมาณ 173.70±19.86 วัน หรือในช่วง 153-194วัน ซึ่งเป็นระยะที่ยาวนานที่สุด โดยเป็นระยะที่ร่างกายเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว สามารถที่จะเริ่มออกหาอาหารได้ตั้งแต่หลังฟักออกจากไข่

ระยะตัวอ่อน

ระยะตัวอ่อน 7 ระยะ มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นช่วงๆ ได้แก่ ระยะตัวอ่อน 1-2 ลำตัวจะมีผนังหุ้มสีขาวใส และค่อยเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลในช่วงปลายของระยะที่ 2 ส่วนระยะตัวอ่อน 3-7 เริ่มแรกจะเริ่มมีตุ่มขนาดเล็กบนแผ่นปีก ลำตัวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้น และปีกมีขนาดใหญ่ขึ้น

ตัวเต็มวัย (adult)
จิโป่มตัวเต็มวัย เป็นระยะที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยตัวเมียจะมีอายุในระยะตัวเต็มวัยยาววนานกว่าตัวผู้ คือ ตัวผู้จะมีช่วงอายุในระยะประมาณ 109.7±25.32 วัน หรือในช่วง 84-135 วัน ส่วนตัวผู้จะมีช่วงอายุในระยะประมาณ 86.50±12.02 วัน หรือในช่วง 74-99 วันโดยมีความแตกต่างระหว่างเพศ คือ ตัวเมียจะมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าตัวผู้ และตัวผู้จะผิวปีกคู่หน้าย่น และขรุขระ ส่วนตัวเมียจะผิวปีกคู่หน้าเรียบ

แหล่งอาศัย และอาหาร
จิโป่ม เป็นแมลงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน และบนดิน โดยจะอาศัยการทำรัง หรือที่นี้เรียกว่า รู ด้วยการขุดรูลงใต้ดินสำหรับหลบอาศัยทั้งในกลางวัน และกลางคืน โดยรูจะมีขนาดประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีลักษณะลาดเอียงลึกลงดิน มีความลึกประมาณ 30-60 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และความชื้นของดิน

ขณะหลบอาศัยในรู จิโป่มทำนำดินมาปิดปากรูไว้ ส่วนเวลาออกหาอาหาร ซึ่งจะเป็นช่วงกลางคืนตั้งแต่พลบค่ำจนถึงเช้าตรู่

อาหารของจิโป่มจะเป็นพืชชนิดต่างๆ โดยเฉพาะหญ้าใบอ่อนที่ขึ้นโดยรอบของรู ทั้งนี้ ในช่วงฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว จิโป่มจะทำการออกหากินหญ้าหรือพืชต่างๆนอกรู แล้วกลับเข้ารู แต่หากย่างเข้าสู่ช่วงปลายฤดูหนาว จิโป่มนอกจากจะกินอาหารแล้วยังมีการนำหาเข้ามาเก็บพักไว้ในรูด้วยเพื่อใช้เป็นอาหารในช่วงฤดูแล้งที่ขาดแคลนพืชใบเขียว

การผสมพันธุ์
จิโป่มตัวเต็มวัยที่เข้าสู่ระยะสืบพันธุ์ และวางไข่ มักอยู่ในช่วงปลายฝน-ต้นฤดูหนาว ประมาณเดือนกันยายน -พฤศจิกายน ซึ่งเราจะพบหรือได้ยินเสียงจิโป่มร้องดังในช่วงกลางคืนได้บ่อย

เสียงร้องของจิโป่มจะเป็นเสียงร้องของตัวผู้เพื่อร้องในการเรียกหาคู่ตัวเมีย เมื่อตัวเมียที่อยู่รอบข้างได้ยินเสียงก็จะกระโดดมาหาตัวผู้เพื่อผสมพันธุ์

เมื่อตัวเมียมาพบกับตัวผู้ ตัวผู้จนจะเดินวนเวียนรอบตัวเมียเพื่อทำความรู้จัก และคุ้นเคย และหากพึงพอใจซึ่งกันและกันก็จะมีการผสมพันธุ์เกิดขึ้น แต่บางครั้งมักการแย่งชิงตัวเมียจากตัวผู้ตัวอื่นที่ทำรังอยู่ใกล้กัน

การผสมพันธุ์ของจิโป่มจะแตกต่างจากการผสมพันธุ์ของแมลงหรือสัตว์โดยทั่วไป คือ ขณะผสมพันธุ์ ตัวเมียจะเป็นฝ่ายขึ้นขี่ด้านหลังของตัวผู้ จากนั้น ตัวผู้จะกระดกปลายอวัยวะเพศที่อยู่ด้านท้ายของท้องโค้งขึ้นด้านบน พร้อมกับตัวเมียโน้มปลายส่วนท้องที่เป็นอวัยวะเพศลงรับอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้

หลังจากผสมพันธุ์แล้วตัวเมียจะหากิน และกลับเข้ารูตามปกติเพื่อทำหน้าที่วางไข่ต่อไป โดยจิโป่มตัวเมีย 1 ตัว วางไข่เฉลี่ยประมาณ 120 ฟอง โดยการวางไข่ตัวเมียจะหาแหล่งกองซากพืช เช่น กองไม้ผุหรือกองใบไม้สำหรับวางไข่

ประโยชน์จิโป่ม
1. จิโป่ม นิยมนำมาประกอบอาหารเป็นหลัก โดยใช้ทำอาหารได้หลายเมนู อาทิ จิโป่มคั่วเกลือ ป่นจิโป่ม แกงคั่วจิโป่ม แกงหน่อไม้ใส่จิโป่ม เป็นต้น
2. จิโป่มในบางพื้นที่นิยมใช้เป็นเหยื่อจับปลาหรือเป็นเหยื่อสำหรับปักเบ็ด โดยปลาที่ชื่นชอบจิโป่มที่มักมากินเบ็ด ได้แก่ ปลาดุก และปลาช่อน
3. ประโยชน์ต่อระบบนิเวศ จิโป่มเป็นแมลงที่กินพืชเป็นอาหาร โดเฉพาะหญ้าหรือวัชพืชต่างๆ ช่วยในการกำจัดวัชพืชได้ นอกจากนั้น จิโปมยังได้นำอาหารจำพวกพืชต่างๆเก็บไว้ในรังจนบางครั้งทำให้เกิดเชื้อราย่อยสลายพืชเหล่านั้น จึงถือเป็นการเพิ่มเชื้อราในดินได้

 

คุณค่าทางโภชนาการจิโป่ม (จิโป่มสด 100 กรัม) [2]

Proximates

น้ำ

กรัม

73.3

พลังงาน

กิโลแคลอรี่

112.9

โปรตีน

กรัม

12.8

ไขมัน

กรัม

5.7

แป้ง และน้ำตาล

กรัม

2.6

ใยอาหาร

กรัม

3.1

เถ้า

กรัม

2.5

Minerals

แคลเซียม

มิลลิกรัม

88.2

เหล็ก

มิลลิกรัม

14.4

ฟอสฟอรัส

มิลลิกรัม

163.4

โพแทสเซียม

มิลลิกรัม

276.6

โซเดียม

มิลลิกรัม

56.5

Vitamins

ไทอะมีน (B1)

มิลลิกรัม

0.26

ไรโบฟลาวิน (B2)

มิลลิกรัม

1.78

ไนอะซีน (B3)

มิลลิกรัม

2.31

วิธีหา หรือ การจับจิโป่ม
จิโป่ม เป็นแมลงที่ขุดรูหรือทำรังอยู่ใต้ดิน สามารถหาจับได้ในทุกฤดูกาล แต่คนชนบทมักออกหาจิโป่มในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เริ่มเกี่ยวข้าวเรื่อยไปจนถึงต้นฤดูฝน หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม หรืออาจยาวถึงเดือนมิถุนายน

การจับหรือการหาจิโป่ม แบ่งได้ 2 วิธี คือ
1. การขุดจากรูด้วยเสียม
การขุดจากรูด้วยเสียม เป็นวิธีที่นิยมที่สุด เนื่องจาก สามารถจับได้ง่าย ได้ปริมาณมาก และรวดเร็วด้วยการหาข๋วย (ภาษาอีสาน) หรือ กองดินจากรูจิโป่ม

ลักษณะข๋วยหรือกองดินจิโป่มจะมีลักษณะเป็นกองดินเล็กๆ กองดินมีลักษณะเป็นขุ๋ยหรือก้อนละเอียดขนาดเล็ก โดยตรงมุมด้านใดด้านหนึ่งจะมีร่องหรือปากรูอย่างชัดเจน โดยหากปากรูปิด แสดงว่ารูนี้มีจิโป่มอาศัยอยู่ จากนั้น ใช้เสียมถากบริเวณปากรู ซึ่งรูในส่วนบนจะถูกปิดเป็นดินหลวมๆ จากนั้น จะพบรูเปิด แล้วทำการขุดตามรูเรื่อยจนถึงตัวจิโป่ม ซึ่งจะหลบอาศัยบริเวณจุดสิ้นสุดของรูที่ลึกที่สุด ทั้งนี้ ความลึกของรูจิโป่มจะแตกต่างกันตามฤดู คือ ฤดูหนาว และแล้ง รูจิโป่มจะลึก ส่วนฤดูต้นฝนจะมีรูตื้น

2. การส่องจับกลางคืน
เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยม เนื่องจาก จิโป่มจะไหวต่ออันตราย ซึ่งจะหมุดลงรูอย่างรวดเร็ว โดยการส่องจับเวลากลางคืนนั้น จะอาศัยช่วงที่จิโป่มออกมาร้องบริเวณปากรูหรืออยู่นอกรู ซึ่งอาจจับด้วยมือ หากพบอยู่นอกรูในระยะไกล แต่หากจิโป่มอยู่บริเวณปากรูจะใช้เสียมเป็นอุปกรณ์ช่วยจับ โดยใช้เสียมปักทิ่มลงบริเวณรูเพื่อปิดไม่ให้จิโป่มหมุดลงรู จากนั้น ค่อยใช้มือจับ ซึ่งวิธีนี้ ต้องมีความชำนาญ และว่องไวจึงจะจับได้

เอกสารอ้างอิง
[1] น้องนุช สารภี. 2545. การสำรวจแมลงที่ดินได้ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์.
[2] รุจิเรข ชนาวิรัตน์. 2559. ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดจากแมลงทอด-
ที่รับประทานได้บางชนิด หลังทำปฏิกิริยากับ-
ไนไตรท โดยใช้การทดสอบเอมส์.
[3] อาจินต์ รัตนพันธุ์. 2543. ความหลากหลายของแมลงกินได้และการศึกษาเซลล์-
พันธุศาสตร์ของจิโปม สกุล Brachytrupes-
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย.
[4] ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, จิ๊ดโป่ม, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2563, : http://www.isan.clubs.chula.ac.th/insect_sara/index.php?transaction=insect_1.php&id_m=26902/.

ขอบคุณภาพจาก
– flickr.com/
– Youtube ช่อง MADAMKOB เข้าถึงได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=x6NAB_x9I4w
– social.tvpoolonline.com/news/75022
– Pantip.com โดยคุณตุ้ย-พงษ์พิษณุ