ซุปเห็ดไค/ซุปเห็ดหล่มใส่แมงดา หอมกล่อมกล่อม ส่วนประกอบ และวิธีทำซุปเห็ดไคใส่แมงดา

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ซุปเห็ดไคใส่แมงดา หรือ ซุปเห็ดหล่มใส่แมงดา สูตรตำรับอีสาน ทำได้โดยใช้เห็ดไคป่านำมาย่างไฟให้สุกหอม ก่อนตำบดใส่ส่วนประกอบ และเครื่องปรุง พร้อมใส่แมงดาให้มีกลิ่นหอม เนื้อซุปเห็ดจะแห้ง มีรสกล่อมกล่อม และมีกลิ่นหอมของเห็ดไค และแมงดา

แหล่งเห็ดไค/เห็ดหล่ม
ซุปเห็ดไคหารับประทานได้เพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้นใน 1 ปี ระหว่างช่วงเดือน มิถุนายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูที่เห็ดไคออกดอกอย่างต่อเนื่อง แต่จะออกดอกเฉพาะในช่วงที่ฝนตกชุก และแต่ละพื้นที่จะออกดอกในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

เห็ดไคที่นำมาทำซุปจะหาได้ 2 วิธี คือ การเข้าเก็บเองตามป่า และหาซื้อตามตลาดสดหรือตลาดนัด ซึ่งจะมาจากแหล่งใดก็เป็นเห็ดไคป่าทั้งหมด เพราะเห็ดไคยังไม่สามารถที่เพาะจำหน่ายได้

ลักษณะเห็ดไค/เห็ดหล่ม
ลักษณะเห็ดไค เป็นชื่อเรียกทางภาคอีสาน และเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ อาทิ เห็ดหอมขาว เห็ดหอมดิน (ภาคกลาง) เห็ดด่าน (ภาคอีสาน) และเห็ดหล่ม (ภาคเหนือ) เป็นต้น โดยเป็นเห็ดป่าที่พบตามธรรมชาติ ซึ่งมีหลายชนิด แบ่งตามสีดอก ได้แก่ ดอกสีขาวนวล ดอกสีขาวอมเหลือง และดอกสีขาวอมเขียว ซึ่งทั้งหมดจะมีกลิ่นหอมเหมือนกัน แผ่นดอกเห็ดด้านบนจะมีสีที่ต่างกัน ตัวแผ่นมีลักษณะเรียบหรือแตกสะเก็ด และมีลักษณะแข็งด้าน ส่วนแผ่นดอกเห็ดด้านล่างจะเป็นแผงของสปอร์ มีสีขาว และอ่อนนุ่มเหมือนกันทุกชนิด

การเตรียมเห็ดไค/เห็ดหล่ม
เห็ดไคที่ได้มา ไม่ว่าจะเก็บในป่าเองหรือซื้อมาจากตลาด ก่อนนำมาทำซุปเห็ดไคจะต้องล้างทำความสะอาดเสียก่อน โดยเฉพาะการล้างฝุ่นหรือดินออก ทั้งบริเวณดอกด้านบน ดอกด้านล่าง และโคนเห็ด โดยเฉพาะดอกด้านล่างที่มีลักษณะเป็นแผงรวงผึ้งมักจะมีฝุ่นหรือเศษดินเกาะมาก และล้างทำความสะอาดยาก ส่วนโคนเห็ดให้ตัดโคนบริเวณที่ติดกับรากออก

วัตถุดิบ และส่วนประกอบ
1. เห็ดไคย่างสุก 4-7 ดอก
2. แมงดานาย่างสุก 1 ตัว
3. หอมแดงเผาหรือคั่วสุก 2 หัว (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
4. พริกขี้หนูเผาหรือคั่วสุก 5-10 ผล (ต้องการเผ็ดมากใส่มาก เผ็ดน้อยใส่น้อย)
5. กระเทียมเผาหรือคั่วสุก 3-5 กลีบ
6. ผักชี 1 ต้น
7. ผักหอม 1 ต้น
8. ผักชีฝรั่ง/ผักหอมเป 1 ใบ (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
9. มะนาว ครึ่งลูก (เฉพาะผู้ต้องการเพิ่มรสเปรี้ยว)

เครื่องปรุงรส
1. ผงชูรส 1 ช้อนชา (ช้อนเล็กตักน้ำตาล)
2. น้ำปลา 1 ช้อนชา (ช้อนเล็กตักน้ำตาล)
3. น้ำปลาร้า 1 ช้อนโต๊ะ (ช้อนรับประทานอาหาร)

วิธีทำซุปเห็ดไค/เห็ดหล่มใส่แมงดานา
ลักษณะเด่นของเห็ดไคสำหรับนำมาประกอบอาหาร คือ มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ และมีรสหวาน โดยมีกลิ่นหอมแรงกว่าเห็ดป่าหลายชนิด โดยเฉพาะเมื่อนำมาย่างไฟแล้วก็ยิ่งมีกลิ่นหอมเพิ่มขึ้นอีก และหากใส่แมลงดานา หรือ มักเรียก แมงดานา ก็จะมีทั้งกลิ่นหอมของเห็ด และแมงดานาคู่กัน ทำให้ซุปเห็ดไคน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น โดยมีวิธีการหรือขั้นตอนการทำ ดังนี้
1. นำเห็ดไคมาย่างไฟให้สุกด้วยไฟอ่อน โดยลักษณะเห็ดที่สุกจะมีสีน้ำตาลแกมสีพื้นของเห็ด ตัวดอกเห็ดจะเหี่ยวยุบเล็กน้อย และที่สำคัญจะส่งกลิ่นหอมแรง


2. ย่างหรือคั่วพริกขี้หนู กระเทียม และหัวหอมให้สุกด้วยไฟอ่อน ซึ่งอาจทำคู่กับการย่างเห็ดไคร่วมกันก็ได้หรือแยกเตาย่าง
3. ย่างแมงดานาให้สุกด้วยไฟอ่อน หากสุกตัวแมงดานาจะมีสีน้ำตาลหรือให้มีรอยไหม้เล็กน้อย โดยบริเวณปีกให้ย่างจนปีกไหม้กรียม เพราะส่วนนี้จะหุ้มส่วนด้านหลังของแมงดาไว้ ซึ่งอาจเตรียมไว้พร้อมกับส่วนอื่นหรือย่างเตรียมไว้พร้อมกัน
4. นำพริกขี้หนู หัวหอม และกระเทียมที่ย่างแล้วตำโขลกให้เนื้อแตกยุ่ยเล็กน้อย
5. จากนั้น ฉีกเนื้อทุกส่วนของตัวแมงดานาเป็นชิ้นๆขนาดเล็กใส่ลงครก ก่อนตำโขลกผสมกับพริกขี้หนู กระเทียม และหัวหอมอีกครั้ง
6. นำเห็ดไคมาฉีกเป็นชิ้นๆลงใส่ครก และตำโขลกร่วมกัน โดยตำโขลกประมาณ 1 นาที หรือ ตำโขลกให้เนื้อเห็ดไคแหลกพอประมาณ โดยให้ยังมองเห็นเห็ดไคเป็นชิ้นๆผสมในเนื้อซุปบ้าง
7. จากนั้น นำเครื่องปรุงลงผสม พร้อมกับใส่ผักหอม ผักชี และผักชีฝรั่ง พร้อมตำโขลกเบาๆ 3-5 ครั้ง หรืออาจใช้ช้อนคลุกผสมให้เข้ากันก็ได้ ก่อนตักใส่จานพร้อมรับประทาน

ข้อแนะนำเพิ่มเติม
1. การย่างส่วนประกอบทุกชนิด ให้ตั้งไฟด้วยถ่าน ไม่ควรใช้ไฟลุก และให้ตั้งไฟอ่อนสำหรับการย่าง
2. การตำโขลกเห็ดไค ไม่ควรตำให้แหลกละเอียดมาก เพราะหากแหลกละเอียดมาก เนื้อซุปจะรับประทานไม่อร่อยเท่ากับมีชิ้นของเห็ดไคร่วมด้วย

ผักรับประทานคู่ซุปเห็ดไค แล้วแต่ชื่นชอบ
1. แตงกวา แตงร้าน
2. ยอด และดอกผักแคบ้าน
3. มะเขือเปราะ
4. ถั่วฝักยาว
5. ผักกาดขาว
6. กะหล่ำปลี
7. ผักแว่น
8. ผักก้านจอง (ตาลปัตรฤาษี)
9. ผักพาย
10. ผักกระถิน
11. ผักบุ้งสด หรือ ผักบุ้งลวก

ขอบคุณภาพจาก
– Bloggang.com
– farmerspace.co
– ช่อง ก้อย สาวอิสาน หลานพ่อแล Youtube