ทองคำเปลว ชนิด ประโยชน์ และวิธีทำทองคำเปลว

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ทองคำเปลว หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากทองคำ มีลักษณะเป็นแผ่นทองคำบางๆปิดทับบนแผ่นกระดาษ นิยมใช้ประโยชน์นำมาปิดทับบนองค์พระพุทธรูป เครื่องมงคล วัตถุมงคล และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม และส่งเสริมความเป็นมงคลหรือความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งนั้น

ความบริสุทธิ์ของทองคำในทองคำเปลว [1]
คุณภาพของทองคำประเมินได้จากความบริสุทธิ์ และปริมาณการเจือปนของโลหะอื่นในทองคำ โดยกำหนดให้ใช้ของทองคำ 24 K (24กะรัต) ให้เป็นทองคำมาตรฐานสากลที่มีบริสุทธิ์มากที่สุด คือ ไม่มีสิ่งเจือปนในทองคำ หรือเป็นทองคำล้วนๆ 100% (ไม่ได้หมายถึงว่าไม่มีสิ่งเจือปนใดๆเลย)

ในประเทศ ไทยให้คำนิยาม และตั้งมาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำต่ำสุดที่ 96.5% หรือเมื่อเปรียบเทียบกับทองคำ บริสุทธิ์ในหน่วยกะรัต (24กะรัต) จะได้ความบริสุทธิ์ประมาณ 23.16 K กล่าวคือ ทองคำนั้นจะประกอบด้วยทองคำบริสุทธิ์อยู่ที่ 23.16 ส่วน และมีโลหะอื่นเจือปนอยู่ประมาณ 0.84 ส่วน นั่นเอง ทั้งนี้ ทองคำที่ถูกใช้ผลิตเป็นแผ่นทองคำเปลวมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ทองบริสุทธิ์ 96.5% และทองบริสุทธิ์ 99.9%

ชนิดทองคำเปลว
ผลิตภัณฑ์ทองคำเปลวที่ได้แบ่งเป็น 2 แบบ
1. ทองคำเปลวคัด หมายถึง แผ่นทองคำเปลวที่ได้จากกการตัดแผ่นทองคำลงบนกระดาษได้เต็มแผ่นในครั้งเดียว
2. ทองคำเปลวตัด แผ่นทองคำเปลวที่ได้จากกการนำแผ่นทองคำตั้งแต่ 2 แผ่น ขึ้นไปมาต่อเรียงกันให้เป็นแผ่นลงบนกระดาษ

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์แผ่นทองคำเปลวที่นำไปจำหน่ายจะถูกบรรจุลงในกระดาษซ้อนรวมกันเป็นมัด มัดละประมาณ 100 แผ่น

การใช้ประโยชน์แผ่นทองคำเปลว
ทองคำเปลวถูกนำมาใช้ประโยชน์หลักสำหรับการปิดทองทับองค์พระ วัตถุมงคล หรือสิ่งของที่เป็นมงคล หรือ สิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา หรือ ใช้ประดับเครื่องตกแต่งหรือยานพาหนะของพระมหากษัตริย์ อาทิ การปิดทองลูกนิมิต พระเครื่อง เรือพยุหยาตราทางชลมารค ผนังโบสถ์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสวยงาม ความศักดิ์สิทธิ์ และเกิดคุณค่าทางจิตใจทีเกิดขึ้นขณะทำการปิดทอง อาทิ เกิดสมาธิ และจิตใจสงบ และเกิดความสบายใจ เป็นต้น

วิธี และขั้นตอนการผลิตทองคำเปลว[2]
1. การเตรียมแผ่นทองคำที่รีดไว้แล้ว
ทองคำที่ใช้สำหรับการผลิตแผ่นทองคำเปลวนิยมนำทองคำที่หาซื้อได้ตามร้านทองทั่วไป ซึ่งนิยมใช้ทองคำบริสุทธิ์ที่ 96.5% และ99.99% แต่ที่ถูกใช้มากจะเป็นทองคำบริสุทธิ์ที่ 96.5% เพราะต้นทุนถูกที่สุด และมีความแตกต่างกับทองคำบริสุทธิ์ 99.99% น้อยมากด้วยตาเปล่า ทั้งนี้ พบว่า ทองคำบริสุทธิ์ที่ 96.5% จะถูกนำเข้ามาจากประเทศฮ่องกงเป็นส่วนใหญ่ ทองคำบริสุทธิ์ที่ 99.99% จะถูกนำเข้ามาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นส่วนใหญ่ โดยทองคำที่นำมาใช้จะอยู่ในรูปทองคำแท่ง ก่อนจะถูกรีดร้อนออกมาในรูปทองคำแผ่นที่มีลักษณะบางๆที่มีความหนาประมาณ 4-5 ไมครอน อีกครั้ง

2. การตัด และทุบแผ่นทองคำ
เมื่อได้ทองคำแผ่นที่ซื้อมาแล้ว จากนั้น จะนำแผ่นทองคำมาตัดเป็นชิ้นๆ ชิ้นละขนาด 1×1 เซนติเมตร แล้วนำชิ้นทองคำที่ได้มาจัดเรียงใส่กระดาษแก้ว (เป็นกระดาษแก้วที่ทนความร้อน) โดยนำแผ่นทองคำมาวางเรียงซ้อนกันจำนวนหลายแผ่นหรือหลายชั้น ทั้งนี้ การจัดวางแผ่นทองคำหรือการวางเรียงซ้อนกันจะต้องจัดเรียงให้แผ่นทองคำทุกแผ่นอยู่ในระนาบเดียวกันทั้งด้านกว้าง และด้านยาว จากนั้น นำแผ่นทองคำที่จัดเรียงแล้วมาใส่ซองหนังสัตว์หุ้มรัด (หนังวัวหรือชนิดอื่นๆ) เพื่อทำการทุบแผ่นทองคำต่อไป

3. การนำทองคำที่จัดเตรียมไว้ใส่กุบ (เตรียมสำหรับตีทุบ)
ขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนการนำแผ่นทองคำที่จัดเรียงไว้ในแผ่นกระดาษมาใส่ในซองหนังสัตว์หุ้มรัด (หนังวัวหรือชนิดอื่นๆ) จากนั้น นำแผ่นไม้ไผ่หรือแผ่นไม้อื่นๆมามาสอดด้านข้าง เพื่อป้องกันการเลื่อนของแผ่นทองคำ ก่อนนำวางลงแท่นเหล็กเพื่อตีทุบแผ่นทองคำ

4. การตีกุบ หรือ การตีทุบแผ่นทองคำให้ขยายตัว
การตีกุบหรือตีทุบแผ่นทองคำในหนังสัตว์จะใช้ค้อนทองเหลืองขนาดใหญ่ตีทุบ มีระยะเวลาในการตีทุบ หรือที่เรียกว่าการตีกุบ ประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้แผ่นทองคำในกุบขยายตัว และเกิดความบางมากที่สุด ทั้งนี้ การตีแผ่นทองคำในกุบจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการตีในฝัก (ขั้นตอนต่อไป) เพราะทองคำในกุบจะมีขนาดใหญ่กว่า ซึงต้องใช้เวลานานกว่าจะตีเป็นแผ่นได้ตามขนาด และที่สำคัญต้องใช้เวลานาน กว่าจะตีเป็นแผ่นให้ได้ขนาดความหนาบางที่ใกล้เคียงกันทั่วแผ่น ซึ่งขณะการตีทุบในกุบจะมีการกลับหน้าค้อนเป็นระยะ เพื่อให้มีความราบเรียบสม่ำเสมอกันทั่วแผ่น

5. การเปลี่ยนแผ่นทองคำจากกุบลงในฝัก
เมื่อทำการตีแผ่นทองคำในกุบจนได้ความบางในระดับหนึ่งแล้ว จากนั้น จะทำการเปลี่ยนแผ่นทองคำมาถ่ายใส่ฝักเพื่อตีทุบต่อให้บางมากขึ้น โดยกระดาษที่ใช้รองจะเป็นกระดาษชนิดเดียวกัน แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าที่ใช้ในตอนแรก คือที่ขนาด 15 x 15 เซนติเมตร เมื่อถ่ายลงกระดาษจนครบแล้วจึงนำค่อยนำใส่ห่อซองหนังเพื่อทุบต่อไป ทั้งนี้ ขณะถ่ายแผ่นทองคำลงฝักจะต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะแผ่นทองคำบาง อาจทำให้ฉีกขาดได้ง่าย

6. ตีทุบแผ่นทองคำในฝักให้บางจนได้ขนาด
เมื่อเปลี่ยนแผ่นทองคำลงในฝักแล้วเสร็จ จากนั้น เริ่มการตีทุบต่อเนื่อง ซึ่งใช้เวลาตีทุบอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง การตีทุบฝักนั้น จะต้องตีอย่างต่อเนื่อง และตีทุบให้ทั่วฝัก เพื่อให้แผ่นทองคำเกิดความร้อนได้ทั่วฝัก ช่วยให้แผ่นทองคำขยายตัว และบางลงได้ง่ายขณะทุบตี โดยในระหว่างนี้ จะเปลี่ยนการพักได้บ้าง 5-10 จากนั้น ให้รีบตีทุบอย่างต่อเนื่อง เพราะหากพักนานหรือพักปล่อยจะทำให้แผ่นทองคำเย็น ทำให้การตีทุบยากมากขึ้นและจะมีการกับหน้าฝัก และมุมฝักในทุกๆ 5 นาที ซึ่งแต่ละมุมฝักจะมีตัวเลขบ่งกำกับตำแหน่งช่วยให้ไม่สับสนว่าเป็นมุมใด และให้กับหน้าค้อนในทุกๆ 1 ชั่วโมง และเมื่อตีทุบจนได้เวลา และแผ่นทองคำได้ขนาด ค่อยนำแผ่นทองคำมาตัดใส่กระดาษพร้อมจำหน่าย

ขั้นตอนการตีในฝักถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด เพราะเป็นขั้นตอนที่จะทำให้แผ่นทองคำบางจนได้ขนาด การทำให้ได้ความบางนี้จะต้องใช้เวลาการตีทุบนาน และตีทุบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ควรพักหรือพักให้น้อยที่สุด ดังนั้น ผู้ตีทุบจะต้องมีความอดทนสูง รวมถึงต้องมีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญสูง เพราะต้องอาศัยทักษะกาลงน้ำหนักค้อน และการรู้จักตำแหน่งตีทุบ รวมถึงทักษะด้านอื่นพอสมควร ซึ่งมักเป็นผู้มีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ปี ขึ้นไป

สำหรับค้อนที่ใช้ในการตีทุบจะไม่ใช้ค้อนที่ทำจากเหล็ก เพราะเหล็กมีน้ำหนักมาก ทำให้เกิดความร้อนมาก และผิวหน้าสัมผัสมักเปลี่ยนแปลงไม่ราบเรียบ โดยค้อนที่ใช้จะต้องเป็นค้อนทองเหลือง เพราะน้ำหนักไม่มาก และผิวหน้าสัมผัสมีความราบเรียบสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความร้อนที่แผ่นทองคำพอเหมาะ และกระจายทั่วแผ่น

7. การตัดแผ่นทองคำลงกระดาษ
การตัดแผ่นทองคำลงกระดาษถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการผลิตทองคำเปลว โดยขนาดแผ่นทองคำเปลวที่ต้องตัดจะขึ้นอยู่กับขนาดที่ลูกค้ากำหนด อาจมีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ที่แตกต่างกันในแต่ละการใช้งาน

การตัดแผ่นทองคำ นิยมทำบนโต๊ะราบเรียบ โดยผู้ตัดจะนั่งที่เก้าอี้ในความสูงที่ระดับพอเหมาะกับโต๊ะ ทั้งนี้ ในห้องที่ทำการตัดแผ่นทองคำจะไม่มีการเปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างกว้างที่จะทำให้ลมพัดหรือมีความชื้นเข้ามาในห้อง เพราะแผ่นทองคำจะมีความบางมาก หากลมพัดจะปลิวได้ง่าย รวมถึงหากมีความชื้นมาก แผ่นทองคำจะติดกับกระดาษ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการตัดแผ่นทองคำ

เอกสารอ้างอิง
[1]ศิริลักษณ์ สาตรา. 2558. การหาความหนาและความบริสุทธิ์ของแผ่น-
ทองคำเปลวด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์แบบไม่ทำลาย.
[2] ผลกระทบการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภูมิปัญญาท้องถิ่น-
งานศิลปหัตถกรรมโลหะ การผลิตแผ่นทองคำเปลว-
ชุมชนบ้านตีทอง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร.

ขอบคุณภาพจาก
– amgoldleaf.com/
– Pantip.com
– ร้านอโยธยา ทองเปลว เว็บไซต์ www.ayothayagoldleaf.com/