ทิฎฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 ประการ ความหมาย และคุณประโยชน์

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ทิฎฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน หรือ ธรรมอันส่งเสริมประโยชน์สุขในเบื้องต้น

ทิฎฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 ประการ
1. อุฏฐานสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร
การถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร คือ การมีความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน หรือ ในหน้าที่การงานที่รับผิดชอบหรือปฏิบัติอยู่ โดยไม่มีความย่อท้อ ไม่ทอดทิ้งธุระ ไม่ปล่อยปละละเลยการงานของตนให้คั่งค้าง ด้วยการรู้จักใช้ความรู้ และปัญญา มาปฏิบัติ และปรับปรุงให้มีความก้าวหน้าหรือเพิ่มพูนขึ้น ทั้งนี้ ความรู้ และปัญญาที่ใช้พึงตั้งอยู่ในหลักความสุจริต

ผู้ที่มีขยันหมั่นเพียรย่อมหาทรัพย์ได้ ช่วยให้หลุดพ้นจากความลำบาก และทรัพย์นั้น ย่อมส่งเสริมอำนาจหรือบารมีได้ และย่อมส่งเสริมบุญกุศลได้ เมื่อหาทรัพย์ได้ ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า
“วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ”
ผู้ที่ล่วงทุกข์ได้ก็ด้วยความเพียร

“ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนัง”
ผู้ทำการเหมาะเจาะ ไม่ทอดทิ้งงาน มีขยันหมั่นเพียร ผู้นั้นย่อมหาทรัพย์ได้

ทั้งนี้ ทรัพย์ที่ได้มานั้นแบ่งได้เป็นทรัพย์ที่อุปโภค-บริโภคไม่ได้ อาทิ เงินทอง แก้วแหวน ที่ดิน และบริวาร เป็นต้น และทรัพย์ที่อุปโภค-บริโภคได้ อาทิ ข้าวปลาอาหาร และน้ำท่า เป็นต้น

2. อารักขสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษา
การถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ การรู้จักคุ้มครอง หรือ เก็บรักษาทรัพย์ของตนให้คงอยู่ มิให้ลดน้อยถอยลง มิให้อันตรธานสูญหาย และมิให้เสื่อมเสีย

การรักษาทรัพย์นั้น เป็นเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์ โดยใช้องค์ความรู้ และสติปัญญาในการจัดการทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการฝากทรัพย์ การเก็บทรัพย์ไว้กับตน การวางแผนการลงทุนเพื่อให้ได้กำไรโดยไม่ให้ขาดทุน การบริหารรายจ่ายให้สมดุลกับรายรับ รวมถึงการบริหารลูกน้องบริวารให้คงอยู่ เป็นต้น

3. กัลยาณมิตตตา หมายถึง การคบหาคนดีเป็นมิตร
การคบหาคนดีเป็นมิตร คือ การรู้จักคบหาหรือเลือกเสวนากับบุคคลที่เหมาะสม กล่าวคือ การรู้จักคบบัณฑิต และการไม่คบคนพาล โดยพึงรู้จักใช้หลักกัลยาณมิตร นั่นเอง

เมื่อตนมีทรัพย์ และรู้จักรักษาทรัพย์นั้นให้คงอยู่แล้ว ย่อมที่จะช่วยให้ตนมีความมั่นคงในทรัพย์นั้น แต่เบื้องต้นการที่จะหาทรัพย์มาได้นั้น ตนจำเป็นต้องทำงาน ต้องมีการคบค้าสมาคม เหตุนี้ เป็นปัจจัยสำคัญของการหาทรัพย์ และรักษาทรัพย์ไว้ กล่าวคือ การคบคนพาลมักพาลทรัพย์เราจนหมด ส่วนการคบบัณฑิต บัณฑิตมักช่วยเพิ่มพูนทรัพย์ ช่วยเพิ่มพูนความสุข ความเจริญในชีวิต และการงาน เพราะบัณฑิต มักเป็นผู้ประกอบด้วยหลักวิชาการ และหลักธรรม (บัณฑิต หมายถึง ผู้มีความรู้ และมีคุณธรรม)

4. สมชีวิตา หมายถึง การมีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม หรือ พอประมาณ
การมีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม คือ การรู้จักพอประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์ โดยใช้จ่ายอย่างเหมาะสมตามความจำเป็น และพอประมาณกับกำลังทรัพย์ของตน อาทิ พอประมาณในการลงทุน พอประมาณในการบริจาค พอประมาณในการใช้จ่าย เป็นต้น หรือที่เรียกว่า การประหยัด นั่นเอง

สรุปสาระสำคัญทิฎฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 ประการ
ทิฎฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม จัดเป็นธรรมสำหรับคฤหัสถ์เพื่อให้เกิดความสุขเบื้องต้นในการดำรงชีวิต อันเริ่มด้วยความหมั่นเพียรในหน้าที่การงานเพื่อเพิ่มพูนทรัพย์ให้มั่งคั่ง (อุฏฐานสัมปทา) พร้อมกับให้รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้นั้นให้คงอยู่ไม่เสื่อมหาย (อารักขสัมปทา) ร่วมกับรู้จักคบมิตรที่เป็นบัณฑิตเพื่อส่งเสริมให้ทรัพย์คงอยู่หรือเพิ่มพูนให้มากขึ้น (กัลยาณมิตตตา) และสุดท้ายจะต้องรู้จักการพอประมาณ หรือ การอยู่อย่างเหมาะสมในตน (สมชีวิตา)

คุณประโยชน์ทิฎฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม
1. มีทรัพย์ มีความมั่งคั่ง มีความอุดมสมบูรณ์ มีบริวาร และมีความเจริญก้าวหน้าในการงาน สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นได้เพราะมีความหมั่นเพียร นั่นคือ อุฏฐานสัมปทา
2. มีความมั่นคงในทรัพย์สิน และบริวาร เพราะรู้จักรักษาซึ่งทรัพย์เหล่านั้นทั้งหลายให้คงอยู่ ไม่ห้ลดน้อยถอยลง ไม่ให้ดับหาย (ทรัพย์สิน) หรือ หนีจากไป (บริวาร) นั่นคือ อารักขสัมปทา
3. การมีมิตรสหายที่รู้จักส่งเสริม เกื้อกูลความเจริญ และความเป็นกุศล อันเป็นผลมาจากการรู้จักคบมิตรที่เป็นบัณฑิตผู้พรั่งพร้อมด้วยความรู้ และคุณธรรม นั่นคือ กัลยาณมิตตตา
4. มีความสุข ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เพราะตนเป็นผู้ยินดีกับสิ่งที่ตนมีอยู่ หรือ อยู่อย่างเหมาะสม พอประมาณนั่นเอง สิ่งเหล่านี้ เป็นผลมาจากการถึงพร้อมด้วยการอยู่อย่างเหมาะสม นั่นคือ สมชีวิตา