ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal Tube) ขั้นตอนการใส่ และเมื่อไรจะถอดท่อออก

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal Tube) คือ ท่อที่ใช้สอดเข้าทางปากหรือจมูก เพื่อเป็นทางผ่านของแก๊สเข้าและออกจากปอด ในบทความนี้จะกล่าวถึงท่อช่วยหายใจที่ใส่ผ่านทางปาก เข้าไปยังหลอดลมของผู้ป่วยเป็นหลัก (endotracheal tube, ETT) ซึ่งเป็นทางเลือกสำคัญในการบำบัดผู้ป่วยด้วยออกซิเจน (Oxygen therapy)

การบำบัดด้วยออกซิเจนสามารถทำได้หลายวิธี ดังที่พบได้ทั่วไป คือ การให้ออกซิเจนผ่านทางสายแบบผ่านจมูก (Nasal cannula) หรือ แบบสวมหน้ากากครอบปากและจมูก (Oxygen mask) แต่วิธีเบื้องต้นนี้จะพ่นแก๊สออกซิเจนออกมา โดยผู้ป่วยต้องทำการออกแรงสูดหายใจเข้าไปด้วยตนเอง (Passive delivery) ความเข้มข้นของออกซิเจนที่ได้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการหายใจของผู้ป่วยเอง ทำให้อาจได้รับออกซิเจนในระดับที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ[1]

แก๊สออกซิเจน คือ ยาชนิดหนึ่ง ซึ่งหากใช้รักษาในระดับความเข้มข้นที่น้อยเกินไป อาจทำให้อาการทรุดลงจนระบบหายใจล้มเหลว หรือถ้าหากได้รับมากเกินไปก็อาจเป็นพิษได้เช่นกัน ดังนั้น การเลือกใช้วิธีการให้ออกซิเจนที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด

การใส่ท่อช่วยหายใจเป็นการให้ออกซิเจน โดยไม่ต้องใช้การออกแรงของผู้ป่วยหรือใช้น้อย (Active delivery) มีขั้นตอนการใช้ที่ซับซ้อนกว่า ให้ความเข้มข้นของแก๊สออกซิเจนได้มากกว่า ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยท่อช่วยหายใจจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนหลอดลมของผู้ป่วย เพื่อให้อากาศสามารถไหลเข้าออกจากปอดได้โดยสะดวก ดังนั้น การมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างทางเดินหายใจพื้นฐาน จะทำให้ทราบถึงหน้าที่, ประโยชน์และสามารถสังเกตภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการใส่ท่อช่วยหายใจได้

ชนิดของท่อช่วยหายใจ
อุปกรณ์เปิดทางเดินหายใจแบ่งได้เป็นหลายประเภท เช่น ท่อเปิดทางเดินหายใจทางจมูก (Nasal / Nasopharyngeal airway), ท่อเปิดทางเดินหายใจทางปาก (Oral / Oropharyngeal airway), ท่อช่วยหายใจแบบครอบกล่องเสียง (Laryngeal mask airway, LMA), ท่อเรืองแสงขณะใส่ (Lightwand), King laryngeal tube (KLT), Combitube[2] ในที่นี้ขอกล่าวถึงท่อช่วยหายใจที่ใส่เข้าหลอดลมผ่านทางปากเป็นหลัก (Endotracheal tube, ETT) สามารถแบ่งได้หลายชนิดตามลักษณะของการใช้งาน[3] ดังนี้
1. ท่อช่วยหายใจมาตรฐาน เป็นแบบมีช่องเดียว (Standard single lumen ETT)
2. ท่อที่มีรูปร่างโค้งงอตามใบหน้า หรือเรียกว่า ท่อ Ring-Adair-Elwyn (RAE) ซึ่งมีทั้งชนิดที่ใส่ทางจมูก และทางปาก เหมาะสําหรับการผ่าตัดบริเวณหน้าหรือในช่องปาก
3. ท่อที่มีขดลวดอยู่ภายใน (Spiral tube, Armored tube, Reinforced tube หรือ Anode tube) ทําให้พับงอได้โดยไม่ทําให้ท่อตีบหรือถูกกดเบียดจากภายนอก เหมาะสําหรับการผ่าตัดท่าคว่ําหรือท่านั่งที่ต้องมีการก้มคอมาก
4. ท่อโลหะ (Metallic tube) เหมาะสําหรับการผ่าตัดที่ใช้แสงเลเซอร์ บริเวณทางเดินหายใจเพราะช่วยป้องกันไม่ให้ท่อช่วยหายใจติดไฟได้

ท่อช่วยหายใจชนิดใส่หลอดลม (Endotracheal tube, ETT) และส่วนประกอบ
ท่อช่วยหายใจชนิดใส่หลอดลม (ETT) เป็นชนิดมาตรฐานที่ใช้ในผู้ใหญ่วัสดุหลักที่ใช้มี 2 ชนิดได้แก่ ท่อโพลีไวนีลคลอไรด์หรือพีวีซี (Polyvinyl chloride/ PVC tube) เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และท่อยางแดง (Red rubber tube) สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ปัจจุบันนิยมใช้แบบท่อพีวีซี เพราะเป็นท่อใส สามารถมองเห็นสารคัดหลั่งที่อยู่ภายในท่อได้ชัดเจน และสังเกตไอน้ำจากลมหายใจได้อีกด้วย โดยมีส่วนประกอบ ดังนี้
1. ข้อต่อช่วยหายใจ (Endotracheal tube connector) เป็นข้อต่อที่อยู่ปลายด้านบนสุดของท่อ มีขนาดสากลคือ 15 มม.เป็นส่วนที่ใช้เชื่อมต่อกับเครื่องช่วยหายใจหรือถุงบีบอากาศ (Bag-mask ventilation, BMV หรือ AMBU bag)
2. กระเปาะหรือคัฟ (Cuff) เป็นส่วนที่จะมีการใส่ลมเข้าไปให้พองตัวออกเพื่อให้ท่อช่วยหายใจแนบสนิทกับหลอดลม โดยปิดช่องว่างระหว่างขอบนอกของท่อช่วยหายใจกับขอบในของหลอดลมมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ป้องกันการสำลักและป้องกันไม่ให้ลมที่ช่วยหายใจรั่วออก ควรใส่ลมตามปริมาตรที่เขียนกำกับไว้ที่ท่อช่วยหายใจเพราะถ้าใส่ลมน้อยเกินไป จะทำให้ท่อเลื่อนหลุดจากตำแหน่งที่ต้องการ หรือถ้าใส่ลมมากเกินไปจะทำให้หลอดลมบาดเจ็บ เกิดเนื้อตาย หรือกล่องเสียงทำงานผิดปกติจากการกดทับเส้นประสาท (Recurrent laryngeal nerve palsy)ได้
3. กระเปาะนำ (Pilot balloon) ใช้เป็นตัวนำการพองตัวของคัฟ โดยส่งลมผ่านทางท่อ (Inflating tube) ที่เชื่อมต่อกับคัฟ ภายในมีลิ้น (One-way valve) ปิดป้องกันไม่ให้ลมไหลออก สามารถใช้เป็นตัวแทน ในการประเมินปริมาตรลมในคัฟได้เบื้องต้น
4. ขีดบอกตำแหน่งที่เหมาะสมของเส้นเสียง (Suggested vocal cords Marker) โดยทั่วไปมี2 ขีด ซึ่งแนะนำให้ใส่โดยให้เส้นเสียงอยู่ระหว่าง 2 ขีดนี้
5. ปลายท่อด้านผู้ป่วย (Distal end) เป็นปลายท่อช่วยหายใจด้านที่สอดเข้าไปในหลอดลม มีลักษณะเป็นปลายเปิดตัดเฉียง (Bevel tip) เพื่อให้ลมผ่านได้ดีขึ้น
6. รูเปิดด้านข้าง (Murphy’s eye) อยู่บริเวณปลายท่อด้านผู้ป่วย และอยู่ฝั่งตรงข้ามกับด้านตัดเฉียง มีประโยชน์ในกรณีที่เกิดการอุดตันปลายท่อจากสารคัดหลั่ง หรือเกิดจากการอุดตันของหลอดลมเอง
7. เส้นทึบแสง (Radiopaque line) เป็นเส้นที่ทำให้มองเห็นท่อช่วยหายใจได้ในภาพถ่ายรังสีทรวงอก (Chest x-ray film) ใช้บอกตำแหน่งและความลึกของท่อ
8. ขีดบอกความลึก (Depth marking) เพื่อบอกความลึกของท่อจากปลายท่อจนถึงฟันหน้า

ขนาดของท่อช่วยหายใจ
ท่อช่วยหายใจ(ETT) ใช้บอกขนาดตามเส้นผ่านศูนย์กลางภายในของท่อ (Internal diameter, ID) การเลือกขนาดขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ความผิดปกติของทางเดินหายใจ, สาเหตุที่ทำให้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ,เพศ, อายุซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล[4]

การเลือกขนาดท่อช่วยหายใจมีความสำคัญอย่างมาก เพราะถ้าเลือกท่อช่วยหายใจขนาดเล็กเกินไป จะเพิ่มแรงต้านในทางเดินหายใจ และทำให้ผู้ป่วยต้องออกแรงหายใจเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีที่เลือกท่อช่วยหายใจใหญ่เกินไป จะทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล่องเสียงและเยื่อบุหลอดลมได้ และทำให้เกิดการบาดเจ็บได้มากกว่าท่อขนาดเล็ก[5]

ขนาดที่แนะนำในผู้ใหญ่คือ เพศหญิงใช้ท่อขนาด 7.0-7.5 มิลลิเมตร และเพศชายใช้ท่อขนาด 7.5-8.0 มิลลิเมตร แต่ทั้งนี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์เป็นหลัก

ข้อบ่งชี้ในการใช้ท่อช่วยหายใจ
การใส่ท่อช่วยหายใจมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องมีการประเมินความยากในการใส่ท่อช่วยหายใจ, เตรียมอุปกรณ์การใส่ท่อ, เตรียมท่าทางของผู้ป่วย ที่สำคัญที่สุดคือต้องพิจารณาถึงข้อบ่งชี้อย่างรอบคอบเพื่อให้ทราบถึงประโยชน์และโทษที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยซึ่งแบ่งข้อบ่งชี้ในการใส่ท่อช่วยหายใจ ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้ดังนี้
1. เพื่อแก้ไขภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxemia) โดยเพิ่มการแลกเปลี่ยนแก๊สบริเวณถุงลมในปอด
– ส่วนใหญ่จะต่อท่อช่วยหายใจ (ETT) เข้ากับเครื่องช่วยหายใจ (Mechanical ventilation) เพื่อให้เครื่องส่งแก๊สออกซิเจนแรงดันบวกเข้าสู่ปอด (Positive pressure ventilation, PPV)
– ใช้ในกรณีผู้ป่วยหยุดหายใจ, หายใจเองได้แต่ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ, ปอดอักเสบอย่างรุนแรง, ภาวะกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง หรือใช้ในการดมยาสลบเพื่อทำการผ่าตัด
2. เพื่อแก้ไขภาวะทางเดินหายใจอุดตัน
– ท่อช่วยหายใจจะช่วยเปิดทางเดินหายใจ ทำให้อากาศสามารถผ่านเข้าออกได้
– ใช้ในกรณีที่เกิดการกดเบียดหลอดลมจากภายในร่างกาย เช่นมีก้อนเลือดออก, ก้อนเนื้องอก หรือเกิดการกดเบียดจากภายนอก เช่น มีวัตถุกดทับบริเวณหน้าและลำคอของผู้ป่วย
3. เพื่อป้องกันการสำลัก
– ในสภาวะปกติ ร่างกายจะมีกลไกป้องกันการสำลักอาหารสู่ปอด (Protective airway reflexes ได้แก่ carina reflex และgag reflex) เป็นกลไกตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นทางเดินหายใจด้วยการไอหรือการกลืน เป็นวิธีกำจัดสิ่งแปลกปลอม (เช่น น้ำลาย, น้ำย่อย, อาหาร หรือเลือด) ออกจากทางเดินหายใจ เพื่อทำให้ทางเดินหายใจเปิดโล่งอยู่เสมอ
– ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว หรือระดับความรู้สึกตัวลดลงที่จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียกลไกดังกล่าว
4. เพื่อป้องกันทางเดินหายใจในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มแย่ลง[6]

ข้อห้ามใช้
1. มีการบาดเจ็บบริเวณกระดูกต้นคอ (Cervical spine injury)
2. สงสัยว่ามีการแตกของฐานกะโหลก (Basal skull fracture)
3. มีการบาดเจ็บอย่างรุนแรงบริเวณใบหน้า (Severe maxillofacial injury)
4. ภาวะที่ทำให้เลือดไหลไม่หยุด (Bleeding disorder)
5. มีก้อน หรือหนองบริเวณโพรงหลังจมูก

ขั้นตอนการใส่ท่อช่วยหายใจ
บทความนี้จะกล่าวถึง การใส่ท่อช่วยหายใจในหลอดลม (Endotracheal intubation) ด้วยการใช้อุปกรณ์เปิดกล่องเสียงแบบมาตรฐาน (Direct laryngoscopy, DL)[7] ประกอบด้วย

1. ขั้นเตรียมพร้อมก่อนใส่
1.1 ประเมินความยากในการใส่ท่อช่วยหายใจ โดยพิจารณาจากลักษณะต่างๆ ที่มีผลต่อทางเดินหายใจ เช่น มีก้อนเนื้อในช่องปากหรือกล่องเสียง, มีอุบัติเหตุบริเวณใบหน้า, มีความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้ลิ้นโต (Congenital anomalies), ผู้ป่วยอ้วนมาก, ผู้ป่วยที่มีฟันยื่น หรือ กระดูกต้นคอผิดปกติ เป็นต้น โดยใช้ประเมินร่วมกับเกณฑ์มาตรฐาน (Mallampati classification, Thyromental distance)
1.2 ให้ออกซิเจนผู้ป่วย ผ่านทางหน้ากากออกซิเจนร่วมกับถุงบีบอากาศ (BMV)
1.3 ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วย สำหรับการช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน
1.4 เตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยใส่ท่อช่วยหายใจต่างๆ
1.4 เตรียมท่อช่วยหายใจ โดยเลือกขนาดที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และตรวจสอบความสมบูรณ์ของคัฟ และใส่แกนนำทาง (Stylet) เข้าไปในแกนกลางของท่อช่วยหายใจ พร้อมกับใส่สารหล่อลื่นบริเวณปลายท่อ
1.6 เตรียมยาสำหรับทำให้ผู้ป่วยสลบหรือยาหย่อนกล้ามเนื้อไว้เผื่อกรณีจำเป็นต้องทำให้ผู้ป่วยสงบ
1.7 เตรียมท่าทางผู้ป่วยให้เหมาะสมสำหรับการใส่ท่อช่วยหายใจ

2. ขั้นตอนการใส่ท่อช่วยหายใจ
2.1 จัดให้ศีรษะและลำคอผู้ป่วย อยู่ในท่าทางสำหรับพร้อมใส่ท่อช่วยหายใจ (Sniffing position)
2.2 เปิดปากผู้ป่วย เพื่อใส่อุปกรณ์เปิดกล่องเสียงแบบมาตรฐาน (DL)
2.3 ใส่ท่อช่วยหายใจให้ได้ความลึกในระดับที่ต้องการ
2.4 ดึงแกนนำทาง (Stylet) ออกทันที
2.5 ใส่ลมผ่านทางกระเปาะนำ (Pilot balloon) เพื่อให้คัฟพองตัว
2.6 ตรวจสอบตำแหน่งของท่อช่วยหายใจด้วยหูฟัง
2.7 ติดท่อช่วยหายใจกับตัวผู้ป่วย

3. ขั้นตอนหลังใส่ท่อช่วยหายใจ
3.1 ยืนยันตำแหน่งของปลายท่อช่วยหายใจด้วยภาพถ่ายรังสีทรวงอก (Chest x-ray film), เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว หรือเครื่องวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจ (Capnography)
3.2 ดูดทำความสะอาดสารคัดหลั่งที่อยู่ในท่อช่วยหายใจ
3.3 เชื่อมต่อท่อช่วยหายใจกับเครื่องช่วยหายใจ

ภาวะแทรกซ้อน [8]
1. เกิดขึ้นระหว่างการใส่ท่อช่วยหายใจ
– การใส่ท่อเข้าหลอดอาหาร ซึ่งวินิจฉัยได้จากการฟังไม่ได้ยินเสียงลมหายใจบริเวณปอด, ไม่เห็นการเคลื่อนไหวของทรวงอกหรือเห็นท้องของผู้ป่วยโป่งขึ้น
– ใส่ท่อช่วยหายใจลึกเกินไปจนปลายท่อเข้าไปในหลอดลมข้างใดข้างหนึ่ง จะฟังได้ยินเสียงลมหายใจเข้าเพียงข้างเดียว เวลาบีบลมเข้าปอดจะเห็นทรวงอกโป่งเพียงข้างเดียว ส่วนทรวงอกอีกข้างจะขยายน้อยหรือไม่ขยายเลย
– ใส่ท่อช่วยหายใจตื้นเกินไป ทำให้คัฟติดค้างบริเวณกล่องเสียง อาจทำให้มีการฉีกขาดของเส้นเสียงหรือเส้นเสียงบวมได้
– ทางเดินหายใจบาดเจ็บ เช่นฟันหัก, ลิ้นหรือเหงือกเป็นแผลถลอก
– เกิดการสำลัก (Pulmonary aspiration) หากผู้ป่วยยังมีอาหารอยู่ในกระเพาะอาหาร
– ภาวะกล่องเสียงหดเกร็ง (Laryngospasm) เป็นกลไกตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นในทางเดินหายใจ ทำให้มีการบีบ- – เกร็งของกล้ามเนื้อกล่องเสียงและสายเสียงปิดเกร็งทำให้อากาศผ่านเข้าปอดไม่ได้
– หลอดลมหดเกร็ง (Bronchospasm) เกิดจากการกระตุ้นตัวรับสัญญาณประสาทที่หลอดลม ทำให้หลอดลมหดเกร็ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดหรือถุงลมโป่งพอง

2. เกิดขึ้นขณะมีท่อช่วยหายใจอยู่ในหลอดลม
– เกิดการอุดตันทางเดินหายใจ เช่น ท่อหักงอ, เสมหะหรือเลือดอุดตันบริเวณปลายท่อ
– เยื่อหุ้มปอดฉีกขาด (Pneumothorax)
– ติดเชื้อในปอดจากการใส่ท่อช่วยหายใจ (Ventilator-associated pneumonia, VAP)
– ระบบไหลเวียนโลหิตไม่คงที่ (Hemodynamic instability) จากการที่ผู้ป่วยมีลมค้างในช่องปอดมาก ทำให้ความดันในช่องปอดเพิ่มขึ้น เลือดดำจึงไหลกลับสู่หัวใจลดลง (Venous return) เป็นผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง

3. เกิดขึ้นหลังจากถอดท่อช่วยหายใจ
– ทางเดินหายใจบวม จนเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ
– เกิดภาวะขาดเลือดหรือเนื้อตาย บริเวณที่ถูกคัฟกดทับเป็นเวลานาน จนทำให้หลอดลมตีบตัน (Tracheal stenosis)
– ภาวะกล่องเสียงหดเกร็ง (Laryngospasm)
– สำลักขณะเอาท่อช่วยหายใจออก
– เสียงแหบ, เจ็บคอ

การถอดท่อช่วยหายใจ
พิจารณาถอดท่อช่วยหายใจเมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดีแล้ว โดยประเมินได้จาก
1. มีระดับออกซิเจนในเลือดปกติ
2. ระบบการไหลเวียนโลหิตปกติ
3. ผู้ป่วยหายใจหายใจสม่ำเสมอ,มีอัตราการหายใจปกติ,มีปริมาตรลมที่ได้จากการหายใจเข้าออกเพียงพอ
กลไกตอบสนองอัตโนมัติของหลอดลมกลับมาอยู่ในภาวะปกติ(Carina reflexและgag reflex) เช่น เมื่อดูดเสมหะ4. ในท่อแล้วผู้ป่วยเกิดการไอ และสามารถขย้อนได้
5. กล้ามเนื้อมีกำลังเพียงพอประเมินได้จากการที่ผู้ป่วยสามารถยกศีรษะค้างไว้ได้นานกว่า 5 วินาที
6. ผู้ป่วยฟื้นจากยาสลบจนสามารถถาม, ตอบและทำตามสั่งได้

ประเด็นทางจริยธรรม
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ เรื่องการใส่หรือถอดท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยซึ่งสิทธิการตายตามธรรมชาติถือเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนและนับเป็นการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งมีบทบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

ผู้ป่วยมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงคจ์ะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ซึ่งเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง ซึ่งเขียนไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 [9], [10]

แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมิได้แสดงเจตจำนงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แพทย์จะไม่สามารถยุติการรักษาได้ แม้จะเป็นไปตามความประสงค์ของญาติ ปัญหานี้ยังคงก่อให้เกิดข้อจำกัดในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และส่งผลต่อสภาพจิตใจของญาติผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ซึ่งคงต้องมีการประชุมหารือร่วมกันจากหลายภาคส่วนต่อไป [11]

เอกสารอ้างอิง
[1] Kovacs G. LJA. Airway management in emergencies. Oxygen delivery devices ang bag-mask ventilation. New York: McGraw-Hill; 2008. p. 53-62.
[2] Roberts and Hedges’ clinical procedures in emergency medicine.
and acute care. In: Roberts J. R. CCb, Thomsen T. . editor. Respiratory procedures. 7 ed. Philadelphia: Elsevier. p. 39-61.
[3] เอื้อกฤดาธิการธ. การใส่ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal intubation)2545.
[4] ยงยุคันธรก. การใส่ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal intubation). Available from: https://meded.psu.ac.th/binlaApp/class05/388_531/Endotracheal_intubation/index2.html.
[5] Farrow S. fC, Soni N. . Size matters: choosing the right tracheal tube. Anaesthesia. 2012;67[8].
[6] Kovacs G. LJA. Airway management in emergencies. Definite airway management: When is it time? New York: McGraw-Hill; 2008. p. 5-10.
[7] Kovacs G. LJA. Airway management in emergencies. Tracheal intubation by direct laryngoscopy. New York: McGraw-Hill; 2008. p. 33-9.
[8] เอี่ยมอรุณอ. Airway management2551. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/anesth/undergrad/Airway%20management%20%E0%B8%AD.%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B2%20.pdf.
[9] พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550.
[10] ตระกูลรุ่งส. สิทธิมนุษยชนในทางการแพทย์. เอกสารวิชาการส่วนบุคคล [Internet]2556.
[11] ชำแหละปม’ถอด-ไม่ถอด’ เครื่องช่วยหายใจการตัดสินใจบนเส้นด้ายของชีวิต? [press release] 2564.