ปลากระสูบขีด ปลามีก้าง แหล่งที่พบ และการใช้ประโยชน์

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ปลากระสูบขีด (Transverse-Bar Barb) เป็นปลาท้องถิ่นของไทย แถบประเทศเอเชีย พบได้มากในแหล่งน้ำนิ่งที่สะอาด นิยมใช้ประกอบอาหารจำพวกปิ้ง ย่าง รวมถึงนิยมแปรรูปเป็นปลาส้ม และปลาร้า

อนุกรมวิธาน [1] อ้างถึง Smith (1965), [2]
• อาณาจักร (kingdom): Animalia
• ไฟลัม (phylum): Chordata
• ชั้น (class): Pisces
• ชั้นย่อย (Subclass): Teleostomi
• อันดับ (order): Cypriniformes
• วงศ์ (family): Cyprinidae (วงศ์เดียวกับปลาตะเพียน)
• สกุล (genus): Hampala
• ชนิด (species): macrolepidota

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hampala macrolepidota Van Hasselt
• ชื่อสามัญ : Transverse-Bar Barb
• ชื่อท้องถิ่น : ปลากระสูบขีด

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
ปลากระสูบขีด เป็นพบที่พบได้ในแถบประเทศเอเชีย โดยมีรายงานพบปลาชนิดนี้ที่แถบเกาะสุมาตรา และบอร์เนียว โดยพบได้ตั้งแต่จีน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เรื่อยมาที่มาเลเซียจนถึงอินโดนีเชีย

ในประเทศไทยพบปลากระสูบขีดได้ทุกภาค ทั้งในลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี มูล ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เรื่อยมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และเรื่อยไปจนถึงลุ่มน้ำอื่นๆ ทั้งในภาคกลาง ตะวันออก และใต้ โดยพบได้ทั้งแม่แม่น้ำสายหลัก สายย่อย บ่อหรือสระเก็บน้ำ และอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ โดยชอบอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่สะอาด มีกรวด หินบริเวณพื้นล่าง หากแหล่งน้ำขุ่นมักไม่พบปลาชนิดนี้

ลักษณะปลากระสูบขีด
ปลาประกระสูบขีดมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากปลากระสูบชนิดอื่น คือ บริเวณกลางลำตัว ตั้งแต่ต้นครีบหลังไล่ต่ำลงมาจนถึงครีบท้องจะมีเกล็ดเป็นแถบสีดำเรื่อๆพาดขวางลงมา หรือที่เรียกว่า ขีด (หากเป็นจุด เรียก กระสูบจุด หากไม่มีแถบดำ เรียก กระสูบ) หากเป็นปลาขนาดเล็กจะมีแถบดำ 2 แถบ คือที่กลางลำตัว และโคนหาง แต่เมื่อโตเต็มวัยแล้วแถบโคนหางจะหายไป เหลือเฉพาะแถบบริเวณกลางลำตัว

ปลากระสูบขีดมีลำตัวค่อนข้างยาว และแบนเล็กน้อย ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดใหญ่ เกล็ดมีสีเงินเหลือบเหลืองเล็กน้อย และมีแถบสีดำพลาดขวางบริเวณกลางลำตัว โดยส่วนหัวมีขนาดใหญ่ และค่อนข้างยาว มีปากอ้าได้กว้าง มีจะงอยปากแหลม และมีหนวดสั้น 1 คู่ อยู่ตรงมุมปาก ตา 2 ข้าง ขอบตาด้านนอกมีสีเหลืองอมขาว ดวงตาด้านในมีสีดำ แถบสันหลังค่อนข้างมีสีคล้ำ หน้าท้องมีสีจางค่อนข้างขาว ส่วนครีบจะประกอบด้วยครีบอก 1 คู่ ด้านซ้าย-ขวา มีสีออกเหลือง ครีบหลัง 1 อัน ครีบท้อง 1 คู่ มีสีเหลืองเหลืบส้ม คีบก้น 1 อัน มีสีส้ม และครีบหาง 1 อัน แถบด้านบน และด้านล่างมีสีคล้ำ ตรงกลางมีสีส้มเหลือบเหลือง โดยครีบหางเป็นแฉกเว้าเป็นสามเหลี่ยม และครีบหลังเป็นแฉกเว้าเล็กน้อย

ลักษณะอุปนิสัย และการกินอาหาร
ปลากระสูบขีด เป็นปลากินเนื้อ มีนิสัยดุร้าย ชอบไล่จับกินปลาขนาดเล็ก หรือ ลูกปลาขนาดเล็กกินเป็นอาหาร รวมถึงแมลงน้ำชนิดต่างๆ เช่น ปลาซิว กุ้ง ปู ลูกอ๊อด และลูกปลาขนาดเล็กชนิดอื่นๆ

การสืบพันธุ์ และวางไข่ [3]
ปลากระสูบขีดตัวเต็มวัยจะเริ่มสืบพันธุ์ และวางไข่ในขนาดลำตัวยาวประมาณ 22 เซนติเมตร ขึ้นไป เป็นปลาที่สืบพันธุ์ และวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่จะแตกต่างกันตามสภาพแหล่งน้ำ และช่วงฤดูฝนในแต่ละท้องที่ แต่ทั่วไปจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เรื่อยไปจนถึงสิ้นสุดฤดูฝน ทั้งนี้ ความดกของไข่ในแม่ปลา 1 ตัว จะมีไข่ประมาณ 13,325 – 33,052 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลา

ประโยชน์ปลากระสูบขีด
1. ปลากระสูบขีดใช้ประกอบอาหาร ทั้งเมนูต้มยำ แกง ย่าง ทอด หรือเมนูอื่นๆ
2. แปรรูปเป็นปลาส้ม ปลาร้า ปลาตากแห้ง

สถานะการตลาด
ปลากระสูบขีด เป็นปลาที่มีราคาค่อนข้างถูก เพราะเป็นปลามีก้างมาก มักพบจำหน่ายได้เฉพาะตลาดนัดหรือตลาดสดใกล้กับอ่างเก็บน้ำต่างๆ ราคาจำหน่ายอยู่กิโลกรัมละ 40-80 บาท ขึ้นอยู่กับฤดูกาล

เอกสารอ้างอิง
[1] จุลทรรศน์ คีรีแลง. 2555. ชีวประวัติบางประการของปลากระสูบขีดใน-
เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่.
[2] กัญญาณัฐ สุนทรประสิทธิ์. 2544. การวิเคราะห์ศักย์การผลิตเพื่อการจัดการทรัพยากร-
สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญในอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี
[3] เกสศิณีย์ แท่นนิล. 2544. การจัดการทรัพยากรประมงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ-
ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฏร์ธานี.