ปลาสร้อยนกเขา ปลาลายประคล้ายนกเขา แหล่งอาศัย และการใช้ประโยชน์

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ปลาสร้อยนกเขา (Hard-lipped barb) หรือ ปลาสร้อยนกเขาน้ำจืด จัดเป็นปลาที่พบได้มาก และพบได้ทั่วไปในทุกภาค ทั้งในบ่อ สระ หรือ อ่างเก็บน้ำ และในแม่น้ำ นิยมใช้แปรรูปเป็นปลาส้ม ปลาร้า ปลาแห้ง รวมถึงใช้ทำอาหารง่ายๆหลายเมนู อาทิ ปิ้ง ย่าง ต้ม และทอด เป็นต้น

ปลาสร้อยนกเขา เป็นชื่อที่ถูกตั้งให้เพราะลายลำตัวคล้ายกับลายประของนกเขา กล่าวคือ บริเวณแผ่นเกล็ดจะมีแถบประสีดำเรียงเป็นแนวยาวตั้งแต่กลางลำตัวตั้งแต่บริเวณท้องไปถึงโคนหาง 4-6 แถว แลดูคล้ายลายลำตัวของนกเขา

อนุกรมวิธาน [1] , [3]
• อาณาจักร (kingdom): Animalia
• ไฟลัม (phylum): Vertebrata
• ไฟลัมย่อย (Subphylum): Craniata
• ชั้น (class): Teleostomi
• ชั้นย่อย (Subclass): Actinopterygii
• อันดับ (order): Cypriniformes
• อันดับย่อย (Suborder): Cyprinoidei
• วงศ์ (family): Cyprinidae (วงศ์เดียวกันกับปลาตะเพียน)
• สกุล (genus): Osteochilus
• ชนิด (species): hasselti

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Osteochilus hasselti
• ชื่อสามัญ : Hard-lipped barb
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ปลาสร้อยนกเขา
ภาคอีสาน
– ปลาอีไท
– ปลานกเขา
ภาคใต้
– ปลาขี้ขม

แหล่งอาศัย และการแพร่กระจาย [3]
ปลาสร้อยนกเขา เป็นปลาที่พบได้มากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศพม่า ไล่มาที่ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเรื่อยไปจนถึงเกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว โดยประเทศไทยพบได้ทั้งในแม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำในทุกภาค

ปลาสร้อยนกเขา เป็นปลาที่ชอบอาศัย และดำรงชีพในแหล่งน้ำนิ่ง หรือ น้ำไหลที่สะอาด โดยเฉพาะบริเวณน้ำตื้นที่มีพรรณไม้น้ำขึ้นหนาแน่น โดยจะพบลูกปลาได้มากบริเวณน้ำไหล ทั้งในลำธาร และบริเวณน้ำไหลของลำคลอง

ลักษณะปลาสร้อยนกเขาน้ำจืด
ปลาสร้อยนกเขามีลำตัวค่อนข้างยาว และแบนข้าง มีความยาวมาตรฐานประมาณ 2.5-3.0 เท่า ของความกว้างลำตัว และมีความยาวประมาณ 5 เท่า ของความยาวส่วนหัว โดยส่วนหัวมีลักษณะค่อนข้างเล็ก มีจะงอยปากสั้นเล็กน้อย ริมฝีปากบนมีเนื้อเยื่อหยักเป็นริ้วรอบปาก ส่วนริมฝีปากบนสามารถยืดหดได้ ริมฝีปากล่างเชื่อมต่อกับขากรรไกรล่างที่เป็นแผ่นกระดูกคม ช่วยให้กัดกินหรือกัดฉีกพืชน้ำจำพวกสาหร่ายได้ดี ตา และขอบตาแยกกันอย่างชัดเจน มีรูจมูก 2 คู่ และหนวด 2 คู่

ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดกลาง มีสีเงินเหลือบทอง แต่จะพบสีเขียวมรกตบริเวณหลังขอบแผ่นเปิดเหงือก ลำตัวมีเส้นข้างลำตัวบริเวณตรงกลางลำตัว ซึ่งมีลักษณะเป็นจุดประขนาดเล็กลากยาวจากโคนหางมาถึงหลังขอบเหงือก และแผ่นเกล็ดมีแถบประสีดำเรียงเป็นแถวบริเวณกลางลำตัวตั้งแต่บริเวณท้องไปถึงโคนหาง 4-6แถว ทำให้แลดูคล้ายลายบนตัวนกเขา

ส่วนครีบทุกครีบจะมีสีส้มอมแดง โดยมีครีบหลังยาว ส่วนครีบอก และครีบท้องมีขนาดใกล้เคียงกัน ส่วนครีบก้นมีก้านครีบแตกปลายเป็นก้าน 5-6 ก้าน ครีบหางมีลักษณะเว้าลึกเป็นแฉก

ลักษณะปลาสร้อยนกเขาจะคล้ายกับปลาตะพากมาก (Puntius daruphani) แต่แตกต่างที่ครีบทุกครีบของปลาสร้อยนกจะมีสีส้มเหลือบแดง โดยลักษณะเด่นอย่างอื่นของครีบต่างจากปลาในกลุ่มเดียวกัน อาทิ ครีบหลังมีฐานยาว ขอบนอกของครีบส่วนหน้าเว้าเล็กน้อย มีก้านครีบอ่อนที่แตกแขนง 15-17 ก้าน และไม่แตกแขนง 3 ก้าน และจุดเด่นอีกอย่าง คือ มีจุดกลมสีดำบริเวณโคนหาง

ส่วนครีบของปลาตะพากที่ครีบหลัง และครีบหูมีสีเหลือง ครึ่งหนึ่งของครีบท้อง และครีบก้นมีสีเหลือง โดยด้านปลายมีสีส้ม ส่วนครีบหางมีสีน้ำตาล

ความแตกต่างกันทางโครโมโซม ปลาสร้อยนกเขามีโครโมโซมเป็น 2n = 46 ส่วนปลาตะพากจะมีโครโมโซมเป็น 2n = 50 [2]

เพศ และการวางไข่ [3] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
ปลาสร้อยนกเขาเพศผู้จะมีสีลำตัวเข้มกว่า โดยเฉพาะบริเวณอก และมีความลึกของลำตัวหรือเพรียวยาวมากกว่าเพศเมีย ส่วนเพศเมียจะมีสีลำตัวค่อนข้างจางกว่าหรือมีสีเหลือง และส่วนท้องจะอูมมากกว่า โดยเฉพาะช่วงการสืบพันธุ์

สำหรับฤดูการสืบพันธุ์ และวางไข่จะอยู่ในช่วงหน้าฝน คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม โดยไข่จะมีขนาดประมาณ 1.6 มิลลิเมตร ความดกของไข่ต่อแม่ปลาในช่วง 7,420-29,160 ฟอง ทั้งนี้ เมื่อถึงช่วงสืบพันธุ์วางไข่ ปลาสร้อยนกเขาจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่บริเวณต้นน้ำ เช่น บึง หรือ แอ่งน้ำ ที่น้ำไหลลงแม่น้ำด้านล่าง

ลักษณะอุปนิสัย และการกินอาหาร
ปลาสร้อยนกเขาเป็นปลากินพืช รวมถึงซากพืชเน่าเปื่อยเป็นอาหาร และกินสัตว์เป็นอาหาร พืชที่กินเป็นอาหารเป็นพืชน้ำทุกชนิด โดยเฉพาะจำพวกสาหร่าย ส่วนสัตว์ ได้แก่ แพลงก์ตอนสัตว์ ลูกปลาขนาดเล็ก ตัวอ่อนแมลงน้ำ ไส้เดือนน้ำ รวมถึงแมลงน้ำทุกชนิด

การใช้ประโยชน์ปลาสร้อยนกเขา
1. ใช้ประกอบอาหารในหลายเมนู อาทิ ต้มยำปลาสร้อย ย่างปลาสร้อย ปลาสร้อยทอด หรือเมนูอื่นๆ
2. นำมาแปรรูปเป็นปลาส้ม ปลาร้า ปลารมควัน ปลาตากแห้ง ทั้งใช้ทานเอง และจำหน่าย
3. บางประเทศใช้เลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

สถานะการตลาด
ปลาสร้อยนกเขามักพบวางจำหน่ายทั่วไปตามตลาดนัดหรือตลาดสด รวมถึงมีจำหน่ายตามจุดจำหน่ายปลาของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง ราคาจำหน่ายอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 40-80 บาท ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยเฉพาะหน้าแล้งจะมีราคาแพง

เอกสารอ้างอิง
[1] กรมประมง. ปลาไทยจำหน่ายหน่วยงาน. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2563. เข้าถึงได้ที่ : https://www.fisheries.go.th/sf-chaiyaphum/data8/chaiyaphum_fish01.pdf
[2] วิเชียรมากตุ่น และคณะ. 2531. คาริโอไทพ์ของปลาสร้อยนกเขาและปลาตะพากของไทย.
[3] จุฑาทิพย์ หลักเพ็ชร. 2540. ปรสิตในปลาสร้อยนกเขา Osteochilus hasselti (Cuvier & Valenciennes)-
ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี.