มะกอกป่า/มะกอกไทย ผลไม้ป่ารสเปรี้ยว ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกมะกอกป่า

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

มะกอกป่า หรือ มะกอกไทย (Hog plum) เป็นพันธุ์ไม้ป่าพื้นบ้านของไทยที่ให้ผลคล้ายกับมะกอกชนิดอื่น ผลมีเนื้อบาง ฉ่ำน้ำ ให้รสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย นิยมอย่างมากสำหรับใส่ส้มตำ ใส่แกงเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว ใส่ทำน้ำพริก และอื่นๆ โดยเฉพาะใช้ใส่ส้มตำ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในทุกภาค เพราะให้รสเปรี้ยวอมหวานที่ทำให้ส้มตำอร่อยมากที่สุดในบรรดาของเปรี้ยวที่ใช้

อนุกรมวิธาน [1]
• วงศ์ (family): Anacardiaceae

• ชื่อวิทยาศาสตร์: Spondias pinnata (L. f.) Kurz
• ชื่อสามัญ: Hog plum, Wild Mango
• ชื่อท้องถิ่น : มะกอก, มะกอกป่า

การแพร่กระจาย
มะกอกป่า เป็นไม้ที่พบได้ในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ พบมากในภาคอีสาน โดยพบได้ทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา รวมถึงการปลูกตามชุมชนหรือบ้านเรือน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะกอกป่า เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 10-25 เมตร ลำต้นมีลักษณะเพลากลม เปลือกลำต้นมีสีขาวอมเทา และเป็นมัน มีตะปุ่มเป็นจุดๆ เป็นเปลือกหนา และมีน้ำยาง (เมื่อกรีดผิวเปลือก) โดยบริเวณเปลือกด้านในเชื่อมติดกับแก่นลำต้นจะมีสีชมพูเรื่อ ส่วนการแตกกิ่งจะแตกกิ่งน้อยทำให้แลเป็นทรงพุ่มโปร่ง กิ่งเปราะหักง่าย ส่วนแก่นลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน เนื้อไม้มีลักษณะสีขาว เบา ผุง่าย

รากมะกอกป่า ในระยะต้นอ่อนจะเป็นรากแก้วยาว และรากแขนงแทงลึกลงดิน โดยรากแก้วในระยะนี้ เป็นรากแก้วเนื้ออ่อน มีลักษณะเป็นแท่งกลม ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร เนื้อรากแก้วมีรสหวาน

ใบ
ใบมะกอกป่า เป็นใบประกอบแบบขนนกแบบใบเดี่ยว และมีขนาดใหญ่ ประกอบด้วยก้านใบหลักยาว 20-40 เซนติเมตร บนก้านใบหลักประกอบด้วยใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน และใบย่อยสุดท้ายเป็นใบเดี่ยว ใบย่อยแต่ละใบมีก้านใบสั้น ใบย่อยมีรูปหอก ขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตรแผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบอ่อนมีสีแดงเรื่อ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้ม และเป็นมัน

เมื่อขยี้ใบ ใบจะหักกรอบง่าย และเมื่อดมจะมีกลิ่นหอม โดยปกติมะกอกป่าจะเริ่มทิ้งใบในช่วงเดือนตุลาคมจนใบหลุดร่วงหมด จากนั้น ซึ่งแทงช่อดอก พร้อมออกดอก และติดผล

ดอก
ดอกมะกอกป่าเป็นดอกแยกเพศ ออกดอกเป็นช่อแทงออกบริเวณปลายกิ่ง ประกอบด้วยก้านช่อหลัก ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร และมีก้านช่อย่อยแตกออกด้านข้าง

ตัวดอกจะอยู่บนก้านช่อย่อย ดอกมีขนาดเล็ก ดอกตูมมีลักษณะกลม ขนาดเล็กประมาณ 0.2-0.3 มิลลิเมตร ดอกบานจะมีสีครีม ขนาดประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ประกอบด้วยกลีบดอกจำนวน 5 กลีบ แต่ละกลีบดอกมีรูปหอก ปลายกลีบดอกแหลม

ทั้งนี้ มะกอกป่าจะเริ่มออกดอกเมื่อปลายกิ่งทิ้งใบจนหมด คือ เริ่มออกดอกตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม เรื่อยไปจนถึงเดือนกุมภาพันธุ์ ซึ่งจะมีช่วงเวลาออกดอก และติดผลที่แตกต่างกันในแต่ภูมิภาค

ผล
ผล มีรูปกลมรี คล้ายกับไข่ไก่ ขนาดผลกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ผลดิบอ่อนมีสีเขียวอ่อน และเป็นลายประกับสีขาว ผลดิบแก่มีสีเขียวเข้ม และเป็นลายประกับจุดสีน้ำตาลอมดำ ส่วนผลสุกจะมีสีเหลือง และมีประกับจุดสีน้ำตาลอมดำ เปลือกผลบาง 1-2 มิลลิเมตร เนื้อผลบางประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร เมล็ดมีขนาดใหญ่ เปลือกเมล็ดหนา มีลักษณะเป็นร่องตามแนวยาวของผล ส่วนเมล็ดเป็นเยื่อคัพภะขนาดใหญ่

ทั้งนี้ ผลสุกสามารถหารับประทานได้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน เรื่อยไปจนถึงเดือนมีนาคม

ประโยชน์มะกอกป่า
1. ผลมะกอกป่าสุกที่เนื้อผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน นิยมใช้ประกอบอาหารเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว โดยเฉพาะส้มตำใส่มะกอกป่าที่เป็นตำรับดั้งเดิมส้มตำของอีสาน ช่วยให้รสส้มตำอร่อยมากนัก เพราะเนื้อมะกอกช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้ นอกจากนั้น ยังใช้ประกอบอาหารอย่างอื่น อาทิ น้ำพริกชนิดต่างๆ ต้มยำ หรือ แกงที่ต้องการรสเปรี้ยว ซึ่งจะได้น้ำต้มที่มีสีขาว และมีรสเปรี้ยว นอกจากนั้น ผลมะกอกป่าสุกนำมาแยกขูดเอาเฉพาะเนื้อผลมาปั่นเป็นน้ำผลไม้ดื่ม


2. ผลดิบอ่อน เมล็ดยังอ่อนสามารถรับประทานได้ทั้งผล เนื้อผลมีความกรอบ ให้รสเปรี้ยวอมฝาดเล็กน้อย ส่วนผลดิบแก่ เมล็ดจะแข็ง รับประทานได้เฉพาะเนื้อผลด้านนอก โดยผลมะกอกป่าทั้ง 2 แบบ นิยมรับประทานเป็นผลไม้สดจิ้มพริกเกลือ แก้ดับร้อนได้ดี รวมถึงใช้ใส่ส้มตำก็นิยมเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงที่ผลมะกอกป่าจะไม่ถึงฤดูผลสุก
3. ยอดมะกอกป่าอ่อน ใบมีสีแดงเรื่อ หรือ เขียวอ่อน มีความนุ่ม ให้รสเปรี้ยวอมฝาดเล็กน้อย ใช้รับประทานเป็นผักสดคู่กับเมนูอาหารอื่น อาทิ ซุปหน่อไม้ ลาบเนื้อโคกระบือ ลาบหมู น้ำพริกปลา เป็นต้น นอกจากนั้น ยังใช้ใส่ในอาหารจำพวกแกงต้มเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยวคล้ายกับผลสุก
4. รากมะกอกต้อนอ่อน หรือ มะกอกในระยะต้นเล็ก ขนาดต้นสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร จะมีรากแก้วเป็นแท่งกลมขนาดประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร เนื้อรากแก้วมีรสหวาน และกรอบ นิยมขุดมารับประทานเป็นอาหารว่าง เด็กชอบรับประทานมากนัก

คุณค่าทางโภชนาการ (ผลสุกมะกอกป่า) [2]
– ความชื้น 13.51%
– เถ้า 5.70%
– ใยอาหาร 9.51%
– โปรตีน 2.41%
– ไขมัน 1.88%
– คาร์โบไฮเดรต 67.51%

สรรพคุณมะกอกป่า [2], [3]
ผล (ผลดิบมีรสเปรี้ยวอมฝาด ผลสุกมีรสเปรี้ยวอมหวาน)
– ช่วยแก้โรคขาดแคลเซียม
– แก้เลือดออกตามไรฟัน
– แก้ร้อนใน
– แก้กระหายน้ำ ช่วยให้ชุ่มคอ
– แก้โรคบิด
– แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง
– บรรเทาอาการไข้
– เป็นยาฝาดสมาน อาทิ สมานแผล

ยอดอ่อน และใบอ่อน (ใช้รับประทาน มีรสเปรี้ยว อมฝาดเล็กน้อย)
– แก้ร้อนใน
– แก้กระหายน้ำ ช่วยให้ชุ่มคอ
– แก้เลือดออกตามไรฟัน
– เป็นยาฝาดสมาน อาทิ สมานแผล

ยอดอ่อน และใบอ่อน (ใช้ภายนอก)
– นำใบมาคั้นน้ำ น้ำน้ำคั้นมาหยอดหู แก้อาการปวดหู แก้หูอักเสบ

รากแก้วอ่อน (มีรสหวาน)
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– ช่วยดับพิษไข้

รากต้นแก่ (มีรสฝาด)
– แก้ร้อนใน
– แก้กระหายน้ำ ช่วยให้ชุ่มคอ
– ช่วยแก้ระดูมาไม่ปกติ

เปลือกลำต้น (มีรสฝาด)
– ช่วยดับพิษกาฬ
– แก้ร้อนใน
– แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
– ใช้บดทาประคบ แก้แผลผุพอง

เมล็ด (เผาไฟชงน้ำดื่ม)
– แก้อาการหอบเหนื่อย
– แก้ร้อนใน
– แก้อาการสะอึก

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1. อรอนงค์ ภูสีฤทธิ์ ได้ศึกษาความสามารถในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในมะกอกป่า พบว่า ผลมะกอกป่ามีความสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ โดยมีค่า 9.66 มิลลิกรัม TroloxE/g DW โดยจาการวัดปริมาณสารฟีนอลิกในมะกอกป่าพบว่ามีปริมาณที่ 0.85 mg GAE/g DW สารแอนโทไซยานินที่ 5.24mg /gDW วิตามิน C ที่ 57.83 mg /gDW และสารประกอบฟลาโวนอยด์ที่ 8.90 mg RTE/g DW [2]

การปลูกมะกอกป่า
มะกอกป่า นิยมปลูกด้วยต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด เพราะเป็นไม้ยืนต้นเนื้อไม้ค่อนข้างอ่อนทำให้ใช้การขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นไม่ค่อยได้ผล

ต้นกล้ามะกอกป่าสามารถหาได้ตามธรรมชาติในบริเวณใกล้กับต้นแม่มะกอกป่า และยังใช้วิธีเพาะด้วยเมล็ดได้เช่นกัน

การเพาะเมล็ดมะกอกป่าจะต้องใช้ผลสุกมะกอกป่าเท่านั้น ซึ่งอาจนำผลสุกมาเพาะได้เลย แต่เปอร์เซ็นต์งอกจะต่ำ หรือ เก็บไว้เพื่อให้เมล็ดพักตัวก่อน 1 ปี จะทำให้เปอร์เซ็นต์งอกสูง

การเพาะเมล็ดมะกอกป่าจะต้องนำผลสุกมะกอกป่ามะลอกเปลือกผลออก และล้างทำความสะอาดเมล็ด แล้วนำเมล็ดไปตากแห้ง 2-3 วัน จากนั้น นำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำ

การงอกของเมล็ดมะกอกป่าจะงอกช้า ซึ่งใช้เวลานาน 2-3 เดือน จึงจะเริ่มงอก เพราะเปลือกเมล็ด แข็ง และหนา และเมื่องอกแล้วจนต้นกล้าโต 10-15 เซนติเมตร ให้รีบนำลงปลูกทันที เพราะรากแก้วอ่อนจะเติบโตขยายใหญ่อย่างรวดเร็วมากในระยะนี้

เอกสารอ้างอิง
[1] อินทร ขันธิกุล. 2510. การเปรียบเทียบการงอกของเมล็ดมะกอกป่า-
โดยการแช่น้ำระยะเวลาต่างกัน.
[2] อรอนงค์ ภูสีฤทธิ์. 2560. องค์ประกอบของโพลีฟีนอล และคุณสมบัติ-
เพื่อสุขภาพของผลไม้ พื้นเมืองในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด
[3] เนาวรัตน์ ชัชวาลโชคชัย. 2530. อิทธิพลของสัตว์เคี้ยงเอื้องบางชนิดที่มีต่อ-
คุณภาพของเมล็ดมะขามป้อม มะกอกน้ำ-
มะกอกป่า และสมอไทย.

ขอบคุณภาพจาก
– technologychaoban.com
– pantip.com