มะหลอด ผลไม้ป่าสวยสดใส ประโยชน์ สรรพคุณ และวิธีปลูกมะหลอด

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

มะหลอด (Bastard Oleaster) จัดเป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่งที่ผลมีสีแดงเรื่อสดใส มีรสเปรี้ยว ซึ่งมีศักยภาพปลูกเพื่อการค้าได้ โดยเฉพาะการนำมาทำแยม เยลลี่ และไวน์ นิยมใช้ประโยชน์โดยตรงสำหรับการรับประทานสด การนำไปประกอบอาหาร โดยเฉพาะเมนูอาหารที่ต้องการรสเปรี้ยว เพราะใช้แทนมะนาวได้

อนุกรมวิธาน [1]
• วงศ์ (family): Elaeagnaceae
• สกุล (genus): Elaeagnus
• ชนิด (species): latifolia

• ชื่อวิทยาศาสตร์: Elaeagnus latifolia Linn.
• ชื่อสามัญ: Bastard Oleaster
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มะหลอด
ภาคเหนือ
– สลอดเถา
– บะหลอด
ภาคอีสาน
– หมากหลอด
ภาคใต้
– ส้มหลอด

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย [3] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
พืชในสกุล elaeagnus พบแพร่กระจายในประเทศ และหมู่เกาะเขตร้อน ทั้งในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก เอเชีย และ ยุโรป โดยพืชในสกุลนี้มีหลายชนิดที่ใช้รับประทาน และมีการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งการบริโภค และเพื่อการค้า อาทิ E. umbellata , E. angustifolia, E. multiflora เป็นต้น

ในประเทศไทยพบพืชในสกุล elaeagnus ชนิด latifolia หรือ ที่เรียกว่า มะหลอด อยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ E. latifolia var. argentea kuntze (holotype) แ ล ะ E. latifolia var. ferruginea kuntze (type)
โดยพบมาก และถือเป็นผลไม้ท้องถิ่นในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ พบได้ในป่าดิบชื้นหรือป่าเบญจพรรณ โดยพบได้ในพื้นที่ที่ระดับ 200-1600 เมตร เหนือจากน้ำทะเล

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะหลอด เป็นไม้พุ่มกึ่งเถาเลื้อย ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของเถา และแตกกิ่งจำนวนมาก แลดูเป็นพุ่มหนา ลำต้นมีสีเทาหรือสีเถาอมเงิน ผิวลำต้นแตกสะเก็ดขนาดเล็ก ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง

ใบ
ใบมะหลอด ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับตรงข้ามกันบนกิ่ง มีก้านใบสั้น ประมาณ 1 เซนติเมตร ใบมีรูปหอก โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ใบกว้างประมาณ 3.5-5 ซม. ยาวประมาณ 8-12 ซม. แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน แผ่นใบโค้งเป็นลูกคลื่นตามเส้นแขนง แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดขนาดเล็กทั่วแผ่นใบ

ดอก
มะหลอดออกดอกเป็นช่อหรือดอกเดี่ยวบริเวณปลายกิ่งตรงง่ามใบ ขนาดช่อดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกบนช่อแต่ละดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศสามารถที่จะผสมเกสรได้ภายในดอกตัวเองหรือผสมข้ามดอกได้

ตัวดอกมีลักษณะเป็นกรวย สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมขาว ขนาดดอกประมาณ 0.5 เซนติเมตร ตัวดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยม โดยฐานดอกเชื่อมติดกัน ด้านในมีเกสรผู้ 5 อัน ล้อมรอบเกสรตัวเมียที่อยู่ตรงกลาง 1 อัน

ผล
ผล มีลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ขนาดผลยาวประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ท้ายผลมีติ่งแห้งของดอกติดอยู่ หรือ หากติ่งหลุดออกจะมีลักษณะบุ๋มลึกเล็กน้อย ทั้งนี้ ขนาดผลจะมีความแตกต่างของขนาดตามปัจจัยของพื้นที่

เปลือกผลบาง มีลักษณะสากมือ เนื้อผลหนา ผลดิบมีสีเขียวอ่อน มีรสฝาด จากนั้น ผลค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นผลสุกที่มีสีสันสดใส เปลือกผลมีสีแดงเรื่อหรือสีแดงอมส้ม และประด้วยจุดสีขาวขนาดเล็กทั่วผล มีรสเปรี้ยวอมหวาน และฝาดเล็กน้อย

เมล็ดมะหลอดมีรูปกระสวย ทั้งหัว และท้ายรีแหลม ตรงกลางกว้าง เมล็ดมีเปลือกแข็งสีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกผลมีลักษณะเป็นพู (ร่อง) จำนวน 8 พู ด้านในเป็นเนื้อเมล็ดสีขาว ทั้งนี้ ต้นมะหลอดจะออกผลได้ในช่วงอายุ 2-3 ปี

ลักษณะ และองค์ประกอบของมะหลอดในแต่ละจังหวัด (ร้อยละ) [3] อ้างถึงใน ประทุมพร และพรรัตน์ (2543)

จังหวัด
น้ำหนักผล
น้ำหนักเนื้อ
น้ำหนักเมล็ด
ปริมาตรผล
กรดซิตริก
วิตามินซี
น้ำตาล
ความแน่นเนื้อ
เชียงใหม่
5.82-11.33
4.33-11.33
1.31-1.97
5.6-13.71
0.80-7.92
3.12-9.49
8.40-17.40
0.61-0.88
ลำปาง
40.6-11.51
2.95-9.31
0.80-2.09
3.80-9.50
0.13-1.71
3.84-15.0
10.0-19.00
0.64-0.92
แม่ฮ่องสอน
7.19-14.71
5.43-11.73
1.35-2.47
7.20-14.20
0.08-2.05
2.63-7.22
7.20-17.00
0.53-0.86
พะเยา
4.51-12.07
3.44-9.55
1.06-2.30
4.40-12.00
0.13-1.91
3.07-12.5
9.20-17.00
0.66-0.84
 
เชียงราย
7.02-16.12
5.76-13.35
1.34-2.12
6.90-16.00
0.15-3.04
3.04-8.22
8.00-15.70
0.65-0.92
น่าน
4.86-11.44
3.80-9.06
1.01-1.91
4.60-10.80
0.94-2.58
3.55-11.95
9.00-19.40
0.48-0.81
แพร่
6.37-13.41
4.42-10.61
1.38-2.13
6.30-11.60
0.87-2.01
3.77-6.57
8.20-17.00
0.52-0.77
ลำพูน
5.89-14.83
5.16-11.27
1.32-2.89
5.50-14.50
0.16-2.72
3.84-12.13
8.00-16.80
0.58-0.83

ประโยชน์มะหลอด
1. ทางด้านอาหาร
– ผลดิบ และผลสุก ใช้รับประทานสดคู่กับพริกเกลือ
– ผลดิบ และผลสุก ใช้ประกอบอาหาร อาทิ น้ำพริกมะหลอด ยำมะหลอด ส้มตำมะหลอด เป็นต้น หรือ ใช้ประกอบอาหารแทนมะนาวสำหรับทำให้มีรสเปรี้ยว อาทิ ใส่ในต้มยำหรือแกงส้มต่างๆ
– ใช้แปรรูปเป็นผลไม้ดองเค็ม หรือ แช่อิ่ม ผลไม้กวน แยมมะหลอด เยลลี่มะหลอด และไวน์มะหลอด เป็นต้น
2. ทางด้านสมุนไพร และยารักษาโรค เช่น รับประทานแก้ท้องผูก ช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น แก้อาการท้องเสียท้องร่วง เป็นต้น
3. ทางด้านการใช้สอยในครัวเรือน กิ่งมะหลอดใช้ทำเครื่องมือใช้สอย อาทิ คันสวิง เป็นต้น
4. ทางด้านสิ่งแวดล้อม ผลสุกมะหลอดเป็นอาหารสำหรับสัตว์

สารสำคัญที่พบ [3] อ้างถึงใน Ayaz and Bertoft (2001)
มีการศึกษาในผลมะหลอด พบสารอัลคาลอยด์ (alkaloid) และพอลีฟีนอล (polyphenols) หลายชนิด ได้แก่
– epicatechin
– epigallocatechin
– epigal-locatechin gallat

สรรพคุณมะหลอด [1], [2], [3]
ดอก และผล
ผล ได้แก่ ผลดิบมีรสฝาด ผลสุกมีรสเปรี้ยวอมหวาน รับประทานได้ทั้งสด และใช้ประกอบอาหาร
– ช่วยต้านเซลล์มะเร็ง ช่วยต้านการลุกลามของเซลล์เนื้องอก
– ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
– ช่วยลดปริมาณคอลเรสเตอรอลในเส้นเลือด
– ป้องกันการเกิดโรคในระบบหลอดเลือด หัวใจ และสมอง
– แก้โรคบิด
– แก้อาการท้องผูก
– ช่วยบำรุงหัวใจ แก้อาการใจสั่น
– ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยคุมธาตุในร่างกาย
– แก้โรคตา
– แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน
– แก้อาการปวดศีรษะ
– ช่วยบรรเทาอาการไข้
– ช่วยขับเสมหะ
– แก้อาการบวมริดสีดวง
– ช่วยเป็นยาสมานแผล

So sour

ใบ
– นำใบมะหลอดมาต้มกับเกลือ น้ำต้มที่ได้มีรสเฝื่อน ใช้อมบ้วนภายในปาก ช่วยแก้อาการปวดฟัน อาการแผลในช่องปาก และรักษาโรคเหงือกอักเสบ
– ใบอ่อนใช้รับประทานหรือต้มน้ำดื่ม ช่วยในการบำรุงผิว
– ใบอ่อนต้มน้ำดื่ม ช่วยเป็นยาขับปัสสาวะ

เนื้อเมล็ด
นำเมล็ดมาผ่า แล้วแคะแยกเอาเฉพาะเนื้อเมล็ด ก่อนนำมาต้มรวมกับเหง้ากับสับประรด และสารส้ม น้ำต้มที่ได้นำมาดื่มช่วยแก้โรคนิ่ว

ราก
ขุดรากบางส่วนจากต้น แล้วนำมาล้างน้ำ ก่อนสับเป็นชิ้นแช่ด้วยเหล้า 3-5 วัน ใช้ดื่มเพื่อแก้อาการปวดข้อปวดกระดูก โดยเฉพาะบริเวณหัวเข่า

การปลูก และเพาะขยายพันธุ์มะหลอด
1. การเพาะเมล็ด
การเพาะเมล็ด เป็นวิธีดั้งเดิมที่ง่าย และรวดเร็ว โดยคัดเลือกผลที่สุกเต็มที่แล้ว จากนั้น นำมาแยกเมล็ดออก ก่อนล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำเมล็ดไปผึ่งลมให้แห้ง 3-5 วัน จากนั้น นำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำรดน้ำให้ชุ่ม และเมล็ดจะงอกภายใน 15-20 วัน เมื่อดูแลจนได้ประมาณ 1 เดือน จึงย้ายลงปลูกตามจุดที่ต้องการ ส่วนเมล็ดที่เหลือสามารถเก็บพักไว้ในถุงกระดาษ และเก็บได้นานเป็นปี

2. การปักชำกิ่ง
วิธีการปักชำมีข้อดีคือ ใช้เวลาสั้น ช่วยให้ได้ต้นที่พร้อมอกดอก และผลได้ภายในไม่กี่เดือนหลังการปลูก และสามารถขยายกิ่งพันธุ์ได้รวดเร็ว และได้จำนวนมาก

การปักชำเริ่มด้วยการเตรียมวัสดุปักชำ โดยใช้ดินร่วน แกลบเผา และขุ๋ยมะพร้าว อัตราส่วน 1:3:3 มาคลุกผสมกัน และบรรจุในถุงเพาะชำ

ทำการคัดเลือกกิ่งแก่ด้วยการตัดกิ่งยาว 20-30 เซนติเมตร ให้ตัดใบออก โดยให้เหลือใบไว้ประมาณ 2-3 ใบ จากนั้น นำมาปักลงถุงเพาะชำในแนวเอียงประมาณ 45องศา แล้วรดน้ำให้ชุ่ม และดูแลต่อประมาณ 1 เดือน ราก และยอดก็จะเริ่มงอก จากนั้น ดูแลจนเริ่มการแตกยอดจนครบทุกตายอด ก่อนนำลงปลูกตามจุดที่ต้องการ

เอกสารอ้างอิง
[1] ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. มะหลอด. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2563. เข้าถึงได้ที่ : http://www.qsbg.org/Database/Botanic_Book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=841/[2] สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน). มะหลอด. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2563. เข้าถึงได้ที่ : https://wisdomking.or.th/tree/1543/.
[3] กาญจนาภรณ์ โนนกระโทก. 2548. การเจริญเติบโตและชีววิทยาของดอก ผลและ-
ปริมาณคาร์โบไฮเดรตและไนโตรเจนที่สะสมในใบ-
กิ่งในหนึ่งปีของมะหลอด