ว่านนกคุ้ม/ว่านนกคุ่ม ว่านป้องกันภัย ความเป็นมงคล ประโยชน์ และการปลูกว่านนกคุ้ม

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ว่านนกคุ้ม หรือ ว่านนกคุ่ม จัดเป็นว่านประดับ และว่านมงคล นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจาก ใบมีลวดลายสวยแปลกตาคล้ายกับลายของตัวนกคุ้ม อีกทั้ง ยังจัดเป็นว่านมงคลประเภทป้องกันภัยที่เชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าโรคภัย ปัดเป่าภัยอันตรายหรือสิ่งอัปมงคลไม่ให้มากล้ำกรายได้

ว่านนกคุ้ม ที่เรียกกันในเมืองไทยมีหลายชนิด ซึ่งได้รวบรวมมาแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
1. ว่านนกคุ้มใบลาย (Calathea picturata (Linden) K.Kosh & Linden cv.Vandenheckei)


2. ว่านนกคุ้มปลายใบแหลม (Alocasia cucullata Schott.)


3. ว่านนกคุ้มปลายใบมน (Eurycle amboinensis Loud)

ในที่นี้ จะกล่าวถึงเฉพาะว่านนกคุ้มใบลาย (Calathea picturata (Linden) K.Kosh & Linden cv.Vandenheckei) ซึ่งมีลักษณะเด่นที่ลวดลายของใบ แลดูแปลกตา และสวยงามมากที่สุดในบรรดาว่านนกคุ้มแต่ละชนิดที่เรียกหรือรู้จักกัน

อนุกรมวิธาน [1]
• วงศ์ (family): Maranthaceae
• สกุล (genus): Calathea
• ชนิด (species): Picturata

• ชื่อวิทยาศาสตร์: Calathea picturata (Linden) K.Kosh & Linden cv.Vandenheckei
• ชื่อสามัญ:
– Calathea gouletii Stapf
– Calathea van-den-heckei (Lem.) Regel
• ชื่อท้องถิ่น :
– ว่านนกคุ้ม
– ว่านนกคุ่ม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นว่านนกคุ้ม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ลำต้นแท้ คือ ลำต้นที่มีลักษณะเป็นหัวอยู่ใต้ดินหรือโผล่ให้เห็นบนดิน หัวว่านนกคุ้มมีลักษณะกลม เปลือกหัวมีเยื่อสีเหลืองบางๆปกคลุม ขนาดหัวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ด้านบนตรงกลางของหัวเป็นเป็นกระจุกของกาบใบ และยอดอ่อนที่แทงขึ้นจากตรงกลางหัว ส่วนด้านล่างตรงกลางของหัวเป็นส่วนของรากที่ประกอบด้วยรากจำนวนมาก ขนาดรากประมาณ 0.2-0.3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร แทงลึกลงดินในแนวดิ่ง

ใบ
ใบว่านนกคุ้มออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับกัน 6-8 ใบ ประกอบด้วยก้านใบสั้นสีเขียวอ่อนที่แตกออกบริเวณตรงกลางของหัว ส่วนแผ่นใบมีรูปหอก โคนใบสอบแคบ กลางใบกว้าง ปลายใบค่อยๆสอบแหลมลง ขนาดใบกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบไม่มีสีพื้นหลัก แต่เป็นลายประระหว่าง 3 สี คือ สีขาว สีเขียวเข้ม และสีเขียวอ่อน ประกันเป็นชั้นตามแนวยาวของใบ ทั้งนี้ ขอบประของแต่ละสีจะมีรูปหยักเป็นฟันเลื่อย

ดอก
ดอกเป็นดอกเดี่ยว จำนวน 1-2 ดอก/ต้น ตัวดอกแทงออกตรงกลางของหัว ประกอบด้วยก้านดอกสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ปลายก้านดอกเป็นตัวดอก ตัวดอกประกอบด้วยกลีบดอกสีม่วง จำนวน 4 กลีบ แต่ละกลีบมีรูปพัด ขนาดประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร โคนกลีบสอบแคบ ปลายกลีบกว้าง ตรงกลางกลีบเป็นรังไข่

ผล
ไม่พบการติดผล

ประโยชน์ว่านนกคุ้ม
1. ใช้ปลูกเพื่อเป็นว่านมงคลสำหรับป้องกันภัยต่างๆ
2. ใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ โดยเฉพาะความโดดเด่นของใบที่มีลายประหลากสีเป็นฟันเลื่อยสวยงามคล้ายกับลายประของนกคุ้ม นอกจากนั้น ยังปลูกเพื่อเป็นไม้ฟอกอากาศในอาคาร ด้วยการตั้งปลูกในห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือห้องทำงาน เพื่อช่วยดูดซับสารมลพิษจากตัวอาคาร โดยเฉพาะสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากสีทาบ้านชนิดต่างๆ
3. ในทางการค้า ว่านนกคุ้มเป็นว่านที่นิยมชนิดหนึ่ง ทั้งความเป็นมงคล และความสวยงาม ทำให้เกิดการเพาะขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายจนสร้างรายได้งามได้อีกอาชีพหนึ่ง

ความเป็นมงคลว่านนกคุ้ม
ว่านนกคุ้ม หรือ ว่านนกคุ่ม แปลตามความหมายของคำว่า “คุ้ม” หรือ “คุ่ม” คำว่า คุ้ม หมายถึง การป้องกัน หรือ การรักษา ส่วนคำว่า คุ่ม เป็นภาษาอีสาน ก็มีความหมายเช่นเดียวกันกับคำว่า คุ้ม

ดังนั้น ว่านนกคุ้มหรือว่านนกคุ่ม จึงเป็นว่านที่คนโบราณเชื่อว่า หากผู้ใดหรือบ้านใดปลูกไว้แล้วจะสามารถช่วยป้องกันหรือปัดเป่าภัยอันตรายได้ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ภูตผี มนดำ หรือ สิ่งอัปมงคลทั้งปวงไม่ให้กล้ำกรายทำอันตรายต่อผู้นั้น และบริวารในครัวเรือนได้

การปลูกว่านนกคุ้ม
ว่านนกคุ้มตามธรรมชาติจะขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ ไม่พบการขยายพันธุ์จากเมล็ด ดังนั้น การขยายพันธุ์ในปัจจุบันจะใช้วิธีการแยกหัวปลูกเป็นหลัก แล้วเลี้ยงหรือดูแลต่อจนเกิดต้นใหม่ไปเลื่อยๆ

การปลูกให้เริ่มด้วยขุดแยกหัวว่านนกคุ้มจากแปลงหรือกระถางที่มีจำนวนหัวหรือต้นตั้งแต่ 3 ต้น ขึ้นไป แยกออกมาปลูกจำนวน 1 หัวหรือ 1 ต้นต่อกระถาง

สำหรับวัสดุปลูกให้ใช้วัสดุปลูกผสมสำเร็จหรืออาจผสมเอง โดยใช้ดิน 1 ส่วน แกลบดำหรือปุ๋ยคอก 3 ส่วน ขุ๋ยมะพร้าว 2 ส่วน หรือวัสดุผสมกับดินร่วน 3:1 หากหาไม่ได้จริงๆ

การนำหัวที่แยกได้ลงปลูกให้ตัดใบทิ้งทั้งหมด โดยตัดให้เหลือเฉพาะก้านใบ ก่อนนำหัวว่านลงปลูกในกระถางลึกจนท่วมหัวว่าน ให้เหลือโผล่เฉพาะปลายยอดที่ตัดไว้ จากนั้น รดน้ำ และดูแลจนว่านแตกยอดใหม่ ก่อนนำกระถางไปตั้งดูแลตามจุดในอาคารต่อไป