ว่านน้ำทอง อัญมณีกล้วยไม้ดิน ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกว่านน้ำทอง

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ว่านน้ำทอง (Jewet Orchid ) จัดเป็นกล้วยไม้ดินหายากชนิดหนึ่งที่พบได้เฉพาะบริเวณลำธาร ลำห้วย หรือใกล้น้ำตกตามภูเขาที่เป็นป่าดิบชื้น ถือเป็นกล้วยไม้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะแผ่นใบที่มีลวดลาย แปลกตา และสวยงาม นิยมปลูกเพื่อประดับตามอาคาร ตามห้องในบ้าน ภายในห้องนอน เป็นต้น

ว่านน้ำทอง เป็นกล้วยไม้ที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเป็นอย่างมาก แต่มีราคาแพง เพราะเป็นชนิดที่หายาก และเนื่องจากความโดดเด่น และดูแปลกตา และสวยงามของใบ จึงทำให้ว่านน้ำทองได้สมญานามว่า Jewel orchid หรือ กล้วยไม้ที่มีสวยงามดุจดังอัญมณี

อนุกรมวิธาน [1]
• วงศ์ (family): Orchidaceae
• สกุล (genus): Ludisia
• ชนิด (species): discolor

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ludisia discolor (ker.-Gawl.) A. Rich.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Haemaria discolor
• ชื่อสามัญ: Jewet Orchid
• ชื่อท้องถิ่น :
– ว่านน้ำทอง
– เอื้องนํ้าทอง
– ว่านร่อนทอง
– ตุ๊กตาทอง
– ผักเบี้ยช้าง
– ผักแพวแดง

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย [1], [2]
ว่านน้ำ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย พบได้มากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไล่ลงมาจากจีนตอนใต้ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยในประเทศไทยพบได้มากแถบภาคตะวันออก เช่นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และภาคใต้ อาทิ อำเภคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงจังหวัดในภาคใต้อื่นๆ เช่น ตรัง สตูล และยะลา เป็นต้น

ว่านน้ำทอง เป็นพืชที่ชอบขึ้นตามแหล่งที่มีความชื้นหรือมีความชุ่มชื้นสูง พบขึ้นบริเวณที่มีซากใบไม้ที่ชื้นแฉะ หรือ พบตามโขดหินบริเวณริมลำธาร ลำห้วย หรือ ใกล้นํ้าตกในป่าดิบชื้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ว่านน้ำทอง เป็นพืชกึ่งเลื้อย มีลำต้นตั้งตรงหรือโน้มเอียงลาดตามพื้น ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ และมีขนอ่อนปกคลุม ลำต้นสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร

ใบ
ใบว่านน้ำทองออกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับตรงกันข้ามกันสี่ด้าน ใบว่านน้ำทองมีรูปไข่หรือรูปหอก กว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-6.5 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีพื้นหลากหลายสี อาทิ สีน้ำตาลอมดำ หรือ สีเขียว และมีลายประสีขาวของเส้นใบ และเส้นแขนงใบ ทำให้ใบแลดูสวยงาม และแปลกตา

ดอก
ดอกเป็นช่อตรงกลางยอด ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร ช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยเรียงสลับกันตามความสูงของก้านช่อดอก จำนวน 12-20 ดอก ดอกย่อยแต่ละดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีแดงเรื่ออมขาวอยู่ด้านล่างสุดของตัวดอก ถัดมาเป็นกลีบดอกสีขาว แบ่งเป็นกลีบบน และกลีบล่าง ขนาดกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ตรงกลางมีเกสรตัวเมีย 1 อัน ปลายเกสรมีก้อนอับเรณูสีเหลือง ทั้งนี้ ว่านน้ำทองจะออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน

ผล
ไม่พบการติดผล

ประโยชน์ว่านน้ำทอง
1. นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในกระถางเพื่อความสวยงาม และเป็นไม้ดูดสารพิษ ทั้งตั้งวางนอกอาคาร และในอาหาร อาทิ ตั้งวางภายในห้องทำงาน ห้องรับแขก หรือ ห้องนอน เป็นต้น
2. ทางด้านการค้า เนื่องจาก เป็นไม้ที่หายากจึงมีการจำหน่ายในราคาแพง ต้นหนึ่งหรือกระถางหนึ่งจำหน่ายในช่วงราคา 400-1,500 บาท ขึ้นอยู่กับเฉดสี และลวดลาย ดังนั้น จึงพบการเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่ายมากขึ้นในปัจจุบัน

สารสำคัญที่พบ [1]
– อาโกริน (acorine) มีรสขม
– แอลคาลอยด์ (alkaloids)
– คาลาไมน์ (Calamine)

สรรพคุณว่านน้ำทอง [1]
ว่านน้ำทองทุกส่วนมีกลิ่นหอม หากรับประทานมากจะทำให้เกิดอาการอาเจียน หากรับประทานน้อยจะมีสรรพคุณทางยา ได้แก่
– ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง
– แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง
– ช่วยขับลมในลำไส้
– แก้ธาตุเสีย
– ช่วยบำรุงธาตุ
– ใช้เป็นยาแก้บิด
– ใช้เป็นยารักษาบิดในเด็ก ได้แก่ มูกเลือด แก้อาการไข้หวัด และอาการหลอดลมอักเสบ
– ใช้เป็นยาขับเสมหะ
– ช่วยเป็นยาแก้เส้นกระตุก
– แก้อาการหอบหืด
– แก้อาการปวดศีรษะ
– แก้อาการปวดกล้าม และปวดตามข้อ
– ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง
– ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
– ช่วยย่อยอาหาร และเจริญอาหาร

ในประเทศอินเดียนำว่านน้ำทองมาเคี้ยวกิน ช่วยแก้อาการหวัด และเจ็บคอ และใช้ปรุงกับยาระบายเพื่อเป็นยาธาตุด้วยในตัว นอกจากนั้น ยังสามารถสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยหรือใช้เป็นส่วนผสมของยาหอมสำหรับสูดดม ช่วยแก้อาการชัก

การปลูกว่านน้ำทอง
ว่านน้ำทองตามธรรมชาติจะขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อใหม่ ดังนั้น การเพาะขยายพันธุ์ในปัจจุบันจึงนิยมใช้วิธีแยกหน่อหรือแยกเหง้าปลูก นอกจากนั้น ยังสามารถใช้วิธีการเพาะเนื้อเยื่อได้ด้วยเช่นกัน
การปลูกว่านน้ำทองนั้น นิยมปลูกในกระถางเป็นหลัก เพราะเป็นไม้ขนาดเล็ก และสามารถยกตั้งปลูกประดับได้ในทุกที่

สำหรับจุดตั้งปลูกประดับ เนื่องจากว่านน้ำทองเป็นพืชที่ต้องการแสงรำไร และมีอากาศเย็น จึงต้องวางปลูกไว้ในที่ร่ม เช่น ภายในลานบ้าน ภายในห้องต่างๆ ซึ่งอาจมีแสงส่องถึงได้บ้างในบางครั้ง

เอกสารอ้างอิง
[1] กรรณิกา โพธิ์สามต้น. 2555. ผลของ BA ต่อการเจริญเติบโตของ-
ว่านนํ้าทองในสภาพปลอดเชื้อ.
[2] กนกวรรณ ถนอมจิตร. 2541. การขยายพันธุ์กล้วยไม้ว่านน้ำทอง (Ludisia discolor (Ker-Gawl.)-
A. Rich.) ในสภาพปลอดเชื้อ.