สาวน้อยประแป้ง ใบใหญ่ ลายสวย ประโยชน์ และการปลูกสาวน้อยประแป้ง

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

สาวน้อยประแป้ง (Dumb cane) ถือเป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกมาเนิ่นนาน และนิยมกันในหลายประเทศ เนื่องจาก แผ่นใบมีขนาดใหญ่ และมีลายประสีขาวแทรกสีเขียวสวยงาม อีกทั้ง ยังปลูกได้ทั้งในกระถางวางในที่ร่มในอาคารหรือปลูกในที่กลางแจ้ง รวมถึงลำต้นไม่ผลัดใบ และมีอายุยาวนานหลายปี

สาวน้อยประแป้ง ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ J.F. Dieffenbachia จึงมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้เป็น Dieffenbachia sp.

สาวน้อยประแป้ง เป็นชื่อที่ถูกเรียกตามลักษณะเด่นของใบ กล่าวคือ ใบของสาวน้อยประแป้งมีสีพื้นหลักเป็นสีเขียวอ่อน หรือ ขาวอมเขียวอ่อน หรือ สีเขียวเข้ม และถูกประด้วยแถบสีขาวเป็นพื้นผสม ซึ่งอาจประเป็นแถบใหญ่ และแซมด้วยพื้นของสีเขียว คล้ายกับถูกประทาด้วยแป้งขาว จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า สาวน้อยประแป้ง

อนุกรมวิธาน
• วงศ์ (family): Araceae
• สกุล (genus): Dieffenbachia

• ชื่อวิทยาศาสตร์: Dieffenbachia sp.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Seguinum Raf., Maguirea A.D.Hawkes
• ชื่อสามัญ: Dumb cane
• ชื่อท้องถิ่น :
– สาวน้อยประแป้ง
– ว่านเจ้าน้อย
– ว่านพญาค่าง
– ว่านหมื่นปี
– มหาพรหม
– ช้างเผือก
– อ้ายใบก้านขาว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
สาวน้อยประแป้ง เป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีเนื้ออวบน้ำอายุนานหลายปี ลำต้นมีลักษณะทรงกลม และตั้งตรง ขนาดลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร มีความสูงของลำต้นประมาณ 0.3-1 เมตรลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้องที่เกิดจากการสลัดทิ้งของใบ เปลือกลำต้นมีลักษณะบางๆสีเขียวติดกับเนื้อของลำต้น แก่นเนื้อลำต้นเป็นเยื่ออวบน้ำ ส่วนที่อยู่ใต้ดิน เป็นเหง้าของลำต้นที่สามารถแตกหน่อเป็นลำต้นใหม่ได้ และด้านล่างสุดเป็นจุดที่แตกรากแขนงขนาดใหญ่ จำนวน 5-10 ราก

ใบ
สาวน้อยประแป้ง เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ออกใบเรียงสลับกันเป็นชั้นๆ ตรงข้ามกันไปมาเป็นสี่ด้านตามความยาวของลำต้น ประกอบด้วยก้านใบที่แตกออกเรียงสลับกันบนลำต้น ก้านใบมีสีเขียวสด ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ก้านใบด้านบนเป็นร่องลึก ถัดมาเป็นแผ่นใบ

แผ่นใบสาวน้อยประแป้งมีรูปหอกยาวคล้ายใบพายเรือ กว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีสีเขียวอ่อน แผ่นใบด้านบนเป็นลายประระหว่างสีเขียวอ่อน เขียวเข้ม และสีขาว คล้ายกับการประแป้ง ตรงกลางแผ่นใบมีเส้นกลางใบขนาดใหญ่สีเขียวเข้ม

ดอก
ดอกเป็นช่อ แทงออกบริเวณปลายยอด ซึ่งอาจเป็นช่อเดียวหรือหลายช่อ ช่อดอกประกอบด้วยก้านช่อดอกที่มีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มจากโคนช่อดอกจนถึงปลายช่อดอก กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นแผ่นสีเขียวสด เมื่อดอกบาน ปลายกลีบเลี้ยงจะแผ่ออก และปลายช่อดอกจะโผล่พ้นจากกลีบเลี้ยงออกมา และมีกลิ่นเหม็นเมื่อบานเต็มที่

ที่ปลายก้านดอกจะประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก โดยด้านบนช่อดอกจะเป็นดอกเพศผู้ ส่วนด้านล่างจะเป็นดอกเพศเมีย

ผล
ผลสาวน้อยประแป้งจะมีลักษณะทรงกลมขนาดเล็กจำนวนมากอยู่บนช่อดอกที่เปลี่ยนจากดอกมาเป็นผล แต่ละผลเรียงซ้อนกันคล้ายกับตัวดอก ตัวผลมีสีส้มอมแดง

ประโยชน์สาวน้อยประแป้ง
1. การปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ
การปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ ถือเป็นวัตถุประสงค์หลักสำหรับการปลูกต้นสาวน้อยประแป้ง เนื่องจาก ลำต้นไม่ทิ้งใบ ลำต้นมีอายุนานหลายปี และที่สำคัญ เป็นไม้ประดับที่มีใบขนาดใหญ่ แผ่นใบมีมีลายประลายสีขาวสวยงาม จึงทำให้นิยมปลูกเพื่อการประดับยิ่งนัก โดยเฉพาะการปลูกในกระถางที่สามารถตั้งประดับไว้ได้ทั้งนอกอาคารกลางแจ้ง และในอาคาร นอกจากนั้น ยังใช้เพื่อดูดซับสารมลพิษในอาคารได้อีกด้วย

2. การปลูกเพื่อเป็นไม้มงคล
ต้นสาวน้อยประแป้ง ในนักเล่นว่านบางกลุ่มหรือบางท่านมีความเชื่อว่า ต้นสาวน้อยประแป้งหากปลูกไว้ในเรือนแล้วจะช่วยให้มีโชคลาภ มั่งมีทรัพย์สิน การทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง ทั้งแก่ผู้ปลูกเอง และแก่บริวารในบ้าน

สรรพคุณสาวน้อยประแป้ง
ไม่พบรายงานทางด้านสรรพคุณหรือคุณสมบัติเด่นทางยาของสาวน้อยประแป้ง แต่พบรายงานทางด้านความเป็นพิษของพืชชนิดนี้เป็นหลัก

พิษสาวน้อยประแป้ง
พิษหรืออันตรายจากการรับประทานสาวน้อยประแป้งมีทั้งในระดับที่ไม่รุนแรง หากรับประทานในปริมาณไม่มาก และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากรับประทานมาก และไม่ได้รับการปฐมพยาบาลหรือการรักษาได้ทันท่วงที

วิกิพีเดียภาคภาษาอังกฤษ ได้กล่าวถึงพิษสาวน้อยประแป้งในระดับที่ไม่รุนแรง ซึ่งไม่ได้ระบุว่าปริมาณที่รับประทานเข้าไปเป็นปริมาณเท่าไร [1]

เซลล์ของต้นสาวน้อยประแป้งในทุกส่วนจะประกอบด้วยผลึกแคลเซียมออกซาเลต ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเข็มหรือที่เรียกว่า raphides โดยผลึกแคลเซียมออกซาเลตเมื่อสัมผัสกับผิวหนังหรือเยื่อบุภายในร่างกายจะเกิดการทิ่มแทงต่อเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสที่ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง การรับประทานที่ทำให้ระคายเคืองต่อช่องปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร และลำไส้

อาการที่เกิดจากการสัมผัสต่อผิวหนัง เป็นอาการในระดับที่ไม่รุนแรง และสามารถทำให้หายได้ด้วยการล้างทำความสะอาดออก

อาการที่เกิดจากการรับประทานมีทั้งในระดับที่ไม่รุนแรง และรุนแรง ขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทาน และการปฐมพยาบาลหรือการรักษา

อาการจากการรับประทานในปริมาณไม่มากจะไม่รุนแรง โดยพบอาการที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุต่างๆเริ่มตั้งแต่ช่องปากจนถึงลำไส้ โดยมีอาการแสบร้อนเกิดขึ้น

อาการในระดับที่รุนแรงปานกลาง แต่ทั่วไปหากได้รับการปฐมพยาบาล และการรักษาจะไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต โดยอาการที่รุนแรง ได้แก่ เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนในช่องปาก และในระบบทางเดินอาหาร มีอาการบวมแดงของกระพุ้งแก้ม ลิ้น ลำคอ ทำให้กลืนกินอาหารลำบาก หรือพูดได้ลำบาก รวมถึงการบวมแดงในกระเพาะอาหาร และลำไส้ด้วยเช่นกัน

ส่วนอาการในระดับที่รุนแรงมาก คือ การรับประทานในปริมาณมาก และไม่ได้รับการรักษา โดยผลึกแคลเซียมออกซาเลตจะทิ่มแทงในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะกระเพาะอาหาร และลำไส้จนเกิดการทะลุ ทำให้เลือดคั่งในอวัยวะภายใน และเกิดการติดเชื้อจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน

การปลูกสาวน้อยประแป้ง
1. การปักชำข้อลำต้นหรือยอด
วิธีการปักชำข้อลำต้นหรือยอด เป็นวิธีที่นิยมที่สุด เนื่องจาก สะดวก ทำได้ง่าย รวดเร็ว และได้ต้นพันธุ์จำนวนมาก สามารถใช้ได้ทั้งในต้นที่เตี้ย และต้นสูงยาว

สำหรับต้นเตี้ยหรือไม่สูงมากจะได้เฉพาะการปักชำยอด โดยตัดส่วนยอดให้ยาว 10-15 เซนติเมตร และตัดให้เหลือตอสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อให้ตอแตกยอดใหม่ ส่วนยอดที่ตัดได้จะนำไปปักชำในกระถาง และดูแลต่อจนตากราก

สำหรับต้นสูงยาวจะได้ท่อนส่วนยอด และท่อนส่วนข้ออย่างน้อย 1 ท่อน ขึ้นไป ซึ่งการตัดจะเหมือนกับวิธีแรก คือ ตัดให้เหลือส่วนตอก่อน จากนั้น ตัดส่วนท่อน และส่วนปลาย แล้วนำไปปักชำในกระถางต่อ

2. การแยกเหง้าปลูก
วิธีแยกเหง้าปลูก เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมเช่นกัน แต่ไม่สู้การปักชำต้น เพราะต้นสาวน้อยประแป้งไม่ค่อยแตกหน่อหรือลำต้นใหม่ให้พบเห็นมากนัก มักแตกหน่อใหม่เพียง 1-2 หน่อ ในรอบ หลายปี

การแยกเหง้าหรือหน่อใหม่จะเริ่มแยกตั้งแต่เหง้าแทงออกมาในความสูง 10-15 เซนติเมตร หากหน่อใหม่ยาวหรือลำต้นสูงจะใช้วิธีการตัดต้นเพื่อปักชำเป็นหลัก

3. การตอนต้น
วิธีการตอนต้น ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจาก ต้นสาวน้อยประแป้งเป็นไม้เนื้ออ่อน และอวบน้ำ ทำให้แตกรากด้วยการตอนได้ยาก

เอกสารอ้างอิง
[1] en.wikipedia.org. Dieffenbachia. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2563. เข้าถึงได้ที่ : https://en.wikipedia.org/wiki/Dieffenbachia#Toxicity/.