เร่วหอม เครื่องเทศก๋วยเตี๋ยวเมืองจัน สรรพคุณ ช่องทางตลาด และแหล่งซื้อขาย

Last Updated on 11 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

เร่วหอม เป็นพืชที่นิยมนำเหง้ามาเป็นเครื่องเทศ คล้ายกับข่า ขิง เพราะมีกลิ่นหอมละมุน ไม่หอมฉุน ช่วยเพิ่มรสชาติอาหาร และดับกลิ่นคาว ใช้สำหรับใส่ในอาหารหลายเมนู อาทิ ก๋วยเตี๋ยว แกงป่า ต้มยำ พะโล้ และผัดเผ็ด เป็นต้น

อนุกรมวิธาน
Family (วงศ์) : Zingiberaceae
Genus (สกุล) : Etlingera
Species (ชนิด) : Etlingera pavieana

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Etlingera pavieana (Pierre ex Gagnep.) R.M.Sm.
ชื่อสามัญ :
– Amomumutriculosum
– Amomumsp.
ชื่อท้องถิ่น :
เหนือ
– หมากอี้
– มะอี้
กลาง
– หมากน่ง (สระบุรี)
อีสาน
– หมากเน็ง

ที่มา : [2]

การแพร่กระจาย
พบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1870 ที่ประเทศกัมพูชา โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Pierre J.B.L. เร่วหอมเป็นไม้ล้มลุก เป็นพืชในสกุลเดียวกับขิง ข่า กระวาน ดาหลา และปุด ชอบขึ้นตามป่าเขาบริเวณที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะตามลำห้วย ลำธาร พบแพร่กระจายในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ส่วนในประเทศไทยพบแพร่กระจายมากในภาคตะวันออกจังหวัดจันทบุรีบริเวณเขาสอยดาว จังหวัดระยองบริเวณเขาชะเมา และตราดบริเวณเกาะช้าง โดยชาวบ้านนิยมนำต้นจากป่ามาปลูกตามสวนหลังบ้าน ตามหัวไร่ปลายนาเพื่อใช้ประกอบอาหาร

ที่มา : [1], [3]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เหง้า และลำต้น
ลำต้นเร่วหอมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ลำต้นแท้ที่เป็นหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน และลำต้นเทียมที่เป็นส่วนเหนือดิน มีลักษณะกลม สีเขียว ที่ประกอบด้วยกาบใบเรียงซ้อนกัน สูงประมาณ 50-150 เซนติเมตร

ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเยื้องสลับใบกัน ใบเป็นรูปหอก เรียวยาว กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 30-50 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น 1-1.5 เซนติเมตร

ดอก
ดอกออกเป็นช่อ แทงออกบริเวณเหง้า ก้านช่อดอกสั้น ช่อดอกกลม ดอกย่อยมีกลีบดอกสีแดงสดใส

ผล
ผลเป็นรูปขอบขนาน มี 3 สัน ผลแห้งมีสีน้ำตาล เมื่อแห้งจัดจะปริแตก

สารสำคัญที่พบ
– 4-methoxycinnamyl 4-coumarate
– p-anisic acid
– p-hydroxy benzaldehyde
– 4-methoxycinnamyl alcohol
– p-coumaric acid
– trans-4-methoxycinnamaldehyde
– (E)-methyl isoeugenol
– trans-anethole
– p-anisaldehyde

ที่มา : [2]

สรรพคุณเร่วหอม
เหง้า
เหง้านำมาต้มน้ำดื่มหรือใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร มีสรรพคุณ อาทิ
– ช่วยลดไข้
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– แก้ลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
– ต้านการอักเสบ
– ต้านอนุมูลอิสระ
– ต้านโรคเบาหวาน

ดอก
– ช่วยลดไข้
– ใช้ทาลดอาการผื่นคัน

เหง้า
– ช่วยแก้ไข้
– รักษาอาการริดสีดวงทวาร
– แก้ไอ ขับเสมหะ
– แก้หอบหืด
– ใช้เป็นยาขับลม
– แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

ที่มา : [2], [3]

ประโยชน์เร่วหอม
เหง้า
– เหง้ามีกลิ่นหอมละมุน ไม่หอมฉุนเหมือนเครื่องเทศชนิดอื่น ใช้สำหรับประกอบอาหารหลากหลายเมนู ช่วยเพิ่มรสชาติอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาว อาทิ ก๋วยเตี๋ยว แกงป่า ต้มยำ พะโล้ และผัดเผ็ด เป็นต้น โดยเฉพาะชาวจันทบุรีที่นิยมนำหัวเร่วหอมมาสับเป็นชิ้นๆ ต้มใส่น้ำก๋วยเตี๋ยว ทำให้น้ำก๋วยเตี๋ยวมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างจากที่อื่น
– เหง้าแก่ ตำบดให้ละเอียด ใช้เป็นส่วนผสมของพริกแกง
– เหง้าอ่อนหรือหน่ออ่อนนำมาลวกจิ้มน้ำพริก
– สร้างรายได้ โดยเฉพาะชาวจังหวัดจันทบุรี และใกล้เคียงได้แปรรูปหัวเร่วหอมที่นำมาตากแห้ง และบดเป็นผง ก่อนจะผสมกับเครื่องเทศอื่น หรือ แบบไม่ผสม บรรจุถุงออกจำหน่ายในพื้นที่ และต่างจังหวัดสำหรับใช้ทำเครื่องแกง พริกแกง ใส่ในก๋วยเตี๋ยว หรือ ใช้ประกอบอาหารอื่นๆ

ลำต้น
– แก่นลำต้น นิ่มกรอบ มีกลิ่นหอม ใช้ลวกกินกับน้ำพริก ใช้ประกอบอาหาร อาทิ ผัดเผ็ด แกงป่า แกงเลียง เป็นต้น
– ลำต้นใช้เป็นเชือกรัดของ นำมาต้มหรือแช่น้ำใช้ทอเป็นเส้นใย

ที่มา : [3]

วิธีปลูกเร่วหอม
การปลูกเร่วหอมจะคล้ายกับการปลูกข่า ปลูกขิงทั่วไป คือ ให้ขุดเหง้าพร้อมลำต้น ก่อนตัดลำต้นให้เหลือประมาณหนึ่งศอก แล้วขุดหลุมปลูก ฝังเหง้าลงหลุม กลบเหง้าให้ทั่วก็เป็นอันแล้วเสร็จ โดยหลังปลูกให้รดน้ำ1-2 วัน / ครั้ง จนปลูกติดประมาณ 1-2 อาทิตย์ หลังจากนั้น เหง้าเร่วหอมก็จะแทงราก แทงใบ และแตกเหง้าใหม่เพิ่ม

ช่องทางการตลาด และแหล่งซื้อขาย
สำหรับการแปรรูปเร่วหอมเพื่อจำหน่าย ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจขนาดเล็กหลายแห่ง ทั้งจำหน่ายแบบสด และแบบแห้ง ที่สับเป็นชิ้นๆขนาดเล็ก หรือ บดเป็นผง แล้วบรรจุซองส่งจำหน่าย

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์
– ยี่ห้อบ้านเร่วหอม สถานที่ผลิต ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โทร. 089-9349344 หาซื้อได้ที่ lazada และ shopee

เอกสารอ้างอิง
[1] พงศักดิ์ พลเสนา. 2550. เร่วหอมพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของไทย
และรายงานการพบ “ผลเร่วหอม” ครั้งแรก.
[2] เอกรัฐ ศรีสุข และ กล่าวขวัญ ศรีสุข. (2555). การศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจาก
ต้นเร่วหอมและว่านสาวหลง.
[3] ศศิวิมล ดีกัลลา. 2556. ศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์การต้าน
จุลชีพของน้ำมันหอมระเหยจากเร่วหอม.