แมลงค่อมทอง แมลงศัตรูพืชกัดกินใบ การระบาด และวิธีกำจัด

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

แมลงค่อมทอง (Green weevil) จัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งพบการแพร่ระบาดได้ทั้งในพืชผัก ข้าว และไม้ผล โดยพบแพร่ระบาดมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ของทุกปี โดยเฉพาะในข้าวไร่ และไม้ผลบางชนิด

อนุกรมวิธาน
• วงศ์ (family): Curculionidae
• สกุล (genus): Coleoptera

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hycomeces squamosus Fabricius
• ชื่อสามัญ :
– Green weevil
– snout weevil

• ชื่อท้องถิ่น :
– แมลงค่อมทอง
– แมลงค่อม
– แมลงกอม
– แมลงช้างก๊อบ
– ด้วงงวงกัดกินใบ

ลักษณะแมลงค่อมทอง
แมลงค่อมทอง เป็นแมลงจำพวกด้วงงวงปีกแข็ง มีลักษณะลำตัวรียาว ลำตัวยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ทั่วลำตัวมีสีเหลืองอมเขียวอ่อน แวววาวคล้ายโลหะ และมีหลากหลายสี ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนตามสีของชนิดพืชที่หลบอาศัยหรือตามชนิดของแหล่งอาหาร โดยแบ่งช่วงลำตัวเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง

ส่วนหัวมีลักษณะสั้น และทู่ ยื่นโค้งไปด้านหน้า และไม่ยื่นแทรกเข้าไปในส่วนอก ส่วนปลายของหัวมีปากแบบกัดอยู่ด้านหน้าสุดยื่นออกมาเป็นงวงที่มองเห็นได้ชัด ตัวปากมีขนาดสั้น และกว้าง ด้านข้างมีหนวดแบบรูปกระบอง จำนวน 1 คู่ ด้านบนมีตาสีดำ 1 คู่

ส่วนอกมีขนาดสั้น มีขา 1 คู่ อยู่บริเวณด้านบนของส่วนอก ถัดมาเป็นส่วนท้อง ด้านบนของท้องมีลักษณะนูนโค้ง มีปีก 2 คู่ปกคลุม ประกอบด้วยปีกแข็งปกคลุม 1 คู่ มีลักษณะเป็นร่องตามแนวยาวของแผ่นปีก ถัดมาล้านล่างเป็นปีกอ่อนที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆอีก 1 คู่ ส่วนด้านล่างท้องมีขา 2 คู่ โดยขาคู่แรกอยู่บริเวณปลายส่วนท้อง และอีก 1 คู่ อยู่บริเวณกลางส่วนท้อง

แมลงค่อมทองเพศเมียจะขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ขนาดกว้างประมาณ 4.5-5.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 14-15 มิลลิเมตร ส่วนเพศผู้มีขนาดเล็กว่า ขนาดกว้างประมาณ 4.5-5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 13.5-14.5มิลลิเมตร

วัฎรจักรชีพ
แมลงค่อมทองตัวเต็มวัยเพศเมียจะมีอายุยืนยาวกว่าเพศผู้ คือ ประมาณ 4-12 เดือน ส่วนเพศผู้จะมีอายุประมาณ 2-8 เดือน

แมลงค่อมทองเพศเมียจะวางไข่ในดิน โดยเลือกวางไข่บริเวณใกล้กับแหล่งอาหารเป็นหลัก เช่น คันนา หรือแปลงนาที่ไม่มีน้ำท่วมขัง ทั้งในระยะก่อน และหลังปลูกข้าว โดยเพศเมีย 1 ตัว จะวางไข่ได้ประมาณ 40-130 ฟอง

ไข่แมลงค่อมทองมีลักษณะกลมรีขนาดเล็ก ผิวเปลือกไข่มีสีขาวครีม ผิวราบเรียบ และเป็นมัน โดยมีระยะไข่ประมาณ 7 วัน จากนั้น จะฟักไข่ออกเป็นระยะตัวหนอนมีรูปร่างเป็นตัว C ไม่มีขา ซึ่งระยะนี้ตัวหนอนจะไต่เข้ากัดกินรากพืช และเยื่อต้นอ่อนของพืชเป็นอาหาร โดยระยะแรกของตัวหนอนจะมีสีขาวใส และเมื่อเติบโตขึ้นผิวหนังลำตัวก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น โดยมีชีวิตในระยะตัวหนอนประมาณ 22-37 วัน ก่อนที่ตัวหนอนจะซอนไซลึกลงดินหรือโพรงใต้ดินเพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ โดยระยะดักแด้จะใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน ตัวระยะดักแด้จะพัฒนาจนมีสีเหลือง และมองเห็นเป็นส่วนปีกยื่นออกมา ก่อนจะลอกคราบกลายเป็นแมลงค่อมทองที่สามารถบินได้

ลักษณะอุปนิสัย และการกินอาหาร
แมลงค่อมทอง เป็นแมลงที่ชอบหลบอาศัยหรือหากินเป็นกลุ่มหรือฝูง ซึ่งอาจพบรวมกันเป็นฝูงใหญ่หรืออยู่กันเป็นคู่ๆ พบอาศัยหรือกินอาหารตามต้นไม้หรือพืช หากมีแรงกระทบหรือแรงสั่น แมลงค่อมทองจะหยุดนิ่ง และทิ้งตัวลงร่นลงสู่พื้นด้านล่าง และหากไม่มีแรงกระทบต่อบางตัวจะบินหนีไปที่อื่นหรือบางตัวจะวอนไซหลบตามกองหญ้าหรือซอนไซขุดดินหลบ

อาหารของแมลงค่อมทองจะเป็นใบพืชอ่อนหลากหลายชนิด อาทิ ใบต้นคูน ใบต้นพันชาด รวมถึงพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ทุเรียน และลำไย เป้นต้น โดยเฉพาะใบของต้นข้าว เป็นต้น

การเป็นแมลงศัตรูพืช
แมลงค่อมทอง จัดเป็นแมลงศัตรูพืชที่ชอบกัดกินใบอ่อน และดอกของพืช ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และตัวดอกไม่เจริญทำให้ไม่พร้อมสำหรับการผสมเกสร โดยมักพบระบาดมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จากนั้น จะค่อยๆลดการระบาดลงตามจำนวนประชากรที่ลดลงตามฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะพบปริมาณน้อยมาก

แมลงค่อมทองศัตรูพืชในนาข้าว
แมลงค่อมทอง เป็นแมลงศัตรูของข้าวชนิดหนึ่ง ซึ่งพบการระบาดมากในข้าวไร่ โดยพบการแพร่ระบาดมากในภาคเหนือที่เป็นแหล่งปลูกข้าวไร่ พบแมลงค่อมทองในระยะหนอนระบาดเข้ากัดกินราก และลำต้นส่วนใต้ดิน รวมถึงเยื่ออ่อนของลำต้นเหนือดิน ทำให้ต้นข้าวมีลักษณะเหลืองซีด และแห้งตาย โดยพบระบาดมากในฤดูการทำข้าวไร่ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ทั้งในระยะต้นกล้าจนถึงระยะแตกกอข้าว

การป้องกัน และกำจัด [1]
การป้องกัน และกำจัดแมลงค่อมทองนั้น มักทำในช่วงที่เริ่มการระบาดเท่านั้น เพราะแมลงชนิดนี้ จะมีช่วงการแพร่ขายพันธุ์ปริมาณมากในช่วงเดียว คือ อยู่ในช่วงต้นฤดูแล้งจนถึงต้นฤดูฝน ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จนถึงพฤษภาคม จากนั้น เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็จะค่อยลดจำนวนลง ดังนั้น การระบาดของแมลงค่อมทองจึงเป็นการระบาดมากในช่วงเดียว

การกำจัดแมลงค่อมทองในช่วงที่เริ่มการระบาด หรือมีการระบาดมากนั้น สามารถทำได้โดย
1. วิธีง่ายๆที่ใช้ได้ทั้งในช่วงเริ่มระบาด และระบาดแล้ว คือ การจับสั่นหรือเขย่าต้น ไม่ว่าจะเป็นพืชผักหรือไม้ยืนต้น ซึ่งเมื่อเขย่าแล้ว แมลงค่อมทองจะร่วงลงดินแน่นิ่ง จากนั้น ค่อยเก็บรวบรวมกำจัดต่อไป
2. โดยการฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลงทั้งในระยะที่เริ่มระบาดหรือระบาดมากแล้ว ด้วยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงจำพวกคาร์บาริล ในอัตรา 30-45 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือสารจำพวกคาร์บาเมท ในอัตรา 10-15 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือสารจำพวกอะซีเฟต 75% เอสพี ในอัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

การป้องกัน
การป้องกันนั้น สามารถทำได้เพื่อลดการแพร่ระบาดให้มีปริมาณน้อยลง แต่ไม่สามารถควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดได้

การป้องกันสามารถทำได้โดยการไถพรวนดินแปลงปลูกหรือแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังการเกี่ยวข้าวเสร็จ และในช่วงฤดูแล้งที่มีสภาพอากาศร้อน ทำให้ช่วยทำลายหรือกำจัดได้ทั้งในระยะไข่ และตัวหนอนได้ส่วนหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง
[1] เชิงชาย เรือนคำปา. 2548. แนวทางพัฒนาการผลิตลำไยของเกษตรกรใน-
ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร.