แมลงตับเต่า แหล่งอาศัย ประโยชน์ และวิธีหาแมลงตับเต่า

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

แมลงตับเต่า (Dredacious diving beetles) จัดเป็นแมลงที่ชาวอีสานนิยมนำมาประกอบอาหารชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีรสมัน และมีโปรตีนสูง มักหาจับในช่วงฤดูแล้งเพื่อใช้ประกอบอาหารในหลายเมนู อาทิ แมลงตับเต่าคั่วเกลือ และป่นแมลงตับเต่า หรือ ใช้เติมใส่ในอาหารเมนูอื่น เช่น แกงหน่อไม้ เป็นต้น

คำว่า ตับเต่า แบ่งได้เป็น 2 คำ คือ ตับ และ เต่า โดยสันนิษฐานว่า คำว่า ตับ อาจถูกเรียกมาจากลักษณะของแมลงตับเต่าที่มีสีดำสนิทหรือมีสีดำอมน้ำตาลคล้ายกับตับ ส่วนคำว่า เต่า อาจถูกเรียกมาจากลักษณะของลำตัวที่มีรูปร่างคล้ายเต่า

อนุกรมวิธาน [1], [3]
• อันดับ (order) : Coleoptera
• วงศ์ (family): Dytiscidae

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cybister Limbatus Fabricius
• ชื่อสามัญ : Dredacious diving beetles, True water beetles
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– แมลงตับเต่า
– ตับเต่า
– ด้วงดิ่ง
ภาคอีสาน
– แมงกี่เต่า
– กี่เต่า

การแพร่กระจาย และแหล่งที่พบ
แมลงตับเต่า เป็นแมลงที่พบได้มากในประเทศเขตอบอุ่น ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค พบได้ในทุกฤดู แต่พบได้มากในฤดูฝน ทั้งบริเวณไหล และน้ำนิ่ง แต่พบได้มากในแหล่งน้ำนิ่ง อาทิ ห้วย หนอง บ่อหรือสระเก็บน้ำ

แมลงตับเต่าจะชอบอาศัยในแหล่งน้ำตื้นๆ เช่น แปลงนาที่มีน้ำขัง หรือ บริเวณขอบสระหรืออ่างเก็บน้ำ โดยขณะที่ลอยตัวบริเวณผิวน้ำมักใช้หัวดิ่งลงด้านล่าง ซึ่งเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่เป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า ด้วงดิ่ง

ลักษณะแมลงตับเต่า
แมลงตับเต่า จัดเป็นแมลงชนิดหนึ่ง แต่มักเรียกทั่วไปว่า แมง ซึ่งลำตัวประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนหัว อก และท้อง

แมลงตับเต่ามีลักษณะลำตัวเป็นรูปไข่ และแบน ทั่วลำตัวทุกส่วนมีผิวแข็งสีดำหรือสีดำอมน้ำตาลหุ้ม ประกอบด้วยส่วนหัวขนาดเล็ก ประกอบด้วยปากแบบกัด และมีหนวด 2 คู่ ที่มุมปาก หนวดมีลักษณะเป็นแบบเส้นด้าย

ส่วนอกมีขนาดเล็กถูกปกคลุมด้วยเปลือกแข็งเป็นหลัก

ส่วนท้องมีขนาดใหญ่ที่สุด ด้านบนเป็นแผ่นครอบปีกที่มีลักษณะเป็นเปลือกแข็ง 2 แผ่น วางชิดกัน ถัดจากเปลือกแข็งจะเป็นส่วนปีก 2 อัน ที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆสีเหลืองอมขาว
ขาประกอบด้วยขา 3 คู่ คู่แรกอยู่บริเวณด้านบนของอก คู่ที่สองอยู่บริเวณด้านบนของท้อง และคู่ที่ 3 หรือ ขาหลัง อยู่บริเวณตรงกลางของท้อง โดยขาหลังเป็นแบบ Swimming legs คือ ปล้องขอส่วนปลายมีลักษณะคล้ายใบพายขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยขนจำนวนมาก ทำให้ช่วยว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งช่วยในการยึดเกาะได้ได้ โดยเฉพาะขณะการผสมพันธุ์

การแยกเพศ
แมลงตับเต่าสามารถแยกเพศด้วยลักษณะภายนอก โดยเพศเมียจะมีลักษณะลำตัวกลมรี ส่วนเพศผู้มีลักษณะเป็นรูปไข่รียาว และหน้าท้องด้านล่างมีแท่งแหลมยื่นยาวขนานไปกับส่วนท้อง ซึ่งแท่งแหลมนี้จะไม่พบในเพศเมีย

แมลงตับเต่าเพศผู้
แมลงตับเต่าเพศผู้
แมลงตับเต่าเพศเมีย

การผสมพันธุ์ และวางไข่
ตัวเต็มวัยของแมลงตับเต่าจะมีอายุประมาณ 6-8 เดือน ซึ่งสามารถที่จะบินหาแหล่งน้ำสำหรับอาศัยได้ในระยะไกลเป็นกิโลเมตร ทำให้สามารถที่จะหาแหล่งน้ำพักอาศัยหรือผสมพันธุ์วางไข่ได้เป็นอย่างดี

แมลงตับเต่าในระยะตัวเต็มวัยสามารถมีชีวิตได้บนบก และจะชอบที่จะบินเข้าหาไฟในเวลากลางคืน แต่แมลงตับเต่าไม่สามารถมีชีวิตหรืออาศัยอยู่บนบกได้ตลอด จึงต้องคอยบินหาแหล่งน้ำสำหรับอาศัยเป็นระยะ โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวถึงหน้าแล้งที่แหล่งน้ำมักแห้ง

การผสมพันธุ์ของแมลงตับเต่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูฝน โดยเลือกแหล่งผสมพันธุ์บริเวณน้ำตื้น โดยเฉพาะบริเวณน้ำขังตามทุ่งนาที่มีพืชน้ำหรือหญ้าขึ้นปกคลุม ก่อนการผสมพันธุ์เพศเมียจะทำรังด้วยการกัดตัดพืชน้ำให้ลอยกระจุกเหนือน้ำ แล้วผลิตฟองน้ำไว้ทั่วเศษพืชน้ำนั้น จากนั้น เมื่อผสมแล้ว เพศเมียจะวางไข่ภายในกลุ่มฟองน้ำที่สร้างขึ้น

อาหาร และการหาอาหาร
แมลงตับเต่าจัดเป็นแมลงตัวห้ำชนิดหนึ่ง คือ มีอาหารหลักเป็นสัตว์น้ำขนาดต่างๆ ซึ่งสัตว์น้ำที่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่านั้น แมลงตับเต่าก็สามารถจับเป็นอาหารได้ จนได้ชื่อว่า water tiger หรือเสือน้ำ

อาหารของแมลงตับเต่า ได้แก่ ลูกอ๊อดของกบหรือเขียดชนิดต่างๆ ลูกน้ำยุง วัยอ่อนของแมลงปอ ปลาหรือลูกปลาขนาดเล็ก เป็นต้น

ประโยชน์แมลงตับเต่า
แมลงตับเต่า เป็นวัตถุดิบทำอาหารที่นิยมของชาวอีสาน มักใช้ทำอาหารหลายอย่าง อาทิ แมลงตับเต่าคั่วเกลือ ที่ใช้สำหรับรับประทานของอาหารว่าง ให้รสมันเค็ม ส่วนอีกเมนูที่นิยม คือ ป่นแมลงตับเต่า ซึ่งใช้เป็นเมนูอาหารหลักทานคู่กับข้าวเหนียวคล้ายกับป่นชนิดอื่น เป็นอาหารที่ให้รสมันเค็ม และเปรี้ยว ขึ้นอยู่กับการปรุงรส และมักทานคู่กับผักนานาชนิด นอกจากนั้น ยังใช้ทำอาหารใส่ในเมนูอื่น อาทิ ใส่ในแกงหน่อไม้หรือแกงเลียง เป็นต้น

แมลงตับเต่าคั่วเกลือ

คุณค่าทางโภชนาการแมลงตับเต่า (แมลงตับเต่าสด 100 กรัม) [2] อ้างถึงในพงศ์ธร และประภาศรี, 1983

Proximates
น้ำ กรัม 61.2
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 149.1
โปรตีน กรัม 21.0
ไขมัน กรัม 7.1
แป้งและน้ำตาล กรัม 0.3
ใยอาหาร กรัม 7.6
เถ้า กรัม 2.8
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 36.7
เหล็ก มิลลิกรัม 6.5
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 204.8
โพแทสเซียม มิลลิกรัม 197.9
โซเดียม มิลลิกรัม 61.5
Vitamins
ไทอะมีน (B1) มิลลิกรัม 0.31
ไรโบฟลาวิน (B2) มิลลิกรัม 3.51
ไนอะซีน (B3) มิลลิกรัม 6.85

วิธีหาแมลงตับเต่า
แมลงตับเต่าสามารถหาจับได้ในทุกฤดู แต่ที่นิยมหาจับมาทำอาหารจะนิยมในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่ช่วงเกี่ยวข้าวไปจนถึงฤดูแล้ง หรือ ประมาณตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน

การจับแมลงตับเต่านิยมใช้สวิงจับเป็นหลัก แต่อาจใช้วิธีอื่นได้ด้วยเช่นกัน เช่น กันใช้ไฟล่อ หรือ ที่มักเรียก ไฟแมงดานั่นเอง โดยการใช้สวิงจับจะใช้สวิงหาซ้อนตามตลิ่งหรือแหล่งน้ำขังตื้นๆ ซึ่งทำได้ง่าย และจับได้ในปริมาณมากในเวลาอันสั้น

ในช่วงหน้าหนาวตั้งแต่เริ่มเกี่ยวข้าวจะหาจับแมลงตับเต่าได้ง่าย เนื่องจาก น้ำในทุ่งนาเริ่มแห้งเกือบหมดแล้ว แต่จะเหลือนาบางแปลงที่มีน้ำขังอยู่ ซึ่งแมลงตับเต่าจะรวมกันอยู่จำนวนมาก โดยการจับนั้นจะต้องเกี่ยวข้าวออกก่อน แล้วทำการจับด้วยสวิงซอนทั่วบริเวณน้ำขังที่เหลือ ซึ่งการจับลักษณะนี้จะจับแมลงตับเต่าได้จำนวนมาก

หลังเกี่ยวข้าวเสร็จหรือเข้าหน้าแล้ง น้ำในทุ่งนาจะแห้งจนหมด แต่จะเหลือน้ำขังตามแหล่งอื่น ได้แก่ แหล่งน้ำบ่อหรือสระเก็บน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำชนิดนี้จะเป็นที่หลบอาศัยของแมลงตับเต่าในช่วงหน้าหนาว และหน้าแล้ง โดยการจับแมลงตับเต่าในแหล่งน้ำประเภทนี้จะใช้สวิงหาซอนตามริมตลิ่งหรือบริเวณที่น้ำไม่ลึกมาก

สถานะการตลาด
แมลงตับเต่าจะพบจำหน่ายในชนบทเท่านั้น และพบจำหามาจำหน่ายในช่วงหน้าหนาวจนถึงหน้าแล้ง ประมาณพฤศจิกายน-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่นิยมรับประทานกันมาก พบจำหน่ายได้บ้างในตลาดนัดชุมชน แต่ทั่วไปมักหาจำหน่ายกันเองในระหว่างครัวเรือนในหมู่บ้านเดียวกัน ราคาจำหน่ายขีดละประมาณ 10-20 บาท หรือ หากขายเป็นตัวก็ประมาณ 2 ตัว/บาท

เอกสารอ้างอิง
[1] น้องนุช สารภี. 2545. การสำรวจแมลงที่ดินได้ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์.
[2] รุจิเรข ชนาวิรัตน์. 2559. ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดจากแมลงทอด-
ที่รับประทานได้บางชนิด หลังทำปฏิกิริยากับ-
ไนไตรท โดยใช้การทดสอบเอมส์.
[3] กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. แมลงตับเต่า. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563. เข้าถึงได้ที่ : http://www.dnp.go.th/FOREMIC/NForemic/LiveInsect/%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87.htm/.

ขอบคุณภาพจาก
-Youtube ช่อง tanu jutapiw ลิ้งค์ https://www.youtube.com/watch?v=JKNcohx7600

– Youtube ช่อง ไทอีสาน สร้างศิลป์ สตูดิโอ ลิ้งค์ https://www.youtube.com/watch?v=agXhN00vyY8