แมลงทับ (Jewel Beetle) แหล่งที่พบ ประโยชน์ และวิธีหาแมลงทับ

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

แมลงทับ (Jewel Beetle) จัดเป็นแมลงสวยงามที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากลำตัว โดยเฉพาะปีกมีหลากหลายสี และแวววาวสวยงาม จึงนิยมนำมาใช้ประโยชน์หลักในด้านการตกแต่ง และเป็นเครื่องประดับ อาทิ ใช้ปีกตกแต่งเสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ และใช้ทำเครื่องประดับต่างๆ อาทิ ตุ้มหู ปิ่นปักผม เข็มกลัด เป็นต้น นอกจากนั้น ตัวแมลงทับยังใช้ประกอบอาหารได้ในหลายเมนู อาทิ แมลงทับคั่วเกลือ ป่นแมลงทับ และแกงหน่อไม้ใส่แมลงทับ เป็นต้น

อนุกรมวิธาน [1], [3]
• อาณาจักร (kingdom): Animalia
• ไฟลัม (phylum): Arthropoda
• ชั้น (class): Insecta
• อันดับ (order): Coleoptera
• วงศ์ (family): Buprestidae
• สกุล (genus): Sternocera
• ชนิด (species): 2 ชนิดในประเทศไทย คือ aequisignata (แมลงทับขาเขียว), ruficomis (แมลงทับขาแดง)

• ชื่อวิทยาศาสตร์ชนิดที่ 1 : Sternocera aequisignata E. Saunder (แมลงทับขาเขียว)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ชนิดที่ 2 : Sternocera ruficomis E. Saunder (แมลงทับขาแดง)
• ชื่อสามัญ :
– Jewel Beetle
– Flying jewels
– Flathead-borers
– Metallic wood-boring
– Gorgeouse beetles
• ชื่อท้องถิ่น :
– แมลงทับ
– แมลงทับขาเขียว (Sternocera aequisignata E. Saunder)
– แมลงทับขาแดง (Sternocera ruficomis E. Saunder)

แหล่งที่พบ และการแพร่กระจาย [2], [3] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
แมลงทับ เป็นแมลงที่พบได้ในทุกภาค แต่พบมากในภาคกลาง เหนือ และอีสาน มีชนิดที่พบทั้งหมด 2 ชนิด คือ แมลงทับขาแดง (Sternocera ruficornis Saunders) และแมลงทับขาเขียว (Sternocera aeguisignata Saunders) พบได้ทั้งในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง แต่พบได้มากในป่าเต็งรัง โดยแมลงทับตัวเต็มวัยจะพบ อาศัยอยู่บนต้นไม้บริเวณกิ่งก้าน และยอดไม้

ผู้ที่สนใจศึกษา และเก็บรวบรวมแมลงทับในประเทศไทยคนแรก คือ ม.ร.ว. จักรทอง ทองใหญ่ นักอนุกรมวิธานกีฏวิทยาคนแรกของไทย ซึ่งได้ทำการศึกษา และเก็บรวบรวมชนิดแมลงทับไว้ที่พิพิธภัณฑ์กีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ซึ่งพบว่า แมลงทับชนิดขาเขียวสามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะขณะนั้นได้พบมากทางภาคเหนือในจังหวัดแพร่ และเชียงใหม่ ส่วนแมลงทับขาแดงจะพบมากในภาคอีสาน อาทิ จังหวัดอุบล และโคราช

ลักษณะแมลงทับ
แมลงทับมีลักษณะลำตัวเป็นรูปหอก ส่วนหัวสอบแคบ ส่วนกลางกว้าง ส่วนท้ายแหลม สีลำตัวทั่วไปมีหลายสี อาทิ สีเขียวมรกต สีน้ำเงินอมเขียว สีเขียวอมทองแดง และเป็นแวววาว ขนาดลำตัวยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร

ส่วนหัวมีขนาดเล็กที่สุด ซ่อนอยู่ใต้ปล้องอกปล้องแรก ส่วนหัวประกอบด้วยตาอยู่ด้านบนสุด มีจำนวน 2 ตา เป็นตาเดี่ยว (oceli) ส่วนหนวดมีขนาดสั้น อยู่ด้านบนของปากเป็นปากแบบฟันเลื่อย (serrate) ส่วนปากมีกรามขนาดใหญ่ อยู่ด้านล่างสุดของส่วนหัวเป็นปากแบบกัดกิน (chewing type)

ส่วนขามีทั้งหมด 3 คู่ แบ่งเป็นขาคู่หน้า 1 คู่ อยู่บริเวณส่วนบนของอก ขาคู่กลาง 1 คู่ อยู่บริเวณส่วนบนของท้อง และขาคู่ท้าย 1 คู่ อยู่บริเวณส่วนกลางของท้อง ทั้งนี้ สีของขาแมลงทับแบ่งได้ 2 สี ตามชนิดที่พบในประเทศไทย คือ ขาสีแดง และขาสีเขียว

แมลงทับขาเขียว
แมลงทับขาแดง

ส่วนท้อง เป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่ และยาวที่สุด มีจำนวนปล้อง 9 ปล้อง เรียวแคบไปทางด้านท้าย โดยด้านบนส่วนท้องเป็นบริเวณของปีก ประกอบด้วยปีก 2 คู่ คือ ปีกคู่หน้าที่อยู่ด้านบนสุด เป็นปีกแบบแข็ง (elytra) และปีกคู่หลังที่อยู่ด้านล่างติดกับแผ่นท้องด้านบน เป็นปีกแบบบางใส (membrane)

รูหายใจของแมลงทับมีจำนวน 9 คู่ คู่แรกอยู่บริเวณอกระหว่างอกปล้องแรกกับปล้อง 2 ส่วนอีก 8 คู่ อยู่บริเวณท้อง โดยแยกกันอยู่แต่ละปล้องตั้งแต่ปล้องท้องที่ 1-8

วัฏจักร และการกินอาหาร [2] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
แมลงทับตัวเต็มวัยจะพบอาศัยตามต้นไม้ สามารถพบได้มากในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ซึ่งจะเริ่มผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนกันยายน โดยบินลงไปวางไข่ในดินบริเวณที่มีซากพืชหรือซากใบไม้ ไข่มีลักษณะคล้ายไข่ไก่สีเหลืองขนาดเล็ก

ใบต้นแดง

ใบพันชาด

แมลงทับในระยะตัวอ่อนหรือในระยะหนอนจะมีลำตัวขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ในดินหรือโพรงดิน อาหารของระยะหนอนจะเป็นรากพืชหรือรากต้นไม้เป็นอาหาร รวมถึงซากพืชที่อยู่ในดิน นอกจากนั้น ยังชื่นชอบกินใบอ่อนของพืชบางชนิดที่เป็นพืชพุ่มเตี้ยหรือพืชระดับล่าง อาทิ ไผ่เผ็ก ไผ่โจด เป็นต้น และเมื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ ตัวหนอนจะเข้าไปฝักตัวเป็นดักแด้หลบอาศัยในโพรงดิน ส่วนแมลงทับตัวเต็มวัยจะกินใบอ่อนของไม้พืชชนิดต่างๆ เป็นอาหาร อาทิ ไผ่เผ็ก ใบมะม่วง ใบมะขามเทศ ใบใบจิก ใบพันชาด ใบมะค่าแต้ ใบเสี้ยวใบมะม่วงหิมพานต์ และใบกระถินณรงค์ ใบกระบก ใบประดู่ ใบตะแบก เป็นต้น

หนอนแมลงทับ

ประโยชน์แมลงทับ
1. แมลงทับใช้ประกอบอาหารในเมนูต่างๆ อาทิ แมลงทับคั่วเกลือ แมลงทับย่างไฟ ป่นแมลงทับ และแกงหน่อไม้ใส่แมลงทับ เป็นต้น
2. ปีกแมลงทับมีหลากหลายสี มีความแวววาว และมีความคงทน จึงนิยมใช้ประดับตกแต่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ กะติ๊บข้าวหรือกล่องข้าว ตระกร้า กระเป๋า เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ รวมถึงเครื่องประดับต่างๆ อาทิ ตุ้มหู ปิ่นปักผม เข็มกลัด เป็นต้น
3. ในเชิงการค้า ตัวแมลงทับถูกขายสำหรับทำอาหาร ส่วนปีกแมลงทับนำมาขายสำหรับทำเครื่องประดับ
4. ในด้านระบบนิเวศ แมลงทับในระยะตัวหนอนเป็นตัวช่วยในการย่อยสลายซากพืช และมูลที่ขับถ่ายออกมาจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

เข็มกลัดแมลงทับ

ต่างหูแมลงทับ

การนำปีกแมลงทับมาใช้ประโยชน์ที่ทำให้รู้จัก และนิยมชมชอบเป็นอย่างมาก คือ ในปี พ.ศ. 2498 เมื่อในคราวที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน ซึ่งขณะนั้นมีราษฎรได้นำปีกแมลงทับมาถวายเป็นจำนวนมาก ซึ่งพระองค์ทรงได้เก็บรักษาไว้มาตลอด และครั้ง พ.ศ. 2525 เมื่อคราวการสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 โดยสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จเข้าเลือกผ้าเพื่อใช้ในพิธีในท้องพระคลัง ซึ่งพบว่า ผ้าทรงสะพักในสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่มีการตกแต่งด้วยปีกแมลงทับนั้น ปีกแมลงทับดังกล่าวยังคงมีความแวววาวสวยงามนัก จึงทรงมีพระราชดำริให้นำปีกแมลงทับที่ครั้งเสด็จในภาคอีสานมาใช้ประดับในงานศิลปาชีพที่พระองค์ได้จัดตั้งขึ้น อีกทั้งพระองค์เองยังได้ทรงฉลองพระองค์ที่ประดับด้วยปีกแมลงทับเช่นกัน

วิธีหาแมลงทับ
แมลงทับ เป็นแมลงที่ไวต่อการสั่นสะเทือน กล่าวคือ เมื่อมีแรงสั่นสะเทือนมาก เช่น การเขย่าต้นไม้หรือกิ่งไม้ แมลงทับจะหยุดนิ่ง และหยุดการเกาะจับกับกิ่งไม้หรือใบไม้ แล้วทิ้งตัวลงสู่พื้นที่ ดังนั้น การหาแมลงทับจะใช้วิธีการเขย่าต้นไม้หรือกิ่งไม้ให้สั่น หรือ ใช้ไม้ฟาดหรือตีตามกิ่งให้สั่น

ก่อนการเขย่าต้นไม้ให้แมลงทับร่วงลงดิน ผู้หาอาจใช้ 2 วิธีในการหาแมลงทับ คือ
1. เพื่อให้แน่ใจว่าต้นไม้ชนิดนั้นมีแมลงทับอาศัยอยู่หรือไม่ก็จะใช้วิธีมองหาตัวแมลงทับตามกิ่งไม้หรือใบไม้ ก่อนจะเขย่าต้นไม้ให้แมลงทับร่วงลงพื้น
2. หากต้นไม้สูงใหญ่ กิ่งมาก และใบหนาทำให้มองหาตัวแมลงทับได้ยาก ก็จะใช้วิธีสุ่มแทน โดยจะเลือกชนิดต้นไม้ที่เป็นอาหารของแมลงทับเท่านั้น ก่อนจะใช้การเขย่ากิ่งหรือไม้ยาวๆตีฟาดตามกิ่ง หรือ อาจใช้ไม้ขว้างตามกิ่งหรือยอดไม้ก็ได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง
[1] สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้, แมลงทับขาเขียว, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563, เข้าถึงได้ที่ : http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_dofinsect&id=902&view=showone&Itemid=73/.
[2] อโนทัย วิงสระน้อย และคณะ. 2555. แก่นเกษตร. ผลของระยะและชนิดพืชอาหารต่ออายุตัวเต็มวัยของแมลงทับขาแดง. (40) 249-256.
[3] นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว. 2542. ลักษณะทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาบางประการ-
ของแมลงทับขาแดงในป่าเต็งรังบริเวณ-
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช.

ขอบคุณภาพจาก
– อโนทัย วิงสระน้อย และคณะ. รายงานวิจัย. 2550. อิทธิพลของพืชอาหารต่อการเจริญเติบโตและ-
อัตราแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงทับ.