โทลูอีน (Toluene) การผลิต การใช้ประโยชน์ และพิษโทลูอีน

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

โทลูอีน (Toluene) จัดเป็นสารในกลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวทำละลาย มีกลิ่นเหมือนเบนซีน แต่มีความเป็นพิษน้อยกว่า และระเหยได้ช้ากว่า ผลิตได้จากผลพลอยได้ (By-product) ของอุตสาหกรรมถ่านหิน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

คุณสมบัติเฉพาะ เพิ่มเติมจาก [1], [2], [3], [5]
• CAS Number : 108-88-3
• UN Number : 1294
• ชื่อทางการค้า (Trade Name) : โทลูอีน (Toluene),โทลูออล (Toluol)
• ชื่อทางเคมี (Chemical Name) : Methyl-Benzene
• ชื่ออื่นๆ (Synonyms) :
– Toluol
– Methylbenzol
– Monomethyl benzene
– Methacide
• สูตรทางเคมี (Chemical Formula) : C7H8
• มวลโมเลกุล (Molecular Weight) : 92.13
• ลักษณะทางกายภาพ (physical properties) : ของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นหอมหวาน
• จุดเดือด (Boiling point) : 110.6 องศาเซลเซียส
• จุดหลอมเหลว (Melting point) : -95 องศาเซลเซียส
• จุดวาบไฟ (Flash point) : 6-10 องศาเซลเซียส
• อุณหภูมิที่ติดไฟได้เอง (Auto ignition temperature) : 480 องศาเซลเซียส
• อัตราส่วนในอากาศที่เกิดระเบิด/ติดไฟ : 1.2 – 8 % (v)
• ขีดจำกัดการติดไฟ (Flammable limits) : ค่าต่ำสุด (LEL) 1.27 ค่าสูงสุด (UEL) 7.1
• ความดันไอ (Vapor pressure) : 36.7 มิลลิเมตรปรอท (30 องศาเซลเซียส)
• ความหนาแน่นไอ (Vapor Density) : 3.2
• ความหนาแน่น (Density) : 0.8669 (กรัม/มล. ที่ 20 องศาเซลเซียส)
• ความถ่วงจำเพาะ (specific gravity, SG) : 0.8623 (ที่ 20 องศาเซลเซียส)
• ค่าคงที่เฮนรี่ (Henry’s law constant) : 6.74 x 10-3 ลบ.ม.-บรรยากาศ (25 องศาเซลเซียส)
• การละลาย (Solubility) : ละลายน้ำได้ 0.5 g.kg-1 ที่ 20°C และละลายได้ดีในเบนซีน แอลกอฮอล์ คลอโรฟอร์ม อะซิโตน และอีเทอร์ เป็นต้น
• สารที่ต้องหลีกเลี่ยง (Materials to Avoid) : สารออกซิไดซ์ซิ่งเอเจนท์ (Oxidizing agents) อย่างแรง, วัตถุระเบิด, สารรังสี, ไนโตรเจนเตตระออกไซด์ (Nitrogen tetraoxide)

สูตรโครงสร้าง (Structure formula)
การผลิต
ในช่วงหลังศตรรษที่ 19 โทลูอีนสามารถผลิตได้จากผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมถ่านหินเป็นหลัก โดยได้จาก gas และ coal tar ในกระบวนการผลิตถ่านหิน แต่หลังจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน การผลิตโทลูอีนจะได้จากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นหลัก โดยแบ่งการผลิตออกเป็น 2 แหล่ง คือ
1. อุตสาหกรรมถ่านหิน โดยได้จาก gas และ coal tar
2. อุตสาหกรรมปิโตรเลียม แบ่งเป็น
– ได้จากกระบวนการ Dehydration ของสารกลุ่มแนฟทาลีน (naphthalin)
– ได้จากกระบวนการ Cyclization และ Aromatization ของสารกลุ่มพาราฟินไฮโดรคาร์บอน (Parafin Hydrocarbon)

โทลูอีนที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวันสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย ฮ่องกง ปากีสถาน สวิตเซอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม

ส่วนภาคการผลิตในประเทศไทยมีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท อะโรเมติกส์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสารโทลูอีน และสารเคมีกลุ่มอะโรมาติก โดยมี บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

การใช้ประโยชน์โทลูอีน
1. กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่
– ใช้เป็นตัวทำละลาย (solvent) หรือทินเนอร์ (thinner) ในอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเกี่ยวกับสี อาทิ สีพ่นรถยนต์ สีทาบ้าน สีสเปรย์ งานพิมพ์สี เป็นต้น รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นที่ใช้ควบคู่กัน อาทิ น้ำมันชักเงา กาว เรซิน ยาง และพลาสติก เป็นต้น
– ใช้เป็นสารตั้งต้น และเป็น intermediate ในการผลิตสารเคมีหลายชนิด เช่น ซัคคาริน เบนซีน ฟีนอล กรดเบนโซอิค เบนซาลดีไฮด์ เบนซิลอัลกอฮอล์ และสารอนุพันธ์ของคลอไรด์ รวมถึงใช้ในกระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์น้ำหอม และเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยากำจัดวัชพืช และยาฆ่าแมลง
– ใช้ในอุตสาหกรรมเส้นใย อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมผลิตหนังเทียม อุตสาหกรรมกระดาษสำหรับการเคลือบกระดาษ และใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตยางมะตอย
2. ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะสามารถเพิ่มค่าออกเทนได้
3. ใช้เป็นตัวทำละลายในการเตรียมสารเคมี หรือ ใช้เป็นตัวทำละลายสำหรับการสกัดสารจากพืชหรือสัตว์ในห้องปฏิบัติการ อาทิ ใช้เป็นตัวทำละลายในการสังเคราะห์และวิเคราะห์พอลิเมอร์ เนื่องจากโทลูอีนสามารถละลายสารพอลิเมอร์ได้ดี และระเหยออกจากพอลิเมอร์ได้ง่าย
4. ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาทำความสะอาด หรือ ใช้โดยตรงสำหรับทำความสะอาดคราบสี ทั้งในครัวเรือน และอุตสาหกรรม

มาตรการควบคุม
โทลูอีน จัดอยู่ในประเภทที่ 3 ของ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หากมีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาตก่อน

ความเป็นพิษโทลูอีนต่อร่างกาย [2], [5]
เมื่อโทลูอีนเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบสมองและประสาทส่วนกลาง ระบบการหายใจ ตับ ไต ตา และผิวหนัง โดยเกิดพิษได้ 2 ลักษณะ ได้แก่
1. ความเป็นพิษเฉียบพลัน (Acute toxicity)
โทลูอีนเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ทำให้ผู้สูดหายใจเข้าไปเกิดอาการมึนงง และมีความเป็นพิษแบบเฉียบพลันรุนแรงกว่าเบนซีน โดยปริมาณความเข้มข้นที่ก่อให้เกิดพิษแบบเฉียบพลันต่อมนุษย์

ความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของโทลูอีนที่มีต่อมนุษย์

ปริมาณความเข้มข้น

(ppm)

ระยะเวลาที่สัมผัส

(ชั่วโมง)

ผลที่เกิดขึ้น
2.5 รู้สึกได้กลิ่น
3.7 คนทั่วไปสามารถรู้สึกได้
50-100 ไม่สังเกตเห็นอาการความแตกต่างหลังการสัมผัส แต่ในบางรายที่แพ้ต่อสารง่ายอาจแสดงอาการอ่อนเพลีย และเหนื่อยล้าง่าย
200 8 แสดงอาการบ้างเล็กน้อยได้แก่ อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ความคิดสับสนเกิดอาการชาที่ผิวหนัง อาการเหนื่อยล้าจะคงอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง และเกิดอาการนอนไม่หลับ และกระวนกระวาย และความคิดสับสน
300 8 เกิดอาการคล้ายคลึงกับอาการที่เกิดกับความเข้มข้น 200 ppm แต่อาการที่เกิดจะเด่นชัดขึ้น
400 8 เกิดอาการคล้ายคลึงกับอาการที่เกิดกับความเข้มข้น 300 ppm ร่วมกับมีอาการจิตใจฟุ้งซ่านสับสน
600 3 เกิดอาการมึนงง เหนื่อยและเมื่อยล้ามาก จิตใจฟุ้งซ่านและสับสนคลื่นเหียน ปวดศีรษะและเวียนศีรษะบางรายถึงกับหมดสติ
800 เกิดอาการคล้ายคลึงกับอาการที่เกิดกับความเข้มข้น 600 ppm แต่ใช้เวลาสัมผัสน้อยกว่า
มากกว่า 800 เกิดอาการคล้ายคลึงกับอาการที่เกิดกับความเข้มข้น 800 ppm ร่วมกับอาการอื่น เช่น โลหิตจาง และตับโต

ความเป็นพิษแบบเฉียบพลันที่มีต่อสัตว์ทดลอง

ชนิดของสัตว์ทดลอง ลักษณะความเป็นพิษ ปริมาณที่ก่อให้เกิดพิษ (dose)
หนู oral LD50 5,000 mg/kg
หนู ip LD50 1,640 mg/kg
กระต่าย dermal LD50 14,000 mg/kg
หนู inhal LCLO 4,000 ppm ในเวลา 4 ชั่วโมง
หนู inhal LC50 5,300 ppm

หมายเหตุ :
Oral LD50 = ปริมาณสารพิษที่เข้าไปโดยทางปากซึ่งทำให้สัตว์ทดลองตายไป 50 %
ip LD50 = ปริมาณสารพิษที่เข้าไปโดยการฉีดเข้าช่องท้องซึ่งทำให้สัตว์ทดลองตายไป 50 %
Dermal LD50 = ปริมาณสารพิษที่เข้าไปโดยทางผิวหนังซึ่งทำให้\สัตว์ทดลองตายไป 50 %
Inhal LCLO = ปริมาณต่ำสุดของสารพิษที่ทำให้สัตว์ทดลองที่หายใจเข้าไปตาย
inhal LC50 = ปริมาณสารพิษที่เข้าไปโดยการหายใจซึ่งทำให้สัตว์ทดลองตายไป 50 %

2. ความเป็นพิษเรื้อรัง (Chronic toxicity)
สำหรับกรณีเรื้อรัง จะมีอาการของระบบสมองและประสาทส่วนกลางเรื้อรัง ได้แก่ ความจำเสื่อม สูญเสียสมาธิ เสื่อมความสามารถทางปัญญา สูญเสียความคิดริเริ่ม ขาดความสนใจในสิ่งรื่นเริง ต้องการนอนมากขึ้น อ่อนเพลีย มีอารมณ์เศร้ากังวล อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย และกระวนกระวาย ทั้งนี้ ความเป็นพิษแบบเรื้อรัง จะไม่ถึงขั้นก่อให้เกิดความมึนงงแบบรุนแรง หรือ การเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือด แต่จะก่อให้เกิดความไม่สัมพันธ์ของการเคลื่อนไหว (Impairment of co-ordination) และระบบประสาทสัมผัสไม่ดี (Reaction time) ซึ่งมีผลทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น ผิวหนังไม่มีไขมัน และผิวหนังอักเสบ

การเปลี่ยนแปลงทางเคมีเมื่อเข้าสู่ร่างกาย [4]
สำหรับ Pathway ของสารโทลูอีน เริ่มตั้งแต่การรับสัมผัสสาร (Exposure) การดูดซึม (Absorption) การกระจายตัว (Distribution) เมแทบอลิซึม (Metabolism) และการกำจัดสารออกจากร่างกาย (Excretion) โดยโทลูอีนจะถูกดูดซึมเข้าทางปอด และผิวหนัง เข้าสู่กระแสโลหิตแล้วจึงกระจายไปทั่วร่างกาย และมีระดับสูงในอวัยวะที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบ และเลือดไปเลี้ยงมาก ที่พบมากจะอยู่เนื้อเยื่อไขมัน รองลงมา ได้แก่ ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ไต ตับ สมอง และเลือด ตามลำดับ และเมื่อถูกดูดซึมเข้าไปแล้วจะมีค่าครึ่งชีวิต (Half life) เพียง 3-40 ชั่วโมง หากหยุดการได้รับเข้าสู่ร่างกาย ก็จะถูกขับถ่ายออกได้อย่างรวดเร็ว ปริมาณที่ถูกดูดซึมมีไม่เกินร้อยละ 10 ที่จะถูกขับถ่ายออกทางลมหายใจ โดยไม่เปลี่ยนแปลงรูป ส่วนใหญ่จะถูกแมทาบอไลต์ เนื่องจาก ตำแหน่ง Methyl ของโทลูอีนจะถูกแมทาบอไลต์ง่ายกว่าตำแหน่งของเบนซีน (Benzene) จึงถูกแมทาบอไลต์โดยระบบเอนไซม์ Cytochrome P450 monooxygenase ที่ผลิตจากตับได้เป็น Benzyl alcohol ร้อยละ 95 กับ Methylbenzene epoxide ร้อยละ 5 จากนั้น Benzyl alcohol จะถูกเอนไซม์ Alcohol dehydrogenase ในร่างกายเปลี่ยนรูปไปเป็น Benzaldehyde Benzoic acid ซึ่งจะคอนจูเกต (Conjugate) กับ Glycine ในร่างกายเป็นกรดฮิพพิวริกในที่สุด ส่วน Methylbenzene epoxide จะถูกเปลี่ยนเป็น o-Cresol และ p-Cresol แมทาบอไลต์ในปัสสาวะจึงตรวจพบกรดเบนโซอิค และกรดฮิพพิวริกเป็นหลัก

ขีดจำกัดที่แนะนำ และขีดจำกัดทางกฎหมาย
1. National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH) หรือ สถาบันอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานของประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดค่าปริมาณความเข้มข้นเฉลี่ยของโทลูอีนตลอดระยะเวลาการทำงานปกติ 8 ชั่วโมงต่อวัน TLV-PEL (Threshold Limit Value-Permissible Exposure Limit) ไม่เกิน 100 mg.L-1
2. Occupational Safety and Health Administration (OSHA) หรือ องค์การบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัย แห่งสหรัฐอเมริกา กำหนดปริมาณความเข้มข้นเฉลี่ยของโทลูอีนตลอดระยะเวลาการทำงานปกติ 8 ชั่วโมงต่อวันไม่เกิน 200 mg.L-1
3. American Conference of Governmental Industrial Hygienists (ACGIH) หรือหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดค่าปริมาณความเข้มข้นเฉลี่ยของโทลูอีนตลอดระยะเวลาการทำงานปกติ 8 ชั่วโมงต่อวันไม่เกิน 50 mg.L-1
4. ประเทศไทย โดยกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดมาตรฐานความเข้มข้นของโทลูอีนในสถานประกอบการ ดังนี้
– ความเข้มข้นเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานปกติไม่ควรเกิน 200 mg.L-1
– ปริมาณความเข้มข้นสูงสุดที่ยอมให้มีได้เท่ากับ 300 mg.L-1
– ความเข้มข้นสูงสุดในช่วงเวลาจำกัด คือระยะเวลาที่กำหนดให้ทำงาน 10 นาที ไม่ควรมีความเข้มข้นเกิน 500 mg.L-1
– ทางด้านมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดินยอมให้มีโทลูอีนในน้ำใต้ดินได้ไม่เกิน 1 mg.L-1

ที่มา : [2], [5]

การป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protection)
1. การป้องกันทางการหายใจ (Respiration Protection)
ความเข้มข้นในบรรยากาศ 50 ppm ขึ้นไปใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจที่ MSHA/NIOSH รับรอง ดังนี้
– หน้ากากป้องกันแบบตลับกรองสารเคมี หรือ แบบกล่องบรรจุสารเคมีสำหรับไอระเหยของสารอินทรีย์ (Full face respirator with organic vapor cartridge/canister)
– อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจชนิดกรองอากาศมีเครื่องฟอกอากาศ (Full face piece powered air purifying respirator)
– อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจชนิดที่มีท่อส่งอากาศไหลแบบต้องการความดันเพิ่มปรับให้มีความดันอากาศภายในหน้ากากสูงกว่าภายนอก หรือ (Supplied-air respirator with full face piece in the operated pressure mode)
– หน้ากากครอบ, ถุงคลุมศีรษะ หรือ หมวก ที่มีระบบส่งอากาศและท่อต่ออากาศต่อเนื่อง (SAR with a full facepiece, hood, or helmet in the continuous flow mode)
– อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจชนิดมีถังให้อากาศแบบพกพาติดตัว (SCBA) สำหรับความเข้มข้นของโทลูอีนในบรรยากาศที่ 2,000 ppm ขึ้นไป ใช้อุปกรณ์ป้องกันในระบบหายใจชนิดมีถังให้อากาศแบบพกพา (SCBA) แบบที่ MSHA / NIOSH รับรอง

2. การป้องกันตา (Eye Protection)
ครอบหน้าหรือแว่นครอบตากันสารเคมี

3. การป้องกันอื่นๆ (Other Protection)
เสื้อคลุมและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลรวมทั้งถุงมือควรเป็นวัสดุที่ทำมาจากสารจำพวกโพลียูรีเธน (Polyurethane) คลอริเนเตทโพลีเอทธิลีน (Chlorinated polyethylene) ไวตอน(Viton) หรือเคลือบด้วยนีโอปรีน (Coated neoprene) เทฟลอน (Teflon) ยางบิวทิล (Butyl rubber) คลอไรด์ (Chloride) พีวีซี(Polyvinylchloride) โพลีเอทธิลีน (Polyethylene) และโพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (Polyvinyl alcohol)

การบำบัดรักษา (Treatment of poisoning)
เมื่อมีอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินเนื่องจากโทลูอีน จะต้องดำเนินการปฐมพยาบาลก่อนตามลักษณะที่ได้รับสาร คือ
1. เมื่อกระเด็นถูกตา ต้องล้างตาทันทีด้วยน้ำสะอาดจำนวนมาก ๆ และคอยปิดเปิดตาเป็นครั้งคราว ถ้าล้างแล้วยังเกิดการระคายเคือง ควรนำส่งแพทย์ทันทีและไม่ควรใส่ Contact lenses เมื่อต้องทำงานกับสารจำพวกนี้
2. เมื่อกระเด็นถูกผิวหนัง ต้องทำความสะอาดผิวหนังด้วยสบู่และน้ำ แต่ถ้าเสื้อผ้าที่สวมใส่ ชุ่มโชกไปด้วยสารดังกล่าว ต้องถอดเสื้อผ้าที่สวมใส่ออกทันทีและทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำ ถ้าทำความสะอาดแล้วยังมีการระคายเคืองที่ผิวหนังควรนำส่งแพทย์ทันที
3. เมื่อหายใจเอาโทลูอีนที่มีความเข้มข้นสูงเข้าไป ควรเคลื่อนย้ายผู้สัมผัสให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์ทันที ถ้าหายใจอ่อนต้องให้ออกซิเจนหริอนำส่งแพทย์ทันที
4. ถ้ากลืนเข้าไป ต้องนำส่งแพทย์ทันที อย่าพยายามทำให้คนไข้อาเจียนออกมา

ข้อปฏิบัติที่สำคัญ (Special Instructions)
1. การขนย้าย และการจัดเก็บ (Handing and Storage)
– เก็บในภาชนะบรรจุทนไฟ ติดฉลากชัดเจน
– เก็บแยกจากวัตถุระเบิด สารออกซิไดซ์ และสารรังสี
– เก็บในที่เย็น ไม่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง ไม่มีแหล่งติดไฟ
– พื้นที่จัดเก็บควรทำด้วยวัสดุทนไฟ มีอากาศถ่ายเท มีระบบควบคุมอุณหภูมิ
– กำหนดและควบคุมพื้นที่จัดเก็บ จำกัดการเข้าออกมีระบบตรวจสอบ และป้องกันการรั่วไหล
– เมื่อมีการรั่วไหลในสถานที่จัดเก็บ ห้ามสูบบุหรี่ และการกระทำให้เกิดประกายไฟทุกชนิด
– ในบริเวณที่เก็บและใช้ ควรมีป้ายเตือนติดตั้งให้ชัดเจน
– ไม่ควรเก็บในปริมาณมากเกินความจำเป็น
– ผู้ดูแลสถานที่จัดเก็บ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยของสารที่รับผิดชอบ
– ปิดภาชนะบรรจุทุกครั้งที่ใช้แล้ว และใช้ในปริมาณเท่าที่จำเป็นในแต่ละวัน
– ไม่ใช้ในบริเวณที่อับอากาศ ใกล้เปลวไฟ ที่อุณหภูมิสูง แหล่งประกายไฟ และสารที่อาจทำปฏิกิริยากัน
– หลีกเลี่ยงกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดอันตรายจากสารอินทรีย์ระเหยง่าย

2. การรั่วและการหก (Spill and Leak Procedure)
– บุคคลที่ต้องปฏิบัติงานเมื่อเกิดการหกรด จะต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล จนกว่าจะปฏิบัติงานเสร็จเรียบร้อย อุปกรณ์เหล่านั้น ได้แก่ ถุงมือ รองเท้า กระบังหน้าชนิดใส และชุดแต่งกายสำหรับป้องกันสารเคมี
– เคลื่อนย้ายสารหรือสิ่งที่จะทำให้เกิดการลุกไหม้ได้ออกจากบริเวณที่มีการหกรด
– ทำให้บริเวณที่เกิดการหกรด ถ่ายเทอากาศหรือระบายอากาศได้สะดวก
– ถ้าเกิดการหกรดในปริมาณน้อย ซับด้วยกระดาษและนำกระดาษนั้นไปเผาหรือนำไประเหยในที่ปลอดภัย เช่นปล่องดูดควัน
– ถ้าเกิดการหกรดในปริมาณมาก สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือเก็บรวบรวมแล้วนำไปฉีดให้เป็นละอองในปล่องหรือในเตาเผาที่เหมาะสม
– ไม่ควรปล่อยทิ้งลงในบริเวณที่มีเนื้อที่จำกัด เช่น ท่อระบายน้ำเนื่องจากมีโอกาสที่จะระเบิดได้

3. การป้องกันการกัดกร่อนของสารเคมี (Corrosiveness)
– ไม่กัดกร่อนโลหะ

4. มาตรฐานการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Surveillance)
– หมั่นตรวจสอบระดับความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
– เลือกใช้สารเคมีที่อันตรายน้อยกว่ามาทดแทน
– ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย สัญญาณเตือนภัย ในพื้นที่ทำงาน
– ติดตั้งระบบระบายอากาศ หรือ มีอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมในระบบการผลิต
– ใช้ระบบปั๊มอัตโนมัติในการถ่ายสาร และมีสายดินลดไฟฟ้าสถิต
– มีการตรวจสอบกระบวนการผลิตและซ่อมบำรุงเสมอ
– ไม่ปล่อยสารเคมีออกสู่ที่สาธารณะ ถ้าไม่มีการบำบัดมลพิษก่อน

การเกิดอัคคีภัย และการควบคุม
โทลูอีน จัดเป็นสารไวไฟ มีจุดวาบไฟต่ำที่อุณหภูมิ 6-10 องศาเซลเซียส และลุกติดไฟได้เองที่อุณหภูมิ 535 องศาเซลเซียส จึงมีโอกาสติดไฟ และระเบิดได้ง่าย หากสัมผัสกับความร้อน และเปลวไฟ

สารที่ใช้ในการดับเพลิง ( Extinguishing Media)
ใช้ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ ผงเคมีแห้ง หรือโฟม(Regular foam) หรือใช้น้ำฉีดเป็นฝอย- ถ้าเพลิงไหม้รุนแรงให้ใช้น้ำฉีดเป็นฝอย และโฟมควบคู่กัน

วิธีปฏิบัติในการดับเพลิง (Fire Fighting Procedures)
กั้นแยกบริเวณเป็นเขตอันตราย อยู่เหนือลม ระบายอากาศในที่อับอากาศก่อนเข้าไปดับเพลิง- ไม่ยืนอยู่
ด้านหัว/ท้ายของภาชนะบรรจุสารเคมี- ใช้เครื่องช่วยหายใจชนิด SCBA และชุดป้องกันอันตราย หยุด
การหกรั่วไหลก่อน ถ้าสามารถทำได้- ฉีดน้ำหล่อเย็นภาชนะบรรจุและฉีดน้ำเป็นละอองเพื่อดักจับไอ
ระเหย – ให้ดับเพลิงในระยะไกล อยู่ห่างจากจุดเพลิงไหม้มากที่สุด

เอกสารอ้างอิง
[1] กรมควบคุมมลพิษ. (2551). ศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์. เข้าถึงได้จาก http://msds.pcd.go.th/.
[2] กรมควบคุมมลพิษ. 2541. โทลูอีน (Toluene). กองจัดการสารอันตรายและกากของเสีย. กรมควบคุมมลพิษ.
[3] Christensen, J.S. and J. Elton. 1996. Soil and Groundwater Pollution from BTEX.
[4] กรรนิการ์ ฉัตรสันติประภา. (2552). พิษวิทยาของสารเคมีทางอุตสาหกรรม (TOXICOLOGY OF
INDUSTRIAL CHEMICALS).
[5] Material Safety Data Sheet [MSDS]. (2006). Safety data of toluene. UK : Safety Officer in Physical
Chemistry at Oxford University.