การอันเดอร์วอลเล่ย์บอล/การรับหรือการส่งลูกวอลเล่ย์บอล

Last Updated on 25 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

การอันเดอร์วอลเล่ย์บอล/การรับหรือการส่งลูกวอลเล่ย์บอล หมายถึง การตีลูกบอลโดยใช้มือจับลูกบอลประสานกันให้มือและแขนท่อนล่างชิดขนานกัน ใช้มือหรือแขนเป็นส่วนที่ใช้ตีลูกบอล ประกอบด้วยการเล่น 2 ลักษณะได้แก่ การรับบอลหรือการส่งบอล (การเล่นลูกขนาน) และ การอันเดอร์วอลเล่ย์บอล (การเล่นลูกโด่ง)

การเล่นลูกสองมือล่าง เป็นการเล่นลูกด้วยสองมือล่าง โดยใช้แขนท่อนล่างตีลูกวอลเลย์บอลไปยังตำแหน่งที่ต้องการ การเล่นลูกสองมือล่างเป็นปัจจัยสำคัญของการเล่นวอลเลย์บอลอีกอย่างหนึ่ง เพราะพื้นฐานการเล่นทีมที่ดีนั้น ผู้เล่นจะต้องเล่นลูกสองมือล่างได้ดีก่อน

การเล่นลูกสองมือล่างที่ได้ผลดี คือ ผู้เล่นจะต้องสามารถส่งลูกบอลหรือควบคุมลูกบอลให้ไปในจุด และระยะ รวมถึงทิศทางที่ตนกำหนดไว้ให้ได้ ซึ่งจะเป็นจุดที่เพื่อนร่วมทีมสามารถเล่นลูกต่อได้ โดยการเล่นลูกด้วยสองมือล่างจะถูกใช้มากในกรณีการรับลูกเสิร์ฟ รองลงมาเป็นการอันเดอร์ (ลูกอยู่ไกลจากจุดหมาย ไม่สามารถเซ็ทได้ผล) เพราะลูกแรกของการเล่นวอลเลย์ คือ การรับลูกเสิร์ฟนั่นเอง ทั้งนี้ ลูกเสิร์ฟของทีมต่างๆหรือชาติต่างๆ มีการพัฒนาให้มีความเร็ว และรุนแรงมาก หากการรับลูกเสิร์ฟครั้งแรกไม่ดี ก็จะลดโอกาสในการตตีบุกตามมาด้วยเช่นกัน

การอันเดอร์วอลเล่ย์บอล
การอันเดอร์วอลเล่ย์บอล หรือ การเดาะบอล เป็นการเล่นลูกสองมือล่างในลักษณะการเล่นลูกโด่ง ด้วยการรับลูกด้วยสองมือล่างเพื่อกำหนดระยะ และทิศทางที่ให้ลูกบอลพุ่งสูงขึ้นในแนวตั้ง

การอันเดอร์ลูกบอลจะต้องยืนด้วยปลายเท้าทั้งสองข้าง งอเข่า ย่อลำตัว สายตามองที่ลูกบอลตลอดเวลา โดยแขนทั้งสองประสานกันให้แน่นเหยียดตึง ทำมุมประมาณ 45 องศากับลำตัว เมื่อลูกบอลลอยมา ให้เคลื่อนที่เข้าไปหยุดในตำแหน่งใกล้กับบริเวณที่ลูกจะตก พร้อมยื่นแขนรองรับลูกบอลในระยะที่ทำให้ลูกบอลตกกระทบระหว่างข้อมือ และกึ่งกลางแขนท่อนล่าง ทั้งนี้ ขณะอันเดอร์ลูกบอลให้เหยียดเข่า ยกไหล่ขึ้น แขนทั้งสองต้องเคลื่อนที่ไปตามทิศทางหรือตำแหน่งที่ลูกบอลเคลื่อนที่เพื่อให้แขนสามารถยื่นออกรองรับลูกบอลได้ทัน และเท้าต้องเคลื่อนที่หากระยะลูกบอลตกไม่อยู่ในระยะแขนเพื่อให้ลูกบอลตกอยู่ในระยะที่แขนจะยื่นรองรับได้

ลำดับวิธีการเล่นลูกสองมือล่าง
1. การย่อเข่าลงท่าเตรียมพร้อม แยกเท้าออกให้มากกว่าช่วงไหล่เล็กน้อย เท้าขวาอยู่หน้า ยกส้นเท้าเล็กน้อย
2. ตามองที่เป้าหมาย พยายามให้ลูกบอลอยู่หน้าลำตัวระหว่างเท้าทั้งสอง ตามองที่เป้าหมายที่จะส่งไป ถ้าเป้าหมายอยู่ทางขวาของสนาม ผู้รับต้องพยายามก้าวเท้าซ้ายก่อน เพื่อเป็นการถ่ายน้ำหนักตัวไปสู่เท้าขวาในทิศทางเดียวกับเป้าหมาย
3. การแยกเท้าออกให้กว้างขณะเตรียมจะส่งลูกเท้าทั้งสองต้องแยกออกให้กว้างและมีความมั่นคงยกส้นเท้าซ้ายขึ้นเล็กน้อย และพร้อมจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าตามทิศทางของลูกบอล
4. การก้าวเท้าไปหน้าลูก ถ้าจำเป็นต้องใช้การส่งลูกจากด้านข้าง จะต้องพยายามรับลูกบอลก่อนที่ลูกจะเคลื่อนที่เลยไปทางด้านข้างหรือด้านหลัง เท้าจะต้องก้าวไปอยู่ในตำแหน่งหน้าลูกบอลเพื่อให้แขนสามารถรับและควบคุมลูกให้ไปยังเป้าหมายได้
5. การอยู่ด้านหลังลูกบอล ผู้รับจะต้องเคลื่อนที่ไปรับลูกบอลก่อน ก้มตัว ย่อเข่า เท้าทั้งสองพร้อมที่จะเหยียดขึ้นตามลูกบอล แขนอยู่ห่างจากลำตัวประมาณ 45 องศา กับพื้น และยกแขนขึ้นทำมุม 60 องศาขณะถูกลูก
6. แขนทั้งสองชิดกัน ขณะที่ถูกลูกบอลแขนต้องชิดติดกัน โดยจับมือทั้งสองเข้าด้วยกันบีบบริเวณข้อศอกเข้าหากัน ห่อไหล่เข้าหากันเล็กน้อย ใช้บริเวณแขนด้านในถูกลูกบอลเพื่อการกระดอนที่ดี
7. การยกไหล่ขึ้น ขณะส่งลูกไหล่ต้องยกขึ้นเหยียดเท้าหลังขึ้น ถ่ายน้ำหนักตัวไปตามทิศทางที่ลูกบอลกระดอนออกไป

ลักษณะของมือสำหรับการเล่นลูกสองมือล่าง
1. การซ้อนมือ
การเล่นลูกสองมือล่างด้วยการอันเดอร์แบบซ้อนมือ จะต้องใช้มือทั้งสองข้างวางซ้อนกัน โดยใช้มือที่ถนัดซ้อนอยู่บนมือที่ไม่ถนัด แล้วกำมือทั้งสองให้นิ้วหัวแม่มือชิดติดกัน โดยแขนทั้งสองต้องเหยียดตึง พร้อมประกบคู่ขนานกันด้วยการหันหน้าแขนเข้าหากัน และบีบแนบให้ชิดติดกัน

2. การโอบหมัด
การเล่นลูกสองมือล่างด้วยการอันเดอร์แบบโอบหมัด คือ การใช้มือข้างใดข้างหนึ่งกำหมัดรวมกับอีกข้าง พร้อมโอบหมัดนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างให้ชิดติดกัน และแขนทั้งสองต้องเหยียดตึง

3. การประสานนิ้วมือ
การเล่นลูกสองมือล่างด้วยการอันเดอร์แบบนิ้วมือประสาน โดยใช้มือทั้งสองข้างประกบชิดกัน พร้อมใช้นิ้วทั้งหมดสอดทับกันและกัน และให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างวางขนานบนสันนิ้วชี้

การรับบอลหรือการส่งบอล
การรับบอลหรือการส่งบอล เป็นการเล่นลูกสองมือล่างในลักษณะการเล่นลูกขนาน ด้วยการรับลูกด้วยสองมือล่างเพื่อกำหนดระยะ และทิศทางที่ให้ลูกพุ่งออกในแนวเฉียงไปด้านหน้าตนเอง

การรับบอลหรือการส่งบอลด้วยการเล่นลูกสองมือล่าง เป็นเทคนิคพื้นฐานที่สำคัญมากของการเล่นวอลเลย์บอล การเล่นลูกสองมือล่างได้ดี และแม่นยำยังเป็นปัจจัยสำคัญของการเซ็ทอีกด้วย เนื่องจากลักษณะทิศทาง ความเร็ว และวิถีของลูกวอลเลย์บอลที่พุ่งมาไม่เหมือนกัน การเล่นลูกสองมือล่าง จึงมีหลายวิธี เช่น การเล่นลูกสองมือล่างด้านหน้า ด้านข้าง กลับหลัง การเล่นลูกด้วยมือเดียว การพุ่งเล่นลูก

เทคนิคการรับบอลหรือการส่งบอล
1.การเล่นลูกสองมือล่าง ใช้ในการเล่นทั่วๆ ไป ซึ่งผู้เล่นสามารถส่งลูกวอลเลย์บอลไปยังทิศทางที่ต้องการได้ง่าย
2.การเล่นลูกสองมือล่างไปข้างหลัง ในขณะที่ผู้เล่นต้องการเล่นลูก เพื่อส่งกลับไปด้านหลังนั้น จะต้องเคลื่อนที่ไปให้เร็ว และย่อเข่าลงให้ต่ำพร้อมกับยกแขนให้สูงขึ้น
3. การเล่นลูกสองมือล่าง ในกรณีลูกอยู่ห่างตัวทางด้านข้าง ผู้เล่นต้องพยายามก้าวเท้าไปทางด้านข้างที่ลูกวอลเลย์บอลจะตก เพื่อรับลูกวอลเลย์บอล
4.การเล่นลูกสองมือล่าง หากด้านข้างที่ลูกวอลเลย์บอลอยู่ห่างมาก ต้องก้าวเท้าด้านที่ลูกวอลเลย์บอลจะตกออกไปให้กว้าง ย่อเข่าให้ต่ำ เมื่อรับลูกวอลเลย์บอล แล้วทิ้งน้ำหนักตัวลงที่เท้าด้านเข่างอพร้อมกับกลิ้งตัวตามทิศทางของแรง
5. การพุ่งเล่นลูกสองมือล่าง หากด้านหน้าที่ลูกวอลเลย์บอลอยู่ห่างตัวมากด้านหน้า ผู้เล่นจะต้องสามารถพุ่งไปรับก่อนที่ลูกวอลเลย์บอลจะตกพื้น
6. การพุ่งเล่นลูกมือเดียว ใช้ในขณะลูกวอลเลย์บอลที่อยู่ไกลมาก ผู้เล่นสามารถพุ่งรับด้านมือเดียว

การเล่นลูกมือสองล่างเพื่อการรับบอลหรือการส่งบอล เป็นทักษะพื้นฐานในการรับลูกเสิร์ฟ รับลูกตบ และส่งลูกบอลให้เพื่อในทีม โดยเฉพาะผู้เล่นเป็นตัวสต๊อปเปอร์ (Stopper) ที่รับลูกวอลเลย์บอลครั้งแรกที่ฝ่ายตรงข้ามเสิร์ฟมา ซึ่งจะต้องมีความชำนาญ และแม่นยำ แต่เนื่องจากทิศทาง และความเร็วของลูกบอลที่ลอยมาจะมีลักษณะแตกต่างกัน การเล่นลูกสองมือล่าง จึงต้องอาศัยทักษะหลายๆ รูปแบบ ดังต่อไปนี้
1. การรับบอลหรือการส่งบอล เป็นพื้นฐานของการเล่นลูกสองมือล่างที่ต้องใช้เทคนิคอื่นเข้ามาช่วย อาทิ ลักษณะท่าทาง เท้าทั้งสองห่างกันเท่าช่วงไหล่ ย่อเข่าเล็กน้อย และใช้แขนท่อนล่างตีลูกวอลเลย์บอล
2. การรับบอลหรือการส่งบอลด้วยการเล่นลูกสองมือล่างในทิศด้านข้างตัว นับว่ามีความจำเป็นในการเล่นเพราะทิศทางที่ลูกวอลเลย์บอลลอยมาไม่แน่นอน อาจจะมาทางด้านหน้า ด้านข้างซ้ายหรือขวา จุดตกอาจจะต่ำหรือสูง ระยะอาจจะใกล้หรือไกลตัว ซึ่งผู้เล่นจะต้องฝึกการเคลื่อนที่เข้าเล่นลูกวอลเลย์บอลในลักษณะต่าง ๆดังกล่าวให้รวดเร็วและถูกต้อง
3. การรับบอลหรือการส่งบอลด้วยการเล่นลูกสองมือล่างในทิศกลับหลัง ส่วนมากจะใช้ในกรณีฝ่ายเดียวกันเล่นพลาด หรือการเล่นจังหวะ 3 ข้ามตาข่าย การเคลื่อนที่เข้าหาลูกวอลเลย์บอลต้องเร็ว โดยเฉพาะหันหลังให้ตาข่ายลักษณะของลูกวอลเลย์บอลที่ลอยข้ามตาข่ายจะมีวิถีโค้งสูงกว่าการเล่นลูกสองมือล่างด้านหน้า
4. การรับบอลหรือการส่งบอลด้วยการเล่นลูกด้วยแขนเดียว ในบางโอกาสการเล่นวอลเลย์บอล นักกีฬาต้องใช้ทักษะการเล่นลูกด้วยแขนเดียว เช่น ลูกตกห่างตัว ลูกมาระดับต่ำ ลักษณะการเล่นลูกด้วยแขนเดียวอาจจะเป็นด้านหน้าหรือด้านข้างลำตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับทิศทางของลูกวอลเลย์บอลที่ลอยมา

การแก้ปัญหาการรับบอลหรือการส่งบอล
1. การเล่นลูกสองมือล่าง เนื่องจากการหันหน้าตรงจึงรับลูกบอลง่าย ในระหว่างแข่งขันบางครั้งไม่สามารถเซ็ทได้ ก็ต้องใช้การเล่นลูกสองมือล่างตั้งลูกแทนด้วย
2. การเล่นลูกสองมือล่างด้านข้าง กรณีลูกสูงก้าวไปไม่มาก แต่ถ้าลูกบอลต่ำต้องย่อเข่าลงมากๆ และก้าวเท้าสุดท้ายยาวๆ ส่วนมากการเล่นลูกสองมือล่างแบบนี้จะใช้รับลูกตบที่เร็ว
3. การเล่นลูกสองมือล่าง ต้องคำนวณระยะห่างให้ดีเพราะการเล่นลูกสองมือล่างกลับหลังจะหันหลังให้ทิศทางที่จะส่งลูกวอลเลย์บอล หากเล่นเบาก็จะไม่ข้ามตาข่าย หากเล่นแรงก็จะออกหลังจุดตีลูกวอลเลย์บอลจะสูงกว่าเล่นลูกด้านหน้า ต้องเงยหน้า แล้วเหวี่ยงแขนขึ้นไปข้างหลัง โดยทั่วไปเมื่อจุดตีสูง ลูกวอลเลย์บอลที่ตีออกไปจะมีความโค้งน้อย แต่ถ้าจุดตีต่ำจะมีความโค้งมาก
4. การเล่นลูกด้วยแขนเดียว มักใช้กับลูกวอลเลย์บอลที่ต่ำมาก มีความเร็วสูง ระยะห่างจากตัวมาก มักใช้ผสมกับการกลิ้งตัว พุ่งหมอบหรือกระโดดพุ่งรับด้วย
5. การพุ่งเล่นลูก มีหลายลักษณะขึ้นอยู่กับสภาพสนาม และความชำนาญของผู้เล่นแต่ละคน ถ้าเป็นสนามพื้นปูน การพุ่งจะไม่ค่อยใช้เพราะเกิดการบาดเจ็บง่าย แต่ถ้าเป็นสนามพื้นไม้ขัดจะใช้มากโดยเฉพาะในการเล่นระดับสูง ลักษณะการพุ่งแบบต่าง ๆ เช่น พุ่งหมอบด้วยสองมือ พุ่งหมอบด้วยมือเดียว กระโดดพุ่งเล่นลูกแล้วม้วนตัว

ขอบคุณภาพจาก
– Pantip.com