การตีลูกหยอด หรือ การส่งลูกหยอด แบดมินตัน

Last Updated on 9 มีนาคม 2020 by siamroommate

การตีลูกหยอด หรือ การส่งลูกหยอด (the drop shot) คือ การตีลูกหรือส่งลูกให้ย้อยตกลงข้ามตาข่ายของฝ่ายตรงข้ามใกล้ตาข่ายในระยะที่ไม่เกินเส้นส่งลูกสั้นของสนามฝ่ายตรงข้าม ลูกหยอดตีได้ทั้งลูกโฟร์แฮนด์ แบคแฮนด์ และการตีลูกตัด ทั้งแบบการตีได้ลูกเหนือศีรษะ และลูกแบบงัดใต้มือ เป็นลูกที่ใช้สำหรับดึงคู่ต่อสู้ให้ละทิ้งพื้นที่ว่างหลังสนามเพื่อเข้ามาตีลูกบริเวณหน้าตาข่าย

ลักษณะลูกหยอดหน้าตาข่าย จะต้องเป็นลูกที่มีระยะลอยต่ำที่สุด โดยผู้ตีลูกหยอดจะต้องตีลูกขนไก่ที่ลูกยังลอยอยู่ในระดับสูงมากที่สุด และตีด้วยแรงสะบัดจากข้อมือเป็นหลัก ไม่ใช่การเหวี่ยงทั้งแขนตี ทั้งนี้ ผู้ตีลูกหยอดจะต้องเคลื่อนที่เข้าหาตำแหน่งลูกให้ใกล้หรือออยู่ในระยะที่สามารถตีลูกได้ ด้วยการก้าวเท้าไปข้างหน้า หรือยื่นลำตัวไปข้างหน้า เพื่อให้แขนสามารถยื่นถึงตำแหน่งตีลูกได้

รูปแบบการตีลูกหยอด
1. การตีลูกหยอดโฟร์แฮนด์
การตีลูกหยอดโฟร์แฮนด์ เป็นได้ทั้งที่ลูกกำลังลอยหน้าตาข่ายหรือลูกลอยโด่งในกลางสนาม แต่ทั่วไปผู้ตีลูกหยอดจะถือโอกาสตีลูกในลักษณะที่ลูกอยู่ใกล้ตาข่ายมากกว่า เพราะลูกเดินทางได้เร็ว แต่หากตีลูกที่ห่างจากตาข่ายมาก ลูกขนไก่จะใช้เวลานานกว่าจะตกข้ามฝ่ายตรงข้าม ทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีเวลาเคลื่อนที่เข้าหาลูกได้เร็วขึ้น

การตีลูกหยอดโฟร์แฮนด์ ลูกขนไก่จะลอยอยู่ด้านหน้าในระดับตั้งแต่หัวไหล่ขึ้นไปจนถึงเหนือศรีษะ ซึ่งจะต้องเคลื่อนที่ และวางเท้าให้อยู่ในตำแหน่งใกล้กับลูกให้มากที่สุด ด้วยการเก้าเท้าขวาหรือซ้ายออกไปข้างหน้า 1 ก้าวยาว ก่อนจะเหยียดแขนไปข้างหน้าในระดับที่ต้องการตีลูก พร้อมถ่ายน้ำหนักลงบนเท้าที่ยื่นไปข้างหน้า ก่อนจะสะบัดข้อมือให้หน้าแร็กเกตกระทบกับลูกขนไก่เบาๆ เพื่อส่งให้ลูกลอยต่ำ และตกลงหน้าตาข่ายฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด หลังจากนั้น ให้ก้าวเท้ากลับมาอยู่ในท่าเตรียมพร้อม

2. การตีลูกหยอดแบคแฮนด์
การตีลูกหยอดแบคแฮนด์ด้านหน้า จะเป็นการตีลูกที่ลูกขนไก่ลอยต่ำกว่าระดับเอวจนเกือบถึงพื้นในทิศด้านหน้าของผู้ตี และมักอยู่ชิดหน้าตาข่าย ซึ่งมักเป็นลูกหยอดที่ตีจากฝ่ายตรงข้าม

การตีลูกหยอดที่ลูกลอยมาในระดับต่ำ ผู้ตีลูกจะต้องเคลื่อนที่เข้าหาลูกขนไก่ให้มากที่สุด ซึ่งหากผู้ตีอยู่หลังสนามก็ต้องวิ่งเข้ามาหน้าตาข่าย แต่หากอยู่กลางสนามอาจก้าวเพียงไม่กี่ก้าว โดยให้ก้าวเท้าข้างถนัดไปข้างหน้า พร้อมเหยียดแขนให้ตรง และยื่นให้หน้าไม้แร็กเกตถึงลูกขนไก่ ก่อนจะกระดกหน้าไม้ขึ้นให้กระทบลูกขนไก่เบาๆ เพื่อส่งให้ลูกขนไก่วิ่งขึ้นเกือบเป็นแนวดิ่ง ก่อนจะลอยข้ามตาข่ายในระดับที่ไม่สูงมากไปอีกฝั่งตรงข้าม ทั้งนี้ อาจบังคับทิศทางให้ลูกขนไก่ตกตรงข้ามผู้ตี หรือ ในแนวเฉียงออกจากผุ้เล่นฝ่ายตรงข้าม

3. การตีลูกแตะหยอดหรือลูกตัด
การตีลูกแตะหยอดหรือลูกตัด จะเป็นการตีลูกหยอดที่ลูกขนไก่ที่ลอยอยู่ในระดับตั้งแต่สูงกว่าหัวไหล่จนถึงระดับเอว และอยู่ในแนวด้านข้างลำตัว ซึ่งผู้ตีอาจใช้การตบลูกก็ได้ (ลูกลอยสูงเหนือศรีษะ) และใช้การตีหยอดก็ได้เช่นกัน ส่วนระยะลูกอาจอยู่หน้าตาข่ายหรือลอยอยู่บริเวณกลางสนามจนถึงหลังก็ได้

การตีลูกหยอดอาจใช้ทั้งการตีหยอดแบบโฟร์แฮนด์ และแบบแบคแฮนด์ ขึ้นอยู่กับแขนข้างถนัด ซึ่งผ้เล่นจะต้องเคลื่อนตัวเข้าใกล้กับลูกขนไก่ให้มาก พร้อมก้าวเท้าไปข้างหน้า 1 ก้าว แนวแนวเฉียงไปด้านข้าง เพื่อเป็นเท้าหลักหรือใช้ถ่วงน้ำหนัก ก่อนยื่นแขนให้เหยียดตรง และยื่นถึงลูก พร้อมเหวี่ยงแขน และหน้าไม้ในแนวเฉียงเพื่อตีตัดลูกให้ลอยต่ำ และวิ่งช้าตกลงหน้าตาข่ายฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้ การตีตัดลูกเพื่อหยอด อาจตีลูกให้ตกในทิศทางตรงหรือตีลูกให้วิ่งไปอีกฝั่งซ้าย-ขวาของผู้ตีก็ได้

หลักการตีลูกหยอด
1. การตีลูกหยอดที่อยู่เหนือศรีษะด้วยหน้ามือ มักเป็นลูกที่อยู่ห่างจากตาข่ายของฝั่งเรา ซึ่งควรตีขณะที่ลูกกำลังลอยสูง เพราะการตีหยอดลูกในระดับสูงสามารถบังคับลูกให้ตกชิดหน้าตาข่ายได้มากกว่าลูกที่อยู่ในระดับต่ำ
2. การตีลูกหยอดด้วยลูกตัด สามารถทำได้ทั้งแบบโฟร์แฮนด์ และแบคแฮนด์ ซึ่งเป็นลักษณะการตีหยอดลูกขนไก่ให้ตกเยื้องหน้าตาข่ายฝ่ายตรงข้ามในตำแหน่งด้านข้างของผู้ตีหรือให้ห่างจากฝ่ายตรงข้ามมากที่สุด ทั้งตรงกลางสนาม หรือขอบสนามด้านซ้าย-ขวา ซึ่งต้องกะความเร็วของการสะบัดข้อมือให้เหมาะสม
3. การตีลูกหยอดจะต้องใช้การสะบัดหรือหมุนข้อมือเท่านั้น ไม่ใช้การเหวี่ยงทั้งแขน เพราะจะกลายเป็นลูกตบ
4. การตีลูกหยอดต้องตีส่งลูกความเร็วการเหวี่ยงไม้ที่ช้า เพราะหากตีด้วยแรงเหวี่ยงไม้ที่เร็วจะกลายเป็นลูกส่งหรือลูกตบ และลูกอาจตกห่างหน้าตาข่าย
5. การตีลูกหยอดไม่ควรตีลูกให้ลอยสูง เพราะคู่ต่อสูงจะมีเวลาเคลื่อนเข้าหาลูกได้ทัน และสามารถเปลี่ยนเป็นฝ่ายลุกกลับได้
6. การตีลูกหยอดจะต้องตีส่งลูกให้ตกหน้าตาข่ายมากที่สุด และให้ห่างจากฝ่ายตรงข้ามมากที่สุด

โอกาสการใช้ลูกหยอด
1. ใช้หลังจากการเล่นลูกโด่งหลังแล้วหลายจังหวะ ทำให้คู่ต่อสู้ไม่ได้คิดว่าเราจะตีลูกหยอด
2. ฝ่ายตรงข้ามเสียหลักในขณะที่กำลังอยู่ห่างจากหน้าตาข่าย คาดหมายว่า
3. ฝ่ายตรงข้ามอยู่ห่างจากจุดที่ต้องการหยอด ถึงแม้ว่าจะอยู่ใกล้ตาข่าย แต่อยู่คนละด้านกันกับหยุดหยอด