ธุดงค์ 13 ความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางปฏิบัติ

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ธุดงค์ 13 หมายถึง องค์แห่งเครื่องขัดเกลา หรือ กำจัดกิเลส

ธุดงค์ 13 เป็นแนวทางปฏิบัติที่พุทธองค์ให้ภิกษุทุกองค์ถือเป็นข้อปฏิบัติ ซึ่งจะเอื้อต่อการเจริญกรรมฐาน โดยมิใช่บทบัญญัติทางพระวินัย คือ เป็นแนวทางปฏิบัติที่มิใช่การบังคับให้ปฏิบัติ ภิกษุใดจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ย่อมได้ หรือ เลือกปฏิบัติในทุกข้อหรือข้อใดข้อหนึ่งก็ย่อมได้ โดยหากจะปฏิบัติให้พึงกล่าวคำสมาทานในทุกข้อหรือข้อใดข้อหนึ่งที่เลือกปฏิบัติ จากนั้น ให้พึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามกาลเวลาอันเหมาะสม และพึงใช้หลักความสันโดษ เป็นหลักธรรมประสาน

ธุดงค์ 13 ประการ
หมวดที่ 1 จีวรปฏิสังยุตต์ (การถือครองจีวร)


1. ปังสุกูลิกังคะ คือ ผู้ที่ใช้สอยผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
ผ้าบังสุกุลหมายถึง ผ้าที่ไม่มีเจ้าของ โดยเป็นผ้าที่ถูกทิ้งไว้ในสถานที่ต่างๆ แบ่งเป็น 23 ชนิด อ่านเพิ่มเติม ผ้าบังสุกุล

การใช้สอยผ้าของภิกษุนั้น ในพระธรรมวินัยกำหนดไว้ให้ใช้ได้เฉพาะผ้าบังสุกุลเท่านั้น และให้ใช้สอยผ้าชนิดนี้เป็นนิจ ไม่พึงนำผ้าชนิดอื่นมาใช้ เนื่องด้วยผ้าชนิดนี้เป็นผ้าไม่มีเจ้าของ การนำผ้าชนิดนี้ มาใช้จึงมิใช่การนำผ้าผู้อื่นมาโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเหมาะสมกับภิกษุเพื่อให้ภิกษุมีการปล่อยวาง และเกิดความสันโดษ ทั้งนี้ ผ้าบังสุกุลนั้น ภิกษุสามารถหาได้เอง หรือได้จากคฤหัสถ์เป็นผู้ถวายก็ได้เช่นกัน

2. เตจิวริกังคะ คือ ผู้ที่นุ่งห่มเพียงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร
ผ้าไตรจีวร หมายถึง ผ้าที่ภิกษุใช้นุ่งห่ม 3 อย่าง คือ
– ผ้าสังฆาฏิ คือ ผ้าสังฆาที่ใช้เป็นผ้าสำหรับพาดบ่า มักใช้ในพิธีกรรมทางสงฆ์อย่างเป็นทางการ อาทิ พิธีบวชนาค เป็นต้น
– ผ้าอุตราสงค์ คือ ผ้าจีวรผืนใหญ่ที่ใช้สำหรับห่มคลุมกายตั้งแต่ไหล่จรดเท้า
– ผ้าอันตรวาสก คือ ผ้าสบงที่ใช้สำหรับนุ่งกายครึ่งล่างตั้งแต่สะเอวจรดเท้า

ผู้ที่นุ่งห่มเพียงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือ ผู้ที่ใช้สอยผ้าจีวร 3 อย่างสำหรับนุ่งห่มคลุมกายเป็นนิจ ทั้งยามที่อยู่วัดหรือออกนอกวัด โดยมิใช่ผู้ประพฤตินุ่งห่มผ้าชนิดอื่นอันผิดจากหลักประพฤติของสงฆ์

หมวดที่ 2 ปิณฑปาตปฏิสังยุตต์ (การบิณฑบาต)


3. ปิณฑปาติกังคะ คือ ผู้ที่เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
ผู้ที่เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คือ ผู้ที่ยึดปฏิบัติในการเที่ยวบิณฑบาตในช่วงเช้าตรู่เป็นนิจ เพื่อเป็นการโปรดคฤหัสถ์ให้มีการบริจาคอาหาร ทำให้ยังกุศลเกิดขึ้นแก่คฤหัสถ์เอง แก่ผู้อนุโมทนาเอง และแก่ผู้ที่คฤหัสถ์ระลึกน้อมนำส่วนกุศลไปให้เอง ซึ่งภิกษุทุกรูปพึงประพฤติปฏิบัติ ละเว้นจากการไม่ออกเที่ยวบิณฑบาต เพราะจากการเกลียดคร้านหรืออย่างอื่น

4. สปทานจาริกังคะ คือ ผู้ที่เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร
ผู้ที่เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร คือ ภิกษุผู้ประพฤติเที่ยวบิณฑบาตในสถานที่นั้นที่นี้ไปตามลำดับเพียงเพื่อโปรดคฤหัสถ์ให้บริจาคทาน และเพียงเพื่อรับอาหารเพียงพอต่อการฉันในแต่ละวันเท่านั้น อาทิ เช้านี้ไปยังบ้าน 3 หลัง พรุ่งนี้ ไปยังบ้านอื่น 3 หลัง เป็นต้น

5. เอกาสนิกังคะ คือ ผู้ที่นั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร
ผู้ที่นั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ภิกษุผู้ที่นำอาหารมานั่งฉันบนอาสนะที่มีอยู่เพียงอาสนะเดียวยู่เป็นนิจ และให้พึงยึดปฏิบัติให้เป็นนิจอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่แสวงหาหรือนั่งฉันบนอาสนะอื่นที่นุ่มกว่า ที่สูงกว่า ที่สวยงามกว่า อันขัดกับความสันโดษ และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม

6. ปัตตปิณฑิกังคะ คือ ผู้ที่ฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร
ผู้ที่ฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ภิกษุผู้ฉันอาหารในบาตรที่ตนใช้เที่ยวบิณฑบาต โดยไม่นำอาหารออกมาวางฉันในภาชนะอื่น เพียงเพราะต้องการความสะดวกสบาย ต้องการแยกกับข้าวรับประทาน เหตุนี้เป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่ขัดกับหลักความสันโดษ เพราะการฉันอาหารรวมในบาตรนั้น เป็นหลักปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เตือนสติว่า ภิกษุฉันอาหารเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในการปฏิบัติธรรมเท่านั้น

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ คือ ผู้ที่ห้ามภัตที่ผู้อื่นถวายภายหลังเป็นวัตร
ห้ามภัต หมายถึง การฉันอาหาร ซึ่งผู้ที่ห้ามภัตที่ผู้อื่นถวายภายหลังเป็นวัตร คือ ภิกษุผู้ที่ไม่รับการถวายอาหารจากผู้ใดที่ได้ถวายหลังจากตนได้ฉันอาหารในมื้อสุดท้ายของวันนั้นไปแล้วเป็นนิจ (มื้อเที่ยง) เพราะการรับอาหารหลังจากมื้อเที่ยงไปแล้วอาจทำให้เกิดกิเลสอยากฉันอาหารนั้น อันเป็นเหตุให้ผิดต่อพระธรรมวินัยได้

หมวดที่ 3 เสนาสนปฏิสังยุตต์ (การถือครองเสนาสนะ)


8. อารัญญิกังคะ คือ ผู้ที่อยู่ป่าเป็นวัตร
ผู้ที่อยู่ป่าเป็นวัตร คือ ภิกษุผู้เที่ยวธุดงค์ไป และเลือกพักอาศัยอยู่แต่เพียงในป่าเป็นนิจ มิใช่เที่ยวธุดงค์ไปตามแหล่งบ้านเรือน แหล่งเมือง แหล่งชุมชนเพื่อกิจอื่นอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม ทั้งนี้ ในพระวินัยได้บัญญัติไว้ว่า พื้นที่ป่าหรือพื้นที่ควรแก่ใช้ธุดงค์วัตร คือ พื้นที่ใดที่ห่างจากชายบ้าน ชายชุมชน ชายเมืองอันเป็นแหล่งพักอาศัยของคฤหัสถ์อย่างน้อย 500 ชั่วธนู หรือที่ 25 เส้น หรือแปลงได้ 1 กิโลเมตร (1 เส้น = 40 เมตร)

9. รุกขมูลิกังคะ คือ ผู้ที่อยู่โคนไม้เป็นวัตร
ผู้ที่อยู่โคนไม้เป็นวัตร คือ ภิกษุผู้ยึดอาศัยเพียงโคนต้นไม้สำหรับพักอาศัยปฏิบัติธรรมเป็นนิจ เพราะสถานที่นั้นไม่มีที่พักอาศัยอื่นที่เหมาะสมกว่า โดยไม่พึงตรึกตรองหรือแสวงหาที่พักอาศัยอื่นที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายกว่า

10. อัพโภกาสิกังคะ คือ ผู้ที่อยู่ที่แจ้งเป็นวัตร
ผู้ที่อยู่ที่แจ้งเป็นวัตร คือ ภิกษุผู้ที่ยึดปฏิบัติด้วยการอยู่ในที่โล่ง มิใช่สถานที่มิดชิด บดบังตลอดทั้งวันอันจะเป็นที่เคลือบแครงสงสัยถึงกิจของตนจากภิกษุอื่นหรือคฤหัสถ์ที่พบเห็น

11. โสสานิกังคะ คือ ผู้ที่อยู่ป่าช้าเป็นวัตร
ผู้ที่อยู่ป่าช้าเป็นวัตร คือ ภิกษุผู้ที่ยึดปฏิบัติด้วยการพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าช้าเป็นนิจ ซึ่งรวมถึงป่าชนิดอื่นที่มิใช่ป่าช้าด้วยเช่นกัน ดังข้อที่ 8 อันเป็นหลักความสันโดษ และเป็นที่เงียบสงบเหมาะแก่การเจริญธรรม มิใช่ภิกษุที่เที่ยวไปอยู่อาศัยตามเมือง ตามหมู่บ้านหรือที่ทีเป็นแหล่งอาศัยของคฤหัสถ์

12. ยถาสันถติกังคะ คือ ผู้ที่อยู่เสนาสนะตามแต่เขาจัดให้
ผู้ที่อยู่เสนาสนะตามแต่เขาจัดให้ คือ ภิกษุที่พึงยึดอยู่แต่เสนาสนะตามที่ภิกษุ คฤหัสถ์ หรือ บุคคลใดๆที่จัดเตรียมให้พักอาศัยอยู่ โดยละเว้นจากการเรียกร้องสถานที่โน้น สถานที่นี้ตามใจชอบของตน หรือเรียกร้องต้องการสิ่งนั้น สิ่งนี้ในเสนาสนะ แต่พึงให้อาศัยอยู่ด้วยความยินดีตามสภาพที่ผู้อื่นได้จัดไว้ให้

13. เนสัชชิกังคะ คือ ผู้ที่ดำรงอยู่ด้วยเพียง 3 อิริยาบถ
ผู้ที่ดำรงอยู่ด้วยเพียง 3 อิริยาบถ คือ ภิกษุที่ยึดปฏิบัติด้วยเพียง 3 อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง โดยละเว้นจากการนอนในช่วงยามที่มิใช่ช่วงเวลาอันพึงนอน เช่น ช่วงเช้าตรู่จนถึงค่ำ อันเป็นช่วงการปฏิบัติธรรมที่พึงดำรงอยู่เพียง 3 อิริยาบถ คือ ยืน เดิน และนั่ง