ผ้าจีวร ความหมาย ชนิดผ้าจีวร และความสันโดษในจีวร 20 ประการ

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ผ้าจีวร หมายถึง ผ้าชนิดต่างๆที่พระสงฆ์ใช้สอยในกิจวัตร ทั้งผ้าที่ใช้นุ่งห่ม (จีวร) และผ้าที่ถูกใช้สอยเพื่อการอื่น อันได้มาจากการทำขึ้นด้วยพระภิกษุผู้ใช้เอง หรือจากการถวายของคฤหัสถ์

ทั้งนี้ การถวายผ้าจากคฤหัสถ์ อาจเป็นผ้าจีวรโดยตรง หรือ ผ้าบังสุกุลทั้ง 23 ชนิด สำหรับใช้ทำจีวรหรือใช้สำหรับทำเป็นผ้าใช้สอยอย่างอื่น

เครื่องนุ่งห่ม หรือ บริขารของพระสงฆ์ หมายถึง ผ้าที่ใช้นุ่งห่มปกปิดร่างกาย อันประกอบด้วยผ้า 4 ผืน คือ สบง จีวร อังสะ สังฆาฏิ ผ้ารัดอก และสายประคต 1 เส้น ส่วนผ้าอย่างอื่นที่ไม่ใช้นุ่งห่มร่างกายถือเป็นผ้าใช้สอย เช่น ผ้ากราบ ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น

ชนิดผ้าที่บัญญัติไว้ในพระธรรมวินัยสำหรับทำจีวร เรียกว่า กัปปิยจีวร ประกอบด้วยผ้า 6 ชนิด
1. โขมะ คือ ผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้
2. กัปปาสิกะ คือ ผ้าที่ทำด้วยฝ้าย
3. โกเสยยะ คือ ผ้าที่ทำด้วยใยไหม
4. กัมทสะ คือ ผ้าที่ทำด้วยขนสัตว์
5. สาณะ คือ ผ้าที่ทำด้วยเปลือกป่าน
6. ภังคะ คือ ผ้าที่ทำด้วยผ้าทั้ง 5 อย่าง ข้างต้น หรืออย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน

ชนิดผ้าหรือสิ่งที่ห้ามใช้นุ่งห่มหรือทำบริขารของพระสงฆ์ที่บัญญัติไว้ในพระธรรมวินัย 7 ชนิด
1. ผ้าคากรอง หมายถึง สิ่งที่ใช้นุ่งห่มที่ได้จากการร้อยหรือถักทอด้วยหญ้า
2. ผ้าเปลือกต้นไม้กรอง หมายถึง สิ่งที่ใช้นุ่งห่มที่ได้จากการร้อยหรือถักทอด้วยเปลือกไม้
3. ผ้าผลไม้กรอง หมายถึง สิ่งที่ใช้นุ่งห่มที่ได้จากการร้อยหรือถักทอด้วยผลไม้
4. ผ้าผมคนกรอง หมายถึง สิ่งที่ใช้นุ่งห่มที่ได้จากการร้อยหรือถักทอด้วยผมคน
5. ผ้าขนสัตว์กรอง หมายถึง สิ่งที่ใช้นุ่งห่มที่ได้จากการร้อยหรือถักทอด้วยขนสัตว์
6. ผ้าปีกนกเค้ากรอง หมายถึง สิ่งที่ใช้นุ่งห่มที่ได้จากการร้อยหรือถักทอด้วยปีกนกเค้ากรอง ทั้งนี้ ยังหมายรวมถึงการใช้ปีกนกชนิดอื่นๆทุกชนิดด้วยเช่นกัน
7. หนังสือ กล่อง หรือ กระดาษ

สาเหตุที่ได้บัญญัติห้ามใช้ชนิดผ้าหรือสิ่งที่ใช้นุ่งห่มเหล่านี้เนื่องจาก การถักทอด้วยสิ่งเหล่านี้ไม่มีความมิดชิดหรือประณีตพอ อีกทั้ง ยังเกิดกลิ่นสาบของส่วนที่ใช้จากสัตว์ด้วย รวมถึงบางชนิดมีความสวยงาม อันพึงขัดหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามหลักของภิกษุ

ชนิดชิ้นส่วนพืชที่ใช้ทำน้ำย้อมสำหรับย้อมจีวรที่ได้บัญญัติไว้ในพระธรรมวินัย 6 ชนิด
1. ราก หรือ เหง้าพืช
2. แก่นต้นไม้
3. เปลือกต้นไม้
4. ใบไม้
5. ดอกไม้
6. ผลไม้

สีย้อมที่ใช้ย้อมผ้าในปัจจุบันจะเป็นสีเคมีเป็นหลัก แต่พบได้บ้างในบางวัดหรือภิกษุบางองค์ โดยเฉพาะภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมในสถานที่ทุรกันดารมากอาจพบการย้อมผ้าด้วยสีจากธรรมชาติ

ผ้าจีวรที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เรียกว่า ผ้ากาสายะ หรือ ผ้ากาสาวะ หมายถึง สีผ้าที่ได้จากการย้อมน้ำฝาด ซึ่งสมัยอดีตจะใช้ส่วนของพืชที่มีรสฝาดมาต้มเป็นน้ำย้อม ทำให้ได้สีผ้าจีวรสีเหลืองแกมแดง หรือ สีเหลืองม่น แต่ปัจจุบัน นิยมใช้สีย้อมเคมีที่สามารถทำการย้อมให้ได้สีผ้ากาสาวะเช่นกัน

รูปแบบจีวร [1]
รูปแบบจีวรที่พระภิกษุในอดีตได้กำหนดเป็นรูปแบบ และถูกเรียกชื่อองค์ประกอบของส่วนต่างๆไว้ว่า ผ้าจีวร หรือ อุตตราสงค์ นั้น เป็นผ้าที่ได้จากการตัดผ้าให้เป็นผืนเล็ก และผืนใหญ่ก่อน จากนั้น ค่อยนำผ้าเหล่านั้นมาถักเย็บให้รวมเป็นผืนใหญ่ผืนเดียวกัน โดยผ้าจีวร 1 ผืน จะมีความยาวประมาณ 9 คืบพระสุคต กว้างประมาณ 4 คืบพระสุคต

ผ้าจีวร 1 ผืน จะประกอบด้วยผ้าผืนต่างๆที่เรียกว่า กระทง

ผ้ากระทงใหญ่ เปรียบเสมือนผืนนาแปลงใหญ่ เรียกว่า มณฑล ส่วนผ้ากระทงเล็ก เปรียบเสมือนผืนนาแปลงเล็ก เรียกว่า อัฒฑมณฑล จากนั้น เย็บถักเข้าด้วยกันให้เป็นผืนทำให้มองเห็นรอยเย็บขนานกัน 2 รอย เป็นแนวพาดตามขวาง คล้ายคันนาขวาง เรียกว่า อัฒฑกุสิ และเมื่อรวมทั้งผ้าผืนใหญ่ ผ้าผืนเล็ก และรอยเย็บถัก รวมเป็น 1 ส่วน เรียกว่า ขัณฑ์ แล้วเย็บถักขัณฑ์เป็นรอยเย็บ 2 รอย ขนานตามแนวยาวของผืนผ้า เรียกว่า กุสิ โดยเย็บขัณฑ์รวมกันจำนวน 5 ขัณฑ์ ก็จะได้ผ้าจีวรผืนใหญ่พร้อมนุ่งห่ม โดยส่วนขอบผืนผ้าจีวรเย็บเป็นแนวยาว 2 แนว ในทั้งสี่ด้านทำให้มองเห็นเป็นแนวชายขอบ เรียกว่า อนุวาต ทั้งนี้ ในปัจจุบันรูปแบบจีวรแบบนี้ไม่ค่อยพบแล้ว เพราะมีการเปลี่ยนวิธีการเย็บถักจากมือเป็นเครื่องจักตามยุคสมัย ซึ่งสามารถใช้ผ้าผืนใหญ่ผืนเดียวทำเป็นจีวรได้เช่่นกัน

ความสันโดษในจีวร 20 ประการ
ความสันโดษในจีวร มาจากภาษาบาลีว่า “จีวรสันโตโส” หมายถึง ความยินดีหรือพึงพอใจในผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มที่ตนใช้สอย ได้แก่
1. สันโดษในการตรึก หมายถึง ภิกษุควรละเว้นซึ่งการครุ่นคิดว่าจีวรนั้นเป็นจีวรเก่า ไม่ต้องการสวมใส่ แลเพื่อต้องการจีวรใหม่ เพราะทำให้เกิดความยากได้ ไม่ยินดีในสิ่งที่ตนมีอยู่

2. สันโดษในการไป หมายถึง ภิกษุควรละเว้นซึ่งการครุ่นคิดว่าจะเที่ยวกัมมัฏฐานไปยังที่ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งจีวร เพราะจะทำให้กัมมัฏฐานไม่บริสุทธิ์ และจิตไม่ยินดีกับจีวรที่ตนมีอยู่

3. สันโดษในการแสวงหา หมายถึง เมื่อภิกษุใดจำเป็นต้องการจีวร ภิกษุนั้น ไม่ควรแสวงหาจีวรร่วมกับภิกษุอื่นที่มีความมักมาก แต่ให้ร่วมแสวงหากับภิกษุผู้มีศีล และมีความละอาย

4. สันโดษในการได้ หมายถึง ภิกษุควรละเว้นจากการครุ่นคิดว่าจีวรที่คฤหัสถ์กำลังนำมาถวายนั้น เป็นจีวรที่ตามที่ตนปารถนาจะได้หรือไม่ คือ ละเว้นการครุ่นคิดว่า จีวรนั้น ดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่ให้พึงยินดีกับจีวรที่คฤหัสถ์จะนำมาถวาย และรับไว้ด้วยความเต็มใจ

5. สันโดษในการรับแต่พอประมาณ หมายถึง ภิกษุควรละเว้นจากการครุ่นคิดว่า จำนวนจีวรที่คฤหัสถ์นำมาถวายนั้นมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการที่ตนจะนุ่งห่มหรือไม่ แต่ให้พึงยินดีว่ากับจำนวนจีวรนั้นถึงแม้จะมีจำนวนเท่าไรก็ตาม

6. สันโดษในจากความอยากได้ หมายถึง ภิกษุควรละเว้นจากการครุ่นคิดว่าจีวรที่ได้มานั้นเพียงพอหรือไม่เพียงพอ เป็นจีวรดีหรือไม่ดี ถูกใจหรือไม่ถูกใจ เพราะจะทำให้เกิดความยากได้ขึ้นมา แต่ให้พึงยินดีกับสิ่งที่ตนมีอยู่ และยินดีกับสิ่งที่ได้รับมา

7. สันโดษตามแต่ได้ หมายถึง ภิกษุพึงพอใจหรือยินดีกับจีวรที่ตนนุ่งห่มอยู่ ไม่ว่าจีวรนั้นจะหมองคล้ำหรือแลดูเก่าก็ตาม เพราะถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น ก็ยังสามารถสวมใส่ได้ หากครุ่นคิด ไม่สันโดษในสิ่งที่พอนุ่งห่มได้แล้ว ก็จะทำให้เกิดความยากได้ขึ้นมา

8. สันโดษตามกำลัง หมายถึง ภิกษุพึงยินดีกับกำลังหรือสติปัญญาของตนในการที่จะแสวงหาจีวร พึงยินดีว่าตนสามารถที่จะหาจีวรได้ตามสภาพกำลังของตนตามที่ได้นุ่งห่มจีวรนั้นอยู่ อาทิ ภิกษุผู้ชราภาพ ภิกษุผู้ป่วย เป็นต้น โดยพึงยินดีกับจีวรนั้น พึงไม่ครุ่นคิดแสวงหาใหม่หรือแสวงหาให้มากพอ เพราะกำลังหรือสติปัญญาของตนมีเท่านี้

9. สันโดษตามความสมควร หมายถึง ภิกษุที่มีจีวรทั้งที่เหมาะสมแก่ตนหรือมีจีวรที่ดีกว่า จีวรที่ดีกว่าพึงยินดีที่จะสละให้แก่ภิกษุอื่นที่เหมาะสม เพราะตนก็ยังเหมาะสมจะนุ่งห่มจีวรอีกผืนอยู่

10. สันโดษในน้ำ (ซักผ้า) หมายถึง ภิกษุควรละเว้นซึ่งการครุ่นคิดว่า น้ำที่ใช้ซักทำความสะอาดจีวรนั้นมาจากไหน แต่พึงสังเกตเพียงความเหมาะสมว่าน้ำนั้นสามารถใช้ทำความสะอาดจีวรของตนหรือไม่ โดยน้ำที่เพียงพอซักได้ก็ให้พึงใช้ซักล้าง ไม่ครุ่นคิดหรือแสวงหาน้ำที่ดีที่สุด คือ ให้เลือกใช้น้ำซักพอความเหมาะสมหรือเพียงที่ตนพอหาได้หรือตามที่มีอยู่เท่านั้น

11. สันโดษในการซัก หมายถึง ภิกษุพึงซักล้างจีวรเพียงพอที่จะทำให้เกิดความสะอาดที่เหมาะสม ไม่พึงแสวงหาสิ่งที่ช่วยทำความสะอาด อาทิ การซักด้วยมือเพียงด้วยน้ำเปล่า ไม่จำเป็นต้องแสวงหาสิ่งช่วยทำความสะอาดอย่างอื่น เช่น ผงซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม รวมถึง การใช้เครื่องซักผ้า การวานภิกษุอื่นให้ซักให้ เป็นต้น

12. สันโดษในการทำ หมายถึง เมื่อขณะทำการซักล้างจีวร ภิกษุไม่พึงครุ่นคิดว่า จีวรนั้นเนื้อหยาบ จีวรนั้นเนื้อนุ่ม จีวรนั้น ผืนใหญ่ จีวรนั้นผืนเล็ก จีวรนั้นซักง่ายซักยาก เป็นต้น เพราะการครุ่นคิดถึงสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความไม่ยินดีกับจีวรที่ตนมีอยู่

13. สันโดษในปริมาณ หมายถึง ภิกษุพึงยินดีกับจำนวนจีวรที่ตนสวมใส่ ทั้งเพียงมีผืนเดียว สองผืน หรือมากกว่า เพราะจะมีเพียงผืนเดียวก็สามารถที่จะนุ่งห่มได้ตลอด

14. สันโดษในด้าย หมายถึง ภิกษุไม่พึงครุ่นคิดแสวงหาด้ายเย็บจีวรที่ดี แต่หากตนมีด้ายเย็บอยู่แล้วก็ให้พึงใช้ด้ายนั้นเย็บจีวรเสียก่อน เพราะสามารถเย็บเป็นผืนได้เช่นกัน แต่หากครุ่นคิดก็จะทำให้เกิดความยากได้หรือแสวงหาทั้งที่ตนก็มีอยู่

15. สันโดษในการเย็บ หมายถึง การเย็บจีวรนั้น ภิกษุพึงเย็บด้วยการร้อยถักในจำนวนครั้งที่พอเหมาะ และตามความสามารถของตน ไม่พึงเย็บอย่างประณีตหรือเย็บถักหลายครั้งให้ เพราะการเย็บแบบนั้นเกิดจากการครุ่นคิดว่าต้องเย็บจีวรให้ดีเกิดความพอเหมาะ อันเป็นจิตในแนวทางสตรี โดยการจำนวนครั้งการเย็บที่เหมาะสมในพระวินัยกล่าวไว้ คือ พึงสอยเจ็ดครั้ง ห่างประมาณสามองคุลีก็เพียงพอ

16. สันโดษในการย้อม หมายถึง เมื่อภิกษุต้องการย้อมจีวร ภิกษุไม่พึงแสวงหาเครื่องย้อมที่นอกเหนือบัญญัติหรือเครื่องย้อมที่ทำให้เกิดสีสันสวยงามอื่น แต่พึงใช้เครื่องย้อมตามที่บัญญัติ และใช้เครื่องย้อมตามแต่ที่ตนหาได้เท่านั้นก็เพียงพอ

17. สันโดษในการทำกัปปะ หมายถึง ภิกษุเลือกใช้เครื่องย้อมที่ให้สีไม่ฉูดฉาด แต่เพียงให้เป็นเฉดสีเขียว สีคล้ำ หรือ สีเปือกตมก็เพียงพอ หรือ เป็นสีที่เพียงคนนั่งบนหลังช้างมองเห็นในระยะไกลเท่านั้น

18. สันโดษในการใช้สอย หมายถึง ภิกษุพึงยินดีกับจีวรที่ตนมีอยู่เพียงเพื่อใช้นุ่งห่มปกปิดร่างกาย หรือใช้เป็นผ้าใช้สอยอย่างอื่นตามอัตภาพเท่านั้น ไม่พึงใช้สอยจีวรเพื่อการอื่นอันไม่ใช้วิสัยของภิกษุ เช่น ใช้จีวรตัดเย็บเป็นผ้าม่าน ใช้จีวรตัดเย็บเป็นผ้าปูที่นอนให้นุ่ม เป็นต้น

19. สันโดษในการเว้นจากการสะสม หมายถึง เมื่อภิกษุได้ผ้ามาในจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจเกินพอกับการนุ่งห่มหรือใช้สอย และผ้ายังไม่มีการตัดเย็บก็สามารถเก็บไว้ได้ แต่หากเป็นผ้าที่ตัดเย็บพร้อมนุ่งห่มที่มากเกินพอแล้ว ส่วนเกินนั้นไม่พึงเก็บรักษาไว้ ให้พึงสละแก่ภิกษุอื่นที่ขาดแคลนหรือจำเป็นต้องเปลี่ยนจีวรใหม่ แต่หากการเก็บรักษาไว้นั้นมีเพื่อจะรอมอบให้แก่ผู้อื่นก็สามารถทำได้

20. สันโดษในการสละ หมายถึง การสละหรือการมอบให้ซึ่งผ้าจีวรแก่ภิกษุอื่น ไม่พึงให้เพราะความรู้จักมักคุ้น หรือ ไม่พึงเลือกให้ แต่พึงให้ภิกษุอื่นทุกรูปที่มีความจำเป็นต้องใช้จีวร

หลักสันโดษในจีวรสามารถที่นำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตของคฤหัสถ์ได้เช่นกัน หรือ อาจเรียกเป็น ความสันโดษในเสื้อผ้าอาภร เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าเก่าที่ยังสวมใส่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาซื้อเสื้อผ้าใหม่มาสวมใส่เป็นนิจ หรือ หากมีเสื้อผ้าจำนวนมากหรือตนไม่สามารถสวมใส่ได้เพราะเป็นไปตามวัย และร่างกาย ก็ให้สละเสื้อผ้านั้นแก่ผู้อื่นที่ยากไร้ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
[1] พระมหาณัฐพงษ์ พานิชศิริ. 2547. การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องการตัดเย็บผ้าจีวร.