บุญกิริยาวัตถุ 3 ความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางปฏิบัติ

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

บุญกิริยาวัตถุ 3 หมายถึง เหตุเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ กล่าวคือ เหตุที่ทำให้เกิดการทำบุญ หรือ วิธีการหรือการปฏิบัติที่ได้กระทำแล้วทำให้เกิดบุญอันเป็นผลทำให้เกิดความสุข ประกอบด้วย 3 อย่างคือ
1. ทานมัย คือ การให้ทาน
การให้ทาน อันได้แก่ การทำบุญด้วยการแบ่งปันสิ่งของ การบริจาคทรัพย์ทรัพย์สินหรือสิ่งของของตนให้แก่ผู้อื่นเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นที่จักนำไปใช้

2. สีลมัย คือ การรักษาศีล
การรักษาศีล อันได้แก่ การทำบุญด้วยการรักษาศีล ทั้งการรักษากาย วาจา และจิตใจให้มีความสงบเรียบร้อย ไม่ประพฤติผิดต่อศีลต่างๆที่ได้บัญญัติไว้เป็นแนวทาง ทั้งฆราวาส ผู้เจริญธรรม (อุโบสถศีล) และภิกษุ โดยศีลสำหรับฆราวาสที่พึงควรปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนิกชน ได้แก่ ศีล 5หรือเบญจศีล ที่พึงนำไปใช้สำหรับฆราวาสทั่วไป และ ศีล 8 หรือ อัฐศีล หรือมักเรียกทั่วไปว่า อุโบสถศีล

3. ภาวนามัย คือ การอบรมจิตใจ
การอบรมจิตใจ อันได้แก่ การทำบุญด้วยการเจริญภาวนาด้วยการฝึกปรือจิตให้เกิดความสงบ และเกิดสติปัญญา อันประกอบด้วยแนวทางหลัก 2 ประการ คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

การปฏิบัติในหลักบุญกิริยาวัตถุใน 3 ประการ คือ ทาน ศีล และภาวนานี้ ถือเป็นหลักการ และแนวทางพื้นฐานที่พุทธศาสนิกชนทุกคนควรพึงประพฤติปฏิบัติ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ เป็น หัวใจของพุธศาสนานั่นเอง กล่าวคือ ทำให้เกิดกรรมหรือการกระทำที่เรียกว่า “ เว้นจากความชั่ว กระทำความดี ทำใจให้บริสุทธิ์” นั่นเอง

ตามขั้นปฏิบัติในบุญกิริยาวัตถุ 3 นั้น จะเริ่มต้นด้วยการรับศีล และรักษาศีล โดยการรับศีลมักเกิดขึ้นในพิธีกรรมต่างๆ อาทิ การถวายภัตตาหารหรือสังฆทานแก่พระสงฆ์ตามวัด งานทำบุญบ้าน งานบวช งานศพเป็นต้น จากนั้น ผู้รับศีลพึงตั้งมั่นในการรักษาศีลที่ตนได้ปวารณาไว้ในตอนรับศีล

ครั้นเมื่อตอนรักษาศีลก็พึงสวดมนต์หรือรับฟังเทศนาจากพระสงฆ์ หรือ การทำสมาธิ การอ่าน และทำความเข้าใจในหลักธรรมคำสอน สิ่งเหล่านี้ เรียกว่า ภาวนามัย

อรรถาธิบายแนวทางปฏิบัติ
1. ทาน
ทาน คือ การให้ การสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วยการแบ่งปันหรืออนุเคราะห์แก่ผู้อื่น ทั้งที่เป็นสิ่งของจับต้องได้ และมิใช่สิ่งของ ได้แก่
1) การให้ทานด้วยสิ่งของต่างๆ ได้แก่ การให้อาหารแก่สัตว์ การให้ข้าวปลาอาหารแก่ผู้ยากไร้ การให้เงินแก่คนจน การให้ถวายอาหารแก่พระสงฆ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เรียกว่า การให้ทานด้วยสิ่งของทั้งสิ้น
2) การยกย่องส่งเสริมหรือการอนุโมทนาต่อการทำความดีของผู้อื่น ได้แก่ การให้คำชมหรือยกย่องการทำความดีของผู้อื่น การอนุโมทนาร่วมในงานบวช เป็นต้น
3) การอบรมสั่งสอนหรือให้ความรู้วิทยาการอาทิ พ่อแม่สอนลูก ครูสอนนักเรียน เป็นต้น
4) การช่วยเหลือการงานผู้อื่น อาทิ ช่วยงานศพ ช่วยงานทำบุญบ้าน ช่วยงานบวช ช่วยงานสังคมส่วนรวม เป็นต้น
5) การให้อภัยแก่ผู้อื่น เรียกว่า อภัยทาน อันได้แก่ การไม่ผูกใจเจ็บแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำในสิ่งไม่ดีต่อตน เป็นต้น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตามข้อ 2)-5) เรียกว่า การให้ทานที่มิใช่สิ่งของ

2. ศีล
ศีล คือ การตั้งมั่นในความประพฤติที่ดีงามที่ได้ดำเนินไปในชีวิตประจำวัน อันได้แก่ ข้อห้ามหรือข้อพึงปฏิบัติในศีล 5 และศีล 8 อันได้แก่
1) เว้นจากการฆ่าสัตว์
2) เว้นจากการลักทรัพย์หรือฉ้อโกง
3) เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4) เว้นจากการพูดปดโกหก
5) เว้นจากการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา
อันที่กล่าวมานี้ เรียกได้ว่าเป็นแนวทางเบื้องต้นของศีล 5
6) เว้นจากการทานอาหารในยามวิกาล คือ หลังเที่ยงวันเป็นต้นไป
7) เว้นจากการขับร้องหรือฟ้อนรำ
8) เว้นจากการนั่งนอนในที่สูงหรือที่รองนุ่ม
อันที่กล่าวมานี้ เรียกได้ว่าเป็นแนวทางเบื้องต้นของศีล 8 ส่วนผู้ทรงศีลอันเป็นสามเณรก็พึงรักษาด้วยศีล 10 ข้อ และพระสงฆ์ก็พึงรักษาด้วยศีล 227 ข้อ

3. ภาวนา
ภาวนา คือ การฝึกปรือจิตเพื่อให้เกิดความสงบ และทำให้เกิดปัญญา ได้แก่
1) การนั่งสมาธิ หรือ การเดินจงกรม ทั้งการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน และสมถกรรมฐาน
2) การสวดมนต์
3) การรับฟังคำสอนหรือคำเทศนาจากพระสงฆ์
4) การอ่านตำราต่างๆ ทั้งที่เป็นตำราเรียนในทางโลก และตำราในทางพุทธศาสนา

สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมา เรียกว่า การภาวนา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น ซึ่งยังมีแนวทางหรือข้อปฏิบัติอื่นที่หลากหลายซึ่งยังมิได้หยิบยกมา

ขอบคุณภาพจาก dantacitto.com, youtube ช่อง ณัฐวุฒิ กลิ่นศรีสุข เข้าถึงได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=t6InnPHXYdE