กระดาษมูลช้าง ประโยชน์ และวิธีทำกระดาษมูลช้าง

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

กระดาษมูลช้าง หมายถึง ผลิตภัณฑ์กระดาษชนิดหนึ่งที่ผลิตได้จากมูลช้าง มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายกับกระดาษสา มีทั้งชนิดบางที่โปร่งแสง และหนาทึบ แผ่นกระดาษมีเส้นใยบนแผ่น สามารถย้อมให้เกิดสีสันตามต้องการได้

ช้างกิน 1 เชือก ใน 1 วันจะกินอาหารกว่า 200 กิโลกรัม อาหารที่กินมีทั้งหญ้า ต้นกล้วยไผ่ อ้อย ผลไม้ และพืชอีกหลายชนิด และใน 1 วัน ช้าง 1 เชือก จะถ่ายมูลออกมาวันละกว่า 50-60 กิโลกรัม [1]

ยกตัวอย่าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง ที่บางปีมีช้างอยู่ในการดูแลกว่า 80 เชือก ทำให้ใน 1 วัน ช้างทั้งหมดจะถ่ายมูลรวมกันแล้วกว่า 4-5 ตัน ทำให้ต้องมีภาระ และค่าใช้จ่ายในการกำจัด แต่มีการนำมูลช้างมาทำให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง อาทิ การหมักเป็นก๊าซชีวภาพ และใช้เป็นปุ๋ยคอก ทั้งนี้ พบว่า มูลช้างมีเส้นใยสูงสามารถทำเป็นกระดาษเพื่อจำหน่ายหรือนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทำให้ที่ศูนย์ผลิตกระดาษจากมูลช้างขึ้นมาจำหน่าย โดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายแบบให้เลือก และนอกจากศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง แล้ว ยังพบการผลิตกระดาษมูลช้างในศูนย์เลี้ยงช้างหลายแห่ง อาทิ วังช้างอยุธยา จังหวัดอยุธยา เป็นต้น [1]

การใช้ประโยชน์กระดาษมูลช้าง
การทำกระดาษมูลช้างนอกจากเป็นการกำจัดมูลช้างได้โดยตรงแล้ว ที่สำคัญเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้จากของเสียให้เกิดมีมูลค่า ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ศูนย์เลี้ยงช้างหรือผู้เลี้ยงช้าง และช่วยสร้างแรงงานแก่คนในท้องถิ่น อีกทั้ง ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย

กระดาษมูลช้างมีลีกษณะเป็นแผ่นบางหรืออาจเป็นแผ่นหนา แต่มีจุดเด่นเมื่อเทียบกับกระดาษธรรมชาติชนิดอื่น คือ เยื่อมีความละเอียดสูง มีเส้นใยแทรกบนแผ่นกระดาษน้อย แผ่นกระดาษมีความราบเรียบ สามารถที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดสีสวยงาม ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์จากกระดาษมูลช้างที่หลากหลาย

ผลิตภัณฑ์จากกระดาษมูลช้าง
– ซองจดหมาย
– กระดาษสี ขนาดต่างๆ อาทิ A4 A3
– โปสการ์ด
– การ์ดอวยพร
– ถุงกระดาษ และกล่องกระดาษ
– ปกสมุดจดบันทึก
– ที่คั่นหนังสือ
– พวงกุญแจ
– พัด
– กล่องชนิดต่างๆ อาทิ กล่องใส่นามบัตร กล่องใส่กระดาษโน้ต กล่องใส่เครื่องประดับ
– กรอบรูป
– โคมไฟกระดาษ

วิธีผลิตกระดาษมูลช้าง [1], [2], [3]
1. การหมักมูลช้าง
1.1 นำมูลช้างลงหมักในบ่อหมัก โดยใช้น้ำ 1,000 ลิตร ต่อมูลช้าง 700 กิโลกรัม
1.2 เติมกากน้ำตาล 1 กิโลกรัมครึ่ง ลงในบ่อหมัก ร่วมกับ EM หรือ พด.2 จำนวน 5-10 ซอง โดยละลายน้ำจำนวน 10 ลิตร เทลงผสมร่วม จากนั้น กวนมูลช้างให้เข้ากันกับกากน้ำตาล แล้วทิ้งไว้ 5-10 วัน
1.3 เมื่อครบกำหนด ให้ตักมูลช้างขึ้นมาด้วยตะแกรงกองรวมกัน จากนั้น ทำการล้างทำความสะอาดเพื่อแยกกรวดหินหรือดินออก โดยการแช่ในน้ำ 1 คืน ก่อนตักมูลช้างออก

2. การต้มเยื่อมูลช้าง
การต้มเยื่อมูลช้างทำได้ 2 วิธี คือ
2.1 การต้มเยื่อด้วยขี้เถ้า
การต้มเยื่อด้วยขี้เถา เป็นวิธีต้มเยื่อตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยใช้ขี้เถ้าจากการเผาถ่านหรือเผาไหม้ชนิดใดก็ได้ ด้วยการนำมูลช้างผสมกับขี้เถ้าในถังต้มเยื่อ โดยการเติมน้ำให้ท่วมมูลช้าง ก่อนต้มเยื่อด้วยน้ำเดือดนาน 3-6 ชั่วโมง อัตราส่วนการใช้ขี้เถ้าต่อมูลช้างที่ 10 กิโลกรัม ต่อมูลช้าง 100 กิโลกรัม หรือยิ่งมากกว่ายิ่งดี ทั้งนี้ การต้มเยื่อด้วยขี้เถ้าไม่สามารถควบคุมเวลาหรือปริมาณการใช้ที่แน่นอนไม่ได้ เนื่องจาก ขี้เถ้ามาจากหลายหลายแหล่งของไม้ และคุณสมบัติขี้เถ้าเอง ในปัจจุบัน จึงไม่นิยมใช้ขี้เถ้าต้มเยื่อ
2.2 การต้มเยื่อด้วยโซดาไฟ (โซเดียมไฮดรอกไซด์)
– นำมูลช้างที่ทำความสะอาดแล้วเข้าต้มในหม้อต้มเยื่อ โดยใช้อัตราส่วนน้ำกับเยื่อที่ 70 ลิตร ต่อเยื่อ 40 กิโลกรัม และใช้โซดาไฟจำนวน 1 กิโลกรัม ต่อเยื่อ 25 กิโลกรัม หรือใช้โซดาไฟที่ร้อยละ 10-15 กิโลกรัมของน้ำหนักเยื่อ แล้วทำการต้มเยื่อนาน 2 ชั่วโมง ซึ่งจะได้เยื่อที่เปื่อยยุ่ย

3. การตีปั่นเยื่อหรือทุบเยื่อ
การตีเยื่อหรือการทุบเยื่อ ทำได้ 2 วิธี คือ
3.1 การตีเยื่อด้วยเครื่องตีเยื่อ
นำเยื่อต้มมาตีปั่นในเครื่องปั่นใย นาน 1-2 ชั่วโมง ทำให้ได้เยื่อที่ละเอียดมากขึ้น ซึ่งพร้อมจะเข้าแบบทำแผ่นกระดาษได้ ซึ่งจะได้กระดาษที่มีสีธรรมชาติตามเยื่อหลังการต้ม แต่หากต้องการให้เยื่อมีสีขาวเพื่อทำกระดาษสีขาว หรือ นำเข้าสู่การย้อมสีจะต้องทำการฟอกสีเสียก่อน
3.2 การทุบเยื่อ
การทุบเยื่อ เป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้แรงงานคนในการตีทุบให้เยื่อแหลกละเอียด โดยนำเยื่อใส่ห่อผ้า ก่อนใช้ไม้ตีทุบนาน 1-2 ชั่วโมง จนได้เยื่อแหลกพอประมาณ ก่อจะนำเยื่อเข้าสู่การทำแผ่นหรือการฟอกสีต่อไป ทั้งนี้ วิธีนี้ ไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากมีการใช้เครื่องจักรมาแทนที่ด้วยเครื่องตีเยื่อ และไม่สามารถทำให้เยื่อแหลกละเอียดพอ

4. การฟอกสี
เมื่อต้มเยื่อได้ตามกำหนดเวลาแล้ว ขั้นตอนต่อไปหากต้องการฟอกสี ให้นำเยื่อต้มแล้วใส่ถังเพื่อทำการต้มฟอกสี โดยใช้สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ร่วมกับโซเดียมซิลิเกตเติมในถังฟอกสี ในอัตราส่วน ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 1 กิโลกรัม/น้ำ 100 ลิตร และโซเดียมซิลิเกต ครึ่งกิโลกรัม/น้ำ 100 ลิตร ส่วนอุณหภูมิจะใช้อุณหภูมิในช่วงที่น้ำไม่เดือด คือ ประมาณ 70 องศาเซลเซียส และทำการต้มฟอกสีนาน 30-60 นาที

5. การทำแผ่นกระดาษ และลอกแผ่น
การทำแผ่นกระดาษ ทำได้ 2 วิธี คือ
5.1 การตักช้อนด้วยตะแกรง
นำตะแกรงทำแผ่นกระดาษช้อนตักเยื่อ โดยทำการกวนเยื่อให้ฟุ้งกระจายก่อน จากนั้น ให้รีบนำตะแกรงลงช้อนเยื่อให้ตกลงบนตะแกรง ซึ่งกะประมาณความหนาบางตามต้องการ ก่อนยกตะแกรงขึ้นเพื่อให้น้ำสะเด็ดออก จากนั้น นำแตะแกรงไปตากแดดให้แห้ง
5.2 การแตะเยื่อบนตะแกรง
การแตะเยื่อเป็นวิธีทำแผ่นกระดาษที่ไม่ต้องนำตะแกรงลงช้อนตักเยื่อ แต่จะนำเยื่อมาปั้นเป็นก้อน แล้วชั่งน้ำหนัก เช่น ก้อนละ 200 กรัม หรือมากกว่า ตามความหนาบางของแผ่นกระดาษที่ต้องการ จากนั้น นำตะแกรงลงจุ่มในน้ำให้น้ำท่วมจนถึงขอบตะแกรง ก่อนนำก้อนเยื่อวางบนแผ่นตะแกรง แล้วใช้มือหรือไม้เกลี่ยเยื่อให้ทั่วตะแกรง ก่อนยกตะแกรงให้น้ำออกจนสะเด็ด จากนั้น นำตะแกรงไปวางตากให้แห้ง

6. การลอกแผ่นกระดาษมูลช้าง
เมื่อตากแผ่นกระดาษมูลช้างจนแห้งทั่วแผ่นแล้วจึงทำการลอกแผ่นกระดาษออก โดยให้เริ่มลอกจากมุมด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นมุมด้านห่างจากลำตัว แล้วดึงลอกเข้ามาหาด้านใกล้ลำตัว

เอกสารอ้างอิง
[1] คำรณ แก้วผัด. 2550. การปรับปรุงกระบวนการต้มและตีเยื่อในการผลิตกระดาษมูลช้าง.
[2] มยุรี เรืองสมบัติ. 2552. การศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจาก-
กระดาษมูลช้าง เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน-
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา.
[3] ฐิฏิกา สุริยะสาร.2545. การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน-
กระดาษมูลช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย-
อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง.

ขอบคุณภาพจาก
– topmedia2u.com/
– ช่อง Elephant Parade : เข้าถึงได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=P47w9KlOJCc
– materialdistrict.com/
– africageographic.com/