ปลาสร้อย/ปลาสร้อยขาว แหล่งที่พบ ประโยชน์ และราคา

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ปลาสร้อยขาว (siamese mud carp) จัดเป็นปลาเศรษฐกิจตามธรรมชาติที่สำคัญชนิดหนึ่ง เนื่องจาก สามารถจับและหาได้จำนวนมากในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ นิยมใช้ประกอบอาหารทั้งในรูปปลาสด และแปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาร้า และปลาส้ม

อนุกรมวิธาน [1] อ้างถึงใน Nelson, 2006
• อาณาจักร (kingdom): Animalia
• ไฟลัม (phylum): Chordata
• ไฟลัมย่อย (Subphylum): Vertebrata
• ชั้น (class): Actinopterygii
• อันดับ (order): Cypriniformes
• อันดับย่อย (Suborder): Cyprinoidei
• วงศ์ (family): Cyprinidae
• สกุล (genus): Henicorhynchus
• ชนิด (species): siamensis

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Henicorhynchus siamensis
• ชื่อสามัญ : siamese mud carp, Jullien,s mud carp
• ชื่อท้องถิ่น : ปลาสร้อย, ปลาสร้อยขาว

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
ปลาสร้อยขาวมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งประเทศไทย ลาว พม่า และประเทศใกล้เคียง ในประเทศไทยพบแพร่ได้ในทุกภาค แต่พบได้มากทางตอนบนของประเทศทั้งบริเวณภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคอีสาน

ปลาสร้อยขาวพบได้ทั่วไปตามแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสายรอง และทั้งในอ่างหรือสระเก็บน้ำทุกประเภท แต่ปริมาณการพบในจำนวนมากจะพบได้ในแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ อาทิ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวังลพบุรี เป็นต้น

ลักษณะปลาสร้อยขาว [1] อ้างถึงใน ครรชิต และคณะ (2530)
ปลาสร้อยขาว เป็นปลามีเกล็ดขนาดกลาง ลำตัวมีลักษณะยาวแบบทรงกระบอก ขนาดลำตัวเมื่อปลาโตเต็มจะมีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ส่วนความกว้างหรือความลึกของลำตัวประมาณ 7-8 เซนติเมตร หรือ มีความยาวเป็น 3.1-3.6 เท่าของความลึกลำตัว

ปลาสร้อยขาวมีขนาดหัวเล็ก และแคบเล็กไปที่ปลายปาก มีหนวดที่มุมปาก 1 คู่ ขนาดปากเล็ก ช่วงการอ้าปากแคบเล็กเช่นกัน ปากมีขากรรไกรด้านบนยื่นยาวเลยขากรรไกรล่างเล็กน้อย ภายในปากที่ขอบขากรรไกรจะไม่มีฟัน แต่จะมีฟันที่บริเวณคอหอย

ลำตัวจะปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดกลาง เกล็ดมีสีขาวเงินแลดูเหลือบแสง เกล็ดในแนวเส้นข้างลำตัวมีประมาณ 33-34 ช่วงเกล็ด ส่วนเกล็ดบริเวณรอบขอดหางมีลักษณะถี่ และขนาดเกล็ดจะเล็กประมาณ 20 เกล็ด ส่วนเกล็ดสันหลังบริเวณหน้าฐานครีบหลังมีประมาณ 10-11 เกล็ด

ส่วนครีบทั้งหมดมีสีขาวอมเหลือง ประกอบด้วยครีบหลังที่มีก้านครีบเดี่ยวประมาณ 2-3 ก้าน และก้านครีบแขนงประมาณ 8 ก้าน ครีบหางมีก้านครีบเดี่ยว 2 ก้าน บริเวณด้านล่าง และด้านบน ระหว่างตรงก้านของก้านครีบเดี่ยวจะเป็นก้านครีบแขนง ส่วนครีบก้นจะมีก้านครีบเดี่ยวประมาณ 2-3 ก้าน และก้านครีบแขนงประมาณ 5 ก้าน

การแยกเพศ
การแบ่งแยกเพศของปลาสร้อยขาวด้วยลักษณะภายนอกในนอกฤดูสืบพันธุ์วางไข่นั้นค่อนข้างยาก แต่จะมีจะใช้วิธีการสังเกตลักษณะภายนอกในช่วงฤดูสืบพันธุ์วางไข่ ซึ่งปลาตัวผู้กับปลาตัวเมียจะมีลักษณะบางจุดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ ในฤดูผสมพันธุ์ ปลาเพศเมียจะมีลักษณะท้องอูมใหญ่ เพราะด้านในท้องมีไข่จำนวนมาก ส่วนปลาเพศผู้ลำตัวจะเรียวยาว ท้องไม่อูมเต่ง และเมื่อลูบตามเกล็ดจะรู้สึกสากมือมากกว่าปลาเพศเมีย

การผสมพันธุ์ และการวางไข่ [1], [2] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
ปลาสร้อยขาว มีลักษณะการสืบพันธุ์ และวางไข่ที่ว่ายอพยพขึ้นไปเป็นฝูงยังแหล่งต้นน้ำ โดยเริ่มจากการว่ายอพยพทวนกระแสน้ำไปยังบริเวณต้นน้ำที่มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำไหล ทั้งปลาเพศผู้ และปลาเพศเมียเพื่อทำหน้าที่ในการวางไข่ และเมื่อไข่ที่ผสมแล้วจะถูกพัดพาด้วยกระแสน้ำมายังท้องน้ำที่กระแสน้ำไหลไม่แรงหรือบริเวณพื้นที่รับน้ำ บริเวณอ่างเก็บน้ำ หรือพื้นที่น้ำท่วมด้านล่าง

การสํารวจฤดูกาล และแหล่งวางไข่ของปลาสร้อยขาว ในแม่น้ำป่าสักและอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในช่วงเดือนตุลาคม 2547-กันยายน 2548 พบว่า ปลาสร้อยขาวมีฤดูกาลวางไข่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยพบ ลูกปลาสร้อยขาวกว่า 99.93% ที่บริเวณปลายน้ำที่ไหลลงแม่น้ำป่าสัก โดยมีการวางไข่อยู่ตลอดลําน้ำป่าสักตั้งแต่บริเวณจุดบรรจบของบริเวณลำน้ำ และเรื่อยลงมาตามลำน้ำ โดยพบมีการผสมพันธุ์ และวางไข่บริเวณต้นน้ำหน้าเขื่อน จากนั้น ไข่ที่ผสมแล้วจะถูกพัดพาลงมาตามลําน้ำ และอาศัยเจริญเติบโตในบริเวณอ่างเก็บน้ำ

ในธรรมชาติปลาสร้อยขาวทั้งเพศผู้ และเพศเมียที่เข้าสู่ระยะสืบพันธุ์จะมีความยาวของลำตัวตั้งแต่ 11.0 เซนติเมตร ขึ้นไป โดยมีอัตราส่วนการผสมพันธุ์ของเพศผู้กับเพศเมียที่ 1 : 1 โดยมีพฤติกรรมจับคู่ผสมพันธุ์แบบรวมฝูง เพศเมียเป็นฝ่ายออกไข่ ส่วนเพศผู้ทำหน้าที่ฉีดพ่นน้ำเชื้อเข้าผสม ขณะผสมพันธุ์จะมีการส่งเสียงร้องให้ได้ยินอย่างชัดเจน มีลักษณะไข่เป็นแบบกึ่งจมกึ่งลอย โดยปลาสร้อยขาว 1 ตัว จะออกไข่ได้ประมาณ 23,550-90,500 ฟอง ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาด และความยาวของลำตัว เมื่อออกไข่แล้วจะไม่ดูแลไข่หรือตัวอ่อน ไข่มีระยะการฟักเป็นตัวประมาณ 12-16 ชั่วโมง หลังผสมกับน้ำเชื้อ

ทั้งนี้ ปลาสร้อยขาวในแต่ละท้อที่จะมีช่วงเดือนในการสืบพันธุ์วางไข่ที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น ปลาสร้อยขาวที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จะมีฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน ส่วนปลาสร้อยขาวในแม่น้ำแม่กลอง จะมีฤดูกาลผสมพันธุ์และวางไข่ ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ส่วนในอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ มีช่วงผสมพันธุ์และวางไข่ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำท่าหรือน้ำหลากในลำน้ำเป็นหลัก

ลักษณะอุปนิสัย และการกินอาหาร [1]
ปลาสร้อยขาว เป็นปลากินพืช และสัตว์ ชอบอาศัยรวมกันเป็นฝูง มีอาหารหลักเป็นแพลงก์ตอนพืช และสาหร่ายชนิดต่างๆ อาทิ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน นอกจากนั้น ยังพบการกินอาหารชนิดอื่น อาทิ ซากอินทรีย์ พืชน้ำ และแมลงน้ำ มักพบออกหาอาหารในเวลากลางวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าตรู่ และช่วงเย็น โดยมักออกหาอาหารรวมกันเป็นฝูง

ประโยชน์ปลาสร้อยขาว
1. ปลาสดใช้ประกอบอาหารรับประทาน อาทิ ปลาทอด แกงส้ม ปิ้งย่าง เป็นต้น
2. นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลาร้า ปลาส้ม นำมาตากแห้งเป็นปลาตากแห้ง

สถานะการตลาด
ปลาสร้อยขาว เป็นปลาที่พบ และจับได้จำนวนมาก มักพบจำหน่ายได้ทั่วไปตามบริเวณอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ โดยมีราคาจำหน่ายปลาสดใช่วงกิโลกรัมละ 40-60 บาท

เอกสารอ้างอิง
[1] วุฒิชัย อุดมวงษ์. 2558. อัตราการตายโดยธรรมชาติของลูกปลาสร้อยขาว-
(Henicorhynchus siamensis de Beaufort, 1927)-
ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
[2] วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล.2542. ปรสิตในปลาสร้อยขาว Cirrhinus jullieni Sauvage-
จากแม่น้ำสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี.