กุดจี่หมุ่น/กุดจี่ขี้ควาย แหล่งอาศัย ประโยชน์ และวิธีหากุดจี่

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควาย (Dung beetle) จัดเป็นแมลงเศรษฐกิจ และอาหารท้องถิ่นที่สำคัญชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะคนในภาคอีสานที่นิยมนำกุดจี่ชนิดนี้มาประกอบอาหาร อาทิ แกงเลียงกุดจี่ใส่ผักหวาน กุดจี่คั่วเกลือ และป่นกุดจี่ เป็นต้น

กุดจี่หมุ่น เป็นคำเรียกในภาคอีสาน โดยคำว่าหมุ่น หมายถึง การขุดซอนไซ ตามลักษณะการชอบอาศัยตามมูลสัตว์ด้วยการขุดซอนไซทั่วกองมูลสัตว์

ส่วนคำว่า กุดจี่ขี้ควาย มักนิยมเรียกทั่วไป ตามลักษณะการชอบอาศัยหรือพบอาศัยได้ตามกองมูลของขี้วัวขี้ควาย แต่สามารถพบได้ตามกองมูลสัตว์อื่นด้วยเช่นกัน ซึ่งมักเป็นกองมูลสัตว์ที่มีลักษณะเหลว ไม่จับตัวเป็นก้อนแข็ง เช่น มูลช้าง เป็นต้น ทั้งนี้ อาจพบกุดจี่ชนิดอื่นด้วยในกองมูลโคด้วยเช่นกัน อาทิ กุดจี่แดง กุดจี่หวาย และกุดจี่เขา ซึ่งเรียก รวมกันว่ากุดจี่ขี้ควายเช่นกัน

กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควาย จะเป็นกุดจี่คนละชนิดกับกุดจี่เบ้าหรือกุดจี่มูลช้าง เพราะกุดจี่เบ้าจะมีขนาดใหญ่กว่ามาก และอาศัยภายในกองมูลสัตว์ แต่จะใช้มูลสัตว์ อาทิ มูลโคกระบือ เพื่อกลิ้งเป็นก้อนสำหรับวางไข่ด้านใน

กุดจี่เบ้า

อนุกรมวิธาน [1]
• อันดับ (order) : Coleoptera
• วงศ์ (family): Scaarabaeidia

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Paragymnopleurus aethiops Sharp.
• ชื่อสามัญ : Dung beetle
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– กุดจี่
– กุดจี่ขี้ควาย
– ด้วงขี้ควาย
ภาคอีสาน
– กุดจี่หมุ่น

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควาย เป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเขตอบอุ่น ในเอเชียพบได้ในประเทศอินเดีย และแถบประเทศตะวันออกเฉียงใต้ โดยในประเทศไทยพบได้มากในภาคกลาง อีสาน และเหนือ

ลักษณะกุดจี่หมุ่น/กุดจี่ขี้ควาย
กุดจี่ จัดเป็นแมลงชนิดหนึ่ง แต่ทั่วไปนิยมเรียกสั้นๆว่า แมง ซึ่งลักษณะของแมลงจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนหัว อก และท้อง

เช่นเดียวกัน แมลงกุดจี่หมุ่น หรือ แมลงกุดจี่ขี้ควาย โดยลำตัวทั้งหมดมีลักษณะเป็นรูปไข่ ประกอบด้วยส่วนหัว อก และท้อง มีลักษณะเป็นเปลือกหุ้มแข็ง และมีสีดำ

กุดจี่หมุ่น

ส่วนหัวมีขนาดเล็กที่สุด มีลักษณะครึ่งวงกลม และค่อนข้างแบน มีปากเป็นแบบปากกัด มีหนวดรูปใบไม้ 2 อัน โดยส่วนปลายของปล้องหนวดจะแผ่แบนออกคล้ายรูปใบไม้ ส่วนอกมีขนาดใหญ่กว่าส่วนหัว แต่เล็กกว่าส่วนท้อง ส่วนท้องมีขนาดใหญ่ที่สุด ด้านบนปกคลุมด้วยแผ่นปีก

ส่วนขามีทั้งหมด 6 ขา ประกอบด้วยขาคู่หน้าขนาดเล็กที่สุดจะอยู่บริเวณด้านบนของส่วนอก ส่วนขาคู่ที่ 2 จะอยู่บริเวณด้านบนของส่วนท้อง และขาคู่สุดท้ายมีขนาดใหญ่ที่สุดจะอยู่บริเวณด้านล่างของส่วนท้อง

แหล่งอาศัย และการกินอาหาร
กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควาย ชอบอาศัยในกองมูลสัตว์ โดยเฉพาะกองมูลสัตว์ที่มีลักษณะเหลว ไม่เป็นก้อนแข็ง อาทิ กองมูลโค กระบือ และช้าง เป็นต้น ไม่ชอบกองมูลสัตว์บางชนิดที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง อาทิ มูลแพะ แกะ ม้า เป็นต้น

การที่กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควายชอบอาศัยบนกองมูลโคหรือกองขี้ควาย เนื่องจาก มูลสัตว์ชนิดนี้ประกอบด้วยเศษหญ้าหรือเศษพืชที่ผ่านการย่อย และหมักแล้ว สามารถใช้เป็นแหล่งอาหารได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเหมาะสำหรับเป็นแหล่งวางไข่ และใช้เป็นแหล่งอาหารของตัวอ่อนได้ทันที โดยกุดจี่ตัวเต็มวัยจะทำการซอนไซเพื่อกินมูลขี้ควายจนทั่วกอง จากนั้น ทำการการวางไข่ทั้งในกองมูล และพื้นดินที่อยู่ด้านล่างของมูล

ประโยชน์กุดจี่หมุ่น/กุดจี่ขี้ควาย
1. กุดจี่ถูกใช้ประโยชน์อย่างมากสำหรับการประกอบอาหาร โดยเป็นวัตถุดิบทำอาหารที่นิยมของคนอีสาน โดยใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ กุดจี่ชุบแป้งทอด กุดจี่คั่วเกลือ ป่นกุดจี่ แกงเลียงกุดจี่ (แกงใส่ผักนานาชนิด) เป็นต้น
2. บทบาทในระบบนิเวศ กุดจี่จะทำหน้าที่ช่วยกำจัดของเสียจำพวกมูลสัตว์

คุณค่าทางโภชนาการกุดจี่ (กุดจี่สด 100 กรัม) [2] อ้างถึงในพงศ์ธร และประภาศรี, 1983

Proximates
น้ำ กรัม 68.4
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 108.3
โปรตีน กรัม 17.2
ไขมัน กรัม 4.3
แป้งและน้ำตาล กรัม 0.2
ใยอาหาร กรัม 7.0
เถ้า กรัม 2.9
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 30.9
เหล็ก มิลลิกรัม 7.7
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 157.9
โพแทสเซียม มิลลิกรัม 287.6
โซเดียม มิลลิกรัม 292.6
Vitamins
ไทอะมีน (B1) มิลลิกรัม 0.19
ไรโบฟลาวิน (B2) มิลลิกรัม 1.09
ไนอะซีน (B3) มิลลิกรัม 3.44

วิธีหากุดจี่หมุ่น/กุดจี่ขี้ควาย
กุดจี่หมุ่น/กุดจี่ขี้ควาย สามารถหาได้ในทุกฤดู แต่ฤดูที่นิยมนำมารับประทานจะเป็นช่วงฤดูแล้งในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เนื่องจาก เป็นช่วงที่อาหารขาดแคลน

กุดจี่หมุ่น/กุดจี่ขี้ควายสามารถหาได้ง่ายตามกองมูลสัตว์ โดยเฉพาะมูลโค และกระบือ โดยบริเวณใดที่พบมูลโคกระบือก็จะพบกุดจี่ชนิดนี้ได้ง่าย แต่อาจพบได้เพียงบางกอง โดยสังเกตได้จากกองมูลใดที่มีกุดจี่ กองมูลนั้น จะมีรูพรุนที่เป็นการเจาะของกุดจี่

วิธีจับกุดจี่นิยมใช้เสียมค่อยๆถากกองมูลสัตว์ออก ซึ่งจะพบกุดจี่อยู่ด้านใน และให้ถากลงเรื่อยๆจนถึงหน้าดินลึกด้านล่างกองกุดจี่ ซึ่งดินด้านล่างนี้จะเป็นจุดที่พบกุดจี่มากที่สุด ทั้งนี้ เมื่อถากพบแล้วให้รีบจับใส่ถัง และก่อนใช้ประกอบอาหารควรขังทิ้งไว้ประมาณ 1 วัน ก่อน เพื่อให้กุดจี่ถ่ายมูลออกก่อน

สถานะการตลาด
กุดจี่หมุ่น หรือ กุดจี่ขี้ควาย พบจำหน่ายในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นิยมรับประทานกัน โดยอาจพบจำหน่ายตามตลาดนัดบ้าง โดยเฉพาะตลาดนัดขนาดเล็กของชุมชน แต่ส่วนมากตามชนบทมักหารับประทานกันได้เองหรือหาซื้อขายกันตามหมู่บ้านในชนบทในลักษณะที่ว่าเมื่อหามาได้ก็จะเดินขายตามบ้านหลังโน้นหลังนี้ หรือ ขายให้กับคนที่รู้จักมักคุ้น ส่วนราคาจำหน่ายมักจำหน่ายเป็นถุง ถุงละประมาณ 20-30 บาท โดยถุงหนึ่งจะมีกุดจี่ประมาณ 1-3 ขีด

เอกสารอ้างอิง
[1] น้องนุช สารภี. 2545. การสำรวจแมลงที่ดินได้ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์.
[2] รุจิเรข ชนาวิรัตน์. 2559. ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดจากแมลงทอด-
ที่รับประทานได้บางชนิด หลังทำปฏิกิริยากับ-
ไนไตรท โดยใช้การทดสอบเอมส์

ขอบคุณภาพจาก
– sentangsedtee.com/
– gramho.com/
– ยูทูป ช่อง
tomcat tony เข้าถึงได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=fkPYntWU458