ปลากระมัง ปลาธรรมชาติ เนื้อหวาน และข้อมูลวิชาการ

Last Updated on 14 กันยายน 2023 by siamroommate

ปลากระมัง (Smith’ barb) เป็นปลาที่พบได้มาก และพบได้ทั่วไปทั้งในแม่น้ำลำคลอง และอ่างเก็บน้ำ นิยมใช้ทำปลาร้า ปลาตากแห้ง และปลาส้ม มีเนื้อขาว รสหวาน แต่มีก้างมาก คล้ายกับปลาตะเพียน หรือ ใช้ทำกับข้าวหลายเมนู อาทิ ปลากระมังย่างหรือทอด ต้มยำปลากระมัง เป็นต้น

อนุกรมวิธานปลากระมัง
• ปลากระมังเป็นปลากระดูกแข็งมีเกล็ด
• อันดับ Cyprinifromes
• วงศ์ Cyprinidae สกุล Puntioplite เช่นเดียวกับปลาตะเพียนขาว
• ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Puntioplites proctozysron
• ชื่อสามัญคือ Smith’ barb
• ชื่อท้องถิ่นคือ ปลากระมัง

ลักษณะปลากระมัง
ลักษณะทั่วไปของปลากระมังคือ มีลำตัวแบนราบ รูปร่างค่อนข้างเหลี่ยมมากกว่าปลาตะเพียนขาว จะเห็นเป็นเหลี่ยมอย่างชัดเจนบริเวณหน้าครีบหลังและครีบก้น ตรงรอยต่อระหว่างกะโหลกกับส่วนหลังจะหักเว้าเล็กน้อยก่อนเฉียงขึ้นไปยังโคนครีบหลัง จงอยปากทู่ ไม่มีฟันที่ริมฝีปากและเพดาน ไม่มีหนวด ซี่เหงือกยาวเรียวและบอบบางกว่าปลาตะเพียนขาว

ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดสีเงิน เกล็ดในแนวเส้นข้างตัวมีจำนวน 33-35 เกล็ด หน้าครีบหลัง 13-15 เกล็ด และรอบคอดหาง 16-18 เกล็ด ครีบหลังประกอบด้วยก้านครีบเดี่ยวจำนวน 3 อัน และก้านครีบแขนง 8 อัน
ครีบก้นประกอบด้วยก้านครีบเดี่ยวจำนวน 3 อัน ซึ่งมีหนามแหลมสามารถพบได้ในปลาตะเพียนเพียง 2-3 ชนิดเท่านั้น และก้านครีบแขนง 5 อัน ลักษณะของปลา

ความแตกต่างระหว่างเพศของปลาแยกได้จาก 2 ลักษณะ คือ เพศภายใน (primary sexual characters) และลักษณะเพศภายนอก (secondary sexual characters) โดยลักษณะภายนอกปลาเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่สามารถสังเกตความแตกต่างได้คือ ลักษณะรูปร่าง ลำตัวของปลากระมังเพศผู้มีลำตัวเล็กว่าเพศเมีย มีลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู มีลำตัวเรียวกว่าเพศเมีย ติ่งเพศ ช่องเพศ ความยาวครีบ และสี ซึ่งตัวเต็มวัยของปลากระมังจะมีความยาวตั้งแต่ 11 เซนติเมตรขึ้นไป

การสืบพันธุ์และวางไข่
ช่วงฤดูสืบพันธุ์ของปลากระมังอยู่ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม และในช่วงสืบพันธุ์ปลาจะมีความยาวและลำตัวใหญ่ขึ้น ปลากระมังเพศเมียท้องจะนิ่มและอูมเป่ง จะขยายออกมาด้านข้าง และช่องเปิดของระบบสืบพันธุ์ (urogenital pore) กว้างกว่าปกติ ส่วนตัวผู้เมื่อเอามือรีดเบา ๆ จากท้องไปทางทวารจุมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมไหลออกมาจากช่องเพศปลากระมังเพศผู้มีน้ำเชื้อพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกันยายน ส่วนเพศเมียเริ่มมีไข่แก่เต็มท้อง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมและเริ่มวางไข่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน และพร้อมผสมพันธุ์วางไข่ได้มากที่สุดในเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน ปลาจะวางไข่หมดในเดือนตุลาคม หลังจากนี้จะไม่พบปลาที่มีไข่แก่เต็มท้องเลย ปลาจะปรับตัวเตรียมพร้อมเพื่อฤดูกาลใหม่ต่อไป

ปลากระมังจะวางไข่มากที่สุดบริเวณที่มีน้ำไหลแรง แต่บางรายงานพบว่าปลากระมังชอบวางไข่ในที่มีโคลนหนาและมีน้ำไหล่ผ่าน ไข่มีลักษณะเป็นแบบครึ่งจมครึ่งลอย (semibouyant egg) โดยเริ่มแรกเมื่อปล่อยไข่ออกจากตัวแม่ปลา ไข่จะจมและดูดน้ำเข้าช่องว่างระหว่างไข่แดง (perivitelline space) ของไข่ จึงทำให้ไข่มีขนาดเพิ่มขึ้น และมีความถ่วงจำเพาะใกล้เคียงกับน้ำจึงลอยตามกระแสน้ำ แต่จะจมเมื่ออยู่ในน้ำนิ่ง ไข่ปลากระมังมีลักษณะโปร่งแสงสามารถเห็นไข่แดงเป็นจุดสีเหลืองสดชัดเจน

แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจาย
ปลากระมังเป็นปลาน้ำจืดในเขตร้อน มีถิ่นอาศัยและการกระจายตัวอย่างกว้างขวาง พบได้ลำคลอง แม่น้ำทั่วไปหรือกระทั่งแม่น้ำสายใหญ่ เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล โดยปลากระมังจะพบมากในประเทศลาว กัมพูชา พม่า และตอนเหนือของประเทศไทย ปลาชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่บริเวณป่าพงและป่าอ้อ ที่ขึ้นอยู่ตามริมฝั่งคลองที่น้ำสามารถท่วมถึงที่มีระดับน้ำเฉลี่ย 80 – 100 เซนติเมตร

นิสัยการกินอาหาร
ปลากระมังเป็นพวก cyprinid ปลากินอาหารได้ทั้งประเภทพืชและสัตว์ คือ สามารถกินพืชน้ำ แพลงตอน หรือเศษซากอินทรีย์ที่ย่อยสลายแล้ว และแมลงเป็นหลักและสามารถออกหากินได้ตลอดทั้งวัน รวมทั้งหากินได้ดีในฤดูฝน โดยมีนิสัยการกินจะว่ายรวมกันเป็นฝูง ว่ายโฉบเฉี่ยวลัดเลาะกินอาหารตามพื้นท้องน้ำ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เป็นกรวดเล็กๆ