ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (acute appendicitis) สาเหตุ อาการ และการรักษา

Last Updated on 17 กันยายน 2023 by siamroommate

ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (acute appendicitis) หมายถึง การที่เนื้อเยื่อไส้ติ่งมีการอักเสบจากสาเหตุใดๆก็ตามแล้วทำให้มีการติดเชื้อและเกิดการบวมเกิดขึ้น การอักเสบติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันทีจะทำให้มีการอักเสบติดเชื้อรุนแรงขึ้น ก็จะทำให้เกิดฝีหนองหรือมีการแตกทะลุของไส้ติ่งที่อักเสบ ทำให้เกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบเฉพาะที่หรือเยื่อบุช่องท้องอักเสบทั่วไปเกิดขึ้นได้

สาเหตุไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน
ภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันเกิดจากการอุดตันหรือตีบแคบของช่องภายในไส้ติ่ง จากการที่เนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลืองในโพรงไส้ติ่งมีการหนาตัวผิดปกติ หรือมีเศษอุจจาระเข้าไปอุดในช่องไส้ติ่งซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ รองลงมาได้แก่พยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวกลม กากอาหาร เมล็ดผลไม้ และเนื้องอกของไส้ติ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไส้ติ่งเกิดการบวมและอักเสบ

การรักษาผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน
ผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันทั้งชนิดที่ไม่มีการแตกทะลุหรือมีการแตกทะลุของไส้ติ่ง แพทย์จะทำการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อตัดไส้ติ่งที่อักเสบออก ยกเว้นกรณีที่ประเมินแล้วพบว่าเป็นฝีที่ไส้ติ่ง แพทย์จะยังไม่ทำการผ่าตัดทันที แต่จะทำการรักษาโดยให้นอนพัก งดอาหารและน้ำ ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ และตรวจวัดสัญญาณชีพ

หากมีการตอบสนองดีขึ้น อาการปวดท้องลดลง ตรวจหน้าท้องพบฝีมีขนาดเล็กลง ไข้ลดลง ชีพจรปกติ จำนวนเม็ดเลือดขาวปกติ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาทำการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกภายหลังจาก 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีก แต่หากว่าอาการไม่ดีขึ้น กล่าวคือ ปวดท้องมากขึ้น ตรวจทางหน้าท้องพบฝีมีขนาดโตขึ้น ไข้สูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้นจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้น แพทย์ก็จะทำการผ่าตัดฉุกเฉินเช่นเดียวกัน

ผลกระทบไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน
ภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันที่เกิดขึ้นไม่ว่าจากสาเหตุใดๆก็ตาม จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานและไม่สุขสบายจากมีอาการปวดท้องมากขึ้น ไข้สูงขึ้น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกายโดยทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดเกิดการเปลี่ยน แปลงคือ อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น แรงต้านของหลอดเลือดเพิ่มขึ้นจากการหดตัวของหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนัก ความต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น เสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ระบบทางเดินหายใจทำให้ผู้ป่วยไม่อยากเคลื่อนไหว ไม่สามารถหายใจลึกๆอย่างเต็มที่ได้ ทำให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่การแลกเปลี่ยนก๊าซลดลง อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ อวัยวะของระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้มีการเคลื่อนไหวลดลงมีผลทำให้ท้องอืด

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจอารมณ์ จากการที่ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานและไม่สุขสบายจากอาการปวดท้อง ไข้ คลื่นไส้ อาเจียนซึ่งอาการดังกล่าวจะทำให้เกิดการเร้าอารมณ์ ทำให้เกิดความวิตกกังวล รู้สึกไม่สุขสบาย มีความตึงเครียด ไม่พอใจ หงุดหงิด แยกตัว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และไม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมการพยาบาล ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการดูแลที่รวดเร็วถูกต้องและมีประสิทธิภาพในเรื่องของการประเมินสภาพและการปฏิบัติการพยาบาลก็จะช่วยลดผลกระทบต่างๆได้

การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันก่อนได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาโดยวิธีผ่าตัด ซึ่งเป็นภาวะที่คุกคามและเป็นเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความกลัวและความวิตกกังวล และมีความต้องการการดูแลทางด้านร่างกายและจิตสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะก่อนการผ่าตัด เนื่องจากจะต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากสภาพความเจ็บป่วย ความไม่เข้าใจถึงโรคที่เป็นอยู่ การขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวก่อนการผ่าตัด พยาบาลซึ่งเป็นผู้ดูแลใกล้ชิดจะต้องมีบทบาทสำคัญในการเตรียมผู้ป่วยให้มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยได้ ซึ่งในการดูแลผู้ป่วยนั้นควรครอบคลุมในเรื่องต่อไปนี้

การประเมินสภาพผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน
การประเมินสภาพผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันนั้น ควรมีการประเมินตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินและประเมินสภาพอย่างต่อเนื่องเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้เพื่อรวบรวมข้อมูลในการนำไปวางแผนให้การรักษาพยาบาล การประเมินสภาพผู้ป่วยสามารถประเมินได้จาก
1. การซักประวัติ ซักประวัติจากคำบอกเล่าของผู้ป่วยหรือญาติเกี่ยวกับอาการและอาการแสดงซึ่งประกอบด้วย อาการปวดท้องโดยเริ่มแรกผู้ป่วยอาจปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือรอบๆสะดือ หลังจากนั้นอาการปวดจะย้ายมาอยู่บริเวณท้องด้านล่างขวาซึ่งเป็นอาการนำที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ อาจพบอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ โดยในระยะแรกเมื่อช่องภายในไส้ติ่งเกิดมีการอุดตันขึ้นก็จะส่งผลทำให้ไส้ติ่งเกิดการบวม ประกอบกับเยื่อเมือกของไส้ติ่งซึ่งมีการขับสารคัดหลั่งออกมาตลอดเวลาจึงทำให้ความดันภายในช่องไส้ติ่งสูงขึ้นด้วยส่งผลทำให้เกิดการกระตุ้นต่อเส้นประสาทที่รับความรู้สึกของอวัยวะภายในทำให้ผู้ป่วยปวดท้องโดยเริ่มปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือรอบๆสะดือ ลักษณะอาการปวดจะปวดตื้อตลอดเวลาร่วมกับมีการปวดบิดเป็นครั้งคราว เนื่องจากไส้ติ่งมีการหดรัดตัวเพื่อขับส่วนที่ทำให้เกิดการอุดตันออก เมื่อการอักเสบลุกลามถึงชั้นซีโรซา (serosa) ของไส้ติ่งก็จะมีการกระตุ้นไปยังเยื่อบุช่องท้องส่วนนอก (parietal peritoneum) ของช่องท้องทำให้อาการปวดย้ายไปที่บริเวณท้องด้านล่างขวา นอกจากนี้อาการปวดท้องอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งของไส้ติ่ง เช่น ผู้ป่วยที่มีไส้ติ่งอยู่บริเวณด้านหลังของลำไส้
ส่วนซีคัม อาจมีอาการปวดบริเวณเอวค่อนไปหลัง ผู้ป่วยที่มีไส้ติ่งยาวและปลายยื่นไปด้านซ้ายอาจ
ทำให้ปวดตรงบริเวณท้องน้อยด้านซ้าย

2. การตรวจร่างกาย มีวัตถุประสงค์เพื่อจะประเมินว่ามีการอักเสบของไส้ติ่งจริงหรือไม่และไส้ติ่งที่มีการอักเสบนั้นมีการแตกทะลุแล้วหรือยัง การตรวจร่างกายที่สำคัญประกอบด้วยการสังเกตลักษณะทั่วไปของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่เป็นไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันมักจะเดินตัวงอเวลานอนมักจะชอบนอนนิ่งๆ งอตัวและงอขาขวาเล็กน้อย มือวางไว้บริเวณหน้าท้องเนื่องจากผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณท้องด้านล่างขวา การตรวจหน้าท้องจากการดูอาจพบผู้ป่วยมีหน้าท้องโป่งพองจากอาการท้องอืด ฟังเสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่บริเวณท้องด้านขวาลดลง ตรวจหน้าท้องโดยการกดพบมีการกดเจ็บเฉพาะที่ (localized tenderness) บริเวณ McBurney’s point ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ระหว่างกระดูกสะโพกด้านหน้าข้างขวาไปยังสะดือแล้วแบ่งเป็น 3 ส่วน McBurney’s point จะอยู่ห่างจากกระดูกสะโพกด้านหน้าข้างขวาประมาณ 1.5-2 นิ้ว และเมื่อใช้นิ้วมือกดบริเวณนั้นลึกๆ แล้วปล่อยมือขึ้นมาจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บสะดุ้ง (rebound tenderness) ซึ่งแสดงว่ามีการระคายเคืองของเยื่อบุช่องท้องเฉพาะที่ การกดเจ็บสะดุ้งควรทำด้วยความระมัดระวังไม่ควรตรวจบ่อยเนื่องจากอาจทำให้ไส้ติ่งเกิดการแตกทะลุได้ ในรายที่มีการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องส่วนนอกเมื่อใช้นิ้วมือกดบริเวณหน้าท้องจะพบว่ากล้ามเนื้อมีการแข็งเกร็ง (muscle guarding) สำหรับการตรวจสัญญาณชีพ เริ่มแรกผู้ป่วย
อาจมีไข้ต่ำๆ 37.5-38 องศาเซลเซียส ชีพจรอาจปกติต่อมาเมื่อมีการอักเสบรุนแรงขึ้นหรือมีภาวะ
ของไส้ติ่งแตกทะลุ ผู้ป่วยอาจมีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ชีพจรเร็ว หายใจ

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การประเมินผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันถึงแม้ว่าจะสามารถประเมินได้จากการซักประวัติ การตรวจร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วนั้น การตรวจทางห้องปฏิบัติการก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการตรวจพบอาการและอาการแสดงที่ยังไม่ชัดเจน การตรวจทางห้องปฏิบัติการสามารถที่จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยหรือแยกโรคได้ดีขึ้น การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญได้แก่ การตรวจจำนวนและชนิดของเม็ดเลือดขาวในเลือด ร้อยละ 80-85 ของผู้ป่วยจะตรวจพบว่ามีเม็ดเลือดขาวสูงมากกว่า 10,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร และมีสัดส่วนของนิวโตรฟิลส์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ซึ่งค่าปกติเท่ากับ 45-70 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการตรวจปัสสาวะส่วนใหญ่ผลมักเป็นปกติ

สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ก่อนได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ควรมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมร่วมด้วย เนื่องจากผู้ป่วยในวัยนี้มีโอกาสที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบได้ง่ายหรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งจะมีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ การตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจพิเศษอื่นๆที่สำคัญได้แก่ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของไต เช่น การตรวจวัดระดับblood urea nitrogen (BUN) หรือ creatinine (Cr) การตรวจสมรรถภาพการทำงานของตับ liver function test (LFT) การตรวจระดับเกลือแร่ (Electrolyte) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)

การพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันก่อนได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน
การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันก่อนได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะคือ ระยะแรกรับเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน และระยะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยซึ่งได้แก่ หอผู้ป่วยสามัญหญิง หอผู้ป่วยสามัญชาย
1. การดูแลขณะที่ผู้ป่วยอยู่ที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันและต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินภายในระยะเวลา 4-6 ชั่วโมง และแพทย์มีแผนการรักษาให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ควรมีการดูแลที่สำคัญดังนี้
1.1 ประเมินสัญญาณชีพซึ่งได้แก่ ชีพจร ความดันโลหิต การหายใจ อุณหภูมิ โดยประเมินทุก 1-4 ชั่วโมง
1.2 ดูแลให้ผู้ป่วยงดอาหารและน้ำทันทีก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงเพื่อให้
กระเพาะอาหารว่างป้องกันการอาเจียนและการสำลักขณะได้รับยาระงับความรู้สึก
1.3 ดูแลการได้รับสารน้ำประเภทคริสตอลลอยด์ เช่น Lactate Ringer’s solution, Acetate Ringer solution, normal saline, 5% D/NSS/2 ในปริมาณ 1.5-2 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อชั่วโมงทางหลอดเลือดดำหรือพิจารณาปรับลดปริมาณและอัตราการให้ตามสภาพผู้ป่วยหรือตามแผนการรักษาของแพทย์
1.4 อธิบายให้ผู้ป่วยและญาติทราบเกี่ยวกับเรื่องโรคและแผนการรักษาพยาบาลการปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด สิทธิบัตร เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้เข้าใจและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจรักษาพยาบาลพร้อมทั้งให้ผู้ป่วยเซ็นใบยินยอมรับการรักษาไว้เป็นหลักฐานและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ
1.5 ติดตามผลการตรวจจำนวนและชนิดของเม็ดเลือดขาวในเลือด ผลการตรวจปัสสาวะ ผลภาพถ่ายรังสีทรวงอก สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรมีการติดตามผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆเช่น BUN, Cr, LFT, Electrolyte
1.6 ประสานงานกับพยาบาลหอผู้ป่วยใน เพื่อส่งต่ออาการและการพยาบาลที่ผู้ป่วยได้รับขณะที่อยู่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน พร้อมทั้งลงบันทึกทางการพยาบาล

2. การดูแลผู้ป่วยเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในหอผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันเมื่อแรกรับเข้ามานอนในหอผู้ป่วยนั้น การดูแลที่ต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ พยาบาลควรให้การดูแลผู้ป่วยให้ครอบคลุมในเรื่องของ
2.1 ประเมินสัญญาณชีพซึ่งได้แก่ ชีพจร ความดันโลหิต การหายใจ อุณหภูมิ โดยประเมินทุก 1-4 ชั่วโมง

2.2 ดูแลให้ผู้ป่วยงดอาหารและน้ำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัดเพื่อให้กระเพาะอาหารว่างป้องกันการอาเจียนและการสำลักขณะได้รับยาระงับความรู้สึก

2.3 ดูแลการได้รับสารน้ำประเภทคริสตอลลอยด์ เช่น Lactate Ringer’s solution, Acetate Ringer solution, nolmal saline, 5% D/NSS/2 ในปริมาณ 1.5-2 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อชั่วโมงทางหลอดเลือดดำ หรือพิจารณาปรับลดปริมาณและอัตราการให้ตามสภาพผู้ป่วยหรือตามแผนการรักษาของแพทย์

2.4 สังเกตพฤติกรรมการแสดงออกของผู้ป่วยในเรื่องของความเจ็บปวดโดยสังเกตจากพฤติกรรมด้านการเคลื่อนไหว (motor behavior) ผู้ป่วยจะหยุดการเคลื่อนไหวร่างกายบริเวณที่มีอาการปวด (immobilization) เอามือปิดบริเวณที่มีอาการปวด หรือมีการแสดงออกทางใบหน้า (Facial expression) เช่น หน้านิ่ว ขมวดคิ้ว หลับตาแน่น กัดฟันแน่น นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกของผู้ป่วยในเรื่องของความเจ็บปวดได้จาก พฤติกรรมด้านน้ำเสียง (vocal behavior) และพฤติกรรมด้านอารมณ์ (effective behavior)โดยพฤติกรรมด้านน้ำเสียงนั้น ผู้ป่วยอาจแสดงออกเป็นคำพูด (vercal expression) บอกถึงความรุนแรงลักษณะและตำแหน่งของความปวด หรือแสดงออกโดยเปล่งเสียงที่ไม่ใช่คำพูด (vocal expression) เช่น ร้องครวญครางร้องไห้ สะอื้น สูดปาก กรีดร้อง สำหรับพฤติกรรมทางด้านอารมณ์นั้น (effective behavior) ผู้ป่วย
อาจแสดงออกโดยมีอารมณ์ หงุดหงิด ฉุนเฉียว เอะอะโวยวาย ซึมเศร้า

2.5 สอบถามผู้ป่วยเกี่ยวกับระดับความรุนแรงของอาการปวดท้อง หากผู้ป่วยมีระดับความรุนแรงของอาการปวดท้องเพิ่มมากขึ้น ควรมีการตรวจหน้าท้องร่วมด้วย เพื่อที่จะได้ประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะของการกดเจ็บเฉพาะที่ หรือการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อเมื่อถูกกดเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ให้การดูแลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สำหรับการกดเจ็บสะดุ้งนั้นควรตรวจด้วยความระมัดระวังไม่ควรตรวจบ่อย เนื่องจากอาจทำให้ไส้ติ่งเกิดการแตกทะลุได้

2.6 ดูแลบรรเทาอาการปวดท้องโดยการจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนศีรษะสูง 30-45 องศา เพื่อช่วยลดการยืดขยายของกล้ามเนื้อที่มากเกินไป และขจัดแรงกดและความตึงของบริเวณที่ปวดร่วมกับการใช้เทคนิคการผ่อนคลาย ด้วยวิธีหายใจเข้าออกลึกๆยาวๆ โดยให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้าช้าๆให้ลึกเท่าที่ผู้ป่วยจะทำได้ และค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที

2.7 ดูแลผู้ป่วยให้ได้รับยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษาก่อนการผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ถึงแม้จะไม่ใช่บทบาทที่อิสระของพยาบาล แต่พยาบาลมีบทบาทในการบริหารยาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาตามแผนการรักษาของแพทย์ พยาบาลต้องมีความรู้เกี่ยวกับเภสัชวิทยาผลของยาและอาการข้างเคียงที่ควรระวัง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น metronidazone 500 มิลลิกรัม gentamycin 240 มิลลิกรัม และ cef 3 1 กรัมทางหลอดเลือดดำ หรือปรับขนาดของยาที่ให้ตามความเหมาะสมกับสภาพผู้ป่วยตามแผนการรักษาของแพทย์ พร้อมทั้งสังเกตและเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับยา

2.8 ทำความสะอาดร่างกายและเตรียมผิวหนังบริเวณที่จะทำการผ่าตัดโดยดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยการเช็ดตัว อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าที่จัดเตรียมไว้ให้ สำหรับการเตรียมผิวหนังบริเวณที่จะทำการผ่าตัดไม่ควรโกนขนถ้าไม่จำเป็น แต่หากบางรายที่มีขนมากซึ่งอาจรบกวนการผ่าตัดก็สามารถกำจัดขนได้โดยวิธีการขลิบขนออกด้วยกรรไกรขลิบขนหรือกรรไกรธรรมดาและจะต้องดูแลให้ผู้ป่วยถอดฟันปลอม ถอดเครื่องประดับ ถอดชุดชั้นใน และปัสสาวะก่อนเข้ารับการผ่าตัด

2.9 ติดตามดูแลให้ผู้ป่วยเซ็นใบยินยอมรับการรักษาผ่าตัดไว้เป็นหลักฐานและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ ตลอดจนประสานงานกับพยาบาลห้องผ่าตัด เพื่อส่งต่ออาการและการพยาบาลที่ผู้ป่วยได้รับขณะที่อยู่ในหอผู้ป่วยพร้อมทั้งลงบันทึกทางการพยาบาลให้เรียบร้อยและครอบคลุม

การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันในระยะก่อนผ่าตัด เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยลดการเกิดภาวะไส้ติ่งแตกทะลุ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานและไม่สุขสบายหรือบางครั้งความเจ็บป่วยอาจรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การที่จะปฏิบัติให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้น ทีมผู้ดูแลควรมีแนวปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดความหลากหลายของการปฏิบัติ ลดความเสี่ยงของการเกิดความผิดพลาดจากการปฏิบัติ เพิ่มคุณภาพการดูแล จึงควรมีการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันก่อนได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินที่ชัดเจนและเหมาะสมต่อไป

ข้อมูลจาก
นาฎนภา กุศล. 2551. การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันก่อนได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินโรงพยาบาลสมเด็จนพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน.