เส้นผม องค์ประกอบ การเติบโต และวงจรชีวิต

Last Updated on 4 กรกฎาคม 2023 by siamroommate

ธรรมชาติของเส้นผม
ผมชุดแรกของคนเริ่มในช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ เรียกว่า Lanugo hair เป็นขนเส้นเล็ก ๆ ไม่มีสี ไม่มี medulla ปกติจะหลุดร่วง 3-4 สัปดาห์ก่อนคลอด หลังจากนั้นจะมีผมขึ้นใหม่ 2 ชนิด แบ่งตามขนาด ได้แก่
1. Vellus hair เป็นขนอ่อนเล็กๆ คล้าย lanugo hair ไม่มีmedulla ไม่มีสี ยาวไม่เกิน 2 ซม.
2. Terminal hair เป็นผมเส้นใหญ่ หยาบยาว มีสี มี hair medulla แยกเป็น
– Asexual hair ที่ศีรษะ คิ้ว ขนตามแขนขา
– Sexual hair ได้แก่ ขนหัวหน่าว รักแร้ หนวด เครา และขนหน้าอกในผู้ชาย

ลักษณะทางกายวิภาคของเส้นผม
ลักษณะโครงสร้างทางกายวิภาคของเส้นผมหรือขนในส่วนๆ ของร่างกาย ซึ่งขนสามารถ แบ่งเป็นส่วนประกอบต่างๆ ได้เป็น
1. แบ่งตามโครงสร้างของต่อมขน (Hair follicle) และเส้นขน (Hair fiber) ตามแนวยาว ส่วนของต่อมขน สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.1 ส่วนบนของต่อมขนหรืออินฟันดิบูลัม (Infundibulum) เริ่มจากรูเปิดของต่อม ขน (Follicular orifice) ในชั้นหนังกำพร้าลงมาจนถึงระดับรูเปิดของต่อมไขมัน (Sebaceous gland)
1.2 ส่วนกลางของต่อมขนหรืออิสทมัส (Isthmus) เริ่มจากระดับรูเปิดของต่อม ไขมันลงมาจนถึงระดับจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อเรียบเอเร็กเตอร์ไพไล (Arrector pili muscle) หรือตรงกับส่วนบัลจ์ (Bulge) ซึ่งเป็นที่ของสเต็มเซลล์ (Stem cells) ของขน แต่ส่วนนี้ปรากฏไม่ ชัดเจนในมนุษย์ อย่างไรก็ตาม กล้ามเนื้อเอเร็กเตอร์ไพไลนี้จะไม่พบ บริเวณขนคิ้วและขนตา
1.3 ส่วนล่างของต่อมขนหรืออินฟีเรียร์ (Inferior) เริ่มจากระดับจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อเรียบเอเร็กเตอร์ไพไลลงมาจนถึงปลายล่างสุดของต่อมขนจะมีลักษณะป่องออกเป็นกระเปาะ (Hair bulb) เป็นที่อยู่ของเมทริกซ์ของขน (Hair matrix) ซึ่งล้อมรอบส่วนของหนังแท้ที่ยื่นเข้ามาภายในเส้นขนหรือเดอร์มัล แปปิลลา (Dermal papilla)

เมทริกซ์ของขนประกอบไปด้วยเซลล์เมทริกซ์ (Matrix cells) ซึ่งเปรียบเทียบได้กับเซลล์ในชั้นสตราตัม เบซาเล (Stratum basale) ในหนังกำพร้า ในบริเวณนี้มีเซลล์เรียงซ้อนกันประมาณ 5 ชั้น ทำหน้าที่แบ่งตัวและสร้างเส้นขน ส่วนของเดอร์มัล แปปิลลาไม่ได้มีหน้าที่สร้างขน แต่มีความสำคัญที่เป็นทางผ่านของเส้นเลือดฝอยให้นำสารอาหารมาเลี้ยงต่อมขน และเกี่ยวกับการส่งสัญญาณทางเคมีเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต และวงจรชีวิตของขน นอกจากนี้ ยังพบเซลล์เมลาโนไซท์ (Melanocytes) ซึ่งมีหน้าที่สร้างสารเมลานิน (Melanin) อยู่ในบริเวณนี้ด้วย ทำให้เกิดเป็นสีของเส้นขน

2. แบ่งตามโครงสร้างของต่อมขนและเส้นขนตามภาคตัดขวาง (Cross-section) สามารถแบ่งส่วนของขนออกเป็นหลายส่วน ดังนี้
2.1 ส่วนผนังของต่อมขน (Follicle wall) บริเวณที่อยู่เหนือต่อกระเปาะขนขึ้นมา (Suprabulbar zone) สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชั้น เรียงจากชั้นนอกเข้ามาชั้นใน ดังนี้
1) เนื้อเยื่อเกี่ยวพันของหนังแท้ (Dermal connective tissue) ที่สานตัวกันแน่นเป็นเปลือกหุ้มล้อมรอบต่อมขนไว้
2) เยื่อหุ้มกลาซซี่ (Glassy หรือ vitreous membrane) เป็นชั้นที่ประสานต่อเนื่องกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของหนังแท้ ชั้นนี้ต่อเนื่องมาจากเยื่อรองรับฐาน (Basement membrane) ของผิวหนังระหว่างรูขุมขน (Interfollicular) จะเห็นชั้นนี้ได้ชัดบริเวณเปลือกขนชั้นนอกของกระเปาะขนในระยะอนาเจน
3) เปลือกรากขนชั้นนอก (External root sheath) เป็นส่วนต่อเนื่องของหนังกำพร้าที่เจริญลงมาในต่อมขน อยู่ระหว่างชั้นเมทริกซ์กับผิว มีลักษณะเป็นท่อ ในส่วนอินฟันดิบูลัมจะมีองค์ประกอบเหมือนผิวหนังชนิดบาง (Thin skin) จึงมีเคราตินชนิดนุ่ม (Soft keratin) บุอยู่ด้านบน ในส่วนอิสทมัสจะไม่พบชั้นกรานูล (Granular layer) และมีกระบวนการสร้างเคราตินแบบทริคิเลมมอล (Trichilemmal keratinization) บริเวณที่เริ่มแยกจากเปลือกรากขนชั้นใน และในส่วนล่างของต่อมขนเปลือกขนชั้นนอกจะล้อมรอบและต่อเนื่องไปกับเมทริกซ์ของขน
4) เปลือกรากขนชั้นใน (Internal root sheath) เป็นส่วนที่เจริญจากบริเวณขอบของเมทริกซ์ของขนโดยอยู่ระหว่างเส้นขนกับเปลือกขนชั้นนอก ลักษณะเป็นท่อ เซลล์ในชั้นนี้จะถูกผลักขึ้นไปทางรูเปิดขนเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของต่อมขนระดับอิสทมัส และภายในเซลล์บรรจุสารติดสีแดงเข้ม เรียกว่า ทริโคไฮยาลิน แกรนูล (Trichohyalin granules) ซึ่งเป็นตัวสร้างความแข็งแรงของชั้นนี้ และเชื่อว่าเปลือกขนชั้นในเป็นตัวกำหนดรูปร่างของขน, กำหนดทิศทางให้ขนงอกขึ้นและสัมพันธ์กับการยึดเกาะของเส้นขนกับต่อมขน ชั้นนี้ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ 4 ชั้นเรียงลำดับจากชั้นนอกเข้ามาชั้นใน ได้แก่
ก. ชั้นคอมพาเนียน (Companion layer) เป็นชั้นที่อยู่นอกสุดของเปลือกขนชั้นใน โดยอยู่ระหว่างด้านในสุดของเปลือกขนชั้นนอกกับชั้นเฮนเลของเปลือกขนชั้นใน ทำหน้าที่เป็นระนาบเลื่อนไหล (Slippage plane) ระหว่างเปลือกขนทั้งสองชั้น ชั้นนี้จะเห็นชัดในต่อมขนบางบริเวณ เช่น เครา เป็นต้น
ข. ชั้นเฮนเล (Henle’s layer) อยู่ส่วนนอกของเปลือกขนชั้นในประกอบด้วยเซลล์เรียงตัวกันชั้นเดียว เซลล์ในชั้นนี้เริ่มมีการสร้างเคราโตไฮยาลิน แกรนูล (Keratohyalin granules) และเริ่มมีสร้างเคราตินในชั้นนี้
ค. ชั้นฮักซ์เลย์ (Huxley’s layer) ชั้นนี้ประกอบด้วยเซลล์เรียงตัวกันหนา 2-4 ชั้น และมีการสร้างเคราตินอยู่เหนือชั้นเฮนเลในบริเวณที่เรียกว่า อดัมสัน ฟริงจ์ (Adamson fringe) เซลล์ในชั้นฮักซ์เลย์บางเซลล์อาจยื่นทะลุชั้นเฮนเลไปเกาะกับชั้นคอมพาเนียนโดยตรงได้ เรียกว่า เซลล์ฟลูเกลเซลเลน (Fleugelzellen หรือ wing cells)
ง. ชั้นคิวติเคิลของเปลือกขนชั้นใน เซลล์ในชั้นนี้จะมีการเรียงตัวเหลื่อมล้ากันแบบกระเบื้องมุงหลังคา และสานตัวเข้ากันกับชั้นคิวติเคิลของเส้นขน ช่วยให้เส้นขนยึดติดแน่นกับต่อมขน

2.2 ส่วนของเส้นขน (Hair) สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วน เรียงจากชั้นนอกเข้ามาชั้นในได้แก่
1) เกล็ดหรือคิวติเคิล (Cuticle) อยู่ชั้นนอกสุดของเส้นขน มีลักษณะเป็นเกล็ดบาง ๆ ซ้อนกัน 7-10 ชั้น คล้ายเกล็ดปลาผายออก มีโปรตีนเคราติน (Keratin) เป็นองค์ประกอบและยึดติดแน่นกับชั้นคิวติเคิลของเปลือกรากขนชั้นใน มีหน้าที่ป้องกันเส้นขนจากสารเคมีหรือความร้อน
2) เนื้อหรือคอร์เทกซ์ (Cortex) เป็นโครงสร้างส่วนสำคัญที่สุด อยู่ชั้นกลางประกอบด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว ลักษณะแบนและยาวหลายชั้น เรียงตัวกันอัดแน่น ภายในมีเม็ดสีเมลานินที่ถูกสร้างและส่งมาจากเมลาโนไซท์แทรกตัวอยู่ระหว่างเส้นใยเคราตินที่เชื่อมติดกันด้วยพันธะโควาเลนต์และพันธะไฮโดรเจน ทำให้ส่วนคอร์เทกซ์นี้เป็นตัวกำหนดรูปร่างและสีของเส้นขน
3) แกนหรือเมดัลลา (Medulla) อยู่ชั้นในสุดของเส้นขน ประกอบด้วยเซลล์ที่มีช่องว่าง (Vacuoles) ขนาดใหญ่ภายในเซลล์ เรียงตัวตามแนวยาวกันหลายแถว และบางครั้งอาจพบว่ามีเม็ดสีเมลานินได้

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งชนิดของขนออกตามลักษณะเป็น 3 ชนิด ได้แก่
– ขนลานูโก (Lanugo hair) เป็นขนชุดแรกสุดที่เกิดขึ้น พบตามตัวทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ ลักษณะเป็นขนเส้นเล็กไม่มีสี และมักจะหลุดร่วงไปในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนคลอด เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของขนที่จะเจริญไปเป็นขนเวลลัสหรือขนเทอร์มินัล
– ขนเวลลัส (Vellus hair) เป็นเส้นขนที่พบขึ้นตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยเฉพาะในเด็กและผู้หญิง ลักษณะขนสั้น, บาง, ไม่มีส่วนของเมดัลลาและไม่มีเม็ดสีในเนื้อผม
– ขนเทอร์มินัล (Terminal hair) เป็นเส้นขนที่มีลักษณะยาว, หนา, มีส่วนของเมดัลลาและมีเม็ดสีในเนื้อผม พบได้บนหนังศีรษะ, ขนคิ้ว, ขนตา, รักแร้, หน้าอก และหัวหน่าว

การเจริญเติบโตของเส้นขน
ผมและขนบนศีรษะของมนุษย์มีอยู่จำนวนนับแสนเส้น เส้นขนในแต่ละบริเวณมีลักษณะและความหนาแน่นที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ในแต่ละบริเวณเส้นขนแต่ละเส้นจะมีความยาว ความหนา และระยะเวลาในแต่ช่วงการเจริญที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะผมบางแบบพันธุกรรมได้ ดังนั้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างของการเติบโตของเส้นขนในแต่ละบริเวณ ได้แก่
1. เส้นขนที่ฮอร์โมนแอนโดรเจนมีผลต่อการเจริญเติบโต (Androgen-dependent) ซึ่งฮอร์โมนแอนโดรเจนจะมีอิทธิพลต่อการขึ้นของขนในวัยรุ่น และการหลุดร่วงของเส้นขนดังที่พบในภาวะผมบางแบบพันธุกรรมได้ เนื่องจากมีตัวรับฮอร์โมนแอนโดรเจนในเดอร์มัลพาพิลลาและการทำงานของเอนไซม์ 5-แอลฟารีดักเทส (5-alpha reductase) ขนในกลุ่มนี้ ได้แก่ เส้นผมบนหนังศีรษะโดยเฉพาะบริเวณส่วนหน้า, หนวดเครา, ขนหน้าอก, ขนรักแร้ และขนบริเวณหัวหน่าว เป็นต้น
2. เส้นขนที่ฮอร์โมนแอนโดนเจนไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต (Androgen-independent) สำหรับขนตาและขนคิ้วนั้นไม่พบว่าอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแอนโดรเจนส่งผลต่อการเจริญเติบโต

วงจรชีวิตของเส้นขน
การเจริญเติบโตของเส้นขนในทุกบริเวณมีการเปลี่ยนระยะของการสร้างเส้นขนสลับกับระยะพัก ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ เส้นขนแต่ละบริเวณจะแตกต่างกันในสัดส่วนและช่วงเวลาของเส้นขนในแต่ละระยะตามตำแหน่งในร่างกาย รวมไปถึงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง โดยมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละระยะ ดังนี้
1. ระยะอนาเจน (Anagen phase)
ระยะอนาเจน ระยะนี้เส้นขนจะมีการเจริญเติบโต เป็นระยะที่ยาวที่สุดในวงจรชีวิตขน เซลล์ในรากขนจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วทำให้เส้นขนจะงอกยาวมากขึ้นเรื่อยๆ และมีสีเข้ม ต่อมขนในระยะนี้จะอยู่ลึกในชั้นหนังแท้ ระยะนี้จะแบ่งออกเป็น 6 ระยะโดยในระยะอนาเจนที่ 1-5 หรืออาจเรียกรวมว่า ระยะโปรอนาเจน (Proanagen) เส้นขนจะเติบโตอยู่ภายในต่อมขน และในระยะอนาเจนที่ 6 หรือระยะเมทอนาเจน (Metanagen) ปลายเส้นขนจะเติบโตโผล่พ้นต่อมขนขึ้นมา ช่วงเวลาของระยะนี้เป็นตัวกำหนดความยาวของเส้นขน กล่าวคือ เส้นขนที่มีระยะอนาเจนยาวจะมีความยาวมากกว่าเส้นขนที่มีระยะอนาเจนสั้น เส้นผมบนหนังศีรษะมีระยะอนาเจนกินเวลานาน 2-3 ปี ขณะที่ขนคิ้วมีระยะอนาเจนยาว 1-2 เดือน ดังนั้น ขนคิ้วจึงมีความยาวน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นผมบนหนังศีรษะ แต่ระยะอนาเจนของขนคิ้วและขนตามีระยะเวลาใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 1-2 เดือน

2. ระยะคาตาเจน (Catagen phase)
ระยะคาตาเจน เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงสั้นๆ โดยเส้นขนในระยะนี้จะหยุดการเจริญเติบโต หยุดการเพิ่มความยาว และมีสีจางลง โดยต่อมขนจะอยู่ตื้นขึ้นกว่าในระยะอนาเจนแต่ยังอยู่ในชั้นหนังแท้ เส้นขนระยะนี้จะเริ่มมีการเปลี่ยนรูปร่างในส่วนโคนรากเป็นรูปร่างคล้ายกระบอง (Club shaped) แต่ยังไม่ชัดเจน โดยขนคิ้วมีระยะคาตาเจนนานใกล้เคียงกับเส้นผมบนหนังศีรษะ คือ ประมาณ 3 สัปดาห์ และยาวกว่าขนตาที่มีระยะเพียง 15 วัน

3. ระยะเทโลเจน (Telogen phase) หรือระยะพัก
ระยะเทโลเจน เป็นระยะที่เส้นขนเตรียมหลุดร่วง ส่วนโคนของเส้นขนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์เป็นรูปร่างคล้ายกระบอง และต่อมขนในระยะนี้จะยกตัวสูงขึ้นในระดับใต้ต่อรูเปิดของต่อมไขมันเล็กน้อยหรือบัลจ์ (Bulge) เพื่อสร้างเส้นขนใหม่ขึ้นมาแทนที่โดยเซลล์ตัวอ่อน ระยะที่เส้นขนหลุดออกจากต่อมขนไปแล้วโดยยังไม่มีขนเส้นใหม่ขึ้น เรียกว่า ระยะเอกโซเจน (Exogen) สำหรับขนคิ้วมีระยะเทโลเจนนานถึง 9 เดือน ซึ่งยาวนานกว่าเส้นผมบนหนังศีรษะถึงสามเท่า ประกอบกับระยะอนาเจนของขนคิ้วที่สั้นกว่า จึงทำให้คิ้วมีสัดส่วนของขนในระยะเทโลเจนอยู่ถึงร้อยละ 85-94 ขณะที่เส้นผมบนหนังศีรษะอยู่ในระยะเทโลเจนเพียงร้อยละ 10-15 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับขนตาซึ่งมีระยะเทโลเจนใกล้เคียงกัน พบว่าขนตามีสัดส่วนของระยะเทโลเจนเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น

วงจรชีวิตของเส้นขนเปรียบเทียบระหว่างขนคิ้ว เส้นผมบนหนังศีรษะ และขนตา

ขนคิ้ว เส้นผมบนหนังศีรษะ ขนตา
ระยะอนาเจน

ระยะคาตาเจน

ระยะเทโลเจน

ช่วงวงจรชีวิต

ร้อยละของเส้นขนในระยะอนาเจน

ร้อยละของเส้นขนในระยะเทโลเจน

อัตราการเจริญเติบโต

1-2 เดือน

3 สัปดาห์

9 เดือน

14-17 เดือน

10%

90%

0.16 มม./วัน

2-3 ปี

3 สัปดาห์

3 เดือน

3-4 ปี

85-90%

10-14%

0.35 มม./วัน

1-2 เดือน

15 วัน

4-9 เดือน

5-11 เดือน

50%

50%

0.15 มม./วัน