รักแร้ดำคล้ำ สาเหตุ การดูแล และรักษา

Last Updated on 4 กรกฎาคม 2023 by siamroommate

รักแร้ดำคล้ำ (axillary hyperpigmentation) คือ สีผิวใต้วงแขนหรือบริเวณรักแร้มีสีเข้มมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสีผิวข้างเคียง หรือ มีสีคล้ำนั่นเอง

สาเหตุรักแร้ดำคล้ำ
ผิวบริเวณรักแร้ มีลักษณะเฉพาะ คือ มีต่อมขน ต่อมไขมัน และต่อมเหงื่อจำนวนมาก พื้นที่ผิวของรักแร้ประมาณ 160 ตร.ซม ในผู้ชาย และ 65 ตร.ซม ในผู้หญิง โดยมีชั้นสตราตัม คอร์เนียม (Stratum corneum) เป็นชั้นบนสุด ที่สัมผัสโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม สารทำความสะอาด หรือการระคายเคือง เช่น การโกนหรือถอน ทำให้ผิวชั้นบนสุดหลุดออกไป ทำให้โครงสร้างผิวมีการเปลี่ยนแปลง และการปกป้องจากสภาวะต่าง ๆ ภายนอกลดลง ทั้งนี้ สาเหตุของรักแร้ดำมีหลายสาเหตุ โดยสาเหตุสำคัญที่สุดที่มาพบแพทย์ผิวหนัง คือ การเกิด post inflammatory hyperpigmentation (PIH) ซึ่งมักเกิดตามหลังการโกนขน การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด การใส่เสื้อผ้าที่แน่นคับแล้วเกิดการเสียดสีที่ผิวหนัง รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อและ
กลิ่นกาย เป็นต้น

ผลจาก PIH ทำให้เกิดสารที่กระตุ้นกระบวนการอักเสบหลายตัว สารอนุมูลอิสระโดยสารกลุ่มนี้จะไปกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีให้มีการสร้างเม็ดสีมากขึ้น และทำให้มีความผิดปกติของการกระจายตัวของเม็ดสีในผิวหนังชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ ส่งผลให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้น สาเหตุอื่นที่เกิดขึ้นได้ เช่น แสงแดดกระตุ้น การโกนขนที่รักแร้หลายครั้งจะทำให้ขนที่ขึ้นมาใหม่มีความหนามากขึ้นมองเห็นเป็นรอยคล้ำจากไรขนที่กำลังจะขึ้นใหม่ เกิดจากเซลล์ที่ตายแล้วทับถมเป็นเวลานานหรือมีการติดเชื้อบริเวณรักแร้ทำให้มีสีผิวเปลี่ยนไป เกิดจากผิวหนังบริเวณรักแร้แห้งหรือโรคที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้สีผิวมีสีน้ำตาลไปจนถึงสีดำ บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ เรียกภาวะนี้ว่า acanthosis nigrican เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนเช่น ภาวะตั้งครรภ์หรืออาจเกิดจากภาวะที่ร่างกายสร้างเม็ดสีโดยไม่ทราบสาเหตุ

กลไกลการเกิดรักแร้ดำ มักจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดตามหลัง PIH โดยสาเหตุมักเกิดจากมีปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก เช่น การโกนขน ถอนขน การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ทำให้ผิวแห้งมากเกินไปจนเกิดการระคายเคืองของผิว ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบเกิดขึ้นแล้วมีการหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบ (pro-inflamatory cytokines) และ แมสเซลล์ ดีแกรนูเลชั่น (mass cell degranulation) ส่งผลต่อกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์เคราติโนไซต์ (keratinocyte proliferation) และกระตุ้นปลายประสาท ทำให้เกิดอาการคันและเมื่อเกามากขึ้นก็จะยิ่งกระตุ้นกระบวนการอักเสบผิวหนังหนามากขึ้น และทำให้สีผิวเข้มมากขึ้นหลังกระบวนการอักเสบเนื่องจากการอักเสบมีผลกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสี

การดูแลรักษารักแร้ดำคล้ำ
การดูแลที่เหมาะสม ควรเริ่มจากการป้องกันการเสียดสี หยุดสาเหตุการกระตุ้นให้รักแร้เกิดการระคายเคือง โดยการหยุดใช้น้าหอมและผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ (antiperspirant) หยุดใช้มีดโกนขน หรือถอนขน การแว๊กซ์ขนจะลดปัญหานี้ได้ ควบคุมอาหาร เพื่อควบคุมการสร้างอินซูลิน รวมถึงการป้องกันการสัมผัสกับแสงแดดจัด ๆ

การรักษารักแร้ดำคล้ำ ให้ได้ผลลัพธ์ดีเป็นเรื่องยาก และใช้เวลานาน ดังนั้น การป้องกันและการรักษาไปที่ต้นเหตุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเป็นสิ่งแรกที่จะต้องทำการรักษาด้วยยาทาจะเน้นรักษา PIH ซึ่งยาที่นำมาใชัจะเป็นสารที่มีส่วนผสมเรติน-เอ (Retin-A), 20% ยูเรีย, ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เรตินอยด์ (Retinoids) กรดอะซีลาอิก (Azelaic acid) หรือการลอกผิวด้วยสารเคมี (Chemical peels) ใช้สำหรับการลอกผิวอ่อนๆ รวมถึงการใช้สารที่มีฤทธิ์ปรับสีผิวให้ขาวขึ้น เช่น สารออกซี่เรสเวอราทรอล (oxyresveratrol) โคจิก แอซิด (kojic acid) และ สารสกัดจากลิโคไรซ์ (Licorice extract) รวมถึงการใช้เลเซอร์ลดเม็ดสี

สารไฮโดรควิโนน เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทสาคัญในกระบวนการสร้างเม็ดสี พบผลข้างเคียง ได้แก่ ผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง (Irritant dermatitis) ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis) ภาวะเล็บเปลี่ยนสี (Nail discolorization) ภาวะโอโครโนซิส (Ochronosis) ซึ่งเป็นภาวะสีผิวคล้าขึ้นจากการใช้สารไฮโดรควิโนนเป็นระยะเวลานาน

เรตินอยด์ เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสในกระบวนการสร้างเม็ดสี กระจายเม็ดสีในเซลล์ keratinocyte และเร่งการผลัดเซลล์ผิว พบผลข้างเคียง ได้แก่ ผื่นแดง และผิวลอก

กรดอะซีลาอิก เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างสารพันธุกรรม DNA ของเซลล์ melanocyte และยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส อาจพบผลข้างเคียง ได้แก่ อาการระคายเคืองที่ผิวหนัง

การลอกผิวด้วยสารเคมี พบผลข้างเคียง ได้แก่ ผื่นแดง อาการคัน ผิวไวต่อแสง ผิวหนังแห้ง ผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง ผื่นแพ้สัมผัส

การใช้เลเซอร์ พบผลข้างเคียง ได้แก่ อาการแสบผิว ผิวหนังแดง ระคายเคืองง่าย และสีผิวไม่สม่ำเสมอ