หลุมสิว และวิธีรักษา

Last Updated on 19 กันยายน 2023 by siamroommate

รอยแผลเป็นหลุมสิว คือ แผลเป็นที่เกิดภายหลังการเกิดสิว รูปแบบหนึ่ง มีสาเหตุเกิดจากการสร้างเส้นใยคอลลาเจนไม่เพียงพอในกระบวนการหายของสิว มีได้หลายชนิด เช่น Icepick scar, Rolling scar และ Boxed scar

รอยแผลเป็นหลุมสิว มีความรุนแรง 4 ระดับ
1. ชนิดตุ่มไม่นูน (macular) มีลักษณะเป็นแผลเป็นไม่นูนและไม่เป็นหลุม
2. ความรุนแรงเล็กน้อย (mild) มีการฝ่อของชั้นผิวหนัง (atrophy) บริเวณแผลเป็นเล็กน้อย แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ที่ระยะ 50 เซนติเมตร
3. ความรุนแรงปานกลาง (moderate) มีการฝ่อของชั้นผิวหนัง (atrophy) บริเวณแผลเป็นปานกลาง และสามารถมองเห็นที่ระยะตั้งแต่50 เซนติเมตร แต่เมื่อใช้มือดึงผิวหนังให้ตึงแล้วแผลเป็นจะดูเรียบขึ้น
4. ความรุนแรงมาก (severe) มีการฝ่อของชั้นผิวหนัง (atrophy) บริเวณแผลเป็นค่อนข้างมาก สามารถมองเห็นที่ระยะตั้งแต่50 เซนติเมตร และเมื่อใช้มือดึงผิวหนังให้ตึงก็ไม่สามารถทำให้แผลเป็นดูเรียบขึ้นได้
ซึ่งในยุคแรก เลเซอร์ที่มีใช้คือ เลเซอร์ปรับสภาพผิวชนิดกรอผิวทุกส่วน (ablative resurfacing laser) เช่น เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์(CO2 laser) และ เลเซอร์เออเบียมแยค (ablative Er: YAG laser) ซึ่งเลเซอร์ทั้งสองชนิดมีผลกระตุ้นให้มีการสร้างเส้นใยคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ใต้รอยแผลเป็น และช่วยลดมุมของขอบหลุมแผลเป็น

การรักษารอยแผลเป็นหลุมสิวในปัจจุบันมีหลายทางเลือก ตัวอย่างเช่น
1. การลอกเซลล์ผิวชั้นบนด้วยสารเคมี(chemical peeling)
2. การลอกเซลล์ผิวชั้นหนังกำพร้า และ/หรือ ชั้นหนังแท้(dermabrasion or microdermabrasion)
3. การใช้เครื่องมือที่มีเข็ม (derma-roller)
4. การใช้หัตถการทางศัลยกรรม
– Subcutaneous incision (subcision)
– Punch excision และ Punch elevation
– Dermal grafting
5. การฉีดสารเติมเต็มใต้รอยแผลเป็น (tissue augmenting)
6. การรักษาโดยใช้เลเซอร์

จากการศึกษา พบว่า การใช้เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์(CO2laser) 1 ครั้ง สามารถทำให้รอยแผลเป็นหลุมสิวดีขึ้น 69 % ที่1 เดือนหลังทำการรักษา และให้ผลดีทั้งทางคลินิกและทางจุลชีววิทยายาวนานถึง 18 เดือนหลังทำการรักษา แต่อย่างไรก็ตามการใช้เลเซอร์ทั้งสองชนิดทำให้เกิดผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น อาการแดง บวม และการสร้างเม็ดสีที่ผิดปกติในชั้นของผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวสีเข้ม

บางการศึกษาพบว่า เกิดอุบัติการณ์ของการสร้างเม็ดสีที่ผิดปกติในชั้นผิวหนังได้ถึง 40 % (Tanzi & Alster, 2003) ความนิยมในการรักษาแผลเป็นหลุมสิวด้วยเลเซอร์สองชนิดนี้จึงลดน้อยลง เลเซอร์อีกกลุ่มหนึ่ง คือ เลเซอร์ชนิดที่ไม่ได้กรอผิวทุกส่วน (non-ablative laser) เช่น เลเซอร์เอนดีแยค 1320 และ 1064 นาโนเมตร
เลเซอร์ไดโอด (1450 nm) และ เลเซอร์เพาวส์ดาย (585 nm) เลเซอร์กลุ่มนี้สามารถลดรอยแผลเป็นหลุมสิวได้โดยที่มีผลข้างเคียงน้อยมาก ใช้กลไกในการกระตุ้นผ่านโปรตีนที่ชื่อว่า Heat shock protein และ เส้นใยโปร-คอลลาเจนชนิดที่1 (type I procollagen) ผ่านเซลล์เดนไดรติกในชั้นหนังแท้(dermal dendritic cells)

อย่างไรก็ตามเลเซอร์ชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาแผลเป็นหลุมสิวค่อนข้างน้อย สามารถช่วยให้แผลเป็นหลุมสิวดีขึ้นได้เพียง 20-30 % และ มีความจำเป็นต้องทำเลเซอร์หลายครั้ง ต่อมามีการพัฒนาเลเซอร์กลุ่มใหม่คือ กลุ่มเลเซอร์ปรับสภาพผิวชนิดกรอผิวบางส่วน (fractional photothermolysis) โดยใช้หลักการของตัวดูดซับแสงที่จำเพาะ ทำให้เกิดการทำลายชั้นผิวหนังจากความร้อนเป็นคอลัมน์ขนาดเล็ก ๆหลายคอลัมน์กระจายใกล้ ๆ กันอย่างเป็นระเบียบ หรือ ที่เรียกว่า Microscopic treatment zones (MTZs) ที่ความลึกจำเพาะบนชั้นผิวหนัง โดยไม่มีการทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียงคอลัมน์ ทำให้มีเซลล์ที่ไม่ได้ถูกทำลายเหลืออยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้เกิดการหายของแผลบนชั้นผิวหนังได้รวดเร็วขึ้น เลเซอร์กลุ่มนี้พัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเลเซอร์ชนิดที่ไม่ได้กรอผิวทุกส่วน (non-ablative laser) แต่ลดผลข้างเคียงลงเมื่อเทียบกับ เลเซอร์ปรับสภาพผิวชนิดกรอผิวทุกส่วน (ablative resurfacing laser) จึงทำให้ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นในการแก้ปัญหารอยแผลเป็นหลุมสิว


A: เลเซอร์ปรับสภาพผิวชนิดกรอผิวทุกส่วน (ablative skin resurfacing laser) ทำลายชั้นหนังกำพร้าทั้งชั้น ทำให้เกิดความร้อนที่เหลือไปทำลายชั้นหนังแท้ส่วนบนได้ การสร้างชั้นของผิวหนังขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลานาน เนื่องจากต้องอาศัยเซลล์เคราติโนไซท์(keratinocytes) จากเซลล์รยางค์ของผิวหนัง (skin appendages)
B: เลเซอร์ชนิดที่ไม่ได้กรอผิวทุกส่วน (non-ablative laser) ทำให้เกิดความร้อนในชั้นผิวหนังโดยที่ไม่มีการทำลายชั้นหนังกำพร้าออก
C: เลเซอร์ปรับสภาพผิวชนิดกรอผิวบางส่วน (fractional photothermolysis) มีการทำลายชั้นผิวหนังจากความร้อนเป็นคอลัมน์ขนาดเล็ก ๆ หลายคอลัมน์กระจายใกล้ๆ กันอย่างเป็นระเบียบหรือ ที่เรียกว่า Microscopic treatment zones (MTZs) ที่ความลึกจำเพาะบนชั้นผิวหนัง การซ่อมแซมเซลล์ผิวหนังทำได้เร็วขึ้นเนื่องจากอาศัยเซลล์เคราติโนไซท์(keratinocytes) ข้างเคียงที่ไม่ถูกทำลาย

ข้อมูลจาก
ณัฐฐา อรุณเรืองศิริเลิศ. 2558. การศึกษาแบบสุ่มและแบ่งครึ่งหน้าเพื่อทดสอบประสิทธิผลของสารสกัด-
จากใบผักบุ้งทะเลต่อการลดอุบัติการณ์การเกิดรอยคล้ำภายหลังการทำเลเซอร์-
ชนิดแฟรกเซล เปรียบเทียบกับครีมหลอก.