ปลากระทิง ปลาราคาแพง เนื้ออร่อย และการเลี้ยงจำหน่าย

Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by siamroommate

ปลากระทิง (Mastacembelus)จัดเป็นปลาเศรษฐกิจอีกชนิด เนื่องจากมีเนื้อแน่น มีรสมัน อร่อย ใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด แต่เป็นปลาที่ค่อนข้างหายากทำให้เป็นปลาที่ค่อนข้างราคาแพงเมื่อเทียบกับปลาชนิดอื่นที่หาได้ง่ายกว่า

ชื่อที่ตั้งว่า ปลากระทิง นั้น สันนิษฐานว่า มาจากนิสัยค่อนข้างดุร้าย ลำตัวมีปลายประสีดำ และที่สำคัญเป็นปลาที่มีแรงหรือกำลังมาก เพราะสามารถดึงสายเป็ดของชาวประมงให้ขาดได้หรือทำให้ลำเป็ดหักได้ง่ายกว่าปลาชนิดอื่นๆ

ปลากระทิงที่พบในประเทศไทยมีหลายชนิด ได้แก่ [1]
1. ปลากระทิงลาย (Mastacembelus armatus )


2. ปลากระทิงดำ (Mastacembelus favus )


3. ปลากระทิงไฟ (Mastacembelus erythrotaenia)


4. ปลากระทิงจุด (Mastacembelus alboguttatus )


5. ไม่ทราบชื่อที่แน่ชัด (Mastacembelus oatesii )
6. ไม่ทราบชื่อที่แน่ชัด (Mastacembelus dayi )

ปลากระทิง หรือ ปลากระทิงลาย
ปลากระทิงลายเป็นชนิดปลากระทิงได้พบในธรรมชาติมากที่สุดเมื่อเทียบกับปลากระทิงชนิดอื่นๆ และมีบางชนิดค่อนข้างหายาก อาทิ ปลากระทิงไฟ

อนุกรมวิธาน [2]
วงศ์ (family): Mastacembelidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mastacembelus armatus
ชื่อสามัญ :
– Armed Spiny Eel
– Spiny eel
– Peacock eel
– Zig-zag eel
ชื่อท้องถิ่น :
– ปลากระทิง
– ปลากระทิงลาย

ลักษณะปลากระทิงลาย [2]
ลำตัวเรียวยาว และแบนข้างเล็กน้อย คล้ายปลาไหลหรือปลาหลด ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ลำตัวมีเกล็ดขนาดเล็ก และละเอียดปกคลุมทั่วลำตัว ส่วนหัว และปากมีลักษณะแหลม ขอบด้านหน้าของจมูกมี processes ยื่นออกมาเป็นแผ่น 2 อัน หัวด้านบนมีสีน้ำตาลเข้ม บริเวณกึ่งกลางลำตัวทางด้านหน้าของหัวมีแถบสีดำ เป็นเส้นที่ไม่ตรง ค่อนข้างซิกแซกโดยเป็นเส้นลากผ่านจากปลายสุดของหัวไปยังครีบหาง ลายซิกแซกนี้จะไม่มีที่บริเวณด้านท้อง ซึ่งจะต่างจากปลากระทิงดำ(M. favus) ที่จะมีลายบริเวณท้องด้วย ส่วนสีพื้นลำตัวของปลากระทิงจะมีสีเทาอ่อนหรือน้ำตาลอมเหลือง มีลายสีคล้ำเป็นวงหรือเป็นลายเส้น ส่วนครีบสีคล้ำ และมีจุดประเหลืองอ่อน ครีบหลังมีก้านครีบแข็งลักษณะคล้ายหนามจำนวน 33-40 ก้าน มีหนามหน้า (preorbital spine) 1 อัน ครีบก้นมีก้านครีบแข็งคล้ายหนาม 3 อัน

แหล่งอาศัย
พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติในทุกภาค และทุกจังหวัดของประเทศ ทั้งตามห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำสายหลัก และสายรอง

อาหาร และการกินอาหาร
เป็นปลากินเนื้อที่ไม่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มักอาศัย และออกหากินเพียงลำพัง ชอบออกหากินในเวลากลางคืนตามริมตลิ่งในระดับน้ำที่ไม่ลึกนัก กลางวันชอบหลบอาศัยตามซอกหินหรือโพรงไม้ใต้น้ำ มีอาหารเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น แมลง ลูกปลา กุ้ง สัตว์หน้าดิน และปลาชนิดอื่นที่มีขนาดเล็กกว่า

การใช้ประโยชน์ปลากระทิง
1. ปลากระทิง เป็นปลาเนื้อแน่น มีรสมัน อร่อย นิยมใช้ประกอบอาหารหลายชนิด อาทิ ห่อหมก แกงอ่อม ทอด และต้มยำ เป็นต้น
2. ปลากระทิง มีแถบลาย และจุดประสีต่างๆ แลดูสวยงาม และแปลกตา จึงมีผู้ชมชอบใช้เลี้ยงเป็นปลาสวยงามในตู้ปลา โดยเฉพาะปลากระทิงไฟ ซึ่งเป็นชนิดที่มีแถบสีสวยงาม และแปลกตาที่สุด อีกทั้งหายากที่สุดทำให้เป็นที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอย่างมาก

การเพาะพันธุ์ปลากระทิง
การเริ่มเพาะพันธุ์ปลากระทิงชนิดต่างๆ จะใช้วิธีจับพ่อแม่พันธุ์ปลากระทิงจากธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงในบ่ออนุบาลก่อน โดยเริ่มแรกจะฝึกให้ปลากระทิงมีความคุ้นเคยกับบ่อเลี้ยงก่อน ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าปลาชนิดนี้จะปรับตัว และยอมกินอาหารที่ให้ได้ โดยอาหารใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จะเป็นลูกปลาหรือลูกกุ้ง และเมื่อเลี้ยงจนเข้าสู่เดือนหรือฤดูกาลผสมพันธุ์ (ประมาณเดือนกันยายน) ให้สังเกตความพร้อมของพ่อแม่พันธุ์ โดยพ่อพันธุ์ หากรีดน้ำเชื้อก็จะพบน้ำเชื้อสีขาวขุ่นออกมา ส่วนแม่พันธุ์จะมีลักษณะท้องที่บาง ท้องอูมเต่ง และนิ่ม

การฉีดฮอร์โมนผสมเทียม [3]
ปลากระทิงลายสามารถเพาะพันธุ์ได้โดยวิธีการฉีดฮอร์โมนผสมเทียม อัตราการใช้ฮอร์โมนเป็นดังนี้
แม่พันธุ์ปลา (ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 8 ชั่วโมง)
– ครั้งที่ 1 ฉีดฮอร์โมนขนาดโดส 20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม
– ครั้งที่ 2 ฉีดฮอร์โมนขนาดโดส 30 ไมโครกรัม/กิโลกรัม

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ครั้ง ให้ฉีดร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ขนาดโดส 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยหลังจากฉีดฮอร์โมนครั้งที่ 2 แล้วประมาณ 37 – 41 ชั่วโมง ให้นำแม่พันธุ์ปลาขึ้นมารีดไข่ใส่ภาชนะ จากนั้น นำน้ำเชื้อเข้าคลุกผสมทันทีโดยใช้ขนไก่คลุกผสมเบาๆกับน้ำเชื้อ ซึ่งไข่ปลากระทิงจัดเป็นไข่ประเภทไข่จม มีสีเหลืองอ่อน มีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร โดยไข่ที่รีดได้น้ำหนัก 1 กรัม จะมีจำนวนไข่ประมาณ 78 ฟอง

พ่อพันธุ์ปลา (ฉีด 1 ครั้ง ห่างกัน 8 ชั่วโมง)
– ทำการฉีดฮอร์โมนพร้อมกับแม่พันธุ์ปลาครั้งที่ 2 ในอัตรา 10ไมโครกรัม/กิโลกรัม
ทั้งนี้ ให้ฉีดร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ขนาดโดส 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยให้รีดน้ำเชื้อในช่วงเดียวกันหรือหลังจากที่รีดไข่จากแม่พันธุ์ปลาแล้วเสร็จ แล้วนำคลุกผสมกับไข่ทันที

ไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อแล้วให้นำมาพักเพาะในถาดฟักไข่ โดยให้มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา และเฝ้าระวังอุณหภูมิน้ำให้อยู่ในช่วง 26 – 27 องศาเซลเซียส ซึ่งไข่จะฟักเป็นตัวหลังจากผสมแล้วประมาณ 24 ชั่วโมง มีอัตราการฟักโดยทั่วไปอยู่ที่ 80 – 90% และอัตรารอดของลูกปลาที่ 94 – 95%

การอนุบาลลูกปลากระทิง
ปลากระทิงหลักฟักออกจากไข่ในช่วง 7-9 วันแรกจะยังกินอาหารไม่ได้ แต่จะใช้ถุงไข่แดงสำหรับเป็นแหล่งอาหาร หลังจากนั้น จึงเริ่มให้อาหารเป็นจำพวกไรแดง โดยลูกปลาจะเริ่มกินไรแดงได้ดีเมื่ออายุประมาณ 9-12 วัน และอนุบาลต่อไปจนมีอายุ 40-50 วัน จึงเริ่มให้อาหารประเภทเนื้อปลาบด

การเลี้ยงปลากระทิง
ปลากระทิงที่ฟักออกเป็นตัว และอนุบาลจนได้อายุ 40-50 วัน สามารถที่จะเลี้ยงด้วยอาหารที่เป็นเนื้อปลาบด และอีกสักระยะจึงเริ่มฝึกให้อาหารประเภทลูกปลาหรือาหารสำเร็จรูปได้

สถานะทางการตลาด
ราคาปลากระทิง ณ ตลาดไท จ.ปทุมธานี ปลากระทิงที่ใช้ประกอบอาหารทั่วไป อาทิ ปลากระทิงลาย และปลากระทิงดำ พบว่า มีราคาจำหน่ายในช่วงกิโลกรัมละ 150-250 บาท

ส่วนปลากระทิงไฟที่ใช้เลี้ยงเป็นปลาสวยงามในตู้ปลามีราคาจำหน่ายตัวละ 5,00-1000 บาท

เอกสารอ้าอิง
[1] ธวัช ดอนสกุล และคณะ. 2532. การศึกษาโครโมโซมของปลากระทิงและ-
ปลากระทิงไฟที่พบในประเทศไทย.
[2] สิทธิพัฒน์ แผ้วฉ่ำ และคณะ. 2551. องค์ประกอบของชนิดและชีววิทยาบาง-
ประการของพรรณปลาในแม่น้ำจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี.
[3] กรมประมง. ปลากระทิงลาย. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2563. เข้าถึงได้ที่ : https://www.fisheries.go.th/if-korat/images/downloads/krating.pdf/.

ขอบคุณภาพจาก
– Pantip.com/
– bloggang.com/
– siamensis.org/